xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมดื่มเหล้า คนไทย...ไม่แพ้ชาติใดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องงามหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปากทั้งสัปดาห์ กับความดิบของท่านรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ในระหว่างการประชุมสภา ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ขึ้นซัดฝ่ายค้านแบบทะลุกลางปล้อง และก็ไม่ยอมฟังเสียงทัดทานจากประธานสภาในที่ประชุม เลยทำให้ต้องพักสภาแบบกลางคันเลยทีเดียว

ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น คนในสภาคงแอบลงมติกันแบบเป็นเอกฉันท์ว่า สาเหตุที่ทำให้ท่านเฉลิมออกอาการเอะอะ อาละวาดกลางสภานั้น น่าจะเกิดจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ที่ทำให้ท่านเฉลิม เมามายเล่นเอาป่วนไปทั้งสภา แต่ภายหลังก็ออกมาแก้ต่างว่า สาเหตุที่ตนเองหน้าแดงเป็นเพราะไปออกกำลังกายมา แล้วที่เดินโซเซ เป๋ไปมาก็เพราะเป็นโรคก้านหูอักเสบต่างหาก

แต่ไม่ว่าจะ ‘เมาเหล้า’ หรือ ‘เมารัก’ อย่างที่ท่านเฉลิมผู้ทรงเกียรติภูมิพูดก็ตาม เรื่องของการดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันได้อยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องของข้อกฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็งพอ และวัฒนธรรมการดื่มเหล้าของคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

‘เมาเหล้า’ ปัญหาน่าห่วงที่แก้ไม่ตก

ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า ปัญหาการดื่มเหล้าเป็นปัญหาที่ค้างคามานานในสังคมไทย ถึงจะหาหนทางการแก้ปัญหาอย่างไรก็ตาม แต่ก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คันสักที เพราะยิ่งนานวันยิ่งพบว่า อายุของคนดื่มเริ่มน้อยลง และยิ่งขยายตัวในกลุ่มของเยาวชนหญิงมากขึ้น

“บ้านเรานี่ดื่มเหล้ากันเป็นอันดับ 5 ของโลก อันดับที่ 3 ของเอเชีย และถ้าวัดจากจำนวนประชากร ก็จะอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ที่ดื่มเหล้า หลักๆ ก็จะเป็นเยาวชนที่ดื่มเพิ่มมากขึ้น ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเยาวชนหญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากเกิดจากตัวของเหล้าเองแล้ว การโฆษณาก็เป็นส่วนสำคัญ คือเขาพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเองให้เป็นองค์กรเชิงบวก มีการแจกของ แจกอุปกรณ์ต่างๆ ให้เยาวชนเห็นและรู้สึกว่า องค์กรเหล่านี้คือทุนของระบบการศึกษาและกิจกรรมสาธารณะต่างๆ และสุดท้ายก็คิดว่าการดื่มของตนไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน”

ประญัติ เกรัมย์ ฝ่ายประสานงานภาคีศาสนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย นับวันยิ่งจะหนักข้อขึ้น แม้ทุกคนจะรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งดีก็ตาม ซึ่งจะว่าไปแล้ว ประเทศไทยก็มีกฎหมายควบคุมในเรื่องของแอลกอฮอล์ ทั้งห้ามซื้อ-ขาย และห้ามบริโภคภายในวัด สถานศึกษา สถานพยาบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในสถานที่ราชการ และยังกำหนดไว้อีกด้วยว่า ผู้ที่ยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

“ใครๆ ก็รู้ว่าเหล้านั้นมีพิษภัย กฎหมายก็มีกันไว้ว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อเหล้าไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงไม่เคยเป็นอย่างนั้น ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คนขายก็รู้แต่ไม่ทำ”

ซึ่งสุดท้ายแล้วการดื่มมันก็นำพามาซึ่งปัญหามากมายนับตั้งแต่เรื่องสุขภาพยันภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ

“ถ้าเราจะพูดถึงปัญหาที่ตามมากับแอลกอฮอล์ อย่างแรกก็คงต้องพูดเรื่องสุขภาพกันก่อน แต่ต่อมาก็จะกระทบไปถึงศักยภาพของตนในเรื่องของการทำงาน ถ้าเป็นนักกีฬาก็จะหมดสมรรถภาพในการเล่นกีฬาจนโดนไล่ออก และส่งผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ นักศึกษาบางคน ครูบาอาจารย์บางคน หรือแม้แต่นักการเมืองบางคนที่ดื่มสุราก็ย่อมโดนสังคมแอนตี้อยู่แล้ว นี่ยังไม่พูดถึงผลกระทบเชิงอาชญากรรมที่มีโอกาสตามมาได้สูง

“คนเรานั้นถ้าครองสติไม่อยู่แล้ว มันก็ย่อมไปก่อความเดือดร้อนได้โดยง่าย สุดท้ายเหล้ามันเป็นตัวแปรหลักอันหนึ่งที่จะทำให้สุขภาวะด้านร่างกายและจิตใจทุกคนเสื่อมโทรม”

เมื่อเหล้าเข้าปาก ทุกสิ่งก็เปลี่ยน

อย่างที่กล่าวไปว่าฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ไม่ได้ทำลายเพียงแค่สุขภาพร่างกายเพียงเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของตัวคุณ เพราะบางคนเมื่อแอลกอฮอล์เข้าปาก เกิดอาการเมามาย ก็สามารถเปลี่ยนนิสัยกันเสียดื้อๆ แล้วก็แสดงสันดานดิบแท้จริงตามที่จิตใต้สำนึกได้กดเอาไว้ ซึ่งบางครั้งอากัปกิริยาที่แสดงออกหลังเมา อาจจะบ่งบอกลักษณะนิสัยจริงออกมา

อย่างบางคนที่ดูสุขุม เรียบร้อย เมื่อเมาแล้วก็กลายเป็นคนพูดมากกว่าเดิม พูดเพ้อเจ้อ พูดเป็นต่อยหอยหรือจากคนช่างพูด ช่างจ้อก็กลายเป็นคนเงียบขรึม สงบเสงี่ยม ที่แสดงว่าคนนั้นภายนอกดูแข็งแกร่ง แต่แท้จริงแล้วจิตใจแสนเปราะบางเหลือเกิน

บางคนพอเหล้าเข้าปากก็ต่อมน้ำตาแตก ร้องไห้คร่ำครวญขึ้นมา เพราะต้องเก็บความรู้สึก ความคิดมากของตนเองอยู่ตลอดเวลา หรือบางคนที่พอเมาได้ที่ก็เริ่มเสียงดังเอะอะ ระราน หาเรื่องไปทั่ว ก็เพราะแท้จริงแล้วเป็นคนที่อารมณ์รุนแรง ใจร้อน ขวานผ่าซาก ไม่เกรงใจใคร

นอกจากนั้นสังคมไทยก็มีการเปรียบเปรย กระทบกระเทียบ พวกคอทองแดงให้ได้สะอึกด้วยการนำพฤติกรรมของสัตว์ชนิดต่างๆ มาเปรียบเทียบกับอาการเมามายแบบครองสติกันไม่อยู่อีกด้วย อย่างเช่น

‘เมาเหมือนหมา’ คือการเปรียบเปรยท่าทางหรือพฤติกรรมของคนที่เมาเหล้า เพราะตอนที่ยังไม่เมา คนเราก็จะเดินสองเท้าเป็นปกติ แต่พอเมามากๆ เข้า ก็จะยืนทรงตัวด้วยสองขาไม่ไหว เลยต้องใช้อีกสองมือช่วย กลายเป็นเดินคลานสี่เท้า ไม่ต่างกับหมา นอกจากนี้เมื่อเดินไปไหนไม่ไหวยังนอนได้แบบไม่เลือกที่ เหมือนหมาที่นอนได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ข้างถนน

‘เมาเหมือนลิง’ คือการเปรียบเปรคนที่เมาแล้ว อยู่ไม่สุข ผุดลุกผุดนั่ง ซุกซนเหมือนลิง

‘เมาเหมือนเสือ’ คือการเปรียบเปรยพวกที่เมาแล้วดุร้ายจนน่ากลัว อย่าได้คิดจะไปหาเรื่องกับคนที่เมาเหมือนเสือเชียว เพราะเขาจะอาละวาดระรานใส่คุณแบบไม่เกรงกลัวอะไรเลย

‘เมามือปลาหมึก’ คือการเปรียบเปรยพวกคนที่เมาแล้วชอบฉวยโอกาส มือไม้ที่มีก็รุ่มร่าม ยืดยาว แอบไปโดน ไปลูบ เนื้อสาวแบบเนียนๆ ไม่ต่างจากหนวดของปลาหมึก

ซึ่งไม่ว่าเมาแล้วครองสติไม่อยู่ จนเปลี่ยนนิสัยแบบพลิกขั้ว หรือเมาแล้วกลายร่างเป็นอะไร สุดท้ายแล้วสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่เมาจนขาดสติแล้วไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นนั่นเอง

วัฒนธรรมฝังรากลึก วันไหนๆ พี่ไทยก็เมา

เมื่อการดื่มเหล้าของคนไทยกลายเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอย่างถอนไม่ได้ และยังปรากฏข่าวในทำนองที่ว่าคนดื่มไม่นึกถึงกาลเทศะ ไม่ดูเวลาสถานที่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด ประเทศไทยเราถึงได้นิยมการดื่มเหล้าจนติดอันดับโลกขนาดนี้ ซึ่ง ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เล่าถึงวัฒนธรรมการดื่มสุราของคนไทยตั้งแต่ครั้งโบราณจวบจนมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งตั้งแต่มีพระราชบัญญัติ สุรา พ.ศ.2493 วัฒนธรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ก็เริ่มเปลี่ยนไป

“พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 เป็นตัวการจำกัดสิทธิสุราของประชาชน ทำให้สุราดั้งเดิมของคนไทยถูกห้ามผลิตโดยชาวบ้าน พฤติกรรมการบริโภคสุราก็เลยเปลี่ยนไป จากเดิมเคยดื่มเหล้าส่วนมากผลิตจากข้าวเหนียว พอเป็นโรงงานสุราแล้วมันเชิงว่าเขาผูกขาดการผลิต คือประชาชนไม่สามารถผลิตสุราจำหน่ายได้ทำให้ไม่มีการแข่งขัน เพราะฉะนั้นโรงเหล้าก็สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยการเปลี่ยนจากข้าวเหนียวมาเป็นกากน้ำตาลซึ่งเป็นวัตถุดิบราคาถูก ซึ่งเป็นของเหลือจากกระบวนการทำน้ำตาลทราย ก็เลยทำให้ประชาชนรายได้น้อยก็เลยต้องซื้อสุรากลั่นของโรงงานสุราที่ทำจากากน้ำตาลทั้งสิ้น 100 เปอร์เซ็นต์

“ทำให้เขาติดรสชาติสุรากลั่นจากกากน้ำตาล (เหล้าโรง) แล้วสุราที่ผลิตแบบตั้งเดิมก็เปลี่ยนไปไม่ชอบสุราจากข้าวแล้ว และก็เป็นเรื่องของสุราจากต่างประเทศเข้ามา เรียกว่ารสชาติเหล้าโรงนั้นไม่ถูกปากชนชั้นกลาง เพราะว่ามันเหม็นฉุน หลังๆ มาคนทำงาน นักศึกษา ก็เลยมาดื่มสุราจากต่างประเทศ สกอตวิสกี้ และเบียร์เข้ามา วัฒนธรรมการดื่มของคนไทยก็เลยเปลี่ยนไป”

ส่วนในเรื่องเป้าหมายของการดื่มสุรานั้นก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป และคงต้องยอมรับว่าในปัจจุบันกลุ่มของคนที่ดื่มสุราได้ขยายตัวขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งนักเรียน นักศึกษา กลุ่มผู้หญิง ฯลฯ เพราะมีทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งยังเรื่องของวัฒนธรรมตะวันตกที่ถูกยอมรับกันมากขึ้น

“คนไทยรักสนุกกับการที่เข้าสังคม เฮฮากับเพื่อนฝูง เป็นพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามรณรงค์อย่างไร แต่คนไทยก็ยังดื่มสุรากันเหมือนเดิม ที่ติดอันโลกอับดับที่ 5 ไม่น่าแปลกใจเพราะว่าเป็นวัฒนธรรมเอเชียด้วย ถ้าพูดถึงการดื่มสุรามากน้อยทำให้ประเทศพัฒนาหรือไม่ คิดว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะคนญี่ปุ่นก็ดื่มมาก คนอังกฤษก็ดื่มมาก ชาติที่เขาพัฒนาก็ดื่มมาก แต่ว่าอยู่ที่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า เช่น ดื่มแล้วไม่ไปเป็นปัญหาให้กับคนอื่น แต่ประเทศไทยยังคุมเรื่องนี้ไม่ได้”
..........

มองดูแล้ว การดื่มเหล้าของคนไทย อาจซึมซาบจนกลายเป็นสายเลือดไปเสียแล้ว ดังที่มีบทเพลงหนึ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนถึงวัฒนธรรมการดื่มเหล้าของพี่ไทย ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไหร่ ก็พร้อมจะชนแก้วได้เสมอ อย่างในเนื้อเพลงที่ว่า วันตรุษพี่ไทยก็เมา วันสารทพี่ไทยก็เมา วันโกนพี่ไทยก็เมา วันพระพี่ไทยก็เมา งานไหนๆ พี่ไทยก็เมา…
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น