xs
xsm
sm
md
lg

ทหารชายแดนใต้ พรุ่งนี้จะมีชีวิตรอดหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เสียงปืนสนั่นก้องไปทั่วทั้งป่า ทันทีที่สิ้นเสียง ร่างชายชาติทหารถูกปลิดชีพเพียงชั่วพริบตา ความรุนแรง ความเจ็บปวด ความตาย เกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งไม่มีค่ำคืนไหนเงียบสงัดได้ยาวนาน “3จังหวัดชายแดนภาคใต้”

เหตุการณ์เหล่านี้เหมือนหนังที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จักสิ้นสุดของเหล่าทหารอาสา และกำลังพลที่ต้องลงประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาไฟใต้ โดยไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะมีชีวิตอยู่เพื่อหายใจต่อได้อีกครั้งหรือไม่ แลกกับการปกป้องประเทศชาติและคนไทย เพื่อให้ทุกคนอยู่อย่างสงบสุขอีกครั้ง

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งถึงตอนนี้ได้ผ่านมานานถึง 9 ปีแล้ว ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย และที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินใดๆ คือชีวิตของเหล่าทหารผู้กล้าที่ต้องมาสละชีพแทบทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่นเดียวกับที่ผู้พันเบิร์ด เคยบอกว่า “อย่าสงสารทหารที่ต้องทำหน้าที่นี้ เพราะหน้าที่เหล่านั้น...พวกผมได้เลือกแล้ว”

ชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นดาย
การลงประจำการในพื้นที่ความไม่สงบ ไม่ต่างจากการยินยอมพร้อมใจที่จะเผชิญหน้ากับความตายได้ทุกขณะ ในทุกๆ วัน ประเทศไทยสูญเสียกำลังทหารมาเท่าไหร่ และจะต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่ คงไม่มีใครตอบได้

“หากต้องตาย ศพจะต้องคลุมด้วยธงชาติไทยเท่านั้น” นี่เป็นคำพูดเชิงคำมั่นสัญญาของพลทหารเอกลักษณ์ สีดอกไม้ หนึ่งใน 4 ทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมา

พลทหารเอกลักษณ์ เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ที่ทำหน้าที่ไปรับใช้ชาติและใกล้จะครบกำหนดโดยเหลือเวลาอีกเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น แต่มาถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเสียก่อน และความสูญเสียครั้งนี้ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การทำหน้าที่รับใช้ชาติของทหาร ที่ไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไหร่ ในวันที่ไม่ตายก็พิการ โดยเฉพาะทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งต้องเข้าประจำการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามบัญชาการของแม่ทัพภาค ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบต่างกันไป

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การส่งกองกำลังทหารลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นการกำหนดตามโควต้าของกองทัพแต่ละภาค โดยแบ่งเป็น กองทัพภาคที่ 1 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ จ.นราธิวาส กองทัพภาคที่ 2 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ จ.ปัตตานี และกองทัพภาคที่ 3 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งอยู่ภายใต้การบัญชาการของกองทัพภาคที่ 4 ทั้งหมด

“ฉะนั้นเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งการลงพื้นที่ ในกองทัพก็จะมีตั้งแต่ตำแหน่ง ลูกแถว หรือทหารเกณฑ์ และไล่ขึ้นไป จนถึงผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ โดยแต่ละพื้นที่จะแบ่งเป็นกองกำลังเฉพาะกิจ (ฉก.) ในระดับย่อยอีกทีหนึ่ง และกองกำลังจะมีการหมุนเวียนลงปฏิบัติหน้าที่ อยู่นานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี”

โดยแต่ละพื้นที่มีกำลังรวมทั้งสิ้น 1.5 แสนคน ทั้งทหาร ตำรวจอาชีพ อาสาสมัคร เป็นต้น รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารพราน ซึ่งโครงการจัดตั้งกรมทหารพรานในพื้นที่ชายแดนใต้นี้ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเพื่อถอนกำลังพล “ทหารหลัก” จากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งมอบให้ “ทหารพราน” หรือ “นักรบชุดดำ” ซึ่งเปรียบเสมือน “ทหารบ้าน” ที่มีความชำนาญพื้นที่อยู่แล้ว

ส.ต.พัธนันท์ กันขุนทด กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ หนึ่งในทหารที่เคยลงพื้นที่ภาคใต้ บอกว่า ในแต่ละปี จะมีคำสั่งรับสมัครทหารพราน จึงทำให้กำลังพลย้ายออกจากพื้นที่ได้ ตอนนี้ส่วนใหญ่จึงมีทหารพรานประจำอยู่ บางครั้งเป็นอดีตนายทหารเก่าก็มี

ทุกนาทีชีวิตแลกกับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และยศ
เมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่บนพื้นที่เสี่ยงอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องมีค่าตอบแทนสูงให้สมน้ำสมเนื้อ กับชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะกลับมาด้วยสภาพธงชาติไทยคลุมร่างก็ตาม

แหล่งข่าวจากกรมทหารราบที่ 11 ให้ข้อมูลว่า ถ้าไปประจำการที่ภาคใต้ พลทหารจะได้สิทธิพิเศษ ตั้งแต่การเพิ่มเบี้ยเลี้ยงที่ขึ้นมาเป็นเท่าตัว ประมาณ 500 บาท/คน/วัน ซึ่งแตกต่างจากทหารพรานที่ได้เบี้ยเลี้ยงแค่ 120 บาท/คน/วันเท่านั้น และอาจได้เพิ่มยศตามลำดับขั้น ปรับขึ้นเงินเดือน (ตามผลงาน) นอกจากนี้ยังได้บัตรทหารผ่านศึก ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษเรื่องค่ารักษาพยาบาล ปีละไม่เกิน 2,000 บาท/ครอบครัว, เงินช่วยเหลือครั้งคราว ปีละไม่เกิน 500 บาท และการฝึกอาชีพ

ทั้งนี้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 ยังได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาทหารเช่นกัน

อย่างกรณีทหารเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ ของรัฐบาล เบิกจ่ายโดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักงานจังหวัด รายละ 500,000 บาท ค่าจัดการศพจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หัวหน้าครอบครัวรายละ 50,000 บาท สมาชิกครอบครัวรายละ 25,000 บาท เงินช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายละ 20,000 บาท รวมแล้วจะได้รับเงินในส่วนนี้เฉลี่ยรายละ 570,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีเงินเพิ่มพิเศษของข้าราชการทหารพลีชีพ โดยได้รับเงินตามโครงการประกันชีวิตของกระทรวงกลาโหมสำหรับทหารทุกนาย ทุกชั้นยศ รายละ 500,000 บาท เฉพาะกองทัพบกมีเงินประกันชีวิตแยกต่างหากอีก แบ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรรายละ 1,000,000 บาท นายทหารชั้นประทวน (นายสิบ) รายละ 800,000 บาท พลทหารและอาสาสมัครทหารพราน รายละ 500,000 บาท

ดังนั้นเมื่อรวมกับเงินกองทุนฯของรัฐบาล ทหารที่เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นเฉลี่ยรายละประมาณ 1,570,000 บาท ถึง 2,070,000 บาท โดยไม่รวมเงินบำเหน็จบำนาญ (คิดตามอายุราชการและตามชั้นยศ) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินเพิ่มเพื่อการสู้รบ (พ.ส.ร.)

กรณีได้รับบาดเจ็บ จะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 763,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 306,000 บาท บาดเจ็บทั่วไป 65,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 15,000 บาท

นอกจากนั้นยังมีเงินยังชีพรายเดือนสำหรับบุตรของผู้เสียชีวิต พิการ และบาดเจ็บสาหัส เป็นเงินที่เบิกจ่ายโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เฉลี่ยคนละ 1,000-2,500 บาทต่อเดือนตามระดับชั้นการศึกษา และทุนการศึกษาเป็นรายปี เบิกจ่ายโดยกระทรวงศึกษาธิการ เฉลี่ยรายละ 5,000-20,000 บาทตามระดับชั้นการศึกษาเช่นกัน

กำลังใจชาวเน็ตส่งถึง...ทหารใต้

“ชีวิตเรา เหมือนเเขวนอยู่ บนเส้นด้าย
มันขาดลง ได้ง่ายง่าย ใครก็รู้
ไม่ได้หวัง ให้ยศสูง คนเชิดชู
เหตุที่สู้ เพื่อปกป้อง ผืนแผ่นดิน
ถึงโจรใต้ มากเเค่ไหน เราไม่หวั่น
จะป้องกัน ด้วยชีวิต สุดขาดดิ้น
ไม่ให้มัน ได้เหยียบ ผืนแผ่นดิน
จะขจัด มันให้สิ้น ถิ่นขวานทอง...”

นี่เป็นกลอนคำขอจาก...ทหารใต้ ซึ่งมีแอดมินได้โพสต์ไว้ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “กำลังใจสู่ทหารใต้” ได้สะท้านภาพความเป็นทหารผู้กล้าและยืนหยัดต่อสู้เพื่อคนไทย เพื่อแผ่นดินไทยของเรา
เพจเฟซบุ๊กนี้เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ยังมีอีกหลายแฟนเพจ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อร่วมกันส่งแรงกำลังใจให้เหล่าทหารที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ 3 ชายแดนภาคใต้ จึงได้รวบรวมประโยคคำพูดต่างๆ จากใจของชาวไซเบอร์ถึงทหารภาคใต้ของไทย ไม่ว่าจะเป็น

“เราเป็นหนี้บุญคุณพวกทหารใต้ทุกนาย เราภูมิใจที่เราเกิดเป็นคนไทย และมีทหารอย่างพวกท่านที่สละความสุขทุกอย่างเพื่อปกป้องแผ่นดินของพวกเรา ถ้าเรามีลูกชาย เราภูมิใจถ้าลูกจะเป็นทหารอย่างพวกท่าน”
“สู้ๆ นะคะ เป็นกำลังใจให้เสมอ ต้องขอขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกคุณทำ อย่างน้อยๆ มันก็ทำให้เรารู้ว่า สุภาพบุรุุษชุดพรางก็ยังมีอยู่จริง”
“สักวัน....ผมคงจะเสียสละตัวเองไปเป็นส่วนหนื่งกับพวกคุณนะครับ พิทักษ์...ปกปักษ์ชายแดนไทย
“ทำให้เรารักพวกคุณมากขึ้นอีกคะ แค่อ่านก็ขนลุก ขอส่งกำลังใจดวงน้อยๆ อีกหนึ่งดวง มอบให้ทหารและ นักรบไทยทุกคน”
“ถ้าไม่มีพวกท่านทั้งหลายที่ยอมลำบากเพื่อชาติ แล้วพวกเราจะอยู่ได้อย่างไร ขอเป็นกำลังใจให้ครับ”
“หน้าที่ก็คือหน้าที่ ไม่มีอะไรรั้งไม่ให้ไปไม่ได้ถึงแม้จะเป็นความตายก็ตาม ส่งแรงใจและความห่วงใยไปช่วยเสมอ สู้ๆ ครับ”
“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกชาติทุกศาสนา คุ้มครองทหารตำรวจ ข้าราชการ 3 จังหวัด ชายแดนใต้ ขอให้พระพุทธ...พระธรรม จงคุ้มครองจากสิ่งอันตรายทั้งปวง และดูแลตัวเองและเพื่อนๆ ด้วยนะครับ”

จากสถิติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในสถานการณ์ปัญหาไฟใต้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนเฉลี่ยเกือบ 500 คน /ปี เช่นเดียวกับที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ได้กล่าวไว้ว่า เหตุการณ์ปัญหาไฟใต้ที่ผ่านมา 101 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 ถึง พ.ค. 2555 มีเหตุการณ์กว่า 11,700 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 1.4 หมื่นคน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 5,000 คน บาดเจ็บอีก 9,000 คน โดยช่วงแรกมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสูงมาก แต่หลังจากปี 2550 เหมือนเหตุการณ์จะลดลง แต่ยังคงที่เดือนละ 60-100 ครั้ง

“เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แต่ละเดือนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บยังคงที่ ซึ่งเรามองว่าเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งคลายกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปมปัญหาภายในที่แก้ไม่ตก คล้ายกับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งขึ้นไปสู่ที่ราบสูงที่ยาวมาก แต่กลับไม่มีทางลง”

ตราบใดที่ความไม่สงบยังอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ทหารไทยก็ไม่มีวันล่าถอยเพื่อปกป้องด้ามขวานทอง ในขณะที่เราทุกคนใช้ชีวิตประจำวัน แต่ทุกวินาทีของทหารไทยทำหน้าที่เพื่อทุกคนในชาติ

“...จงตั้งใจ ทำหน้าที่ ท่านมีอยู่
โปรดจงรู้ ที่ตรงนี้ ทหารหาญ
จะไม่ปล่อย มันก่อกวน และระราน
ไม่ต้องห่วง ขอให้ท่าน หลับฝันดี...”










กำลังโหลดความคิดเห็น