เปิดทีวีวันนี้อาจจะทำให้คุณต้องหัวใจวาบหวามขึ้นมาก็ได้ เมื่อจู่ๆ ก็มีหนังสุดเซ็กซี่ จากดาราที่มีแสนสวยรวยลีลาทั้งจากญี่ปุ่นและฝรั่ง มาแสดงบทรักกันแบบถึงพริกถึงขิงบนหน้าจอเอาใจคนนอนดึกเป็นประจำทุกวันหลังเที่ยงคืน
ถูกต้องแล้ว...ประเด็นที่กำลังจะกล่าวถึงอยู่ตอนนี้ก็คือ เรื่องของทีวีดาวเทียมน้องใหม่ Happy home TV เจ้าของเดียวกับ มงคลแชนแนล ซึ่งฉายภาพยนตร์ในเครือสหมงคลฟิล์มเป็นหลัก ได้เป็นช่วงพิเศษเอาใจผู้ชมชาวไทย ด้วยการนำภายยนตร์สุดเซ็กซี่ อย่าง ‘เซ็กซ์ฉาวคาวสวาท’ ‘รักเร้นอารมณ์’ ซึ่งเป็นวิดีทัศน์ที่ผ่านกรรมการเซ็นเซอร์และรับเรต ฉ.20- หรือภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป ห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่ารับชมเด็ดขาด มาฉายเรียกเรตติ้งของช่องเป็นสุดๆ
การฉายผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อสำหรับสาธารณชนนั้น อาศัยแค่รีโมตอันเดียวก็เปลี่ยนช่องได้เลย เพราะฉะนั้นการเข้าถึงย่อมมากกว่าแผ่นดีวีดีที่จะต้องซื้อมาเปิดถึงจะดูได้ และจำนวนเพื่อผู้ชมก็จะจำกัด นำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า จริงๆ แล้ว ทีวีเมืองไทยสามารถจะนำหยิบอะไรก็ได้มานำเสนอ โดยไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำว่า ภาพที่ฉายนั้นจะสุ่มเสี่ยงกับเด็กและเยาวชนมากแค่ไหนก็ตาม
‘หนังเรต R’ กำลังระบาดหนัก
หากบอกถึงวัฒนธรรมการดูหนังกลุ่มเสี่ยงของคนไทยแล้ว ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แม้แต่น้อยเดียว แต่มีการเผยแพร่ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแบบแรกนั้นต้องเรียกว่า ขายกันทั่วประเทศ ทั้งตามร้านขนาดใหญ่ไล่ไปถึงรถกระบะ หรือแผงขายของในตลาดหนัง ซึ่งจะมีหนังเรตสูงๆ คอยให้บริการในราคาแผ่นไม่ถึงร้อยบาท ทั้งไทย เทศ หรือเอเชีย โดยหนังพวกนี้จะมีการเซ็นเซอร์ฉายที่ไม่เหมาะสม เช่น ฉากที่เห็นอวัยวะเพศกันแบบชัดเจน หรือไม่ก็ทำเป็นภาพเบลอๆ
อย่าง วรวีย์ เจริญวรรณ กราฟฟิกดีไซน์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ที่บอกว่าหนังแบบนี้หาง่ายสุดๆ ทั้งแบบจำหน่ายหรือแบบฟรี เพราะแค่เปิดอินเทอร์เน็ตก็มีให้ดาวน์โหลดฟรีกันไปหมดแล้ว ส่วนที่สำหรับขายก็อย่างตามตลาดนัด หรือคลองถมก็มีให้เลือกซื้อเลือกรับชมอยู่หลายเจ้า
...แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นนำมายื่นให้ถึงกลับบ้านอย่างทุกวันนี้
แต่เมื่อโลกของการแข่งขันสูงขึ้น อะไรที่เคยถูกเรียกว่า ไม่เหมาะสม (สำหรับการฉายในโทรทัศน์) ต่างก็พาเหรดขึ้นมาฉายบนโลกจอโทรทัศน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นรายการเซ็กซี่ ไปจนถึงภาพยนตร์แนวเซ็กซี่ ซึ่งในช่วงแรกก็คืบคลานเข้ามาฉายผ่านทางเคเบิลทีวีท้องถิ่น หรือไม่ก็เป็นสถานีโทรทัศน์ขนาดเล็กที่กลุ่มผู้ชมไม่แพร่หลายเท่าใดนัก
แน่นอนคำถามแรกที่ต้องนำมาคิดก็คือ หนังแบบไหนที่เรียกว่า ไม่เหมาะสมและไม่ควรนำมาฉายผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ถ้าพิจารณาตามระบบมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการจัดระบบภาพยนตร์ตามความเหมาะสม จะพบว่า หลักสำคัญก็คือ การให้คำแนะนำกับการอนุญาต โดยหากเป็นกสนพิจารณาที่ฉากความรุนแรงอยู่มากน้อยแค่ไหน หากไม่มากจนเกินไปก็จะอนุญาต โดยอาจจะมีผู้ปกครองเข้ามาแนะนำในการเข้าร่วมชมด้วย ซึ่งฉากที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุดก็คือ ฉากที่มีภาพโป๊เปลือยทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย หรือฉากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งพวกนี้จะถูกจัดอยู่ใน ‘เรต R’ ซึ่งเด็กและเยาวชนจะดูเพียงลำพังไม่ได้ หากจะดูต้องมีผู้ปกครองเข้าไปร่วมรับชมด้วย
ส่วนอีกอันก็รู้จักกันมากก็คือ ‘เรต X’ หรือ NC-17 ซึ่งเป็นหนังที่มีเนื้อหารุนแรง หากเป็นฉากโป๊เปลือยก็จะเป็นไปอย่างโจ่งครึ่มก็จะห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าไปชมเด็ดขาด และหากจะมีการนำไปฉายผ่านหน้าจอ ก็มักจะออกในรูปแบบของการสั่งซื้อพิเศษเพื่อมารับชมมากกว่าการเผยแพร่โดยทั่วไป
ซึ่งสำหรับในประเทศไทยแล้ว รศ.รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม อาจารย์ประจำภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เป็นเกณฑ์คร่าวๆ ว่า มีระดับของ น. 18+ กับ ฉ.20- โดยจะพิจารณาตามเนื้อหาเป็นหลัก
หากหนังมีฉากนุ่งน้อยห่มน้อยไม่มีเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ หรือเนื้อหาเกี่ยวกับเพศบ้างก็จะให้เรต น.18+ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ต้องมีผู้ใหญ่แนะนำ แต่ถ้ามีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ชัดเจน ก็จะได้เรต ฉ. 20- (เฉพาะคนอายุ 20 ปีขึ้นไป) ตัวอย่างเช่น เรื่อง ‘ผู้หญิง 5 บาปภาค 2’ ที่มีฉากการมีเพศสัมพันธ์ด้วยจะได้เรตสูง ส่วนหนังเซ็กซี่อย่าง ‘ปิรันย่า 3 ดี’ หรือ ‘ก้านคอกัด’ ก็ได้เรตรองลงมา ซึ่งหากนำทั้ง 2 ประเภทนี้ไปเทียบกับเรต ของต่างประเทศก็คงเทียบได้กับเรต R ส่วนเรต X ซึ่งส่วนมากจะเห็นอวัยวะเพศ เช่น ภาพยนตร์เอวีของญี่ปุ่นมักจะผิดกฎหมาย และหากจะฉายก็จำเป็นต้องตัดฉากเหล่านั้นออกไป
“หนังที่บรรดาตามร้านขายๆ กันนั้นมักแบ่งประเภทตามความเข้าใจของผู้ขายและผู้บริโภค เพราะจริงๆ ประเทศไทยไม่ได้มีการจัดเรตหนังเป็นเรตอาร์และหนังเรตอาร์ในต่างประเทศ แล้วเรตพวกนี้ก็ไม่เกี่ยวเฉพาะเรื่องเพศเท่านั้น และมีเรื่องของความรุนแรงและยาเสพติดด้วย ในส่วนหนังอีโรติกซึ่งมีความเป็นศิลปะก็มีข้อถกเถียงกันตามแต่ว่าจะนิยาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวมาพิจารณา"
‘หนังโป๊ On TV’ กับมาตรฐานความเหมาะสม
พอเห็นประเภทและมาตรฐานของระดับภาพยนตร์ไป คราวนี้ก็ถึงคำถามสำคัญ อย่างความเหมาะสมหากจะนำภาพยนตร์เหล่านั้นมาฉายทางโทรทัศน์ เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า การให้เรตภาพยนตร์แก่ภาพยนตร์สำหรับการฉายในโรงหนังกับจำหน่ายลงแผ่นดีวีดี ย่อมไม่เหมือนกับการฉายผ่านหน้าจอโทรทัศน์
แต่ที่เกิดขึ้นได้ มีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ประการแรกก็คือ การแข่งขันในเชิงธุรกิจที่เรียกว่า พยายามจะหาเนื้อหามาตอบสนองกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยเฉพาะทีวีดาวเทียม ซึ่งนำเสนอกลุ่มรายการตามประเภทโดยเฉพาะ เช่น ช่องข่าว ช่องวาไรตี้ โดยเรียกรวมๆ ว่า การขายสินค้าให้แก่คนเฉพาะกลุ่ม หรือ นิช มาร์เกต (Niche Market) ซึ่งสำหรับกรณีก็คือ ภาพยนตร์ ซึ่งจะต้องจัดหาเนื้อหาภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายสูง โดยเฉพาะกลุ่มภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งตอบโจทย์ของผู้ชมกลุ่มหนึ่ง
อีกเรื่องเป็นเพราะช่องโหว่ในวงการโทรทัศน์ไทย โดยเฉพาะช่วงทีวีดาวเทียม ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้ไม่มีการควบคุมเรตติ้งของรายการว่า ควรจะเป็นเช่นใด จนทำให้การตัดสินใจว่าจะฉายอะไรหรือให้เรตแค่ไหน จึงอยู่ที่วิจารณญาณของเจ้าของช่องมากกว่า ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้จัดเรตเลยด้วยซ้ำ
“การจัดเรตนั้นมันเป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมันมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไป แต่ในแง่หลักการแล้ว ทีวีดาวเทียมมันยังเป็นสุญญากาศทางกฎหมายอยู่ ยังไม่มีใครได้ใบอนุญาต ดังนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแล ก็ยังทำอะไรไม่ได้เต็มที่ ตอนนี้ปัญหาต่างๆ ในทีวีดาวเทียมก็มีมากอยู่แล้ว และมันจะมีปัญหามากขึ้นถ้าเคเบิลดึงเนื้อหาตรงนี้ไปใช้ อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากเรื่องของช่องทาง ซึ่งมันอาจจะมีการนำสารที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับคนทุกวัยไปออกอากาศได้" ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดียมอนิเตอร์) กล่าว
แน่นอนว่า การนำเรตติ้งของอีกตลาดหนึ่งมาจับอีกตลาดหนึ่งจึงอาจจะก่อให้ปัญหาตามขึ้นมา กับกลุ่มผู้ชมทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่ยังขาดวุฒิภาวะที่เพียงพอ ซึ่งมีอีกเป็นจำนวนมาก
ออกแบบแค่ไหนจึงจะเหมาะ
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามที่ต้องมาคิดต่อไป ก็คือวิธีแก้ปัญหา ซึ่ง ดร.เอื้อจิตมองว่า สิ่งสำคัญนั่นอยู่ที่ตัวผู้ส่งสาร อย่างเจ้าของสถานีโทรทัศน์ว่าจะทำเช่นใด รวมไปถึงคนรอบข้างของกลุ่มเสี่ยง
“หากผู้ประกอบการพิจารณาสารแล้วว่า ช่องของคุณมีสารที่จะสื่อสารถึงใคร แนวไหน ก็ต้องมีการประกาศให้ชัดว่าเนื้อหามันเหมาะกับใคร และถ้าผู้ชมคนไหนคิดว่าในครอบครัวของเขามีผู้ชมที่ยังไม่เหมาะจะรับชม ก็ต้องหาวิธีและกลไกการป้องกันการเข้าถึง โดยอาจจะเป็นการติดเครื่องเพื่อบล็อกช่องสัญญาณนั้น ถ้าหากจะดูก็ต้องมีการใส่พาสเวิร์ด แน่นอนว่านี่ต้องเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือ”
แต่นั่นอาจจะเยียวยาและให้ผลในระยะสั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกว่า ก็คือการกำหนดนโยบายลงไป ซึ่งในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) อธิบายว่า ตอนนี้กำลังจัดทำแผนงานและสร้างกฎกติกา รวมไปถึงการนำสื่ออย่างโทรทัศน์ดาวเทียมมาเข้าสู่ระบบ โดยการออกใบอนุญาตให้ เพื่อจะได้นำไปสู่การกำกับดูแลต่อไปในอนาคต
“ในขณะที่เรากำลังจะเข้าสู่กระบวนการออกใบอนุญาต ต้องยอมรับว่า สื่อบางสื่ออาจจะนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งเราก็พยายามดำเนินการรวดเร็วให้ดีที่สุด โดยในช่วงช่องว่างนี้ ก็มีการคุยกันว่า ซึ่งหากสื่อใดทำผิดในเรื่องเนื้อหา ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการขอรับใบอนุญาตในอนาคตได้”
ไม่เพียงแค่นั้น ก็จะต้องมีการนำกฎหมายอื่นๆ ที่บังคับใช้อยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างทันท่วงที ระหว่างที่รอการประกาศใช้แผนแม่บทและกฎกติกาที่ออกมาในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าคงใช้เวลาอีกไม่นาน
................
แม้ภาพยนตร์แนวเซ็กซี่โป๊เปลือยจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวัฒนธรรมการดูหนังของคนไทย แต่อย่างที่เอ่ยไว้แล้วว่า โลกของโทรทัศน์แตกแต่งจากโลกของภาพยนตร์ เพราะการดูโทรทัศน์นั้นส่งผลวงกว้างกว่า การดูไปดูหนังในโรงหลายต่อหลายเท่า แถมการควบคุมก็ยังลำบากกว่า
เพราะฉะนั้น แม้บางคนก็จะบอกว่า การควบคุมจะคาบเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอก็ตาม แต่ประเด็น คุณภาพชีวิตของผู้คนก็จำเป็นไม่แพ้กัน และสิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ ครอบครัว ซึ่งหากไม่ช่วยกันดูแล ก็คงยากนักที่จะแก้ไขปัญหานี้จริงๆ
>>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK