xs
xsm
sm
md
lg

‘ดวงดาว สุวรรณรังษี’ มองการท่องเที่ยวฯ มุมเบิร์ดอายวิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเดินทางของ ‘ดวงดาว’ ก็ยังค่อยๆ เคลื่อนตัวรอบโลกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ ที่ช่างภาพธรรมชาติชั้นนำของเมืองไทย และอดีตบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. (นิตยสารท่องเที่ยวยอดนิยม) อย่าง ‘ดวงดาว สุวรรณรังษี’ ได้เปล่งแสงสว่างอยู่ในดาราจักรแห่งแวดวงท่องเที่ยวและถ่ายภาพ

ภายหลังลาออกจาก อ.ส.ท. เธอก็เริ่มการเดินทางครั้งใหม่ที่มีแรงบันดาลใจเป็นเครื่องนำทาง ก่อตั้ง ‘นิตยสารเนเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์’ ด้วยแนวคิดสำหรับนักแรมทางผู้ชอบละเลียดรสธรรมชาติ ซึ่งก็ยังคงยืนหยัดเจตนารมณ์มากว่าสิบปี

ถึงไม่ได้จ้องมองอยู่ ณ จุดสูงสุดของโลก แต่ด้วยจุดสูงสุดจากดวงตาก็ทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย

วงการท่องเที่ยวเกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
 30 ปี...ย่อมเปลี่ยนแน่นอน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองไทย มันเหมือนกับเริ่มต้นด้วยดีมาตั้งแต่แรก ตอนสมัยทำงานใหม่ๆ เหมือนกับระบบท่องเที่ยวที่เป็นแมสที่อยู่ตัว เพราะเมืองไทยเป็นที่รู้จักดีทั่วโลกในฐานนะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ท็อปในเอเชียแห่งหนึ่ง เราก็ติดอันดับในเวิลด์ แรงกิ้ง มาตั้งนานแล้ว ในฐานะที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเยอะ และเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ มีความปลอดภัยสูง

ฉะนั้น การเจริญเติบโตของไทยมาเป็นขั้นตอน มีอะไรเข้ามารองรับในระดับสูง แต่พอผ่านมาสัก 10 ปี การเจริญเติบโตมันสูงมาก...สูงมากจนทำให้มันเริ่มเกิดปัญหา การท่องเที่ยวในเชิงที่เป็นเบสิกของประเทศ อย่างหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เมื่อก่อนที่พัก 50 บาท แบ็กแพกเกอร์เต็มไปหมด มันก็เปลี่ยนเป็นว่าแบ็กแพกฯ หายไปหมด แมสทัวร์ริซึมเข้ามาแทนที่

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยพื้นที่มันเล็ก ก็ต้องหันมาพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สมัยนั้นยังทำอยู่ที่ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และก็เริ่มมีการจัดการแผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ขึ้นมา เราทำหนังสือ อ.ส.ท. เปลี่ยนแปลงมาในแนวทางที่เป็นเรื่องท่องเที่ยวธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น เริ่มโหมเรื่องการท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นพิเศษ เชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวธรรมชาติ หรือ อีโคทัวร์ริซึม มันเป็นรากฐานของการท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากนั้นการท่องเที่ยวแบบเอ้าต์ ดอร์ ไลฟ์ ขี่จักรยาน ดำน้ำ หรือเดินป่า มันก็เริ่มเข้ามา

พูดถึงอีโคทัวร์ลิซึม ประเทศไทยได้รับความนิยมแค่ไหน
การลงทุนกับอีโคทัวร์ลิซึมมันลงทุนสูง แต่การตอบแทนอาจไม่สูงตาม มันจะเป็นในแง่ของคุณภาพ มันอาจจะสร้างคุณภาพแต่ไม่สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ และเรื่องของการทำที่พักในเขตธรรมชาติมันก็ทำได้ยาก บ้านเรายังไม่ลงตัว ยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยังไม่ไปด้วยกัน

แล้วการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่กล่าวมาคืออะไร
ก็คือการท่องเที่ยวที่สร้างคุณค่า ทำให้ผู้ท่องเที่ยวทราบถึงคุณค่าและก็ตระหนักว่า เที่ยวไปต้องเรียนรู้ต้องทำความเข้าใจ ต้องศึกษา ต้องตระหนักถึงคุณค่าและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องต่อสถานที่นั้นๆ

การท่องเที่ยวมีส่วนให้โลกคงอยู่ เพราะกิจกรรมท่องเที่ยวต้องเข้าไปใช้ทรัพยากร อย่างไปเที่ยวเข้าป่าก็เข้าไปใช้พื้นที่แล้วจะไปกินไปนอน ไปเดินไปชม ถ้าเราไปเดินป่า ไปเที่ยว กลับมาสนุกดี กลับมาแล้วเราไม่คิดจะทำให้มันเปลี่ยนแปลงหรือมีอะไรดีขึ้นมันก็ไม่มีประโยชน์ คุณก็ได้ความสนุกสนานไปแหล่งท่องเที่ยวก็ละเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ หรือขึ้นไปดอยอินทนนท์เพื่อไปสัมผัสความเย็นเท่านั้นหรอ? แล้วก็จบอยู่แค่นั้นหรอ?

การท่องเที่ยวมันจะต้องเกิดกิจกรรมที่ดีและสร้างสรรค์ที่ดีกว่า เช่น คุณจะต้องไปเดินชมธรรมชาติและเรียนรู้ คุณไปเห็นอะไร แล้วสิ่งที่คุณเห็นน่ะ มันใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวนานเท่าไหร่ เมื่อมีการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แบบนี้ แน่นอนคนกลับมาย่อมเกิดจิตสำนึก เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความรู้สึกหวงแหน ชื่นชม คุ้มค่ากับงบประมาณที่จะนำมาพัฒนา สอนให้คนรู้ว่าการเที่ยวในแต่ละที่มันมีคุณค่าอย่างไร มันก็ต้องเป็นระบบการจัดการ เที่ยวไป เรียนรู้ไป

ในส่วนนี้ยากไหมที่จะผลักดัน
ก็ไม่ยากเกินไปหรอก แต่อยู่ที่จะทำไหม? ต้องขึ้นอยู่กับกิจกรรมของทุกฝ่ายที่จะเข้ามารองรับตรงนี้ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างระบบการท่องเที่ยวขึ้นมา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ตอนนี้บ้านเราก็ทำได้แต่ยังไม่ทำ

แต่ก็มีการผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกันอย่างต่อเนื่อง
ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จที่ดีอะไรมากนักนะ แต่สำหรับประเทศไทยก็ไม่ถึงกับทำให้แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมจนเกินไป จะมีปัญหาอย่างอื่นมากกว่าในช่วง 5-10 ปีมานี้ ในเรื่องของภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการตลาดในระดับโลก อย่าง ททท. เขาก็มีนโยบายออกมาว่า เที่ยวหัวใจใหม่..เมืองไทยยั่งยืน ซึ่งก็เข็นมา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่เกิดเป็นรูปธรรม เพราะว่าตอนนี้ ททท. ไม่ได้ทำหน้าที่เชิงพัฒนาแล้ว ททท. ทำหน้าที่ในเชิงการตลาดอย่างเดียว

มันอยู่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ต้องตื่นตัวบ้าง ต้องตระหนักในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวยั่งยืน หรือวางแผนโครงสร้างการพัฒนา ต้องบอกว่าสมัยอยู่ ททท. เราผลักดันกัน ไปทำงานวิจัย ไปทำร่างพระบัญญัติโครงสร้างของพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ขึ้นมาเพื่อจะให้เกิดแผนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่ 10 ปีมานี้ก็ยังไม่คลอด ภาครัฐไม่แอ็กชั่นเรื่องนี้เลย

ตั้งแต่ที่มีกระทรวงท่องเที่ยวฯ ต้องบอกว่าไม่เห็นผลงานของเขาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมันเป็นลักษณะควบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่รู้จะเอาอะไรให้มันแน่นอนสักอย่างหนึ่งไหม หรือว่าทำทั้งสองอย่างเลยให้มันไปด้วยดี

มองตามสภาพจริงคำว่า 'ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์' นั้น ปฏิบัติกันได้หรือเปล่า
เขาก็ยังเที่ยวแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง จะพูดว่าเขาทำลายนั้นไม่ได้หรอกไม่ควรพูด เพราะนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวก็เจตนาเพียงแต่จะพักผ่อนหย่อนใจหาความสุขในการท่องเที่ยว แต่ด้วยปรัชญาของการท่องเที่ยวที่แท้จริงมันลึกซึ้งกว่านั้น แต่มีใครช่วยบอกเล่า ช่วยสร้างจิตสำนึกให้เขาเกิดความรู้สึกสนับสนุนมีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยว

แล้วปรัชญาการท่องเที่ยวมีความหมายอย่างไร
เรื่องท่องเที่ยวมันมีความหมายกว้างไกลมาก ปรัชญาการท่องเที่ยว...เราต้องเที่ยวเพื่ออะไร เพื่อความสุขเพื่อความเอนเตอร์เทนเป็นหลักใช่ไหม แต่ในแง่ของภาพรวมระดับชาติแล้วมันเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่ครอบคลุมกับคนจำนวนมาก มีผลกว้างไกลและก็เกือบจะเป็นปัจจัยที่ 6 แล้วในชีวิตคนเรา คนเรายิ่งทำงานหนักยิ่งคิดถึงเรื่องท่องเที่ยวมา เรื่องท่องเที่ยวเป็นเอ็นเตอร์เทน ไลฟ์ ที่สำคัญ มันก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลายเป็นว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแล้ว เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมภาคหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญของประเทศ

ปรัชญาของการท่องเที่ยวต้องทำให้มันยั่งยืน การท่องเที่ยวถ้าไม่ยั่งยืนมันก็จะล่มสลายเป็นไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ และเกิดผลเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต้องมีการสอนหรือรณรงค์ไหม
ต้องทำเยอะทีเดียว การท่องเที่ยวของบ้านเรายังเป็นแบบตามใจฉัน ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันต้องรณรงค์กันทั้งภาครัฐฯ เอกชน และตัวนักท่องเที่ยวเอง ต้องสร้างกันเยอะหน่อย และต้องมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐเองด้วยที่จะให้เกิดระบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และระบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

ก็คือคนไทยยังเที่ยวกันแบบฉาบฉวย
ก็ระบบการจัดการมันเป็นอย่างนั้น คนเขียนเรื่องท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้อาจจะฉาบฉวยด้วย คนเที่ยวก็เลยฉาบฉวย เขาไม่ไปสนใจหรอกว่ามันจะเป็นอย่างไร คนไทยชักชวนไม่ยากนะ แต่มันจะทำอย่างไรที่จะป้อนสาระให้เขาขณะเดินทางไปด้วย มันจึงจะเกิดผล

จริงๆ ในปัจจุบันก็มีสิ่งพิมพ์แนวท่องเที่ยวออกมาเยอะมาก
คือทุกคนก็ทำหนังสือเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง จะว่าไปนิตยสารท่องเที่ยวดูเหมือนดีนะแต่อยู่ยาก มันเป็นการลงทุนที่สูงมาก ถ้าลงทุนเรื่องการเดินทาง อะไรที่มีเนื้อหาสาระที่จริงจังไม่ฉาบฉวยค่าใช้จ่ายมันแพงมาก

อย่างนี้มันก็ไม่คุ้ม
ไม่คุ้ม! อย่างเนเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ ขาดทุนมาโดยตลอด ไม่เคยกำไร ไม่เคยเลี้ยงตัวเองได้ ต้องทำอย่างอื่นเลี้ยงตัว ต้องทำกิจกรรม ต้องทำหนังสือพิเศษ อย่างนี้อย่างนั้นก็ยังยากเลย เพราะว่าสื่ออื่นตีหมด ยิ่งยุคนี้สื่ออินเตอร์เน็ต สื่อโทรทัศน์มา หลังน้ำท่วมมาไม่มีใครลงโฆษณาทุกคนรู้ดีว่าสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ยาก และสื่อสิ่งพิมพ์ด้านการท่องเที่ยวยิ่งลำบากใหญ่เลย ตามสถิติแล้ว...ปกที่เป็นธรรมชาติ เช่น ภาพนก ยอดขายมันตกวูบเลย ต่อให้ดีวิเศษขนาดไหน ถึงคนถ่ายใช้เลนส์ตัวละสองแสน และไม่ต้องบวกฝีมือประสบการณ์ค่าตัวนะ

แล้วปกหนังสือท่องเที่ยวลักษณะไหนที่ถูกใจผู้อ่านชาวไทย
ภาพวิวทิวทัศน์ ยิ่งเป็นวิวเมืองนอกยิ่งดีใหญ่เลย แล้ววิวเมืองไทยถ่ายมาไม่ใช่ว่าจะขายได้ง่ายถึงถ่ายมาดีสุดวิเศษอย่างไรก็เถอะ หนังสือท่องเที่ยวในตลาดทุกวันนี้มีหนังสือท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่าเที่ยวเมืองไทย อย่าง เนเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ พยายามจะเป็นปลาสองน้ำ ไม่ยอมทิ้งท่องเที่ยวในประเทศ เราก็ต้องอยู่อย่างนี้อยู่อย่างดิ้นรนไป

แล้วการไปถ่ายภาพธรรมชาติต้องมีข้อคำนึงไหม
การถ่ายภาพให้ได้ดีเราต้องรู้จักธรรมชาติดีพอด้วย จะถ่ายเรื่องราวภาพให้มันมีคุณค่าเราต้องเข้าใจเรื่องราวให้ดี ต้องใช้เวลา ใช้ความพยายาม และต้องมีทักษะในตัวเองต้องมีการสังเกต และถ่ายภาพธรรมชาติมันเป็นเรื่องของการใช้เวลาจริง บางทีต้องไปเฝ้ารอ บางทีไปช่วงฤดูกาลนี้ไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะไปในช่วงที่ดี

การถ่ายภาพธรรมชาติมันยาก ภาพธรรมชาติที่เอามานำเสนอส่วนใหญ่มันไม่ได้มาจากทริปเดียว อาจจะได้มันก็แค่แง่มุมหนึ่ง แต่ถ้าต้องการความสมบูรณ์เพียบพร้อม ต้องไปหลายครั้งหลายฤดู ภาพแต่ละภาพที่ได้มามันยากทั้งนั้น

เสน่ห์ของการถ่ายภาพธรรมชาติ
ก็นี่ไงมันเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ความท้าทายนี่แหละ เป็นเสน่ห์อันสำคัญ การที่ไปถ่ายภาพธรรมชาติทำให้ได้เห็นธรรมชาติสุดวิเศษ สวยงามกว่าที่คนอื่นได้มองเพียงแค่ตาเปล่า การใช้เทเลฯ (เลนส์ระยะไกล) ดึงขนายดอกไม้เล็กๆ เข้ามา มองเห็นมันออกมาอย่างชัดเจน มันเป็นความสวยงาม ความเบิกบานในใจ เป็นสุนทรียภาพ คนที่ถ่ายภาพธรรมชาติต้องเป็นคนที่ชอบธรรมชาติ ถ่ายไปก็เรียนรู้ก็เข้าใจ เป็นสิ่งที่สนุกสนาน ใช้ความพยายาม ใช้ฝีมือ และก็มีเวลาพอที่จะไปทุ่มเทกับมัน

รูปถ่ายกับสถานที่ มันแตกต่างกันอย่างไร
นอกจากความสวยงาม ก็คือคุณค่าของมัน และก็เรื่องราวของธรรมชาติที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ที่สำคัญการได้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติจะทำให้เข้าใจ เบสิก ไลฟ์ ของการใช้ชีวิตในธรรมชาติ เพราะการใช้ชีวิตตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่เรียบง่ายมันทำให้เราเกิดความสุขโดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรที่มันเลิศเลอสูงส่ง

การใช้ชีวิตในธรรมชาติมันทำให้เราเกิดความเข้าใจง่ายๆ และเข้าใจถึงความเป็นไปในชีวิต เพราะว่าอะไรธรรมชาติก็คือ ธรรมะ ที่สอนเรานั้นเอง เราได้เห็นความเป็นไปการเกิดแก่เจ็บตาย อนิจจัง ความเกิด ความดับ เสื่อมสลาย และสิ่งที่เหนือสิ่งอื่นใดธรรมชาติมันเป็นบ่อเกิดของสิ่งที่สำคัญของชีวิตทำให้เรารู้ว่าชีวิตเราที่เกิดขึ้นมาเพราะธรรมชาติ ถ้าโลกนี้ไม่มีธรรมชาติจะเป็นโลกที่ไม่น่าอยู่ไม่น่ารื่นรมย์

กว่า 30 ปี ที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวและถ่ายภาพ สังคมได้อะไรจากสิ่งที่คุณทำ

คิดว่าเราได้ทำงานในการถ่ายทอดคุณค่าและความงามของธรรมชาติไปให้กับผู้อ่านผู้ชมในเมืองไทย ทำให้คนเขาเกิดแรงบันดาลใจในการเดินทางบ้าง ไปชมเหมือนกับเราบ้าง ไปชื่นชมธรรมชาติ และได้ไปเห็นคุณค่า และอาจจะทำอะไรได้ดีกว่าเราอีก (ยิ้ม)
>>>>>>>>>>

………..
เรื่อง : นฤมล ประพฤติดี
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร




กำลังโหลดความคิดเห็น