ตอนนี้คงไม่มีวงการใดร้อนแรงไปกว่าการเมืองและการศึกษา เพราะดูท่าจะขับเคี่ยวกันทางด้านเทคโนโลยีอย่างไม่มีใครยอมใคร
หลังนโยบาย ‘เพื่อเด็ก’ แจกแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 860,000 เครื่อง ที่ใช้งบประมาณ 1,794 ล้านบาท เริ่มก่อร่างเค้าโครงของความเป็นจริง บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ (ส่วนหนึ่ง) ในรัฐสภาก็กระสันกันไปตามๆ กัน งานนี้เลยมีการสนองตอบนโยบาย ‘เพื่อผู้ทรงเกียรติ’ มีมติเห็นชอบทุ่มงบกว่า 50 ล้าน แจก ‘ไอแพด-ไอโฟน’ สเปกที่ดีที่สุดแก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมกว่า 700 เครื่อง กลายๆ ว่าถึงจะปริมาณน้อยกว่า แต่คุณภาพจัดหนัก
ภายใต้การผลักดันนโยบายของ เจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สังเกตเห็นว่า บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติจำนวนหนึ่งมีความปรารถนาจะนำอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้พัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงาน
อย่างไรก็ตามมติเห็นชอบดังกล่าวดูเหมือนจะกลายเป็น 2 มาตรฐานระหว่างชนชั้นขึ้นเป็นที่เรียบร้อย เพราะหากเทียบกันในต่างๆ ทั้งสเปกเครื่องหรือราคาก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ในขณะที่เด็กป.1 ได้ใช้อุปกรณ์ของบริษัทสโคป (Scope) สนนราคาประมาณ 2,430 บาท/เครื่อง ส่วนท่านสมาชิกรัฐสภาอาจจะได้รับอุปกรณ์ที่ดีที่สุดสมศักดิ์ศรีผู้แทนราษฎร จากบริษัทแอปเปิ้ลสนนราคาประมาณ 20,000 กว่าบาท/เครื่อง
ตรงนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายจะผลาญเงินภาษีประชาชนได้อย่างสมเหตุสมผลได้อย่างไร
สิ่งที่ผู้ทรงเกียรติได้รับพร้อมตำแหน่ง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 บรรดาท่านสมาชิกรัฐสภาทั้งหลายก็ได้รับสิทธิการบริการจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ให้ยืมแล็ปท็อป (เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา) พร้อมอุปกรณ์ครบครัน ได้ 1 เครื่อง/คน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติของสมาชิกรัฐสภา
แต่มีข้อแม้ว่าต้องส่งคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ ภายใน 7 วันหลังพ้นตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา และเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นจะต้องอยู่ในสภาพการใช้งานได้ ไม่ชำรุด หากชำรุดทางสมาชิกรัฐสภาต้องจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม แต่หากไม่ส่งคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในเวลาที่กำหนด หรือส่งคืนเครื่องมาในสภาพที่ใช้งานไม่ได้ ทางหน่วยงานที่เป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้กับสมาชิกรัฐสภาจะหักเงินเดือนหรือเงินได้อื่นๆ เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาหรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม
สำหรับนโยบายแจกไอแพด-ไอโฟน แก่สมาชิกรัฐสภาในครั้งนี้ ดร.นักรบ เถียรอ่ำ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้แสดงทัศนะว่า เหตุผลของการกำหนดแนวนโยบายซึ่งในเบื้องต้นนั้น คือการช่วยลดกระดาษและติดต่อสื่อสาร แต่เมื่อมาเทียบกับงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึง 50 ล้านบาท แล้วถือว่า ไม่คุ้มค่า เพราะเท่ากับว่า ส.ส. - ส.ว. ใช้งบคนตกคนละ 60,000 - 70,000 บาท เพียงเพื่อประหยัดกระดาษ ซึ่งศักยภาพการใช้งานของแต่ละคนยอมต่างกัน โดยจุดนี้ก็เป็นข้อสังเกตถึงความคุ้มค่ากับงบที่ต้องเสียไป
“ในส่วนของแนวนโยบายยังกว้างไป หากมีกำหนดออกมาจริงๆ อย่างให้ใช้เพื่อประกอบอภิปราย มันก็ไม่แน่ว่าจะนักการเมืองจะใช้ไอแพดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมันจะยุ่งยากอีกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอุปกรณ์หรือทักษะการใช้งานที่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก ในส่วนการใช้งาน อายุกับเทคโนโลยีมันค่อนข้างไปด้วยกันไม่ได้ ยิ่งอายุเยอะ เทคโนโลยีก้าวไกล คนจะใช้ได้ไม่เต็มที่ แต่ตรงนี้มันเป็นอคติ ไม่แน่ว่าข้าราชการบางคนอาจจะใช้ แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกคนไม่ได้ใช้เต็มประสิทธิภาพแน่นอน สังเกตก้อนหน้านี้ก็มีการแจกโน้ตบุ๊ก ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็ยังไม่คุ้มค่า คือมีเพียงบางคนใช้เท่านั้น ยิ่งกำหนดว่าต้องมีความจุสูงสุด สเปกสูงสุด มันก็เกินความจำเป็นไปมาก”
สำหรับสเปกที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินของแท็บเล็ตนักเรียน กับนักการเมือง ในทางรัฐศาสตร์นั้นอธิบายไว้ว่า แนวนโยบายไม่สามารถเลือกปฏิบัติ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ความคุ้มค่าของการแจกแท็บเล็ตที่มีความต่างในเรื่องสเปกนั้นใช้อะไรเป็นเกณฑ์
“เรามีสมมติฐานว่าเราแจกเด็ก 800,000 เครื่อง เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยมีการโหลดโปรแกรมการเรียนการสอน เกม ภาพเพื่อให้เด็กพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ สส. และ สว.ใช้เพื่อลดกระดาษ หรือติดต่อสื่อสารกัน ทั้งที่สเปกต่างกันเหลือเกิน ความเสมอภาคมันอยู่ตรงไหน รัฐบาลต้องตอบตรงนี้ให้ได้ว่านโยบายตรงนี้ใช้ประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า หรือไปเชื่อมกับนโยบายเท็บเล็ตของเด็กอย่างไร เพราะกระแสสังคมต้านแท็บเล็ตเยอะมาก จากที่สอบถามผู้ปกครอง หรือคุยกับนักวิชาการสายครู มันทำให้เด็กไม่รู้จักปากกา ดินสอ ซึ่งมันเป็นทักษะเบื้องต้นที่ทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ต่อไปก็จริง แต่ถ้าให้เขาใช้นิ้วอย่างเดียวมันไปตัดตอน มันจะบิดเบือนวิวัฒนาการของมนุษย์ไป”
ถ้าคุณแน่..อย่าแพ้เด็กป.1!
เป็นที่แน่นอนแล้วว่าสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 จะได้ใช้แท็บเล็ตของบริษัทสโคป ของประเทศจีน
ส่วนสเปกนั้นถึงแม้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ที่ภาครัฐกำหนดไว้ คือขนาดจอแสดงผลขั้นต่ำ 7 นิ้ว จอแบบ Anti-Scratch ความละเอียด 1024x768 พิกเซล ระบบปฎิบัติการ Android 4.0 หน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 512 MB ราคาประมาณ 2,430 บาท/เครื่อง
เช่นเดียวกัน ทางท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติแม้ยังอึกอักไม่เปิดเผยข้อมูลตัวเครื่องเท่าใดนัก แต่การเปิดเผยว่าเป็นแท็บเล็ตสเปกที่ดีที่สุดก็คงจะไม่พ้น ไอแพด 3 หรือไอแพด เอชดี ซึ่งบริษัทแอปเปิ้ลกำลังเปิดตัวในช่วงนี้อยู่พอดิบพอดี ถึงไม่อธิบายรายละเอียดก็เป็นที่ทราบกันดีบรรดาผู้แทนราษฎรจะได้ใช้แท็บเล็ตที่คุณสมบัติเหนือกว่าเด็กป.1 ทุกชั้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นระบบปฎิบัติการ ios 5.1 จอแบบ Retina Display บนความละเอียด 2048x1536 พิกเซล ขนาดหน้าจอ 9.7 นิ้ว ฯลฯ ส่วนราคาก็ตกอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าบาท/เครื่อง
สำหรับเรื่องการจัดงบประมาณซื้อแท็บเล็ตให้สมาชิกรัฐสภาครั้งนี้ พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการไอทีชื่อดัง กล่าวถึงกรณีการแจกโน้ตบุ๊กให้บรรดาส.ส. - ส.ว. ในยุคก่อนว่า ก็เกิดกรณีความไม่คุ้มค่าในการใช้งาน เพราะฉะนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตอยู่ไม่น้อยว่าในครั้งนี้พวกเขาจะสามารถใช้งานอุปกรณ์ไฮเทคได้อย่างสมเกียรติภาษีของประชาชนหรือเปล่า ซึ่งจะว่าไปแล้วแท็บเล็ตก็ไม่ได้มีราคาค่างวดสูงนักบุคคลระดับสมาชิกรัฐสภาเงินเดือนระดับนี้น่าจะสามารถซื้อเองได้โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณแผ่นดินด้วยซ้ำ ถึงเหมาะสมในเรื่องของการใช้งานแต่ดูจะขัดในเรื่องการจัดซื้อ
“มันเป็นโมบิลิตี้เคลื่อนที่ได้ ต่ออินเตอร์เน็ตได้ 3 จีได้ จดบันทึกการประชุมที่อยู่ในอุปกรณ์ตัวเดียวไม่ต้องกระจายหลายที่ ใช้ความสามารถของระบบอีเมลล์ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ข้อมูลอยู่ในศูนย์กลางสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ การที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูลก็เป็นประโยชน์ในการเอามาพูด อย่างสมัยก่อน จตุพร พรหมพันธุ์ พูดเรื่องที่ทักษิณ ชินวัตร หลุดไปสัมภาษณ์ไม่ดีลงหนังสือพิมพ์ไทม์ เขาก็ไปพูดออกสื่อว่าหนังสือพิมพ์ไทม์ที่นิวยอร์ค จริงๆ มันไม่ใช่มันคือหนังสือพิมพ์ไทม์ยูเค ที่ประเทศอังกฤษ มันไม่ใช่ไทม์แมกกาซีนของนิวยอร์ค ถ้าส.ส.มีอินเตอร์เน็ต ก็สามารถเช็คข้อมมูลก่อนได้ การมีอินเตอร์เน็ตในห้องประชุมดีกว่าไม่มี เพราะการสรุปอะไรบางอย่างที่อยู่ในห้องประชุมบางทีมันไม่พอ ความรู้มันอาจจะเก็บไม่หมดมันต้องการแหล่งอ้างอิงข้อมูล แต่ความเหมาะสมในเรื่องของการที่จะต้องจัดซื้อ ในความเห็นผมสินค้าพวกนี้ราคาไม่แพง ส.ส.น่าจะสามารถซื้อเองได้ มีศักยภาพในการซื้อได้เองโดยไม่ต้องรับแจก”
ในเวลาเดียวกันรัฐกำลังทำโครงการแจกแท็บเลตให้เด็กนักเรียน ซึ่งมันสามารถสร้างสรรค์รูปแบบการศึกษาได้จริง แต่กลายเป็นว่ามันกำลังจะเกิด 2 มาตรฐาน แจกแท็บเล็ตให้เด็ก เครื่องละ 2,400 บาท ขณะเดียวกันจะแจกไอแพดซึ่งเป็นเครื่องที่ดีกว่าให้ ส.ส. - ส.ว. และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือเรื่องศักยภาพการใช้งานของแต่ละบุคคลที่ไม่เท่ากัน
“ผมศรัทธาในมนุษย์นะ ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนฝึกได้ ถ้าทุกๆ คนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้เขาก็จะสามารถใช้งานสิ่งเหล่านี้ได้ดี สมาร์ทโฟนไม่ได้ใช้ยาก มันอาจจะง่ายกว่ามือถือทั่วไปด้วยซ้ำ มันเป็นการจิ้มในสิ่งที่ตัวเองเห็น จิ้มจากภาพ แต่เจเนอเรชันรุ่นผู้ใหญ่อยากจะใช้สิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า เรื่องของแอพฯ ก็เป็นการใช้งานในยุคสมัยใหม่ ผมไม่สบประมาทว่าใครใช้ได้หรือไม่ได้ แต่ว่ามันไม่ใช่อุปกรณ์ที่ต้องไปเทรนต้องไปฝึกเข้าคอร์ส มันเป็นสิ่งที่เห็นปุ๊บแล้วใช้งานอย่างต่อเนื่องสักวันสองวันก็เข้าใจได้แล้ว เหมาะกับคนทันสมัยทุกวัยคนที่มีหัวก้าวหน้าใช้ได้มันตอบสนองความต้องการในการใช้งาน เพียงแต่คนเหล่านี้มีศักยภาพในการซื้อเองอยู่แล้วไม่ต้องจัดงบประมาณมาให้ซื้อ”
พงศ์สุข เสนอแนะว่าหากจะซื้อแท็บเล็ตให้สมาชิกรัฐสภาจริงๆ ก็ควรเป็นเครื่องสเปกเดียวกับของเด็ก ป. 1 เพราะจะได้เรียนรู้ถึงสภาพกระบวนการศึกษาในปัจจุบัน ไม่แน่อนาคตอาจจะมีไอเดียดีๆ มาต่อยอดแก่วงการศึกษาไทย
.........
เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ หากรู้จักใช้มันอย่างเต็มประสิทธิภาพ แท็บเล็ตก็ถือเป็นอุปกรณ์ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องการจัดระเบียบ อำนวยความสะดวก และสร้างเสริมการเรียนรู้ แต่บรรทัดฐานที่ภาครัฐตั้งแง่ระหว่างอนาคตของชาตินักเรียนป.1 กับบรรดาสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรตินั้น ดูจะขาดความสมดุลไปเสียหน่อย
ท้ายที่สุดแล้วประชาชนเองก็คงต้องร่วมกันดูแลการทำงานของรัฐบาลด้วย เพราะงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ล้วนมาจากภาษีของประชาชนเอง ใช่ว่าพวกท่านอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรติแล้วการตัดสินใจจะถูกต้องไปเสียหมด แต่งานนี้บอกได้คำเดียวว่า ไม่น้อยหน้าเด็กป.1 จริงๆ
>>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK