“เด็กไทยมีสถิติการอ่านหนังสือเฉลี่ยอยู่ที่ 2-5 เล่มต่อปี เทียบกับสิงคโปร์และเวียดนามแล้ว บ้านเราอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก เพราะเขามีสถิติการอ่านหนังสือสูงถึง 50-60 เล่มต่อปี” นี่คือข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2554 ถามว่าทุกครั้งที่ตัวเลขเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ช่วยให้อะไรดีขึ้นบ้าง นอกจากก่อให้เกิดอารมณ์สลดหดหู่ใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ภาครัฐก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ดีที่สุดก็ออกมารณรงค์อยู่พักหนึ่งแล้วเงียบหายไป
ถึงวันนี้ทางกรุงเทพมหานครออกมาผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” หวังคว้ารางวัลเมืองหนังสือโลกในปี 2556 ที่จะถึง หากมองด้วยสายตาไม่มีอคติ มองจากสถิติและสถานการณ์ในปัจจุบันก็พอจะรู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร จึงขอเปิดพื้นที่ให้เหล่านักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าชื่อดังมาช่วยแก้ปมปัญหาเรื้อรังกันเสียที เผื่อว่าความฝันที่จะชนะการประกวดประเทศรักการอ่านของบ้านเราจะเป็นจริงกับเขาได้บ้าง
“มัลติมีเดีย” รูปแบบใหม่ของนักอ่าน
“ผมว่าอีกหน่อยโลกน่าจะหมุนไปสู่จุดที่เราอ่านกันสั้นลง ผมไม่รู้ว่าน้อยลงหรือเปล่านะ อาจจะอ่านเยอะขึ้นก็ได้ แต่ว่าสั้นลง ต่อไปอาจจะไม่มีหนังสือหนา 1,200 หน้าแล้วก็ได้ ในอนาคตหนังสือจะเปลี่ยนไปเป็นสื่อมัลติมีเดียมากขึ้น ไม่แน่ใจว่าคนจะมีสมาธิกับความเงียบน้อยลง สมาธิสั้นลงหรือเปล่า มันก็น่าคิดนะ” นิ้วกลม หรือ “เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” นักเขียนรุ่นใหม่ ทำนายอนาคตการอ่านเอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะของนักเขียนอินดี้อีกคน “อัพ-ทรงศีล ทิวสมบุญ” ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงไว้ไกลมาก
“คอหนังสือหลายๆ ท่านอาจจะคุ้นเคยกับการอ่านผ่านตัวหนังสือ แต่งานของผมจะเป็นการเขียนนิยายภาพ หลังๆ มีการเอาดนตรีเข้ามาเล่าเรื่องด้วย คือทำงาน 3 ส่วนเลยทั้งเขียน ทั้งวาดรูป และอาจจะมีเพลงเข้าไปประกอบด้วย มันทำให้ผมมองเห็นโจทย์ในอนาคตที่อาจจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้อีก ณ วันนี้เราอาจจะยังนึกไม่ออก จินตนาการไม่ถึง แต่มันอาจจะมีมากกว่าเพลงหรือภาพก็ได้ ถ้าเราหาเคมีใหม่ๆ พวกนี้เจอแล้วใส่เข้าไปในหนังสือ อาจจะช่วยดึงให้คนหันมาสนใจอ่านหนังสือมากขึ้นก็ได้ อีกหน่อยหนังสืออาจจะมีกลิ่น เปิดมาปุ๊บมีฮอร์โมนความสุขพุ่งออกมา แค่เปิดก็สุขตั้งแต่ยังไม่ได้อ่านแล้ว” เขาปิดประโยคด้วยรอยยิ้ม
แม้แต่ “จี๊ด-จิระนันท์ พิตรปรีชา” ตัวแม่แห่งวงการน้ำหมึกก็เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง “จะให้มาวัดจากสถิติการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ อย่างเดียวคงไม่ได้ คุณรู้หรือเปล่าว่าเด็กสมัยนี้เขาเสิร์ชกูเกิ้ลกี่ครั้ง หาความรู้บนเว็บไซต์บ่อยแค่ไหน เด็กรุ่นนี้โตมาจากสื่อภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต และของเล่นที่คนรุ่นเราไม่เคยเล่น” แต่ถึงจะยอมรับอย่างไร เธอก็ยังมองว่าน่าเป็นห่วงอยู่ดี “จะว่าไปสื่อพวกนี้มันก่อให้เกิดปัญหาอยู่เหมือนกันนะ มันทำให้เด็กขาดจินตนาการ ถ้าเป็นแต่ก่อนเราอ่านเรื่องซินเดอเรล่าเรายังต้องคิดว่าเธอจะมีหน้าตายังไง รองเท้าที่ใส่ต้องสวยมาก เท้าเล็กเรียว แต่เดี๋ยวนี้มีคนคิดมาเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ดูเสร็จสรรพ จินตนาการแทบไม่เหลืออยู่แล้วในสมองคนยุคปัจจุบัน”
สังคมไม่ต้องการนักเขียน?!?
กลับมาสู่คำถามที่ว่าเหตุใดคนสมัยนี้จึงอ่านหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์กันน้อยลง นอกจากเรื่องของสื่อมัลติมีเดียที่ถูกพูดถึงไปแล้ว ยังมีเหตุผลข้อใหญ่ๆ ที่ “ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์” มองเห็น เขาบอกว่ามันเป็นเพราะสังคมปัจจุบันไม่ต้องการพึ่งความคิดจากนักคิดนักเขียนมากเท่าเดิมอีกต่อไปแล้ว
“เทียบกับสมัยศรีบูรพา ตอนนั้นเรามีคนสัก 6-7 ล้านคน แต่หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ให้คนอ่านอยู่ในหลักหมื่น ตอนนี้เรามีคนอ่านเกือบ 60 ล้านคน แต่ตีพิมพ์อยู่แค่ 2-3 พันเล่ม (ยิ้มเนือยๆ) ผมว่าเป็นเพราะตัวคนอ่านไม่ได้มานั่งเรียกร้องให้ผู้เขียนต้องทำหน้าที่ย่อยความคิดยากๆ ให้แก่เขาเหมือนสมัยศรีบูรพาทำอีกแล้ว พอไม่เกิดการเรียกร้อง คนเลยไม่ได้มีความคิดอยากจะอ่านจริงๆ และอีกหนึ่งปัญหาที่เห็นอยู่ตอนนี้คือภาวะทุนนิยมที่เคลื่อนที่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไป รวมถึงพฤติกรรมการอ่านของคนในสังคมด้วย”
แต่ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือความเชื่อมั่นของผู้กุมบังเหียนแท่นพิมพ์ “ตุ๊-จตุพล บุญพรัด” บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ซึ่งยืนหยัดคู่วงการน้ำหมึกมาได้ถึง 20 ปี ยังคงเชื่อมั่นว่าตัวหนังสือบนหน้ากระดาษสำคัญที่สุด
“ผมเชื่อว่าการอ่านสามารถเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนสังคมได้ มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนรวดเร็วฉับไวเหมือนน้ำท่วม ครั้งเดียวส่งผลกระทบได้ในทันที การอ่านต้องใช้เวลาบ่มเพาะ การอ่านทำให้เกิดสมาธิ สมาธินำไปสู่ปัญญา และสุดท้ายปลุกให้คนลุกขึ้นมาปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการอ่านจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้แน่นอน เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ทั้งหมดล้วนมาจากการสั่งสมความรู้ มาจากการอ่านทั้งนั้นแหละ”
ไม่อ่าน ไม่ใช่อาชญากร
คำถามยอดนิยมอีกหนึ่งข้อคือ “ทำอย่างไรให้คนหันมาอ่านกันมากขึ้น?” เมื่อมองไม่เห็นหนทางก็แก้ง่ายๆ ด้วยการยัดเยียดหนังสือนอกเวลาเข้าไปในหลักสูตร หรือออกมาต่อว่าด่าทอคุณภาพของเด็กไทย โดยที่ไม่รู้ว่าการกระทำแบบนั้นเองเป็นตัวผลักให้เยาวชนของชาติถอยห่างออกไปจากหนังสือทุกทีๆ “ถ้าอยากให้เขาอ่านก็อย่าไปบังคับ” จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในสังคมมานับครั้งไม่ถ้วน เปิดใจบอกเล่าผ่านประสบการณ์ตรงในมุมที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน
“จริงๆ แล้วเจ้าแทน (แทนไท) กับเจ้าสิงห์ (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) เคยเป็นเด็กที่เกลียดหนังสือเป็นชีวิตจิตใจนะ การมีพ่อแม่เป็นนักเขียนทำให้ถูกจับไปเปรียบเทียบตลอด จนเขาไม่ยอมแตะหนังสืออีกเลย แล้วนักเขียนตัวแม่ทำยังไงกับตัวลูก เราก็ให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น ไม่อ่านหนังสือเหรอลูก ดีเลย ไม่ต้องอ่าน อยากอ่านการ์ตูนไหม ซื้อให้หมดเลย ทั้งๆ ที่ในหนังสือการ์ตูนเล่มนั้นสมัยนั้น มันจะมีแต่ “เฟี้ยว, เคว้ง, ควับ” อ่านภาษาไทยเป็นอยู่ 3 คำ (ยิ้มขำๆ) อ่านจนอายุไม่ใช่น้อยๆ แล้ว จนอายุ 12-13 ปีแล้วที่เขาไม่ยอมหยิบหนังสืออย่างอื่นมาอ่านเลย เพราะถูกสังคมกดดันด้วยความรักและคาดหวัง”
“ถามว่าดึงลูกกลับมายังไง เราไม่ใช้วิธีบังคับให้อ่าน แต่ค่อยๆ สร้างบรรยากาศการอ่านให้เขา อย่างเจ้าแทนสนใจวิทยาศาสตร์ ดูทีวีเห็นกระดูกไดโนเสาร์ อยากรู้เขาเรียกว่าอะไร บอกลองดูในหนังสือนี่สิ มีชาร์ตให้ดูด้วยนะ เจ้าสิงห์มาถามเรื่องนักปรัชญาตะวันตก เราก็บอกเอาไปอ่านเองเล่มนี้ แต่เป็นภาษาอังกฤษนะเว่ย ในที่สุดเขาก็ต้องซมซานกลับมาหาหนังสือจนได้ คิดว่าที่ลูกมาเป็นนักเขียนทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากการบังคับของเราเลยแม้แต่นิดเดียว เราเข้าใจเสมอว่าถ้าลูกไม่อ่านหนังสือ เขาก็ไม่ใช่อาชญากรของสังคม การอ่านต้องเกิดจากความรักความชอบใจค่ะมันถึงจะงอกงาม”
มาสร้างบรรยากาศกันเถอะ
ในฐานะคุณแม่มือหนึ่งที่ช่วยให้ลูกๆ ฟันฝ่าความรู้สึก “เกลียดการอ่าน” มาได้สำเร็จ จึงขอให้คุณจิรนันท์ช่วยแนะนำลูกๆ ของคนอื่นดูบ้าง มองในสเกลที่ใหญ่ขึ้นก็พอจะเป็นไปได้เหมือนกันที่จะสร้างบรรยากาศการอ่านให้แก่สังคม “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ที่กำลังจัดอยู่นี้ก็ถือเป็นทางออกที่ดีมากๆ ทางหนึ่ง
“ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการมุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นพาณิชย์อะไรก็ตาม แต่มันก็ได้ผลนะ มันเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งให้คนเริ่มก้าวเข้ามาสู่บรรยากาศแห่งการอ่าน เห็นมากับตาเลย เด็กบางคนเริ่มต้นด้วยการมาหานิยายคิกขุของสำนักพิมพ์แจ่มใสสัก 2-3 เล่ม แต่พอกลับบ้านเขาไม่ได้มีแค่ 2 เล่มนะ เดินออกมาเจอหนังสือบู้ตอื่นอีกตามรายทางที่น่าสนใจ นี่แหละคือการเพาะบ่มเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องตั้งใจจะมาหาหนังสือมีสาระก็ได้ ถ้าเรามัวแต่ใจแคบ สังคมไปบีบว่าเด็กต้องอ่านนู่นอ่านนี่นะ เยาวชนจะยิ่งต่อต้าน”
ถ้ามองในระยะยาว เจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม” ขวัญใจนักอ่านวัยรุ่นมองว่าต้องกลับไปแก้กันที่ระบบความคิดของสังคมกันเลยทีเดียว “ผมคิดเสมอว่าสังคมไทยโดยรวมไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ทำให้เราอยากอ่านหนังสือ เพราะเราไม่รู้สึกตั้งแต่แรกแล้วว่าเราต้องคิดน่ะครับ อย่างในโรงเรียนเราจะถูกหยุดด้วยคำตอบง่ายๆ ของอาจารย์ว่า “ไม่ต้องไปรู้หรอก” เด็กถามว่าถัดจากดาวพลูโตคือดาวอะไร อาจารย์ก็ตอบว่าไม่ต้องรู้หรอก ไม่ออกข้อสอบ มันคล้ายๆ กับคำพูดหนึ่งที่พูดไว้ว่า เราเข้าไปในโรงเรียนด้วยเครื่องหมาย Question Mark (?) แต่เราจบออกมาด้วยเครื่องหมาย Full Stop (.) คือเราไม่ตั้งคำถามอีกต่อไปแล้ว”
“ถ้าให้มองอนาคต ต่อไปโลกคงยังอ่านอยู่นะครับผมว่า แต่สำหรับสังคมไทย ผมว่าค่อนข้างน่ากลัว เมื่อสื่อที่เคลื่อนที่เร็วและหลากหลายกำลังเข้ามาในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพสังคมมันทำหน้าที่หล่อหลอมคนในสังคมนั้นน่ะครับ ถ้าสังคมมันชวนให้คนคิด คนก็จะคิด เมื่อคนอยากคิด คนก็จะหาความรู้ เมื่อคนอยากหาความรู้ คนก็จะอ่าน แต่ในสังคมที่ไม่ได้สะกิดให้คนคิด และค่อยๆ ลบเครื่องหมาย Question Mark ออกไปจากหัวคนเรื่อยๆ มันก็น่าสนใจอยู่ว่าจะเหลือคนอ่านอยู่อีกกี่คนในอนาคต ดูจบเศร้าจังเนอะ” หนุ่มหน้าตี๋ยิ้มบางๆ ปิดท้าย
ลองมองให้เห็นต้นตอของปัญหาแล้วค่อยๆ แก้ไปทีละปม บรรยากาศแห่งการอ่านในบ้านเมืองเราอาจจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ อย่างน้อยสัญญาณอันดีที่ได้เห็นจากเวทีสัมมนา “20 ปีแพรวสำนักพิมพ์... อ่านเถิดชาวไทย” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ ก็พอจะมีให้เห็นอยู่บ้าง มีหญิงสาวคนหนึ่งถือป้ายไฟมาเชียร์นิ้วกลม นักเขียนในดวงใจถึงที่ ซึ่งถือเป็นมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นในแวดวงหนังสือ สะท้อนให้เห็นว่าป้ายไฟไม่ได้มีไว้สำหรับนักร้องหรือนักแสดงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีกลุ่มแฟนคลับที่ตามติดวงการน้ำหมึกและพร้อมสนับสนุนนักเขียนของเขาในฐานะไอดอล
ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากจะได้เห็นหนังสือแห่งโลกอนาคต ใช้ประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ดึงดูดให้คนหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น เราอาจได้เห็นนักอ่านตามไปเชียร์นักเขียนตามงานต่างๆ พร้อมกับชูป้ายไฟ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าประเทศไทยกลายเป็นสังคมแห่งการอ่านไปแล้วจริงๆ โดยไม่มัวมานั่งหวังลมๆ แล้งๆ กับรางวัลเกียรติคุณระดับโลกทั้งๆ ที่ยังไม่เคยลุกขึ้นมาแก้ไขอะไรเลย