xs
xsm
sm
md
lg

สัตว์ ‘บิ๊กไซส์’ ความยิ่งใหญ่ที่ต้องดูแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อึ้งไปทั่วไปประเทศ!!! เมื่อจู่ๆ ก็มีข่าวว่า ชาวอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จับปลาช่อนยักษ์หนักกว่า 70 กิโลกรัมได้ 3 ตัว แถมแต่ละตัวตีราคามาแล้ว ได้แต่แต่หมื่นต้นๆ ไปจนถึงครึ่งแสน

สืบไปสืบมาจึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว ปลาพวกนี้เป็นปลาเลี้ยงที่หลุดออกมาในช่วงมหาอุทกภัย ปี 2554 แถมไม่ใช่ปลาที่พบได้ธรรมชาติ (ของไทย) อีกต่างหาก

อย่างไรก็ดี หากจะว่าไปแล้ว นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา เพราะหากใครมีโอกาสไปตามตลาดนัดจตุจักรก็คงจะรู้ว่า สัตว์แบบนี้มีให้เลือกเต็มไปหมด ตั้งแต่ปลายักษ์ กิ้งก่ายักษ์ งูใหญ่ หรือแม้กระทั่งสุนัขยักษ์ แบบลาบราดอร์ ก็ยังถือว่าใช่

ฉะนั้นจึงน่าสงสัยไม่น้อยว่า ทำไมเวลาสัตว์ยักษ์ๆ ปรากฏตัวขึ้นมาเมื่อใด ก็ดูเหมือนจะเรียกเรตติ้งให้แก่คนไทยได้ทุกเวลา งานนี้ก็เลยขอพาไปทำความรู้จักกับเรื่องนี้กันแบบชัดๆ ว่า ตกลงแล้วสัตว์ที่เรียกว่า ‘ไซส์พิเศษ’ นั้นมันคืออะไรกันแน่ และทำไมถึงได้ฮอตฮิตและถูกพูดถึงมากขนาดนี้

[1]

แน่นอน หากกำหนดนิยามของสัตว์บิ๊กไซส์ ง่ายสุดก็คือ มันเป็นสัตว์ที่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าสัตว์ประเภทเดียวกันมาก เช่น ปลาดุกทั่วไปอาจจะยาวสัก 1 ไม้บรรทัด ก็เป็นปลาดุกยักษ์ที่ขนาดมากกว่า 10 ไม้บรรทัด และมีน้ำหนักเยอะกว่ามาก โดยสาเหตุที่ทำให้มันตัวใหญ่ได้ถึงขนาดนี้ ก็แบ่งได้เป็น 4 เหตุใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

1. เป็นสายพันธุ์ของสัตว์อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่มักจะสร้างสัตว์ออกมาให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ เช่น สุนัขพันธุ์ชิห์สุ ซึ่ง รศ.ดร.สมภพ นวีภาพ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า มีทั้งขนาดตัวเล็กและตัวโต หรือกิ้งก่ายักษ์ ที่มีขายอยู่ตามตลาดนัด จริงๆ ก็ตัวโตมาตั้งนานแล้ว แต่ที่คนไทยเพิ่งรู้จักเมื่อ 10 กว่าปี เพราะมันเพิ่งถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยงนั่นเอง

หรือปลาช่อนยักษ์ที่เพิ่งเป็นข่าว จริงๆ แล้วไม่ใช่กลุ่มปลาช่อนอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นปลาโบราณ ที่เรียกว่า อราไพม่า หรือปลาช่อนยักษ์อเมซอน ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับปลามังกรที่เป็นปลาน้ำจืดมีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกต่างหาก

2. เป็นสัตว์อาศัยอยู่มานานานแล้ว อาจจะอยู่มาหลายสิบปี ภายใต้สภาพแวดล้อมเดิมๆ จึงทำให้มีขนาดลำตัวที่ดูใหญ่โตเป็นพิเศษ โดย น.สพ.เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในประเทศไทยก็มีสัตว์แบบนี้ให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งพวกปลาสวาย ปลาชะโด ซึ่งมีน้ำหนักเป็นร้อยๆ กิโลกรัม และสมัยก่อนก็ถูกจับได้ในแม่น้ำทั่วไป แต่ปัจจุบันมีจำนวนที่ลดลงแล้ว เพราะคนมุ่งจับแต่ไซส์ใหญ่ๆ ไปกินเท่านั้น หรือก็ไม่เพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ย่ำแย่ลง เช่น น้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนและโอกาสที่สัตว์พวกนั้นจะขยายขนาดได้

3. เป็นสัตว์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์สร้างหรือดัดแปลงขึ้น โดยนำสัตว์ที่มีประเภทใกล้เคียงกัน 2 อย่าง มาผสมไขว้กัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป บางคนก็ทำเพื่อเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ให้ดีขึ้น หรือเพิ่มขนาดและความแข็งแรงให้แก่สัตว์ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ทำเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจให้แก่ตน อย่างไปหลอกลวงว่า นี่เป็นสัตว์หายากแท้ๆ ทั้งที่ไม่ใช่ ตัวอย่าง ปลาบิ๊กหวาย ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลาบึกกับปลาสวาย ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มากเหมือนปลาบึก แต่รสชาติเหมือนปลาสวาย ทำให้มิจฉาชีพฉวยโอกาส บอกว่านี่เป็นปลาบึกและขายในราคาแพง

หรือเมื่อก่อนก็เคยมีนักวิจัยทำการผสมพันธุ์ระหว่างวัวบ้านกับวัวกระทิง แต่เมื่อออกไปมาแล้วพบว่า เลี้ยงยากเลยตัดสินใจล้มเลิกโครงการไป

4. เป็นความผิดปกติของทางร่างกาย จุดสังเกตง่ายๆ ก็คือ ในครอบครัวเดียวกันนั้นจะมีไซส์พิเศษโผล่ขึ้นมาสักตัว โดย รศ.ดร.สมภพ อธิบายว่าปกติเกิดขึ้น ‘ยากมาก’ แต่ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ ซึ่งสาเหตุมาจาก ยีนที่ควบคุมการเจริญเติบโตหรือฮอร์โมนมีความผิดปกติ ทำให้ตัวใหญ่ผิดกว่าที่ควรจะเป็น และไม่ใช่เพียงเฉพาะสัตว์เท่านั้นที่มีสิทธิ์เป็น มนุษย์ก็มีโอกาสเหมือนกัน

[2]

ถึงสัตว์เหล่านี้จะตัวโตด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่จุดร่วมที่มีร่วมกันก็คือ ความแปลก ความหายาก และความโดดเด่นที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อพบเห็น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ใครๆ มักนิยมจะมีสัตว์ตัวใหญ่ไว้ในครอบครอง หรือหากไม่ได้มีไว้ เวลาเจอก็จะรู้สึกประหลาดใจ

โดย น.สพ.เกษตร อธิบาย ความชอบเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องของรสนิยม แถมยังบ่งบอกฐานะของผู้เลี้ยงอีกด้วย เช่น หากเลี้ยงวัวหรือควายก็อยากจะได้ตัวใหญ่ๆ และอีกไม่น้อยที่ก็เลี้ยงเพื่อใช้อุปโภคบริโภค

อย่างกรณีของปลาตัวใหญ่ๆ ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ชัด ซึ่ง ชวิน ตันพิทยคุปต์ บรรณาธิการบทความ AQUARIUM BIZ MAGAZINE ที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาแปลกๆ มายาวนาน อธิบายว่า ทุกวันนี้มีผู้เลี้ยงปลาตัวโตจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาช่อนอเมซอน (ปลาอราไพม่า) ซึ่งมีขนาดทั่วไปประมาณ 3 เมตร หรือปลาดุกยักษ์ (ปลาเรดเทลแคทฟิช) ซึ่งมีความยาวของตัวโตเต็มที่อยู่ 130 เซนติเมตร และไม่ใช่เพิ่งทำ แต่ทำมานานแล้ว โดยบางคนต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งประกวดแข่ง บ้างก็ส่งขายทั้งภายในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง จนทำรายได้เข้ามาสู่ประเทศอย่างมหาศาล

“ราคาปลาช่อนอเมซอน ณ เวลานี้ ขนาด 1 ฟุต 3,000 บาท ปลาขนาดใหญ่จะมีราคาสูง เพราะนำไปขายเป็นปลาเลี้ยงโชว์ และนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ การเลี้ยงปลาพวกนี้ให้มีขนาดใหญ่มากต้องใช้เวลา ค่าอาหาร ค่าสถานที่ เยอะมาก ส่วนปลาเรดเทลแคทฟิชไม่ค่อยมีราคาเท่าไรนัก ขนาด 3 นิ้ว ราคาร้อยกว่าบาท ใหญ่ๆ ก็หลักพันเท่านั้น”

นอกจากนี้ยังมีปลาแปลกๆ ที่บรรดานักเลี้ยงปลามือใหม่นิยมกัน เช่น ปลาปากจระเข้ หรือปลาในกลุ่มปลาการ์ จากอเมริกาเหนือ โดยตัวเด่นๆ ก็มีอัลลิเกเตอร์การ์ ซึ่งขนาดใหญ่สุดในกลุ่ม และฟลอริดาร์การ์ ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มาก ลองโนสการ์ หรือปลาจระเข้ปากยาว ซึ่งหากปลาพวกนี้เกิดหลุดออกไป เมื่อถูกจับได้ก็มักจะได้เป็นข่าวหน้า 1 เสมอๆ

อีกประเภทที่นิยมไม่แพ้กัน ก็คือปลาหมอนกยูงยักษ์ หรือพีค๊อกแบส เป็นปลาในกลุ่มปลาหมอสี ที่มีความสวยงาม มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 70 เซนติเมตร เป็นปลาล่าเหยื่อที่สมบูรณ์แบบ แต่มีข้อด้อยคือ อ่อนแอ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และต้องอาศัยอยู่ในน้ำคุณภาพดีมากกเท่านั้น พวกนี้หากหลุด จะส่งผลกระทบต่อปลาท้องถิ่นอย่างรุนแรง

ส่วนสัตว์อื่นๆ ที่คนนิยมกันมาก คงต้องยกให้ อีกัวนา หรือกิ้งก่ายักษ์ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ หลายขนาดหลายพันธุ์ บางตัวยาวถึงเมตรกว่าๆ และหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม แต่ตอนหลังมีปัญหา เพราะคนซื้อไปเลี้ยงได้ไม่เท่าไหร่ พอเบื่อก็จะเอาไปปล่อยตามต้นไม้ จนทุกวันนี้มีอีกัวนาเร่รอนเต็มไปหมด และหลายตัวกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาเซียนหวยต่างมาบนบานขอเลขเด็ดกันเพียบ

อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าการเลี้ยงสัตว์พวกนี้จะเป็นอิสระเสรี หากเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์คุ้มครอง อย่างปลามังกร เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องไปทำเรื่องอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชให้เรียบร้อย มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ พุทธศักราช 2535

คราวนี้ก็มาถึงกระบวนการเลี้ยง ซึ่งก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร หลักๆ ก็ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของพวกมันก่อน เพราะสัตว์พวกนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทยโดยตรง

อย่างปลายักษ์นั้น ชวินก็ฉายภาพให้เห็นว่า วิธีเลี้ยงไม่ได้ต่างอะไรกับปลาธรรมดา อย่างปลาช่อนอเมซอน ก็ต้องการออกซิเจนสูงๆ เลี้ยงอยู่ในสถานที่กว้างขวาง และให้อาหารค่อนข้างมาก เพราะกินจุ กินเก่ง โตเร็วมากๆ ไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงในตู้ปลาเล็กๆ ทั่วไป ส่วนปลาดุกยักษ์นั้นก็เลี้ยงเหมือนปลากดคังบ้านเรานั่นเอง

“ปลาพวกนี้ คนท้องถิ่นในลุ่มน้ำอเมซอนบริโภคกันเป็นปกติ ยิ่งโดยเฉพาะปลาเรดเทลแคทฟิช ซึ่งเพาะพันธุ์ได้ง่าย มีราคาถูก ในประเทศไทย มีหลายที่นำมาทำเป็นอาหารกันแล้ว เพราะราคา ต้นทุน ถูกกว่าปลากดคังแล้ว”

[3]

อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่มีปลายักษ์หลุดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ก็ทำให้หลายคนอดเป็นห่วงต่อสภาพแวดล้อมว่าจะเกิดความเสียหายไม่ได้

ซึ่งเรื่องนี้ น.สพ.เกษตร ก็ยืนยันว่า ส่งผลแน่นอน เพราะสัตว์พวกนี้เป็นสัตว์ต่างถิ่น เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แล้วเข้ามาแย่งงาน แย่งอาชีพ แย่งรายได้ที่ควรจะเป็นของคนไทยไป ซึ่งหากเป็นสัตว์ ก็จะมาแย่งที่อยู่อาศัย แย่งอาหาร บ้างก็มากินสัตว์ที่มีอยู่แล้ว หรือดีไม่ดีอาจจะเข้ามาผสมพันธุ์ทำสัตว์พื้นถิ่นทำให้พันธุกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลง

กรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดมาก ก็คือหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นหอยโข่งจากอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาในประเทศในช่วงปี 2530 เพื่อกำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา ต่อมามีคนคิดเพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภค แต่ไม่ได้รับความนิยม เลยถูกปล่อยแหล่งน้ำธรรมชาติ กลายเป็นศัตรูพืชที่สำคัญของพืชการเกษตร เพราะมันกินทั้งต้นกล้าของข้าว สาหร่ายในแม่น้ำ จนระบบนิเวศวิทยาสูญเสียไปหมด

หรือแม้แต่ปลาดุกรัสเซีย ซึ่งเป็นปลาขนาดยักษ์ และล่าเหยื่อได้เก่ง สามารถกินเหยื่อที่มีขนาด 1/4 ของตัวได้ จนเป็นเหตุมีการทำลายสายพันธุ์ของปลาไทยในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

และไม่ใช่เฉพาะสิ่งมีชีวิตจากต่างประเทศเท่านั้นที่จะมีปัญหา แม้แต่ในประเทศเดียวกัน แต่หากอยู่ต่างถิ่นฐาน หรือต่างการเลี้ยงดู เมื่อนำไปปล่อยในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยก็จะมีปัญหาตามมาเหมือนกัน

“ปลาต่างถิ่นทุกชนิดไม่ควรถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อย่างเช่นปลาหมอสีครอสบรีด ซึ่งกลายเป็นของธรรมดาในบ้านเรา แต่ถ้าถูกปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำจำนวนมากก็อาจจะสร้างปัญหาในอนาคต ปลาซัคเกอร์ หรือปลาเทศบาลก็เช่นกัน หรืออย่างปลากัดลูกทุ่ง ก็ไม่ควรปล่อยกลับลงสู่ธรรมชาติ เพราะอาจจะทำให้ปลากัดลูกทุ่งสายพันธุ์ดั้งเดิม สูญเสียพันธุกรรมดั้งเดิม และอาจสูญพันธุ์ไปได้อย่างถาวร” ชวินขยายภาพ
..........

แม้การเลี้ยงสัตว์จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนาน แต่สิ่งสำคัญที่มากกว่านั้น ก็คือความรับผิดชอบ หากใครคิดจะเลี้ยงแล้ว ก็ต้องมีความเตรียมพร้อม เตรียมการ และคิดดีๆ ไม่ใช่ปล่อยไปตามอารมณ์ เพราะต่อให้สัตว์ตัวนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม หากดูแลไม่ดีก็อาจจะก่อให้ปัญหาตามมาได้ทั้งนั้น...
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : The Old Dog




กำลังโหลดความคิดเห็น