xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตบันเทิง-วาไรตี้ของแพม ลลิตา ตะเวทิกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากปรากฏการณ์ของรายการSuperstar ที่สุดแห่งดาว รายการแข่งขันประกวดที่นำเอาดาราชั้นนำของวงการมาแข่งขันกัน สร้างสีสันจนโด่งดังไปทั่วประเทศมาแล้วถึงสองซีซัน ผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวคือแพม ลลิตา ตะเวทิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออเคสตร้า กรุ๊ป

นักข่าว ,พิธีกร ,นักร้อง ,นักแต่งเพลง ,ครูฝึก และผู้ผลิตรายการทีวีคือหลากบทบาทในวงการบันเทิงของเธอ หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเธอจากบทบาทของครูฝึกร้องเพลง แต่หากย้อนไปไกลกว่าบางคนก็อาจคุ้นหน้าเธอในบทบาทของนักข่าวเด็กจากรายการจิ๋วแจ๋วเจาะโลก เธอเข้าวงการตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่แปลกที่เธอจะเชี่ยวชาญในศาสตร์ของการทำงานในวงการบันเทิง

เมื่อเธอไปเรียนต่อต่างประเทศและกลับมาผลิตรายการทีวีพร้อมกับเปิดสถาบันสอนดนตรีจนประสบความสำเร็จ มาถึงวันนี้เธอมาพร้อมกับโครงการใหม่ๆที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ทั้งรายการใหม่ที่หลายคนติดตาม ซีซันใหม่ของรายการที่หลายคนเฝ้ารอ และโรงเรียนดนตรีที่จะพัฒนาวงการบันเทิงไทยต่อไป

กว่า 20 ปีในวงการบันเทิง

ประสบการณ์ในวงการบันเทิงของเธอนั้น เริ่มนับหนึ่งมาตั้งแต่เธออายุได้เพียง 10 ปี เมื่อเธอได้มีโอกาสเป็นนักข่าวเด็กในรายการจิ๋วแจ๋วเจาะโลก ที่เปิดโอกาสให้เธอได้ลองทำงาน ได้สัมภาษณ์คน เป็นก้าวแรกของเธอในวงการบันเทิง

“จริงๆ ด้วยความเป็นเด็กเราก็ไม่รู้เรื่องหรอก พอแคสได้เราก็ไปทำเรื่อยมา เป็นวัยเด็กที่ทำงานมาตลอด หลังเลิกเรียนเพื่อนๆ จะไปเที่ยวเล่นกัน แต่ของแพมจะไปทำงาน ถ่ายรายการ ทำข่าว สัมภาษณ์คน ชีวิตจะอยู่กับการทำงานและการเรียนควบคู่กันมา ไม่ค่อยมีเวลาว่าง”

แม้จะไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับการไปเที่ยวเล่นเหมือนเด็กทั่วไป แต่การทำงานก็เป็นสิ่งที่ให้ประสบการณ์ที่บ่มเพาะหลายๆ อย่างในตัวเธอ ทั้งการวางตัว การทำงาน ระเบียบวินัย และที่สำคัญคือความอดทน เพราะการทำงานในวัยเด็กไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ลองผิดลองถูกหลายครั้ง ซึ่งระหว่างนั้นความสนใจในของเธอไม่ได้อยู่แค่ในจอทีวี หากแต่นอกรายการเธอก็ยังสนใจการร้องเพลง และประกวดจนได้แชมป์ระดับประเทศอีกด้วย บอกได้ว่าความสามารถทางด้านดนตรีของเธอก็ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

จากนักข่าวเด็กที่ยื่นไมค์ให้ใครก็ยินดีให้สัมภาษณ์ สู่วัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงเวลาในรายการเป็นของตัวเอง รายการวัยรุ่นยอดนิยมในช่วงเวลานั้นคือท็อปสตาร์พาเหรด เป็นรายการประกวดความสามารถของวัยรุ่นรายการแรกของเมืองไทย และวัยรุ่นในสมัยนั้นเป็นใครก็อยากมาออกรายการนี้

“จะมีช่วงของรายการที่ชื่อว่าแพมโชว์ คือเราต้องคิดเองว่า เราจะต้องทำแบบไหน เขียนสคริปต์ยังไง หาข้อมูล เสื้อผ้าก็ต้องหาเอง ไปยืมร้านเอง เวลามีโชว์ก็ช่วยจัดการเรื่องโชว์ บางทีก็คิดท่าเต้นเองด้วย”

เมื่อย้อนไปถามถึงตารางชีวิตในช่วงนั้น เธอยิ้มพร้อมเผยว่า เป็นตารางเวลาที่รัดตัว วันเสาร์-อาทิตย์ 9โมงเช้าเรียนบัลเลต์ 10โมงเรียนแจ๊ซ 11โมงไปเรียนว่ายน้ำ เที่ยงพักทานข้าว บ่ายโมงเรียนภาษาไทย 3 โมงไปถ่ายรายการนอกสถานที่ ทุ่มหนึ่งกลับมาถึงบ้าน 2ทุ่มพักดูทีวี 3 ทุ่มนอน บางครั้งในการทำงานเธอก็ต้องหาเวลาไปเดินสยามหาเสื้อ ต้องติดต่อคน ต้องคิดว่าอันนี้จะทำยังไง ทั้งยังต้องซ้อมอีก

“คิดไม่ออก มันก็มีไปตามประสาเด็กๆ ต้องใช้ความอดทนเป็นหลักเพื่อสู้กับมันแล้วทำให้ดีที่สุด เคยมีอยู่วันหนึ่ง ที่รู้สึกเหนื่อยมากกับการใช้ชีวิตแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก วันนั้นมันร้องเพลงไม่ออก ร้องไห้แทน ทุกคนช็อก ถามว่า อินกับเพลงมากเลยเหรอ? เปล่า มันเหนื่อย แต่ก็ไม่นานนะ แป๊บเดียวก็กลับมาทำงานเหมือนเดิม”

และแล้วในที่สุดเมื่อเรียนจบมัธยมศึกษา เธอก็ตัดสินใจพักงานจากวงการบันเทิง รัดฟ้าไปเรียนต่างประเทศ ด้านมิวสิกเทคโนโลยี ที่นิวยอร์กยูนิเวอร์ซิตี้

“ที่นั่นตัวใครตัวมัน ต้องดูแลตัวเองมีแต่โจรขโมยกับพวกขายยาเต็มไปหมดเลย แล้วก็มักจะมีแต่พวกติสต์ๆ อยู่นิวยอร์กเยอะด้วย” เธอเล่าให้อย่างอารมณ์ดีเมื่อนึกถึงคืนวันที่นั่น

และที่นั่นก็ให้อะไรหลายอย่างกับเธอ แม้ว่าตอนแรกที่ไปเรียนเธอจะไม่รู้อะไรเลยก็ตาม เธอสารภาพว่าตัวเองขณะนั้นเปิดทีวียังไม่ค่อยจะเป็น กลับต้องมาเรียนในคณะด้านวิศวกรเสียงที่ต้องเจอกับบอร์ดมิกเซอร์ที่มีปุ่มเป็นร้อยปุ่ม แต่เธอก็ใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้น (จากปกติที่ควรเรียนถึง 4 ปี) พร้อมเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ทำให้เธอเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

“ที่นั่นเราต้องขยันมากๆ ใช้ความอดทนความพยายามอย่างเดียวเลย เราก็มีพื้นความอดทนมาจากการทำงานหนักมาตั้งแต่เด็กแล้ว”

โรงเรียนดนตรีในฝัน

ช่วงชีวิตในต่างแดนให้โอกาสเธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง หลังเรียนต่อปริญญาโทด้านการศึกษา ที่เฟรมมิ่งแฮม เธอรวมตัวกับเพื่อน 3 คน เปิดค่ายเพลงเล็กๆ ขึ้น เธอเรียกภาวะตอนนั้นของเธอว่า ติสต์แตก! แต่เธอก็ได้ทำงานทุกขั้นตอน ตั้งแต่ทำเพลง เอ็มวี จนถึงนั่งขายแผ่นเองกับมือ ติดต่อทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ ทำให้เห็นว่าตัวเองยังไม่เก่งด้านการตลาด จึงไปเรียนต่อด้านธุรกิจดนตรีที่ยูซีแอลเอ

“พอเรียนเสร็จปุ๊บก็โชคดีมากได้ไปทำที่วอร์เนอร์ บราเดอร์ส เรคคอร์ดที่อเมริกาเป็นศูนย์บัญชาการระดับโลก เข้าไปตอนนั้นเราได้ช่วยทำงานของศิลปินอย่าง มาดอนน่า ,เรด ฮอต ชิลี เปปเปอร์ ,กรีนเดย์ ก็เลยได้ความรู้เยอะมาก เรื่องการตลาดและการจัดจำหน่ายเพลง ลิขสิทธิ์ต่างๆนานา แล้วก็ตัดสินใจกลับมาเมืองไทย”

เหตุผลที่เธอตัดสินใจกลับมาเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง ซึ่งมีโครงการหนึ่งที่เธออยากทำเพื่อถวายท่าน

“เป็นโครงการริสแบนด์สีธงชาติ ได้เงินทั้งหมด 17 ล้าน ถวายหมดเลยคะ พอทำเสร็จปุบก็มาคิดว่าฉันจะทำอะไรกับชีวิตต่อไปดี ก็เลยมาเปิดบริษัท ออเครต้า กรุ๊ปขึ้นมา”

และแล้วสถาบันสอนดนตรีSuperstar Academyก็เกิดขึ้น โดยมีต้นแบบมาจากความต้องการของเธอในวัยเด็กที่ได้เรียนอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ประกอบกับพื้นของครอบครัวที่เป็นนักการศึกษา ตั้งแต่รุ่นปู่คือดร.ทวี ตะเวทิกุลผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ตากับยายก็เปิดโรงเรียนอยู่ที่หาดใหญ่ โดยมีพ่อแม่เปิดก็โรงเรียนนานาชาติ

“คุณพ่อ คุณแม่ ลูกพี่ลูกน้องทุกคนเป็นครูเป็นอาจารย์กันหมด เราก็โตมาในโรงเรียน ตั้งแต่เด็กแล้วที่เราโตมากับการศึกษา คือคุณแม่จะให้ไปสอนหนังสือตั้งแต่อายุ 12 ตอนซัมเมอร์คุณแม่ก็จะให้ไปสอนเด็กอนุบาล พอโตขึ้นมาก็ไปสอนเด็กประถม เด็กมัธยม พอเรียนจบก็ให้มาสอนเด็กมัธยมปลาย ก็เลยถูกปลูกฝังให้เป็นครูมาตลอด

“ไอเดียที่มาจาก สิ่งที่เราเองอยากจะเรียน โรงเรียนดนตรีในฝันน่ะคะ เป็นยังไงเราก็สร้างขึ้นมา เป็นโรงเรียนดนตรีที่ครูดี ครูแคร์เด็กแล้วก็รักเด็กจริงๆ เป็นโรงเรียนที่มีกิจกรรมให้ทำเยอะๆ เด็กได้ขึ้นเวที ได้แสดงได้มีประสบการณ์ชีวิต มีช่องทางเข้าวงการบันเทิง เพราะเราจะเป็นที่ของการออดิชันหนังละครรายการทีวีต่างๆด้วย ทุกคนก็มาออดิชันที่นี่”

เคล็ดลับในการสอนของเธอคือ การให้นักเรียนเป็นจุดศูนย์กลาง เพราะคนแต่ละคนก็มีวิธีเรียนรู้ของตัวเอง ดังนั้นการสอนจึงไม่เหมือนกัน ทว่านักเรียนบางคนก็ทำให้เธอหนักใจไม่น้อย ตัวอย่างน่าสนใจที่สุดในด้านของความโหดหินของการฝึกสอนก็คือพุด เดชอุดมเจ้าของเสียงเพี้ยนสุดขอบที่โด่งดังในโลกไซเบอร์

“เขาร้องเพลงได้เพี้ยนที่สุดในโลก” แพมยิ้มพร้อมกับเอ่ยถึงลูกศิษย์คนนี้ และเล่าว่าคลิปแรกที่โด่งดังนั้นถ่ายในซูเปอร์สตาร์ อะคาเดมีนั่นเอง เป็นคลิปที่พุดถ่ายการฝึกซ้อมของตัวเองเพื่อแชร์ให้เพื่อนดู แต่แล้วก็แชร์ต่อกันจนไกล

จากนั้นเธอยื่นข้อเสนอเพื่อให้ลูกศิษย์พัฒนาตัวเองแบบทีเล่นแต่เอาจริงว่า หากพุดร้องเพี้ยนบนเวทีครั้งต่อไป เพื่อนจะขว้างของใส่ แรกที่ได้ยินพุดถึงขั้นเหงื่อตกแต่ก็ตอบตกลง และ1 เดือนคือระยะเวลาในการฝึกครั้งนั้น

“ฝึกทุกวัน วันละ3-4ชั่วโมง ครูแพมก็สอนเองเลย ไล่สเกลทีละโน้ต ผิดทีนึงก็ลงโทษทีนึง แล้ววันที่เขาเล่นคอนเสิร์ต ก็มีถ่ายลงยูทูบด้วยนะ คนพูดกันว่า ดีขึ้นมากๆ จนคนงง หรือที่ผ่านมามันแกล้งทำเป็นเพี้ยน เพลงของขวัญวัน christmas ก็เหมือนกัน นั่งแต่งเพลงกันตัวต่อตัว ฝึกและเข้าห้องอัดร้องจนกว่าจะได้โดยไม่มีการจูนเสียง ยอมรับว่ามีการตัดต่อเสียงบ้างเล็กน้อย ผลออกมาก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่อยากจะบอกคือ ทุกคนสามารถสอนได้ สามารถพัฒนาได้”

มาถึงยุคนี้ยูทูบเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารที่ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น การสอนบนยูทูบของเธอจึงเกิดขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทุกคนสามารถคลิปเข้าไปเรียนได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และจากที่ไหนก็ได้บนโลก แต่ในการทำงาน การประกอบวิชาชีพแน่นอนว่าใบปริญญายังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกถามถึง เธอจึงมีความคิดตั้งวิทยาลัยดนตรีในชื่อหลักสูตร Superstar College of Asiaหรือศิลปินแห่งเอเชีย

“เรามองไปถึงการเปิดเสรีการค้าอาเซียนเพื่อผลิตศิลปินเข้าทำงานในต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะทำเพลง รายการทีวี การตลาดธุรกิจบันเทิง”

อย่างไรก็ตามงานการเป็นครูที่ถ่ายวิชาให้กับคน นี่เองที่เป็นงานที่ทำให้เธอรู้สึกมีความสุขที่สุด ด้วยความรู้และประสบการณ์มากมายที่เธอใช้คำว่า โชคดีที่ได้ไปเจอมา

“ถ้าพูดถึงการสอนจะเป็นอะไรที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด การอยู่กับนักเรียนที่เป็นเด็กจะทำให้ชีวิตเราสดใสร่าเริง งานที่รู้สึกได้เป็นตัวเองมากที่สุด ถ้าให้เลือกนะคะ การเป็นครูนี่แหละ”

ในฐานะผู้ผลิตรายการ

“ความท้าทายมันคือเสน่ห์ของการทำงานตรงนี้นะ เราต้องทุ่มกับมันอย่างถึงที่สุดจริงๆ”

ย้อนไปถึงรายการแรกที่เธอทำ ซูเปอร์สตาร์ ที่สุดแห่งดาว เป็นรายการฟอร์มใหญ่ที่ต้องใช้ทุนระดับ 100 ล้านบาท ยังไม่ทันเริ่มถ่ายทำ เพียงแค่หาสปอร์นเซอร์ให้ได้ก็ไม่ใช่งานง่ายเสียแล้ว

“สำหรับแพมแล้ว งานโปรดิวเซอร์ไม่ได้ต่างอะไรจากการเป็นครูหรอก การเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวี เพราะมันก็คือการสอนคนว่าต้องทำอะไร แบบไหน ยังไง เพียงแต่เราเปลี่ยนเนื้อหาจากการร้องเพลงมาเป็นการทำรายการทีวี การอธิบายงานให้ชัดเจน การสอนว่าทำอันนี้ทำแบบนี้ อันนี้ทำแบบนี้เพื่อผลแบบไหน มันก็คือการสอนนะ แต่มันกดดันกว่าตรงที่มันต้องได้เรตติ้ง ต้องได้สปอนเซอร์ ช่องต้องแฮปปี้ ผู้ชมต้องแฮปปี้ มันมีโจทย์ที่ยากกว่า”

ความสำเร็จจากซีซันแรกสู่ซีซันสอง จนถึงรายการTeen Superstarที่ผลักดันความฝันของเหล่าวัยรุ่นเพื่อไปยังวงการเพลงเกาหลี ซึ่งการทำรายการแบบเรียลิตี้ที่ต้องมีการถ่ายทอดสดทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งมีการเก็บตัวฝึกซ้อมซึ่งเธอก็เป็นครูฝึกคนหนึ่งของรายการ ด้วยภาระหน้าที่หนักหนาขนาดนี้ บวกกับการเอาจริงในช่วงฝึกซ้อม ทำให้ครั้งหนึ่งทั้งแพมพร้อมทั้งทีมงานและผู้เข้าแข่งขันถึงกับต้องถูกหามส่งโรงพยาบาล

“นึกถึงตอนเด็กที่เหนื่อยจนร้องไห้ออกมา โตขึ้นมาก็ไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่ เราก็ทำงานจนร่างกายไม่ไหวไปเลยเหมือนเดิม เพราะซ้อมถึงตี 2 ทุกวัน เวลาสามเดือนติด ก็เลยต้องไปให้น้ำเกลือกันที่โรงพยาบาล แถมวันนั้นมีถ่ายทอดสดด้วย หลังจากให้น้ำเกลือเสร็จก็ต้องมาลุยงานต่อ”

และมาตอนนี้จากหลายรายการที่ประสบความสำเร็จ รายการล่าสุดของเธอทำคือThailand's Most Famousเป็นรายการเรียลิตี้ที่จะเฟ้นหาพระเอก-นางเอกให้กับช่องสาม ทว่าในตลาดรายการบันเทิงที่เต็มไปด้วยรายการแข่งขันเรียลิตี้ อะไรคือความแตกต่างของรายการนี้

“นี่เป็นรายการเรียลิตี้ฟอร์มใหญ่ที่ฉายติดต่อกันถึง12สัปดาห์ และมีออกอากาศนานถึง90 นาทีต่อตอน และผู้เข้าแข่งขันมีงานรองรับได้เป็นนักแสดงแน่นอน”

ในฐานะของแมวมองคนหนึ่งของรายการ คนๆหนึ่งที่จะเข้าวงการ สิ่งที่เธอต้องดูเป็นอย่างแรกคือเสน่ห์ของบุคลิกเฉพาะตัวที่สร้างกันไม่ได้ “ดูแล้วมีรัศมีของความเป็นดาว เรียกว่า สตาร์ควอลิตี้ ตรงนี้สร้างได้ ช่วยเสริมได้จากความมั่นใจ แต่ถ้ามีมาเลยจะดีกว่า ส่วนเรื่องความสามารถนั้นก็สามารถฝึกกันได้ ที่สำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจอยากทำงานในวงการจริงๆนั่นแหละ”

พร้อมกันนี้เธอยังแอบกระซิบถึงการกลับมาของซูเปอร์สตาร์ ที่สุดแห่งดาวซีซันสามในปลายปีอีกด้วย บอกได้เลยว่า งานในวงการบันเทิงของเธอไม่เคยหยุดนิ่งจริงๆ

-ผู้ที่สนใจอยากสมัครThailand's Most Famous หรือสอบถามเรื่องSuperstar Academy หรือSuperstar College of Asia ติดต่อได้ที่0877107999 ,info@superstar-academy.com หรือ Facebook.com/pamlalita

ภาพโดย อดิศร ฉาบสูงเนิน






กำลังโหลดความคิดเห็น