xs
xsm
sm
md
lg

คู่รักนักปั่นข้ามโลก...กายใจแข็งแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


5 ปี 11 เดือน 1 วัน กับ40 ประเทศ ใน 6 ทวีป เป็นตัวเลขของการเดินทางรอบโลกโดยจักรยานระยะทางกว่า40,000 กม. ของคู่รักนักปั่นจักรยาน “วรรณ-อรวรรณ โอทอง” และ “หมู-เจริญ โอทอง” สองหนุ่มสาวสู้เพื่อทำตามความฝันโดยไม่เคยคิดยอมแพ้ หรือท้อถอยจากการเดินทางที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ของแต่ละภูมิประเทศ ทั้งอากาศร้อนสุดๆ ในทะเล ไปจนถึงอากาศหนาวเย็นจากหิมะ สุดท้ายความฝันก็ทำให้พวกเขากลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะฑูตสองล้อที่สร้างชื่อให้แก่ประเทศไทย และกลายเป็นบุคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คน ได้ลุกขึ้นมากล้าทำตามฝันของตัวเองบ้าง

ชีวิต 2,000วันรอบโลก
การเดินทางด้วยการปั่นจักรยานรอบโลก เป็นระยะเวลาเกือบ 6 ปี แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไหนจะเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา, เรื่องของอุบัติเหตุ จักรยานล้ม ยางแตก แม้กระทั่งเรื่องของผู้คน โจรผู้ร้าย ที่พวกเขาต้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดอยู่ตลอดระยะการเดินทาง

“สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมของจิตใจ ความพร้อมทางด้านยานพาหนะก็มีการเช็คสภาพจักรยานให้พร้อมสำหรับการเดินทาง เราต้องทราบข้อมูลในแต่ละที่ว่าเป็นอย่างไร สภาพภูมิประเทศ เส้นทางที่เราจะปั่น เราก็มีการศึกษาเส้นทางการปั่นคร่าวๆ แม้ว่าการเดินทางจะมีปัญหา มีอุปสรรคบ้าง แต่ความสุขที่ได้มีเยอะมาก ภาพการเดินทางยังติดอยู่ในใจตลอด ยังอยากไปปั่นที่อเมริกาอีกหลายๆ รอบ”

เห็นเดินทางสมบุกสมบัน กินนอนข้างทางตลอดแบบนี้ แต่เรื่องการดูแลสุขภาพ เรื่องอาหารการกิน ทั้งสองคนก็ให้ความสำคัญมากเช่นกัน “ช่วงเดินทางก็ต้องกินให้ได้ทุกอย่าง พวกแฮมก็จำเป็นต้องกิน พวกโปรตีนไก่ หมู แต่ก็ต้องเลือกกินเหมือนกัน เน้นอาหารที่สุข สะอาด เราจะพกเตา หุงข้าวกินเอง และพกอาหารแบบที่พร้อมกินได้เลยอย่างพวกบิสกิต แครกเกอร์ ขนมปังโฮลวีต แบกผลไม้เป็นกิโลฯ เลย แตงโมยังพกเลยค่ะ (หัวเราะ) ทุกวันต้องกินผลไม้ จะเลือกกินผลไม้ที่ปอกเปลือก ไม่มีสารพิษ และก็เลือกผลไม้ที่มันช่วยเรื่องการสูบฉีดเลือด เช่นพวกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ โพแตสเซียมจากกล้วย ดื่มน้ำเกลือแร่ ซื้อเป็นผงละลายน้ำแล้วก็ดื่ม

ดูแลตัวเองโดยใช้หลัก “5 อ.” อากาศ, อาหาร, อารมณ์, ออกกำลังกาย, อุจจาระ ช่วงเดินทางถือว่าสุขภาพดีกว่าปกติเยอะเลยนะ คนปกติอาจจะไม่ได้ถ่ายทุกวัน แต่ช่วงเดินทางเราถ่ายทุกวัน เพราะระบบขับถ่ายทำงานดีมาก ระบบสูบฉีดเลือดดี ปอดแข็งแรง หัวใจแข็งแรง การปั่นจักรยานมันทำให้กล้ามเนื้อได้ใช้งานทุกส่วน ร่างกายเราดีมาก ถึงจะเจอสภาพอาการทั้งหนาว ทั้งร้อน อยู่เอาท์ดอร์ทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เราแทบไม่ป่วยเลย ล่าสุดไปตรวจสุขภาพ หมอบอกว่าออกซิเจนต์ที่เข้าปอดมีมากกว่าคนปกติ

เราก็ดูแลตัวเองตามสภาพอากาศ วันไหนแดดร้อนก็ทาครีมกันแดด กับแว่นตาต้องมี 3 เลนส์ สำหรับขี่กลางคืน และสำหรับป้องกันแสง หมวกสำคัญมาก บางทีปั่นๆ ไปเจอน้ำลื่น ล้มลงไปก็มี วรรณเป็นผู้หญิงก็ต้องดูแลเรื่องความสะอาด เรื่องประจำเดือนด้วย ขี้เกลือขึ้นเสื้อบ่อยเหมือนกัน”

“การเดินทาง เราอยากไปทุกวัน สิ่งที่เราเห็นมันคุ้มค่ามาก เราได้เจอคนใหม่ๆ ทุกวัน ได้เจอภาษาใหม่ทุกวัน วิวใหม่ อาหารใหม่ มันทำให้คิดว่า ถึงแม้ภูเขาข้างหน้ามันจะปั่นยากมาก เหนื่อยมาก แต่เราคิดว่าถ้าได้ไปยืนอยู่ตรงนั้น บนยอด 30 กิโลฯ ถึงไหมเนี่ย มันมีกำลังใจซ่อนอยู่ โลกมันเหมือนสนามเด็กเล่น มันมีอะไร ให้เราเห็น ให้เราทำสิ่งแปลกใหม่ทุกวัน มันก็เลยสนุก

เราโชคดีที่ได้เห็นโลกกว้าง และได้มีดวงตาที่ได้เห็นอะไรหลากหลายบนโลกใบนี้ สิ่งที่ได้จากการเดินทางรอบโลก เราได้สองอย่างที่เห็นชัดๆ หนึ่งคือเหมือนได้ธุดงค์ ได้ใช้ชีวิตเวิ้งว่างอยู่ในทะเลทราย อยู่บนภูเขาเราก็ได้ทบทวนแล้ว เหมือนได้ล้วงลึกเข้าไปในจิตวิญญาณตัวเองทุกวัน เรียกว่าเรามีสติ รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วเราจะทำอะไรต่อไป ความคิดมันจะเป็นระเบียบ และก็ได้ประสบการณ์ ได้เห็นแบบอย่าง ได้ยินคำพูดดีๆ เราก็นำมาปรับใช้ได้”

ใช้ชีวิตย้อนยุค...เพื่อสุขภาพ
ณ วันนี้คู่รักนักปั่นใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติที่บ้านสวน ในจ.อัมพวา เหตุที่ตัดสินใจเดินออกจากการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ หันมาใช้ชีวิตแบบสโลว์ ไลฟ์ หรือที่พวกเขาเรียกว่าใช้ชีวิตแบบย้อนยุค ใช้เตาถ่านทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว ก็เพราะเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน
“ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ที่อัมพวา เราเช่าเป็นบ้านสวนอยู่ พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ครึ่ง มีสวนลิ้นจี่ มีบ้านไม้หลังใหญ่ 2 ชั้น มีสวน มีท้องร่อง มีน้ำขึ้นน้ำลง อยู่บ้านนี้มันสนุกน่ะ พอน้ำขึ้นก็ตักน้ำจากท้องร่องรดน้ำผัก ที่เลือกใช้ชีวิตอยู่ที่อัมพวา เพราะเห็นว่าวิถีชีวิตของเขาน่าสนใจ และเรามีลูกด้วย ก็อยากจะเลี้ยงลูกที่นั่น เพราะว่าได้ทั้งอากาศที่ดี มีสายน้ำลำคลอง มีความสดชื่น ได้ปลูกผัก ข้าวก็หุงเตาถ่าน มันได้อารมณ์ ย่างกล้วยปิ้ง ทำกล้วยหักมุก สีข้าวกินเอง ปลูกผักกินเอง ปลาบางชนิดเราก็เอามาปิ้ง กลิ่นก็หอม”

หมูยกตัวอย่างเมนูอร่อยเพื่อสุขภาพซึ่งส่วนใหญ่เขาจะเป็นทำอาหาร “วันเสาร์อาทิตย์ก็ทำปลาทูนึ่ง น้ำพริกมะอึก ไข่ชะอม คือที่อัมพวาวัตถุดิบในการทำอาหารดี ปลาสดๆ จากแม่กลอง เราก็เอามานึ่ง ทำคั่วกลิ้งปลาอินทรีย์ ผักสดๆ ก็มีหลากหลายชนิด

ในชีวิตเดินทางมา 6 ปี เรามีอารมณ์อยากอยู่บ้าน ก็มองว่าตรงไหนที่เราจะอยู่ได้ มีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้อยู่กับธรรมชาติ ชมนกชมไม้ อยู่บ้าน อ่านหนังสือ อัมพวามันก็ตอบโจทย์ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วย อากาศดี สงบ บ้านเราจะธรรมชาติมาก ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ทุกวัน ได้ยินเสียงนกร้อง ที่บ้านมีตุ๊กแก 40 ตัว ทุกเช้าตื่นมาก็ไปชะเง้อดู

ถามว่าเร็วไปไหมที่เราใช้ชีวิตแบบนี้ คือทุกวันนี้คนเราส่วนใหญ่ไม่ได้ดูแลสุขภาพต่างหาก ลืมดูแลตัวเองไป ทำไมเราต้องนั่งทำงานทุกวัน เช้าถึงเย็น หนังสือก็ไม่ได้อ่าน หนังก็ไม่ได้ดู ทำแต่งาน ถ้ามัวแต่คิดว่าจะทำวันหลัง โอกาสก็จะหายไปเรื่อยๆ จริงๆ การทำงานทุกวันนี้มันง่ายกว่าแต่ก่อน เรานั่งทำงานตรงไหนก็ได้ พิมพ์งานตรงไหนก็ได้ เพียงแต่เราย่นระยะทาง และการเดินทาง แต่การทำงานอิสระ ก็ยากกว่าออฟฟิศ รายได้ไม่แน่นอน แต่ก็พออยู่ได้ แต่เราได้เวลากับชีวิตเยอะ ตรงนี้เป็นกำไรของชีวิตมาก

เราให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาก เพราะถ้าร่างกายไม่ดีเราทำอะไรไม่ได้ มันจะรู้สึกติดขัด ดังนั้นร่างกายต้องดี จิตใจต้องดี แล้วเราก็อยากจะทำกิจกรรมดีๆ”

เลี้ยงเย็นตาแบบเย็นใจ
เวลาไปไหนมักจะเห็นคู่ของวรรณและหมูมาพร้อมกับเด็กน้อยผิวขาวน่ารัก คือน้องเย็นตาลูกสาววัย 1 ขวบ ที่พวกเขาจะพาติดตามไปด้วยทุกที่เพื่อให้เด็กน้อยได้เจอโลกที่หลากหลาย การเลี้ยงน้องเย็นตาตามแนวคิดของพวกเขาก็มีความน่าสนใจ คือการเลี้ยงลูกแบบให้เกิดและเติบโตอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากพ่อแม่สมัยใหม่ยุคนี้ที่ให้เด็กใช้ชีวิตติดอยู่กับเทคโนโลยี

“เราตั้งอธิฐานไว้ว่าอยากให้มีคนดีๆ มาอยู่บนโลกใบนี้ด้วยกันอีกสักคนหนึ่ง แล้วเขาก็มา เราตั้งชื่อน้องว่าเย็นตาเพราะว่าเคยไปออสเตรเลีย มีชาวต่างชาติ ชวนเราไปกินข้าว 2 ครั้ง เราก็ถามว่าทำไมเขาถึงชวนเรา เขาบอกว่าเห็นหน้าเราแล้วมีความสุข หน้าเรามีรอยยิ้ม คือหน้าคนไทยเต็มไปด้วยความรู้สึกแบบนี้ เราคิดว่าเขามองเราแบบนี้ คือเห็นหน้าเราแล้วเขามีความสุข พอเรามีลูกก็เลยตั้งชื่อว่าเย็นตาดีกว่า

ช่วง 1 ปีเต็มก่อนท้องน้องเย็นตา วรรณจะดูแลตัวเองเยอะมาก กินผัก ผลไม้เยอะ ดื่มน้ำเยอะ วรรณตั้งครรภ์ตอนอายุ 39-40 แล้วก็คลอดด้วยวิธีธรรมชาติโดยไม่ต้องบล็อกอะไรเลย และก็ไม่แพ้ท้อง เรื่องฮอร์โมน ระบบร่างกาย มันดีสั่งสมมาจากการที่เราปั่นจักรยาน

หมอบอกว่าคนอายุ 40 จะเสี่ยงนะ ระบบการตั้งครรภ์ของคนอายุจะยาก ตอนคลอดปากมดลูกจะเปิดน้อย แต่เราไม่มีปัญหาเลย มีคนสบประมาทพี่หมูว่าปั่นจักรยานอยู่บนอาน 6 ปี คงมีลูกไม่ได้ (หัวเราะ) แต่ปล่อยครั้งแรกก็มาเลย

“เราเลี้ยงลูกแบบให้เขามีชีวิตรอดอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างเสรี สมมุตเกิดอินเทอร์เน็ตล่ม ลูกเราก็อยู่ได้, ไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าล่มเขาก็ไม่ตกใจ, มีเงินในกระเป๋าน้อย เขาก็อยู่ได้ อยากให้เขาเป็นคนแบบนี้ อยากให้เขาได้สัมผัสธรรมชาติ ได้มีชิวิตอยู่กับตัวเอง ไม่อยากให้ลูกแข่งขันเยอะๆ ไม่อยากให้อยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป โตขึ้นเขาอาจะเบื่อสิ่งนั้น และไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำอะไร

เราคิดว่าได้ใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้ว ที่เหลือเราก็ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า อยู่บนโลกนี้ได้อย่างแข็งแรง ไม่เป็นมนุษย์เชิงเดี่ยวที่รู้จักแต่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีว่ามันไม่ดี มันก็มีข้อดี สะดวก รวดเร็ว แต่เราก็ให้มันเป็นส่วนน้อย ก็ให้ลูกอ่านหนังสือมากกว่าดูทีวี คือเรามองว่าการให้ลูกดูทีวีน้อยๆ มันทำให้ลูกมีสมาธิมากกว่า เพราะเห็นเด็กสมัยนี้เป็นโรคสมาธิสั้นกันเยอะ มันก็ได้ประโยชน์กับเขา วันหนึ่งเขาจะได้ฟังคนอื่นได้ เขาจะรู้ว่าคนนี้พูดอะไร คนนี้ต้องการอะไร”

“จักรยาน” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
การที่ทั้งสองคนมีสุขภาพกายและใจแข็งแรงเช่นวันนี้ก็เป็นเพราะจักรยาน ถึงแม้ว่าวันนี้พวกเขาจะไม่ได้ใช้จักรยานเดินทางไปท่องเที่ยวไกลๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่จักรยานก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้

“ถ้าวันไหนไม่ได้ปั่นจักรยานจะรู้สึกหงุดหงิด (หัวเราะ) และที่สำคัญการปั่นจักรยานมันได้เรื่องสุขภาพด้วย ต้องปั่นจักรยานออกไปทุกวัน ไปไปรษณีย์ ไปธนาคาร ปั่นจักรยานไปทำธุระทุกอย่างในชีวิต ไปซื้อกับข้าว ไปตลาดนัด มีจักรยานอยู่ประมาณ 7-8 คัน อยู่ที่บ้านที่อัมพวา มีจักรยานแม่บ้าน มีจักรยานพับ ส่วนใหญ่ก็ใช้ 2 คันนี้ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ว่าจะไปไหน เพื่อนมาเที่ยวก็มาปั่น”

แน่นอนว่าลูกสาวตัวเล็กก็ได้สัมผัสจักรยานตั้งแต่ยังอยู่ในท้องเลยทีเดียว “ตอนท้องเย็นตาก็ขี่จักรยาน แล้วก็มีแบกน้องใส่เป้ เขาก็ชอบมาก โหวกเหวก เสียงดัง เย้ๆ เวลาเอาเขาไปนั่งบนจักรยาน เขาก็ทำขาปั่นๆ ทำตาม”

“จักรยานเป็นสารเสพติด วันไหนไม่ได้ปั่นจะคิดถึง อยากจะปั่นอีก เวลาเราปั่นจักรยาน มันมีสารเอนโดฟินหลั่งออกมา สารแห่งความสุข ความเพลิดเพลิน ความสบาย และการที่เราได้ใช้กล้ามเนื้อ มันรู้สึกว่าผ่อนคลาย

การได้ปั่นจักรยานเป็นความสุขชนิดหนึ่ง คนที่ปั่นจักรยานจะมีอาการทำนองนี้เกือบทุกคน มันมีรสชาติของชีวิต ได้เพื่อน ได้ปั่นจักรยานกันไป คุยกันไป แป๊บเดียวก็ถึงแล้ว แล้วบรรยากาศสองข้างทางที่เราเห็น มันก็ทำให้เพลิดเพลิน”

ฝันอยากทำเส้นทางจักรยาน
เมื่อทำตามความฝันเดินทางรอบโลกด้วยจักรยานสำเร็จแล้ว จากประสบการณ์ที่ได้เห็นเส้นทางจักรยานจากหลายๆ ประเทศ ที่มีการจัดเส้นทาง มีแผนที่การเดินทาง อย่างเป็นระเบียบ สร้างความสะดวกและความสุขสำหรับนักปั่นทั่วโลก เขาจึงเกิดแนวคิดว่าอยากให้มีเส้นทางจักรยาน มีแผนที่การเดินทาง เพื่อให้นักปั่นทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้มาสัมผัสเส้นทางจักรยานในประเทศไทยบ้าง

“ด้วยความที่เราถนัดท่องเที่ยว เรามองว่าสามารถเชื่อมโยงกับแผนที่การปั่นจักรยาน อาจจะเริ่มจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง มันก็จะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเส้นทางจักรยาน เหมือนที่เราได้ไปเห็น ไปสัมผัสจากสถานที่ที่เราเดินทาง อย่างในประเทศอเมริกาก็ทำแล้ว มีแผนที่ปั่นจักรยาน

เพื่อนต่างประเทศก็จะชอบถามว่าเมืองไทยมีเส้นทางปั่นจักรยานหรือยัง เขาอยากซื้อแผนที่แล้วก็ปั่น แต่เมืองไทยเรายังไม่มีใครทำ เราก็อยากจะให้มันเกิดในประเทศไทย แต่จากประสบการณ์เราคิดว่ามันก็ต้องใช้เวลา ถ้ารัฐบาลเล็งเห็นและเอาไปอยู่ในแผนแม่บท สนับสนุนจริงจัง มันก็น่าจะทำได้ เพราะว่าประเทศไทยมีถนนที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีไหล่ทางที่กว้างมาก ถนนเยอะ เหมาะที่จะคัดสรรมาใช้ทำเส้นทางปั่นจักรยานได้

ทุกวันนี้บางถนนก็มี แต่มีแค่ตีเส้นบนถนนให้ แต่เรื่องของการเตรียมความพร้อมที่จะเรื่องนี้อย่างจริงจังยังไม่มี การทำเส้นทางจักรยานก็ต้องดุหลายๆ อย่าง ต้องดูว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน คนชอบปั่นแบบไหน ปั่นไปกี่กิโลฯ ต้องมีที่พักไหม ต้องทำข้อมูลให้ครบ ต้องปลูกฝังให้คนเข้าใจเรื่องการปั่นจักรยาน มารยาทในการขี่ มารยาทในการอยู่บนถนน ทั้งคนที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับจักรยาน ให้รู้ว่าจักรยานก็คือส่วนหนึ่งของถนน

เลือกปั่นให้เหมาะกับตัวเอง
สำหรับคนที่อยากจะเริ่มหันมาปั่นจักรยานก็เป็นเรื่องที่ดี และมีเส้นทางหลากหลายให้เลือก เพียงแต่ต้องดูตามความชอบ และความสนใจของแต่ละคน เมื่อเลือกเส้นทางที่ตนเองชอบได้แล้ว ก็ใช้เวลาส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นสัปดาห์ละครั้งปั่นจักรยานออกไปท่องเที่ยว ก็ช่วยเพิ่มความสนุกและความแข็งแรงได้

“ต้องถามตัวเองก่อนว่า เราอยู่ในกลุ่มไหน ชอบปั่นจักรยานแบบท่องเที่ยว หรือชอบแข่งขัน อย่างกลุ่มจักรยานพับ ก็เป็นจักรยานที่สะดวกนำไปใส่ท้ายรถได้ ช่วงวันหยุดก็ขนจักรยานไปที่ไหนก็ได้ ถ้าคนชอบแข่ง ก็ลองหาข้อมูลว่ามีแข่งที่ไหน ก็ลองเข้าร่วมดู คือถ้าเรารู้ว่าเราชอบแบบไหนก็ออกไปตามพื้นที่ที่เราถนัด ใน 1 สัปดาห์อาจจะหาทริปไปปั่นจักรยาน อย่างจักรยานเสือภูเขา ก็มีอยู่ทุกๆ ภาค ทุ่งแสวงหลวง, ประจวบฯ, พัทยา มันก็มีแหล่งให้ปั่นจักรยาน อาจจะปั่น 10-20 กิโลฯ เพื่อทริปนั้น
จักรยานฟิกเกียร์ จริงๆ มาจากที่คนรุ่นก่อนเขาปั่นกันในเวโรโดม ปัจจุบันมันกลับมาฮิตในกลุ่มวัยรุ่น แต่มันไม่เหมาะที่จะใช้บนท้องถนน เพราะมันไม่มีเบรก ซึ่งมันอันตรายมาก และตอนเบรกมันต้องใช้เข่า ใช้เท้า มันก็จะไม่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว แล้วแฟชั่นไม่ใส่หมวก ต้องเน้นนิดหนึ่งว่าต้องใส่หมวก อยากให้ระวังเรื่องสุขภาพและเรื่องอุบัติเหตุ”

ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์

ภาพประกอบจาก facebook/thaibikeworld
 5 ปี 11 เดือน 1 วัน กับการปั่นจักรยานรอบโลก


สุข สงบ กับวิถีชีวิตแบบธรรมชาติที่อัมพวา
กำลังโหลดความคิดเห็น