xs
xsm
sm
md
lg

‘รถไฟฟ้าฯ’ สถานีต่อไป.. ไล่ที่ ฝุ่นละออง จราจรติดขัดฯลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนความเจริญจะเข้าปกคลุมพื้นที่ เป็นเรื่องธรรมดาที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ย่อมเกิดขึ้น

เช่นเดียวกัน การอำนวยความสะดวกในขนส่งมวลชนระบบราง อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส ,รถไฟฟ้ามหานคร, รถไฟฟ้าชานเมือง ฯลฯ ก็ได้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการเดินทางของชาวกรุงเทพฯ ที่กำลังประสบปัญหาความแออัดของการจราจรอย่างหนาแน่น

แต่กว่าทุกอย่างจะก่อร่างเสร็จสมบูรณ์ได้การได้จริง พื้นที่การก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมก็คงได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ถึงแม้จะเป็นการวางระบบคมนาคมเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม แต่ผู้ได้รับผลกระทบแม้จะเป็นส่วนน้อยหากเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวก็ไม่สามารถละเลยในสวัสดิภาพความเป็นอยู่ได้

สวัสดิภาพประชาชนปัญหาที่ยากเกินเยียวยา?
แน่นอนว่าปัญหาในการดูแลสวัสดิภาพของประชาชนขณะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมโดยเฉพาะขนส่งระบบรางนั้นเป็นปัญหาที่ค้างคามาหลายรัฐบาล ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่าโดยธรรมชาติของการก่อสร้างโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนมันก่อปัญหาตั้งแต่ขณะริเริ่มโครงการก่อสร้างไปจนกระทั่งการก่อสร้าง ซึ่งมองกันตามจริงก็คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบนั้นขาดความเข้มงวดจึงก่อผลกระทบให้ประชาชนเสียโอกาสในหลายๆ เรื่อง

“ในช่วงก่อสร้างการควบคุมการก่อสร้างค่อนข้างจะหละหลวมกันอย่างมาก ปล่อยให้มีการการรุกล้ำกันจราจร ฝุ่นละอองการก่อสร้างเต็มไปหมด บางทีวัสดุหินดินทรายเละเทอะไปหมด ก่อเกิดปัญหาการจราจรอย่างมาก ทำให้ชาวบ้านสูญเสียน้ำมันรถ แต่การสูญเสียนี้ไม่ได้นำไปคิดในทางเศรษฐศาสตร์ของประชาชนเลย

“โดยหลักความเป็นธรรมมันจะต้องเอาความสูญเสียของชาวบ้านในเรื่องการจราจร เช่นศูนย์เสียน้ำมันรถ ไปคิดด้วย ว่าจะตอบแทนหรือกลับคืนมาได้ไง กลับมาในรูปของการลดราคาค่าบริการลง ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยถูกนำไปคิดค่าบริการในระทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของร.ฟ.ม. บีทีเอส นับวันจะมีแต่จะคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นตลอด อย่างน้อยมันควรจะมีช่วงเวลาหนึ่ง เช่นภายในระยะเวลา 5 ปี ผู้ประกอบการจะชดเชยค่าเสียหายในรูปของราคาค่าตั๋วลงมาเพื่อชดเชยในเรื่องขณะก่อสร้างให้ชาวบ้าน ในต่างประเทศเขาทำกันในเรื่อ เขาคิดความเสียหายและเสียโอกาส ในขณะก่อสร้างของภาคประชาชนแล้วมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อลดราคาค่าตรวจในช่วงเวลาดำเนินการ 3-5 ปีแรก”

ในขณะดำเนินการก่อสร้างมันต้องอาศัยหลักของการมีส่วนร่วม ทำความเข้าใจร่วมกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คิดจะปิดทางเข้าออกแล้วให้ชาวบ้านไปอ้อม 400-500 เมตรก็สั่งการลงมา ทุกวันนี้ผู้รับเหมาที่ดำเนินการก่อสร้างยังปฏิบัติงานโดยพละการ ตรงนี้ก็สะท้อนว่าหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลเรื่องไม่ให้ความสำคัญไม่ใส่ใจในการตรวจสอบ อีกอย่างชาวบ้านส่วนใหญ่ถึงจะเดือดร้อนแต่ก็ไม่ได้มีการออกมาเรียกร้องจึงทำให้เจ้าของโครงการนั้นย่ามใจ

“ขนส่งมวลชนทุกคนสนับสนุนกันอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้รถมันมากเกินไป แต่ไม่ใช่เพราะว่าประชาชนเห็นด้วยประชาชนสนับสนุนแล้วอยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอน้ำใจต้องเปลี่ยนความคิดนี้เสีย อย่าสร้างความเดือดร้อนรำคาญโดยเฉพาะเรื่องของการทำกำแพงกั้น ปิดกั้น เส้นทางการจราจรและก็กองวัสดุอิฐหินดินทรายโดยไม่มีวัสดุปิดคลุมตามอำเภอน้ำใจ หรือจะปิดกั้นทางไหนต้องบอกประชาชนล่วงหน้า ในการชี้แจ้งระบบจราจร”

ซึ่งตรงนี้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดพื้นที่พูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด แต่ไม่ใช่ในลักษณะลักษณะไตรภาคี ที่เอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ตัวแทนชาวบ้าน และ NGO มาร่วมประชุมซึ่งนั้นไม่ใช่คำตอบ

ผังเมือง ขนส่งระบบราง และประชาชน
“ตัวระบบโครงข่ายระบบรางของกรุงเทพฯ มันไม่ได้มีการบูรณาการมาตั้งแต่เริ่มแรก เป็นผังที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการจราจรอย่างเดียว ต่างจากในหลักการของการวางผังโครงข่ายในต่างประเทศที่ไม่ได้มองเรื่องของระบบการสัญจรอย่างเดียว แต่เขามองถึงระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก การใช้ที่ดินให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้น” ฐาปนา บุณยประวิตร นักวิชาการผังเมือง กล่าว

เมื่อประเทศเราไม่ได้วางโครงข่ายเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดฉะนั้นจึงทำให้ไม่มีการศึกษารายละเอียดให้ดีพอ ตรงนี้อาจส่งผลให้โครงข่ายที่วางไปเป็นการลงทุนที่เสียเปล่า ฯลฯ

มันสะท้อนปัญหาที่ว่าผ่านมาภาครัฐไม่ได้ลงทุนระบบรางเป็นโครงข่ายพื้นฐานของประเทศ แต่ไปลงทุนระบบถนน คือว่าเมื่อรัฐไปลงทุนเครือข่ายถนน ภาคประชาชนก็ลงทุนซื้อรถ ซื้อค่าน้ำมัน กลับกันถ้ารัฐลงทุนระบบรางแต่แรกประชาชนก็จะลงทุนแค่ค่าตั๋ว

ต้นทุนระบบรางกับตัวรถไฟนั้นเป็นเพียง 30 เปอร์เซ็นของจำนวนที่ลงทุนเสียด้วยซ้ำ เพราะที่เหลือจะเป็นในส่วนงานโยธา การเวนคืนที่ดินที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ฐาปนา กล่าวว่าการเวนคืนที่ดินในประเทศไทยนั้นตามระบบราชการมักจะให้ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริง ทั้งยังไม่มีการจัดการในเรื่องค่าเสียโอกาสที่ภาคประชาชนต้องเผชิญ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ศรีสุวรรณ ในเรื่องความไม่เป็นธรรมต่อสวัสดิภาพของภาคประชาชน

“ตรงนี้มันไม่เหมาะสม หลายๆ ประเทศช่วงหลังในอเมริกาเขาใช้วิธี เช่น ถ้าคุณอยู่ขายได้ 3 ล้าน แต่อยู่ๆ ผมไปเอาคืนที่คุณมาด่วน ภายใน 3 ปีคุณต้องย้าย ผมก็ต้องบวกค่าเสียหายและโอกาสทางธุรกิจเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นที่เขาจะได้มันต้องมากกว่า แต่บ้านเรามันไม่ใช่ บ้านเราต่ำกว่าเยอะ ประเมินตามราคาราชการ”

ฐาปนา ทิ้งท้ายว่า การทำงานของหน่วยงานในบ้านเรานั้นเลี่ยงที่จะเข้ามาวุ่นวายกับเรื่องนี้ ถ้ามอบหมายให้ใครรับผิดชอบก็จัดการให้เสร็จๆ ไป ในกระบวนการบริหารจัดการต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบกับเรื่องดังกล่าวอย่างเท่าเทียม ต้องทำความเข้าใจกับภาคประชาชนเพื่อก่อเกิดประโยชน์ร่วมกัน

.........................
ในขณะที่ภาคประชาชนให้ความร่วมมือในการก่อสร้างโครงข่ายขนส่งระบบรางเป็นอย่างดี ก็ได้หวังว่าการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสร็จสิ้นตามวาระที่กำหนด พร้อมเปิดให้ใช้บริการกันอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะว่ายังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางด้วยกัน ซึ่งตรงนี้ก็อยากร้องขอให้ผู้มีส่วนข้องลงพื้นที่ดูแลกันอย่างจริงๆจังๆเสียที หรือต้องให้เส้นทางเดินรถดิ่งตรงไปที่ประตูบ้านของพวกท่านถึงจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง?

.........
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



กำลังโหลดความคิดเห็น