เมืองไทยนับวันเข้าขั้น “ร้อนตับจะแตก” ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน หรือทักทายใคร ก็มักจะได้ยินประโยคทำนองว่า “อากาศร้อนจัง” จนกลายเป็นคำบอกเล่ายอดฮิตรับกระแสลมร้อนในระยะนี้ไปเสียแล้ว...และต่างคนต่างก็มีวิธีการคลายร้อนที่แตกต่างกันไป
เมื่ออากาศร้อนเข้าขั้นวิกฤต ความต้องการที่จะหาทางคลายร้อนนั้น ส่วนใหญ่จึงไม่พ้นต้องพึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่องปรับอากาศ ร้อนนักก็เปิดทิ้งไว้ ไม่พอเสริมด้วยพัดลม หรือจะอาบน้ำดับร้อน จนอาจลืมคิดไปถึงค่าน้ำ ค่าไฟที่จะตามมา เรามาดูกันซิว่าจะมีวิธีการประหยัดพลังงานแบบสบายกระเป๋าในช่วงหน้าร้อนนี้อย่างไร
สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จึงขอแนะวิธีการรู้จักใช้พลังงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แถมยังเป็นการช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของประเทศด้วยวิธีง่ายๆ อีกด้วย
ปลูกต้นไม้ช่วยประหยัดแอร์
หากพูดถึงวิธีประหยัดการใช้พลังงานในบ้านช่วงหน้าร้อนแบบง่ายๆ มีหลายรูปแบบ เบื้องต้นเลย ถ้าในบริเวณบ้านเราปลูกต้นไม้ใหญ่เอาไว้ก็จะเพิ่มร่มเงาให้ตัวบ้าน ช่วยลดการทำงานของแอร์ และกันร้อนให้คอนเดนเซอร์
แต่ถ้าไม่มีต้นใหม่ใหญ่ ควรตั้งคอนเดนเซอร์ไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรตั้งห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น จะประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 15-20
หากต้องการให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อย ไม่ควรเอาของที่มีความชื้นเข้าไปไว้ในห้องปรับอากาศ เช่น กระถางต้นไม้ ตากผ้า เป็นต้น และเชื่อหรือไม่ว่าสำหรับเมืองไทยแล้ว พลังงานที่ใช้ในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศนั้นแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์เป็นการใช้ไปเพื่อการ “ทำให้อากาศในห้องแห้ง” หรือ “รีดความชื้น” ออกจากห้อง
นอกจากนี้การล้างเครื่องปรับอากาศปีละครั้ง และหมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ ร
วมทั้งตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส และหากอากาศไม่ร้อนเกินไป ควรเปิดพัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ จะช่วยประหยัดไฟ ประหยัดเงินได้มากทีเดียว
ซักผ้า 1 ตัว = 20ตัว
ลด ละ เลี่ยง การใส่เสื้อสูท เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองร้อน สิ้นเปลืองการซัก อบ รีด และถ้าซักผ้าด้วยเครื่อง ควรใส่ผ้าให้เต็มกำลังของเครื่อง เพราะซัก1 ตัวเท่ากับการซัก 20 ตัว ซึ่งต้องใช้น้ำในปริมาณเท่าๆ กัน
อากาศร้อนอย่างนี้ไม่ควรอบผ้าด้วยเครื่องซักผ้า เพราะเปลืองไฟมาก ควรตากเสื้อผ้ากับแสงแดดหรือแสงธรรมชาติจะดีกว่า โดยการใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าอีกด้วย
ใช้ตู้เย็น 2 ประตู ยิ่งสิ้นเปลือง
ร้อน...เสียจนหลายคนอยากจะเข้าไปนอนในตู้เย็น ในช่วงนี้ประตูตู้เย็นต้องถูกเปิดเข้า-ออกเป็นประจำ ทำให้ยิ่งสิ้นเปลืองพลังงานมาก เมื่อใช้แล้วจึงควรปิดตู้เย็นให้สนิท ดูแลทำความสะอาดอยู่เสมอ ห้ามนำของร้อนเข้าแช่ และควรตั้งสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิของตู้เย็นให้เหมาะสม
ควรเลือกซื้อตู้เย็นประตูเดียว เนื่องจากตู้เย็น 2 ประตู จะกินไฟมากกว่าตู้เย็นประตูเดียวที่มีขนาดเท่ากัน เพราะต้องใช้ท่อน้ำยาทำความเย็นที่ยาวกว่า และใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่กว่า
เลือกขนาดตู้เย็นให้เหมาะสมกับขนาดครอบครัว อย่าใช้ตู้เย็นใหญ่เกินความจำเป็นเพราะกินไฟมากเกินไป และควรตั้งตู้เย็นไว้ห่างจากผนังบ้าน 15 ซม.
รองน้ำอาบ ประหยัดได้เยอะ
ระยะนี้หลายคนคงวิ่งเข้าหาน้ำ ไม่ว่าจะใช้อาบ-ดื่ม-กิน ควรหาวิธีประหยัดด้วยการรองน้ำใส่โอ่งหรือถังเอาไว้แล้วค่อยใช้ ดีกว่าเปิดฝักบัว-เปิดก๊อกปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปเปล่าๆ
ไม่ควรรดน้ำต้นไม้ตอนแดดจัด เพราะน้ำจะระเหยออกไปหมด ให้รดตอนเช้าที่อากาศยังเย็นอยู่ การระเหยจะต่ำกว่าช่วยให้ประหยัดน้ำได้
อย่าทิ้งน้ำดื่มที่เหลือในแก้วโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด ใช้รดน้ำต้นไม้ ใช้ชำระพื้นผิว ใช้ชำระความสะอาดสิ่งต่างๆ ได้อีกมาก
ลดกระจก คลายร้อนในรถยนต์
การทิ้งรถตากแดดไว้เป็นเวลานาน ทำให้ความร้อนถูกสะสมอยู่ภายในตัวรถ คิดจะเปิดแอร์รถดับร้อน เพื่อปรับอากาศให้อยู่ระดับสบายอารมณ์คงเปลืองน้ำมันไม่น้อย เคล็ดวิธีเล็กๆ เพียงแค่หมุนกระจกลงนิดนึงประมาณ 1-2 มม. พอให้อากาศถ่ายเทได้ในขณะที่ทิ้งรถไว้กลางแดด เมื่อมานั่งอีกทีจะได้ไม่รู้สึกว่าเหมือนนั่งอยู่ในเตาอบ
และไม่ควรเร่งเครื่องปรับอากาศในรถอย่างเต็มที่จนเกินความจำเป็นไม่เปิดแอร์แรงๆ จนรู้สึกหนาวเกินไป เพราะสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
เคล็ดวิธีประหยัดเพิ่มเติม...
- ควรปลูกต้นไม้รอบๆ อาคาร เพราะต้นไม้ขนาดใหญ่ 1 ต้นให้ความเย็นเท่ากับเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน หรือให้ความเย็นประมาณ 12,000 บีทียู
- ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อช่วยลดความร้อนและเพิ่มความชื้นให้กับดินจะทำให้บ้านเย็น ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจนเกินไป
- ใช้แสงสว่างจากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น ติดตั้งกระจกหรือติดฟิล์มที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อน แต่ยอมให้แสงผ่านเข้าได้เพื่อลดการใช้พลังงานเพื่อแสงสว่างภายในอาคาร
- ควรวางพัดลมในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะพัดลมใช้หลักการดูดอากาศจากบริเวณรอบๆ ทางด้านหลังของตัวใบพัด แล้วปล่อยออกสู่ด้านหน้า เช่น ถ้าอากาศบริเวณรอบพัดลมมีการถ่ายเทดี ไม่ร้อนหรืออับชื้น เราก็จะได้รับลมเย็นและรู้สึกสบาย ทำให้มอเตอร์สามารถระบายความร้อนได้ดี และยืดอายุการใช้งาน
“การเลือกซื้อ "เครื่องใช้ไฟฟ้า" ก็เหมือนกับที่หน่วยราชการรณรงค์มานาน นั่นคือ เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า "เบอร์ 5" แต่ถ้าจะให้ดีต้องบอกคนขายว่าขอเป็น "เบอร์ 5 ใหม่ 2001" เพราะประหยัดไฟมากกว่าเดิมได้ร้อยละ 20”
หากทุกคนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี นอกจากจะทำให้ตัวเองรู้สึกสบาย...คลายร้อนได้แล้วยังสามารถช่วยชาติประหยัดพลังงานได้อีกด้วย
.........................................................................................
***ล้อมกรอบ***
ควรปิดแอร์ก่อนออกจากห้อง อย่างน้อย 30 นาที - 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการใช้ไฟได้ 30 หน่วยต่อเดือน ประหยัดได้ 90 บาทต่อเดือน ถ้าปิดเร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง 1 ล้านเครื่อง จะประหยัดไฟให้ประเทศได้เดือนละ 90 ล้านบาท หรือ 1,080 ล้านบาทต่อปี (เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 บีทียู)
โดยห้องขนาด 13-15 ตร.ม. ที่สูงไม่เกิน 3 เมตร ควรใช้แอร์ 7,000-9,000 บีทียู/ช.ม. ห้อง 16-17 ตร.ม. ให้ใช้ 9,000-11,000 บีทียู เป็นต้น
รถยนต์ 1 คัน
ปลายปี 2540 ประเทศไทย มีรถยนต์นงส่วนบุคลอยู่ทั้งหมด 2.1 ล้านคัน รถยนต์แต่ละคัน ใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 100 บาท ถ้ารถทุกคันงดการใช้รถยนต์เหล่านี้สัปดาห์ละ 1 วัน จะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้ = 2.1 ล้านคัน x 100 บาท = 210 ล้านบาท/สัปดาห์ = ประหยัดเงิน 10,920 ล้านบาท/ปี (210 ล้านบาท x 52 สัปดาห์)
ไฟ 1 ดวง
ประเทศไทยมีครัวเรือนรวมประมาณ 12 ล้านครัวเรือน หากแต่ละครอบครัวช่วยกันปิดไฟ 1 ดวง (หลอดไส้ 60 วัตต์) เป็นเวลา 1 วัน เราจะประหยัดไฟได้ 4 ล้าน กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน = (60 วัตต์ x 6 ชม* x 12 ล้านครัวเรือน) ค่าผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 1 หน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) คือ 2.2 บาท (รวมค่าพลังงานที่ใช้ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า) การประหยัดไฟ 4 ล้านหน่วย/วัน จึงคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8.8 ล้านบาท/วัน หรือ 3,212 ล้านบาทต่อปี = (8.8 ล้านบาท x วัน)
* ครอบครัวหนึ่งเปิดหลอดไส้ ประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวัน
น้ำ 1 แก้ว
การลดการใช้น้ำคนละ 1 แก้ว/วัน ประเทศไทยจะสามารถประหยัดน้ำได้ 30,000 ตัน/วัน = (0.5 ลิตร x 60 ล้านคน) หรือเท่ากับน้ำ 11,000 ล้านลิตร/ปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำประปาคือ 8.60* บาท/ลูกบาศก์เมตร (หรือ 8.60 บาท/1,000 ลิตร) การลดการใช้น้ำ 1 แก้วทุกวัน จะประหยัดเงินได้ 94.6 ล้านบาท/ปี = (11 ล้านตัน x 8.6 บาท/หน่วย)
ข้อมูลจาก : กองเผยแพร่ การประปานครหลวง