xs
xsm
sm
md
lg

‘ทะเบียนสวยช่วยชาติ’ เจาะเซฟ 900 ล้าน ‘กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


144,757,000 บาท คือจำนวนเงินที่ได้จากการประมูลทะเบียนรถเลขสวยของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 111 ในหมวด ญญ เมื่อวันที่ 11 - 12 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยป้าย ญญ 9999 กรุงเทพมหานคร ได้ทุบสถิติ เพราะมีผู้ใจถึงขอทุ่มเงินถึง 11,000,000 บาท เพื่อได้ป้ายสุดสวยนี้มาครอบครองกันเลยทีเดียว ซึ่งรายได้ทั้งหมดนี้จะถูกนำเข้า ‘กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน’ (กปถ.)

หลายคนอาจจะรู้สึกสนใจว่า ทำไมคนเราถึงใจกล้านำเงินนับล้านมาทุ่มกับของพวกนี้ได้ แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และคงจะมีน้อยคนจะรับทราบด้วยว่า เงินที่ได้จากการประมูลที่เข้า ‘กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน’ จำนวนมหาศาลนี้ แท้จริงมันคือกองทุนอะไรกันแน่ มีไว้เพื่ออะไร และมีเงินเข้าปีหนึ่งๆ มีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องหาคำตอบ

กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนนี้คืออะไร?

กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน หรือ กปถ.นั้นถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) โดย รศ.ดร.พลศักดิ์ จิรไกรศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน อธิบายว่า เป้าหมายหลักของหน่วยงานก็คือ การลดอัตราผู้เสียชีวิต และการบาดเจ็บจากการใช้รถใช้ถนนทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่ภาครัฐต้องการเห็นเท่านั้น แต่ยังไปสอดรับองค์การอนามัยโลกที่มีการลงปฏิญาณสากลให้กำหนดว่าทศวรรษที่ 2010 นี้เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัย

เพราะต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนได้กลายเป็นระบาดวิทยาที่คร่าชีวิตผู้คนมากเป็นอันดับ 5 ของโลกแล้ว และหากไม่มีการจัดการอะไรก็เชื่อได้ว่า ภายใน 10 ปีจะต้องขึ้นมาเป็นอันดับ 1 อย่างแน่นอน เพราะรถจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ และถนนจะดีขึ้นเช่นกัน ฉะนั้นองค์กรใหญ่ๆ ของโลกและรัฐบาลของหลายๆ ประเทศจึงทุ่มเทกับเรื่องนี้มาก

“ประเทศที่เจริญแล้ว การตายแต่ละครั้งเขาคำนวณได้คนละกี่บาท บาดเจ็บเท่าไหร่ เสียทรัพยากรบุคคลเท่าไหร่ เสียค่าคนดูแลเท่าไหร่ กายภาพบำบัดเท่าไหร่ ค่าพยาบาล ค่ายา ค่าโรงพยาบาล ค่าเตียง เขาคำนวณมันเสียหายยับ อย่างประเทศไทยก็ปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี"

โดยหน้าที่หลักๆ นั้นถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือการทำงานเชิงรุก ด้วยการสนับสนุนทุนสำหรับการทำวิจัยต่างๆ เช่น เมาแล้วขับ การใช้โทรศัพท์มือถือ การไม่สวมหมวกกันน็อก การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือแม้แต่อุปกรณ์ต่างๆ ของรถ ซึ่งผลที่ออกมาจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นอย่างตรงจุด

ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการให้เงินแก่องค์กรรัฐต่างๆ ที่มีแผนงานหรือโครงการเสนอเข้ามาที่ กปถ. โดยจะต้องครอบคลุมมิติต่างๆ เช่นการบังคับใช้กฎหมาย ให้การศึกษา การรณรงค์ป้องกัน ประชาสัมพันธ์ และการอบรม โดยเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะต้องยอมรับว่า อุบัติเหตุในประเทศไทยนั้น 80 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นกับมอเตอร์ไซค์ และเกิดขึ้นกับถนนในชนบท หรือถนนรอง ไม่ใช่ถนนหลักอย่างที่เกิดในหลายๆ ประเทศ

“ส่วนใหญ่คนที่ตายจะไม่มีใบขับขี่ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีเครื่องป้องกัน แล้วจากการวิจัยเรายังพบอีกว่า ที่ตายส่วนใหญ่จะไม่เกิน 2 กิโลเมตรจากบ้าน แล้วก็ตายในถนนชนบทมากกว่าถนนในเมือง เพราะฉะนั้นเราถึงต้องสร้างเครือข่ายใน อปท.เป็นลำดับแรก”

และที่สำคัญที่สุดก็คือ การเยียวยาผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การรักษา การดำรงชีวิตในอนาคต

ประมูลป้าย การตลาดที่ไม่ธรรมดา

ถึงที่มาที่ไปของกองทุนไปแล้ว ก็มาถึงเรื่องแหล่งงบประมาณกันบ้าง ซึ่งว่าตาม พ.ร.บ.ในการจัดตั้งกองทุนได้อธิบายว่า รายได้เพียงหนึ่งเดียวของกองทุนนี้มาจาก ‘เงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ได้จากการประมูลหมายเลขทะเบียนรถซึ่งเป็นที่ต้องการ’ นอกจากนั้นก็จะเป็นเงินบริจาค และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นรายได้ต่อปีของกองทุนไม่แน่นอน บางปีอาจจะมาก บางปีอาจจะน้อย แต่โดยเฉลี่ยจะตกประมาณปีละ 800,000,000 - 900,000,000 บาท

ซึ่งการประมูลนั้นจะจัดขึ้นราวๆ 30 ครั้ง สัญจรไปตามจังหวัดต่างๆ และจะวนกลับมาที่เดิมเมื่อมีการเปิดหมวดตัวอักษรใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องยอมรับว่า การทำเช่นนั้นตรงกับจริตของคนไทยสุดๆ เพราะสังคมไทยมีค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ โชคลาง และโหราศาสตร์อย่างมาก ยิ่งกับตัวเลขแล้วยิ่งเห็นได้ชัด อย่างเลข 9 คนก็จะนิยมเป็นพิเศษ ส่วนเลข 6 หรือ 13 คนก็จะไม่นิยมเพราะคำว่าหกก็จะแปลความเป็น หกล้ม หกคะมำ ซึ่งมีความหมายที่ไม่ดี ที่สำคัญ ตัวเลขยังสะท้อนสถานภาพทางสังคมอีกด้วยว่าเป็นเช่นใด เช่น ถ้าเลขสวยมากอย่างเลขเหมือนกันทั้งชุด อย่าง 999 หรือ 9999 ก็คาดเดาได้เลยว่าน่าจะเป็นคนรวย เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอยากมีปัญหาด้วย แม้แต่ตำรวจจราจร

ซึ่งประเด็นนี้ เจนจิรา เมธาธนบดี ประชาสัมพันธ์ของบริษัททูเกทเตอร์ จำกัดซึ่งเป็นผู้ดูแลการประมูลอธิบายว่า เรื่องตัวเลขและตัวหมวดนั้นมีผลต่อความเชื่อของผู้คนจริงๆ บ้างก็เชื่อในเรื่องธุรกิจการค้า สร้างบารมีต่างๆ ทำให้รับทรัพย์มั่นคง เดินทางไปไหนก็ปลอดภัย

“ตัวหนังสือที่จะมีประมูลสูงๆ ก็เช่น ถ ถุง เพราะเขาจะเรียกถุงเงินถุงทอง ถุงเก็บทรัพย์ หรือ ญ หญิง ด้านหลังก็จะคล้ายๆ บอ ใบไม้ เขาก็จะเชื่อว่าเก็บตวงทุกอย่าง ดูจากข้างหน้ากับข้างหลังจะเป็นลักษณะของการแปลงตัวอักขระ ว่ามีความหมายอย่างไร ลักษณะเดียวกัน ญญ ก็มีไม้หันอากาศอยู่ข้างล่าง ไม้หันอากาศก็จะเป็นตัวช่วยเสริมฐานให้เกิดความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น”

900 ล้านเอาไปไหน?

กองทุนก็มีหลักการในเรื่องนี้ชัดเจน โดยมีการกำหนดอัตราส่วนของเงินลงทุนเอาไว้ คือ เงินสำหรับทุนวิจัยและการทำโครงการต่างๆ ไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ เช่น เงินสำหรับการรณรงค์ สร้างเครือข่าย ซึ่งถือเป็นภารกิจใหญ่ที่สุดของกองทุน แล้วก็เงินสำหรับการจัดประมูลป้ายทะเบียนไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายคือ เงินสำหรับการเยียวยาผู้พิการ ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งเงินในส่วนของการจัดประมูลนั้น ก็มีตั้งแต่การนำเงินไปลงโฆษณาหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ โดย รศ.ดร.พลศักดิ์ยืนยันว่า ไม่ได้ใช้จ่ายมากมายอะไร และที่สำคัญเวลาประมูลไปแล้วก็มีบางคนที่ทิ้งป้าย เพราะฉะนั้นทาง กปถ.จึงถือหลักการว่า ‘มีน้อยใช้น้อย มีมากก็ใช้มาก’ ส่วนเงินเยียวยา ปีที่แล้วทางกองทุนระบุว่า ได้ให้ไปมากกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ เช่น สภากาชาดไทย หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่เพียงแค่นั้น กปถ.ยังมีการพัฒนาโครงการศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ซึ่งเป็นโอกาสให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนพฤติกรรมของบรรดารถสาธารณะ เช่น ขับรถประมาท ไม่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่ป้าย แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ หรือเรียกแท็กซี่แต่ไม่ยอมไป

“ตอนนี้เรากำลังจะขยายงานเพราะเมื่อก่อน 1584 ดูเฉพาะ พ.ร.บ.ขนส่งทางบกกับ พ.ร.บ.รถยนต์ แต่ตอนนี้เราเพิ่งประชุมกับตำรวจว่าจะดู พ.ร.บ.จราจรให้ด้วยคือ เรารับแจ้งให้ด้วยแล้วส่งต่อให้กับทางตำรวจจัดการต่อเลยทันที”

ถึงคราวพิจารณาความคุ้มค่า

แม้ กปถ.จะมีการนำเงินไปใช้ในหลายด้าน หลายมิติ แต่คำถามหนึ่งซึ่งยังคาใจอยู่ก็คือ สุดท้ายแล้วเป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้หรือไม่ และถ้าจะพัฒนาควรจะต้องไปเพิ่มในส่วนไหน

ซึ่งในมุมคนนอก อย่าง ผศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มองว่า ที่ผ่านมากองทุนก็นำเงินมาใช้อย่างหลากหลาย แต่การจะสร้างความปลอดภัยในท้องถนนได้นั้น ต้องทำงานหลายด้านควบคู่กันไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของคนที่ใช้ท้องถนนนั่นเอง

“คือสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นมันมีหลายประการ แต่ประเด็นหลักๆ มันเป็นเรื่องของคน ถ้าเกิดคนขับนั้นมีการพัฒนามีการตระหนักถึงเรื่องของความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แน่นอนว่ามันย่อมลดอุบัติเหตุไปได้กว่าครึ่ง ดังนั้นการเอางบประมาณมาใช้ในการสร้างจิตสำนึกและการตระหนักรู้จึงเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้ว ส่วนในด้านอื่นๆ ก็อาจจะเอาเงินจำนวนนี้ไปทำถนน ติดป้าย พัฒนาระบบต่างๆ ให้ดีขึ้น ลองไปดูว่าจุดไหนมีอุบัติเหตุบ่อย เข้าไปศึกษาด้านกายภาพว่ามันเกิดจากอะไร รู้แล้วก็เข้าไปแก้ไขเสีย แต่ถึงอย่างไรคนก็เป็นปัจจัยหลักในการเกิดอุบัติเหตุอยู่ดี ถ้าจะนับเป็นเปอร์เซ็นต์ก็น่าจะสูงถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ และการแก้ปัญหาเรื่องคนนั้น มันอาจจะไม่ใช่งานด้านรณรงค์อย่างเดียว แต่อาจจะทำผ่านการแก้กฎหมายก็ได้ เช่นการทำให้การสอบใบขับขี่นั้นยากขึ้น หรือทำระบบตัดแต้มให้จริงจังมากขึ้น ผ่าไฟแดงก็ปรับแค่ 500 มันทำให้คนไม่หลาบจำ ไปลงทุนกับโครงสร้างในการควบคุมคน”

ขณะที่ รศ.ดร.พลศักดิ์ ก็ประเมินตัวเองว่า ถือว่าได้ผลเท่าที่ควร แต่จากข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุพบว่า อัตราการตายและการบาดเจ็บไม่ได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนรถเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นถ้าตีความง่ายๆ ก็คือ คนตายลดลง เช่นเดียวกับการเข้มงวดกวดขันที่มีเพิ่มขึ้น และรัฐบาลเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาคือ ประเด็นนี้ยังอยู่ในระดับนโยบายเป็นหลักเท่านั้น ส่วนระดับการปฏิบัติการยังไม่เห็นเท่าที่ควร สังเกตได้จากงบประมาณที่ลงไปในแต่ละปีมีน้อยมาก ทำให้เงินที่ถูกนำมาใช้กับเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินของกองทุน
..........

แม้เงินกว่า 800-900 ล้านบาท จะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างเด่นชัด แต่ถ้าว่าไปแล้ว ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วน เพราะอย่างที่ รศ.ดร.พลศักดิ์อธิบายว่า เวลาเกิดเหตุไม่ใช่มีแค่คนตาย แต่ยังมีคนบาดเจ็บซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมหาศาล ฉะนั้นถ้าทุกส่วนเริ่มคิดจะสร้างความปลอดภัยตั้งแต่วันนี้ ก็คงไม่ต้องไปกังวลกับอนาคต หรือว่า ช่วงเทศกาลนี้จะมีคนเยอะแค่ไหน เหมือนกับที่แล้วมา
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต






กำลังโหลดความคิดเห็น