xs
xsm
sm
md
lg

กระแสหนังรักสาวออฟฟิศ ตลาดโสด30+ ความร้อนแรงที่แผ่วปลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการภาพยนตร์ไทยไม่น้อย เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2552 ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมมิดีของสาวโสดมีอายุที่จับพลัดจับผลูดังเป็นพลุแตก สร้างรายได้ถล่มทลายทะลุเพดานกว่า147 ล้าน!!!

แน่นอน คงเดากันได้ไม่ยากก็ภาพยนตร์เรื่อง 'รถไฟฟ้ามาหานะเธอ' จากฝีมือผู้กำกับ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม แห่งค่ายจีทีเอชนั้นเอง ซึ่งดูเหมือว่าหนังรักสาวโสดวัยเข้าเลขสามเรื่องนี้จะสร้างมาแทงใจดำ 'ตลาดผู้ชมสาวๆ' กลุ่มใหญ่ และโกยเงินอย่างคาดไม่ถึง ตรงนี้เองก็เหมือนเป็นฉนวนให้บรรดาผู้สร้างอีกหลายค่ายส่งหนังสไตล์เดียวกันสู่ตลาดอย่างไม่รีรอ

ผ่านไป 2-3 ปีให้หลัง หนังสไตล์ดังกล่าวก็เข้ามาปั่นกระแสจอเงิน เป็นเมนูจานร้อนเสิร์ฟให้ได้ชมกันติดๆ ถึง 3 เรื่อง ทั้งเรื่อง ‘30 กำลังแจ๋ว’ ของค่ายเอ็มเทอตี้ไนท์ กำกับฯ โดย สมจริง ศรีสุภาพ ‘30+ โสด On Sale’ ของค่ายสหมงคลฟิล์ม และหัวฟิล์มท้ายฟิล์ม บริษัทหนังของเวิร์คพอยท์ กำกับฯ โดย เสนาเพชร-พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือล่าสุด เรื่อง ‘รักสุดท้าย ป้ายหน้า’ ของค่ายไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น กำกับฯ โดย กิรติ นาคอินทนนท์

ส่วนเรื่องรสชาติของแต่ละเรื่องที่บังเอิญสไตล์เดียวกันจะต่างกันหรือไม่ผู้ชมคงมีคำตอบกันอยู่แล้ว ซึ่งอย่างหนึ่งที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าหนังเรื่องนั้นๆ ประสบความสำเร็จเจาะตลาดเป้าหมายได้หรือไม่ ก็คงเป็นเรื่องของรายได้ แจกแจงได้ดังนี้ ‘รถไฟฟ้า...มาหานะเธอ’ รายได้ประมาณ 147 ล้าน, ‘30 กำลังแจ๋ว’ รายได้ประมาณ 80 ล้าน, ‘30+ โสด on Sale’ รายได้ประมาณ70 ล้านบาท สุดท้าย เรื่อง ‘รักสุดท้าย ป้ายหน้า’ ที่ต้องจับดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร?

กระแสที่ถูกปลุกจากนิทรา
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสหนังรักสาวโสดวัยเข้าเลขสามในประเทศไทย นั้นเป็นกระแสต่อเนื่องมาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ดูเหมือนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยชี้ช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนสามารถเข้าถึงได้ ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง ขยายภาพปรากฏการณ์หนังรักสาวโสดประเภทนี้

“เรื่องรถไฟฟ้าฯ อาจจะทำให้ตลาดผู้สร้างหนังมองเห็นว่า คนดูหนังนั้นไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะวัยรุ่น คือก่อนที่จะมีเรื่องรถไฟฟ้าฯ ไม่มีใครคิดว่าหนังที่จะทำให้คนดูอย่างกลุ่มสาวออฟฟิศวัยกำลังทำงานดู แต่พอพักหนึ่งมันได้เห็นว่ามีที่ทาง เพราะรถไฟฟ้าฯ มันสำเร็จมันก็เลยเป็นปรากฏการณ์สาวออฟฟิศ แล้วก็เลยกลายเป็นทางสว่างทำให้ถูกสร้างตามๆ เหมือนกับว่ามันเป็นตัวกระตุ้นอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ช่องทางนี้มีทางไป ผมคิดว่าหลักโรแมนติกคอมิดีก็เป็นหนังที่มีกลุ่มคนดูเฉพาะอยู่แล้ว ก่อนรถไฟฟ้าฯ ก็มีหนังฝรั่งเนื้อหาคล้ายๆ กันประเภทสาวใหญ่ก็เด็กหนุ่ม สรุปสั้นๆ คือมันมีตลาดของมันอยู่”

ถ้ากล่าวตามเนื้อผ้าแล้วก็เรียกได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ นั้นถือเป็นกรณีศึกษาที่เป็นใบเบิกทางสู่กลุ่มตลาดผู้ชมกลุ่มใหม่จำนวนไม่น้อย แน่นอนว่าทางทีมผู้สร้างหนังจากหลายๆ ค่ายจึงเริ่มกล้าที่จะลงทุนสร้างหนังรักแนวนี้มากขึ้น

“จีทีเอชเขาแสดงหรือสาธิตให้คนทำหนังเห็นว่า มันมีทางที่จะไปในหนทางที่ทุกคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่ที่ทำหนัง ‘แฟนฉัน’ ก็ลบล้างทัศนคติที่ว่าหนังเด็กที่เป็นไปไม่ได้ หรือหนังโรแมนติกชายหนุ่มหญิงสาว มันมีศักยภาพการทำเงินเพียงแค่ 40-50 ล้าน โดยธรรมชาติของมัน แต่เขาก็ทำให้มันเป็นหนังที่มันถึง 100 กว่าล้านขึ้นมา

“ถามว่าจากรถไฟฟ้าฯ มันเป็นกระแสหรือเปล่า? มันคงเป็นตัวกระตุ้นมากกว่า คนทำหนังคนอื่นๆ เห็นว่ามันมีทางไปได้ อีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นมันมีนักแสดงวัยนี้ประมาณ 30 เช่น พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์(30+ โสด On Sale), อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ(30 กำลังแจ๋ว), รถเมล์-คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์ (รักสุดท้าย ป้ายหน้า) หรือ คริส หอวัง( รถไฟฟ้า มาหานะเธอ) คือเป็นวัยที่แบบพ้นวัยรุ่นมาแล้ว หมายถึงว่าเขามีศักยภาพในการแสดงสูง สังเกตไหมว่า หนังเหล่านี้เป็นหนังที่ขายความสามารถของนักแสดงตัวหลักทั้งหมดเลย”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าภาพยนตร์แนวเดียวกันที่ปล่อยสู่จอเงินนั้นผลตอบรับอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประวิทย์ แสดงทัศนะว่า ภาพยนตร์ที่สร้างออกมาแนวเดียวกันมีเพียงเรื่องเดียวที่ประสบความสำเร็จ คือเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ แต่ทุกเรื่องที่กล่าวมาล้วนมีจุดแข็งที่ตัวนักแสดงสาวตัวหลักที่มีความสามารถทางการแสดงถ่ายทอดบทบาทออกมาได้ค่อนข้างดี

“ส่วน30+ โสด On Sale ก็เป็นหนังที่โดนตำหนิเยอะมาก เพราะความที่มันเลอะเทอะ ความที่มันออกนอกลู่นอกทาง ส่วน 30 กำลังแจ๋ว ถือว่าเป็นหนังที่สนุกพอใช้ได้ แต่มันก็ยังไม่มีมากแต่มันเป็นหนังที่คนดูสนุกกับมันมาก แสดงว่ามันมีการสื่อสารอะไรกันสักอย่างหนึ่ง ส่วนรักสุดท้าย ป้ายหน้า ก็ได้รับการตอบรับก็โอเคนะ

“ผมคิดว่า 3-4 เรื่องที่เหมือนๆ กันเหล่านี้ คือมีนักแสดงผู้หญิงซึ่งแข็งแรงมาก มีความสามารถสูงมาก และก็สามารถที่จะโอบอุ้มหนังไว้ได้ทั้งเรื่อง ทั้งที่คุณภาพไม่ค่อยเป็นปัจจัยหลักเท่าไหร่ หนังดีและนักแสดงดีก็ดีไป แต่หนังไม่ได้แต่หนังแสดงดีมันก็ยังทำให้หนังมันไปได้”

ต้นฉบับหนังรักสาวโสดวัยทำงาน
“ถ้าจะพูดว่าจุดกระแสไหม?...เหมือนกับว่าหนังมันทำให้เราค้นพบตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า”

คำกล่าวจากปาก อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์เรื่อง ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ จากค่ายยักษ์จีทีเอช หนึ่งในผู้ปลุกกระแสภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมิดีของสาวโสดมีอายุ ซึ่งเปิดเผยความรู้สึกว่า ตอนเริ่มทำโปรเจคท์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้น รู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะหนังรักนั้นมีไว้ขายกลุ่มวัยรุ่น ฉะนั้นทำไปแล้วใครจะดู แต่ปรากฏว่าหนังมันมาโดนกลุ่มที่เรยังไม่เคยนึกว่าก่อนว่า ยังไม่มีหนังสำหรับเขา ก็คือกลุ่มสาวทำงาน กลุ่มสาวออฟฟิศ ซึ่งจริงๆ แล้วที่ทำหนังเรื่องนี้ เพียงเพราะว่าเชื่อในตัวบทและเรื่องราวที่น่าสนุกและน่าสนใจมากกว่า

“แต่พอทำออกมาแล้วดันไปโดนตลาดที่หนังไทยเขายังไม่เคยเจาะมาก่อน และประสบความสำเร็จขึ้นมา เหมือนกับว่าหนังไทยมีพื้นที่ตลาดใหม่ขึ้นมาแล้ว กลับกลายเป็นว่าเรื่องรถไฟฟ้าฯ เหมือนช่วยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหม่ ที่ยังไม่มีหรือยังไม่เคยมีคนกลุ่มนี้มาดู และพอทำขึ้นมาก็เห็นว่าก็เหมือนกับมีคนดูกลุ่มนี้อยู่ ดันกลุ่มใหญ่ซะด้วย เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับว่ามีการสร้างหนังมารองรับกลุ่มคนดูกลุ่มนี้มากขึ้น”

พอมีเสียงตอบรับที่ดี แน่นอนทางผู้สร้างหนังหลายๆ ราย ก็กล้าที่จะผลิตหนังรักแนวนี้ออกมาตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคมากขึ้น
 
“มันเป็นเรื่องปกติของวงการนี้ครับ คือมันเหมือนกับว่าจากตลาดที่ไม่มีใครมองมาก่อน แล้วพอทำแล้วปรากฏว่าดันเป็นตลาดที่เวิร์ก มันเป็นเรื่องปกติพอมีอุปสงค์อุปทานขึ้นมาที่จะต้องมีคนทำเพื่อมารองรับตลาดที่สามารถจะทำเงินได้ จริงๆ คนที่กำหนดทิศทางของหนังไทยคือ คนดู แม้แต่เมืองนอกเองก็ตาม แต่ต่างชาติเขามีประชากรเยอะไง คนดูเขาเลยเลือกหนังได้มากกว่า แต่คนดูไทยมันมีแค่นี้ เพราะฉะนั้นทิศทางคนดูเหมือนเป็นตัวกำหนดแนวหนังของผู้สร้าง บอกตามตรงว่าทำสนองคนดู แต่มันขึ้นอยู่กับความสามารถและศิลปะของผู้สร้างว่าจะทำออกมาได้ดีขนาดไหน”

การทำหนังนอกจากเรื่องตอบโจทย์มันใช้ความรู้สึก ใช้ประสบการณ์ ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะประสบความสำเร็จไหมจนกว่าหนังจะฉาย ณ วันที่ตัดสินใจว่าอยากทำเรื่องนี้ มันผ่านกระบวนการทำงานกว่าจะฉายใช้เวลา 2 ปี ไม่สามารถจะบอกได้ว่าตลาดปีหน้าหรือสองปีถัดไปจะเป็นอย่างไร อดิสรณ์บอกว่า อย่าไปยึดติดกับแนวหนังเลย ควรยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และคิดว่าทำออกมาได้ดีจะดีกว่า

“คือเหมือนกับว่าเมื่อเราได้ทำการสำรวจตลาดใหม่ขึ้นมาแล้ว ผู้สร้างหลายๆ รายก็คงเห็นว่ามันมีกลุ่มนี้อยู่ ที่น่าจะทำมาซับพอร์ทกลุ่มนี้ได้นะ ก็เลยเริ่มทยอยทำกันออกมา แต่ผมว่ามันคงได้อีกไม่นานแล้วนะ ผู้หญิงสูงอายุเนี้ย(หัวเราะ) เพราะมันเริ่มซ้ำกันแล้ว ตอนนี้ในวงการคงไม่มีใครคิดจะทำออกมาอีก มันคงขึ้นมาแค่นี้ละครับ”

ท้ายที่สุดแล้ว กระแสก็คงสร้างความปั่นป่วนในตลาดผู้บริโภคได้เพียงแค่ชั่วเวลาหนึ่ง สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เองก็คงไม่ใช้สร้างเพื่อตามกระแส แต่ต้องเป็นไปในรูปแบบการนำกระแสหรือปลุกกระเสียมากกว่า

ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าวงการภาพยนตร์จะสร้างปรากฏการณ์อะไรให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ร่วมกันอีก แต่ในฐานะผู้บริโภคเอง หากต้องเสพอะไรซ้ำซากก็คงมีความรู้สึก 'เบื่อ' อยู่ไม่น้อย…
>>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : นฤมล ประพฤติดี
จากเรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ
จากเรื่อง 30 กำลังแจ๋ว
จากเรื่อง 30+ โสด On Sale’
จากเรื่อง รักสุดท้าย ป้ายหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น