xs
xsm
sm
md
lg

สาดน้ำกรด ภัยมืดของสังคมเก็บกด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หวาดผวาไปทั่วเมือง! กับภัยร้ายที่ไม่มีใครคาดคิดว่า จะมีคนกล้าทำถึงขนาดนี้ ด้วยการใช้น้ำกรดฉีดใส่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปผ่านมา แม้ล่าสุดได้จับผู้ต้องหาพร้อมคำรับสารภาพได้แล้ว หากทว่าภัยร้ายน่าตกตะลึงไม่น้อย เมื่อผู้ก่อเหตุ ทำร้ายคนมาแล้วกว่า 30 ครั้ง โดยตำรวจไทยแทบจะไม่เคยรู้เบาะแสคนร้ายเลย จนกระทั่งผู้ประสบภัยต้องรวมตัวกัน เพื่อหาเบาะแสเพื่อจับคนร้าย!

ภัยมืดคุกคาม

เหตุสาดน้ำกรดนั้นเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในสังคมไทย รศ.สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายถึงสิ่งที่กิดขึ้นว่า

“สาดน้ำกรดมันเป็นพฤติกรรมมุ่งร้ายคนอื่น เพื่อให้ได้รับผลเสียจากการกระทำของเขา คนที่คิดมุ่งร้ายมีอยู่ 2 เหตุผล หนึ่ง คือโกรธแค้น มีกรรมต่อกันเหมือนถูกกระทำเจ็บแค้นน้ำใจไว้ เป็นการแก้แค้น สอง คือมันเป็นความคิดบางอย่างที่เขาเข้าใจผิด หลงผิด เป็นอาการโรคจิต และลักษณะของการกระทำที่เกิดจากอาการโรคจิตจะมีความคิดโรคจิตอย่างเป็นระบบ”

ผู้ก่อเหตุคือ นายราชัน ธีรกิจนุกุล ซาเล้งขายของเก่าวัย 49 ถูกจับกุมพร้อมสารภาพถึง 5 จุดเสี่ยงที่ตัวเองก่อเหตุลงมือสาดน้ำกรด พร้อมกันนั้นเขายังเผยถึงสาเหตุที่ก่อคดีว่า มาจากน้อยใจที่โดนดูถูกว่าจน และได้ก่อเหตุฉีดน้ำกรดใส่ผู้คนมาแล้วถึงกว่า 30 ครั้ง เช่น

1. บริเวณพื้นที่สะพานควาย ประมาณ 10 ครั้ง

2. บริเวณประตูน้ำต่อเนื่องถึงแยกราชประสงค์ ประมาณ 7-8 ครั้ง

3. บริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประมาณ 3-4 ครั้ง

4. บริเวณถนนลาดพร้าว ประมาณ 4-5 ครั้ง


ต่อกรณีนี้ อาจารย์ด้านจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงทัศนะอีกว่า พฤติกรรมสาดน้ำกรดทำร้ายคนอื่นนั้นคงไม่ใช่พฤติกรรมปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาวิเคราะห์ในรายบุคคลว่าเกิดจากมูลเหตุใด อาจจะเป็นทางด้านอารมณ์หรือความผิดปกติทางจิต เก็บกด ต้องมาศึกษาแรงจูงใจกันเฉพาะบุคคลถึงจะตีธงได้ว่าผู้นั้นป่วยทางจิตขั้นรุนแรงหรือไม่

ผู้เสียหายรวมตัว ตร.ถึงจับ!!?

ภัยร้ายที่เกิดขึ้น ถูกตั้งคำถามจากความไม่ใส่ใจของ ตำรวจในท้องที่ เนื่องจากผู้เสียหายหลายรายพยายาม แจ้งความกับตำรวจในท้องที่ แต่ก็ไม่ได้รับสนใจ กระทั่งรวมตัวกันทำข้อมูลเตือนภัยเผยแพร่กันเอง โดยมีการตั้งกระทู้บอกเล่าถึงภัยน้ำกรดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

รศ. อัจฉราพรรณ จรัสวัณน์ ภาควิชาอาชญาวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองในมุมอาชญวิทยาว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นอาชญากรรมที่เรียกกันว่า Fear and Hate crime มีความหมายตรงตัวว่า อาชญากรรมที่เกิดจากความกลัวและความเกลียด ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงอาจทำให้การรับมือยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“ตำรวจไทยขาดฐานข้อมูลส่วนกลางที่จะแบ่งปันข้อมูลเพื่อดูว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง จึงทำให้กรณีสาดน้ำกรดที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะมีผู้ร้องทุกข์หลายคนในหลายพื้น ด้วยความเสียหายที่ไม่มากนักจากข่าวก็ทำให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไปว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งถ้ามีการแบ่งปันข้อมูลกันก็อาจจะตั้งข้อสังเกตุได้”

โดยอาชญากรรมประเภทดังกล่าว แยกได้เป็นFear crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความกลัว ได้แก่ กลัวตาย กลัวถูกทำร้าย จึงก่ออาชญากรรมขึ้น ขณะที่ Hate crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังนั้น ได้แก่ การเกลียดชังในระบบ ในฐานะของอีกฝ่าย ซึ่งในจากอาชญากรรมวิทยาแล้วไม่ถือว่าเป็นโรคจิต แต่เป็นอาการต่อต้าน เกลียดชังสังคม ซึ่งเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งกันสูง

“การที่คนร้ายจะเป็นโรคจิตหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ในการวินิจฉัย แต่อาชญากรรมประเภทนี้ เมื่อมองดูสภาพสังคมในช่วงนี้แล้ว มีความเป็นไปได้ว่าจะมีเพิ่ม ตำรวอาจต้องเร่งปรับตัวหาทางรับมือ”

ทั้งนี้ การที่ประชาชนคนเมืองรู้จักเตือนภัยกันและกันในสังคมนั้น ถือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เพราะทิศทางของกระบวนการป้องกันอาชญากรรมในอนาคตนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ หากแต่อยู่ในมือของประชาชนที่จะช่วยเหลือกันและกันในสังคม

“การที่ประชาชนรู้จักดูแลกันเอง ถือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่มันก็ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้สังคมไม่ควรสำหนิเจ้าหน้าที่แต่ควรให้แรงจูงใจในด้านบวกมากกว่า”

บาดแผลน้ำกรด

กรณีการทำร้ายกันด้วยน้ำกรด เคยมีเกิดในลักษณะอื่นๆ หลายกรณี ได้ชื่อว่ากรดย้อมเป็นอันตรายต่อผิวหนังแน่ แม้กรณีนี้อาจจะยังมีสารเคมีตัวอื่นมาเบาบางความเข้มข้น ทั้งนี้ พ.อ.น.พ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆ แล้วสารเคมีในท้องตลาดนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผลไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายขั้นร้ายแรงปรากฎเพียงอาการแดงแสบคันเท่านั้น

“สารเคมีจำพวกนี้ที่ขายตามท้องตลาดได้ ถ้ามันจะมีอันตรายก็ไม่ได้อันตรายมากขนาดทำให้ผิวหนังไหม้เป็นแผลเหมือนกับถูกน้ำกรดแรงๆ ปกติสารเคมีที่ทำร้ายผิวหนังไม่เป็นกรดก็เป็นด่าง จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ปริมาณและระยะเวลาที่ถูกสารเคมี ขั้นรุนแรงมันจะทำลายผิวหนังและก็ซึมเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆ สมมติว่า เป็นด่างก็จะทำอันตรายต่อผิวหนัง แต่กรดส่วนมากจะทำให้โปรตีนแข็งตัว บางครั้งเมื่อแข็งตัวแล้วมันจะกัดกร่อนทำลายผิวหนัง แต่ถ้ามีอาการน้อยๆ ก็จะแสบๆ คันๆ ถ้าแดงมากก็จากตกสะเก็ดและเป็นแผล ต่อมาก็เป็นตุ้มน้ำ บางครั้งก็กลายเป็นไหม้”


…......

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนน้ำกรด อย่างถูกวิธี
 
1. เอาผ้าเช็ดน้ำกรดออกให้มากที่สุด

2. ล้างด้วยนำสะอาดปริมาณมากๆ

*ห้าม เทน้ำล้างทันที หลังโดนน้ำกรดโดย ไม่ซับน้ำกรดออกก่อน (ห้ามเช็ดถู) เพราะจะเกิดความร้อนสูงมาก อาจทำให้เนื้อสุกได้เลย และน้ำกรดจะเดือดจนกระเด็นออก มารอบๆ โดนคนอื่นได้

น้ำกรดเจือจางกับเข้มข้นวิธีปฐมพยาบาลต่างกัน

1. กรดที่เจือจางให้รีบล้างออกด้วยน้ำทันที ล้างให้นานๆ เท่าที่จะทำได้ โดยปล่อยให้น้ำผ่าน ห้ามถูล้างแบบล้างสบู่ เพราะจะทำให้ผิวหนังอักเสบ หลุดลอก

2. กรดที่เข้มข้น ห้ามล้างด้วยน้ำทันที เพราะจะทำให้เกิดฟองเดือดและเกิดความร้อนสูงเมื่อน้ำผสมกับกรด...จะอันตรายเพิ่มขึ้น ให้หาวัสดุดูดซับ เช่น ผ้ากระดาษซับมาซับออกก่อน (ห้ามเช็ด หรือ ถูเด็ดขาด เพราะทำให้ผิวหนังถูกทำลายมากขึ้น) จนกรดที่เป็นของเหลวนั้นถูกซับจนแห้ง จึงล้างด้วยน้ำอีกครั้ง ถ้าโดนปริมาณมาก หรือกินพื้นที่ผิวหนังมาก หลังจากปฐมพยาบาลแล้วให้ส่งโรงพยาบาลทันที แม้ว่าผิวหนังยังไม่แสดงอาการทันที กรดที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งคือกรดกำมะถันเข้มข้น เพราะให้ผลที่รุนแรง หาง่าย และพกพาสะดวก

ข้อมูลจากpantip.com
 
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น