xs
xsm
sm
md
lg

ฟีลล์ (เฟค) กู๊ด : ATM เออรัก เออเร่อ/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะคิดไปเองเพียงคนเดียว เพราะเมื่อเหลียวมองไปรอบข้าง เชื่อแน่ว่า ความเห็นหนึ่งซึ่งส่งเสียงให้เราได้ยินอยู่เรื่อยๆ ก็คือ เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับหนังฟีลล์กู๊ดของค่าย GTH แล้ว

กระนั้นก็ตาม หากเอาตัวเลขเป็นตัววัด ก็จะพบอีกว่า ผลงานจากชายคาค่ายนี้ ยังคงขายได้และขายดีเรื่อยมา เช่นเดียวกับหนังเรื่องล่าสุด อย่าง ATM เออรัก เออเร่อ ที่ไม่ “เออเร่อ” ด้านรายรับเหมือนกับชื่อเรื่อง เพราะขณะที่ผมนั่งเขียนบทความอยู่นี้ รายได้ก็ปาเข้าไปร่วม 60 ล้านบาท หลังเปิดฉายมา 8 วัน และทางค่ายก็จัดงานฉลองมุ่งสู่ 100 ล้านไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยความมั่นใจว่า “ถึงแน่นอน”

ด้วยหน้าหนังที่ผ่านการตกแต่งใส่แป้งผัดหน้ามาอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีโจ๊ค โซคูล เป็นพระเอกในภาพยนตร์ตัวอย่างนั้น คือแม่เหล็กตัวแรงที่ช่วยเรียกแขกอย่างได้ผล ผมมีความรู้สึกตั้งแต่แรกเห็นตัวอย่างแล้วว่า ยังไงก็ทำเงิน แม้จะแว่วๆ มาจากบางที่บางแห่งว่า นี่คือหนังแถมท้ายปี ก็ตามที...

อันที่จริง งานชิ้นนี้มีกำหนดลงโรงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ก็โดนเลื่อนมา และจะพูดว่าเป็นวาสนาก็น่าจะได้ เพราะช่วงที่เข้าฉาย มาตรงกับเทศกาลตรุษจีนพอดิบพอดี มันคือช่วงเวลาที่คนพร้อมจะมีความสุข...สุขกับทุกสิ่งทุกอย่าง และถ้าจะดูหนัง ก็เลือกดูหนังที่ตอบสนองความสนุกสุขหรรษา

แน่นอนครับว่า ATM เออรัก เออเร่อ นั้นมีทุกองค์ประกอบที่ดีทุกสิ่งอย่างในความเป็นหนังที่ดูสนุก ทั้งมุกตลกซึ่งแม่นยำในจังหวะ การแสดงของดารา เรียกเสียงฮาได้ไม่ขาด บทหนังก็ดูมีความลื่นไหลไร้ปัญหา สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทีมงานของจีทีเอชนั้น เจนจัดพอตัวในด้านการเขียนบท เพราะถึงแม้จะทำหนังรักปนตลกราคาไม่แพง แต่ก็ไม่ “สุกเอาเผากิน” กับเรื่องบทภาพยนตร์

ผมอยากให้วิธีคิดแบบนี้เป็น “สากล” สำหรับค่ายภาพยนตร์ทุกค่าย เพราะไม่ใช่ว่า พอคิดจะทำหนังตลก ก็ไม่ต้องอะไรมาก สรรหามุกตลกมาเยอะๆ เป็นใช้ได้ แต่บทหนังหรือเนื้อเรื่องจะมีความต่อเนื่องหรือสะดุดแล้วสะดุดอีกเป็นรถวิ่งบนทางวิบากก็ช่างมัน ข้าพเจ้าไม่สนใจ...คิดสิครับว่า ถึงอย่างไร หนังก็ควรจะมี “เรื่อง” หรือ Story เป็นตัวลีด ไม่ใช่มุกตลก

ATM เออรัก เออเร่อ นั้น มีตัวเรื่องที่ถูกผูกร้อยอย่างมีเหตุมีผล หนังพูดถึงหนุ่มสาวสองคนที่ทำงานในธนาคารเดียวกัน และมีความสัมพันธ์ฉันท์คนรักแต่ต้องเก็บงำเป็นความลับ เพราะกฎขององค์กรที่ห้ามพนักงานเป็นแฟนกัน ทางเลือกของทั้งคู่จึงต้องมีใครสักคนลาออกเพื่อจะได้คบกันแบบเปิดเผยและแต่งงาน ฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าอย่าง “จิ๊บ” (ปรีชญา พงษ์ธนานิกร) จึงยื่นเงื่อนไขให้แฟนหนุ่มซึ่งเป็นลูกน้องในแผนกอย่าง “เสือ” (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) ว่าเขาต้องไปตามหาเงินซึ่งลูกค้าได้เกินไปเพราะความผิดพลาดทางเทคนิคของตู้กดเงินเอทีเอ็ม ถ้าหามาได้คืน เธอจะลาออก แต่ถ้าไม่ เสือต้องเป็นฝ่ายลาออก

ด้วยพล็อตเรื่องที่เป็นแบบนี้ จึงกลายเป็นที่มาของสถานการณ์อันน่าขบขันหลากรูปแบบในช่วงที่เสือออกไปตามล่าหาเงินคืน ก่อนที่คนออกคำสั่งจะตามไป “ดูงาน” อย่างลับๆ และพยายามยับยั้งขวางขัดไม่ให้ปฏิบัติการของเสือสำเร็จ

ไม่ปฏิเสธครับว่า ATM เออรัก เออเร่อ นั้น เป็นหนังที่ดูสนุกอย่างที่บอก ขณะเดียวกัน ก็มีอารมณ์ของความซึ้งเล็กๆ น้อยๆ ตบท้ายตอนใกล้จบ เป็นสูตรสำเร็จที่จีทีเอชใช้มาแล้วทุกเรื่อง คือ การผสมระหว่างความเป็นหนังอารมณ์ดีกับหนังที่ดูแล้วซึ้งเข้าด้วยกัน

ดังนั้น มันจึงไม่แปลกที่ย่อหน้าแรกของบทความผมครั้งนี้ จะมีเสียงส่วนหนึ่งซึ่งบอกว่า เริ่มอิ่มตัวกับหนังลักษณะนี้ของจีทีเอช พูดง่ายๆ ก็คือ เบื่อนั่นแหละครับ แต่เบื่อแล้ว จะยังดูอยู่ไหม ก็ยังดู เพราะอย่างน้อย ก็ไม่เป็นการเอาเงินไปโยนทิ้งในโรงหนังเหมือนดูหนังบางค่ายหลายเรื่อง

ผมคิดว่า เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ใครต่อใครพูด “เบื่อ” อะไรทำนองนี้ น่าจะเป็นเพราะความคาดเดาได้ใน “ทิศทาง” ของหนังว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน หรือจะเดินไปสู่บทสรุปจุดจบแบบใด แน่นอน มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความฟีลล์กู๊ดหรือรู้สึกดีอย่างที่นิยามและเรียกขานกัน

ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับความรู้สึกดี...ความรู้สึกดี ใครก็ชอบ...ทั้งยอมรับและเข้าใจว่า “แนวทาง” ของค่ายจีทีเอชมีสูตรสำเร็จเป็นเช่นนี้ และเหนืออื่นใด ถ้าใครได้ดูรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก็จะได้ดูสกู๊ปเกี่ยวกับหนังฟีลล์กู๊ด ซึ่งนำเสนอว่า อันที่จริง ก็ไม่ได้มีแค่จีทีเอชแห่งประเทศไทยแลนด์เท่านั้นหรอกครับที่ปักหลักอยู่กับหนังอารมณ์นี้ แม้แต่ฮอลลีวูดเอง เขาก็มีสตูดิโอหลายแห่งและผู้กำกับหลายคนที่อุทิศตนให้กับหนังฟีลล์กู๊ด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหญ่ อย่างแฟรงก์ คาปร้า ซึ่งมีหนังรางวัลออสการ์อย่าง It’s a Wonderful Life เป็นตัวอย่าง มาจนถึงจั๊ดด์ อพาโทว์ หรือริชาร์ด เคอร์ติส ฯลฯ คนพวกนี้เขาทำหนังฟีลล์กู๊ดอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันเลยทีเดียว

แต่ฟีลล์กู๊ดแล้วอย่างไร? “รู้สึกดี” แล้วอย่างไร?

โดยส่วนตัว ผมมองว่า หนังของคนทั้งหมดที่ว่ามา นอกเหนือไปจากการเป็นหนังที่มอบความรู้สึกดีๆ หรือความรู้สึกบวกๆ ให้กับคนดูในตอนจบแล้ว ในส่วน “เนื้อหา” มักจะสิ่งที่กระตุ้นพัฒนาการทางด้านมุมมองโลกทัศน์หรือเกิดความก้าวหน้าในด้านบุคลิกภาพให้กับคนดูเสมอๆ เช่น เราดูหนังอย่าง The Boat That Rocked ของริชาร์ด เคอร์ติส แล้วได้หันมาตระหนักในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ หรือดู It’s a Wonderful Life แล้วได้ความเข้าอกเข้าใจในบางด้านของชีวิต นี่คือสิ่งที่ผมพยายามเปรียบเทียบกับหนังจีทีเอช

จะว่าไป ที่ผ่านมา หนังบางเรื่องของจีทีเอชก็มีประสิทธิภาพแบบที่ว่านี้อยู่นะครับ เช่น เรื่อง “กอด” (คงเดช จาตุรันรัศมี-กำกับ) อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพกว้าง เราจะพบว่าหนังแทบทั้งหมดของจีทีเอช โดยเฉพาะในยุคหลัง ยังมีลักษณะของ “นิทานก่อนตื่น” ปลอบประโลมใจในยามฝัน...อย่างน้อย ก็สองชั่วโมงในโรงหนัง...พอตื่นมาแล้วก็จบกัน แม้แต่หนังฮิตๆ อย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอ หรือกวนมึนโฮ เอาเข้าจริง ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องรักใคร่ และขายฝันหวานๆ ให้กับคนดูได้รู้สึกดี

แต่ก็รู้สึกดีแบบว่างเปล่า...

เพราะเหตุนี้ เราจึงได้เห็นอย่างไรล่ะครับว่า “นักรู้สึกดี” ทั้งหลาย มักจะแสดง “ความรู้สึกร้าย” ออกมาทันที เวลามีใครติหนังรู้สึกดีที่ตัวเองฟีลล์กู๊ดกับมันสุดๆ ผมไม่ได้จะเหน็บแนมบรรดาสาวกหนังรู้สึกดีนะครับ เพราะที่สุดแล้ว เราต้องมองย้อนไปดูที่ “ต้นทาง” ด้วยว่า เพราะอะไร หนังรู้สึกดีทั้งหลายเหล่านี้ จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลง “นักรู้สึกดี” ทั้งหลายให้สามารถที่จะปลดปลงหรือเข้าใจกับมุมมองที่เห็นต่าง

พูดอีกกี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม ว่า...เพราะหนังรู้สึกดีเหล่านั้น มันเป็นความรู้สึกดีที่แทบไม่ได้มีผลอะไรเลยต่อการเติบโตด้านความรู้สึกนึกคิดหรือโลกทัศน์มุมมองของคนดูผู้ชม เราก็แค่ได้รู้สึกดีที่เห็นตัวละครในหนังสุขสมหวังอย่างที่เราอยากให้เป็น เราก็แค่ได้รู้สึกดีที่เห็นเรื่องราวมันจบสวย ซึ่งว่ากันตามจริง จะสมหวังหรือจะจบสวยอย่างไร ก็แทบจะเดากันได้หมดแล้ว...หนังจีทีเอชมีจบแบบเจ็บปวดด้วยเหรอ? แทบไม่มี

ยกตัวอย่างอีกสักประเทศ...อย่างญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นบ้านหลังใหญ่อีกหลังของหนังฟีลล์กู๊ด ผมนึกถึงหนังอย่าง Departures นี่คือหนังฟีลล์กู๊ดนะครับ เพียงแต่เป็นฟีลล์กู๊ดที่มีด้านโศกค่อนข้างเยอะเท่านั้นเอง แต่ความยอดเยี่ยมไม่ได้หยุดอยู่แค่ความรู้สึกดี เพราะปริมณฑลของหนังยังขยายขอบเขตไปสู่อะไรอีกมากมายหลายอย่าง ทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งความตระหนักในคุณค่าของตัวเอง การยอมรับตัวเองโดยไม่ต้องหวั่นเกรงกับสายตาของผู้ใด มันเปลี่ยนแปลงตัวตนและบุคลิกภาพของตัวละคร พร้อมกับส่งสะท้อนมาถึงคนดูผู้ชมอย่างรุนแรงและมีประสิทธิภาพ

มองกลับมาที่จีทีเอช ผมคิดว่า การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงเกินกว่าศักยภาพของจีทีเอชจะทำได้เลยครับ เขียนบทหนังก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว จะเอาดาราคนไหนมาแสดงก็เรียกได้เลือกได้ แต่สิ่งที่น่าท้าทายก็คือ จีทีเอชพร้อมจะนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อโลกทัศน์ของผู้คนและสังคม แค่ไหนอย่างไร?

จะทำหนังกล่อมประสาทคนดูไปเรื่อยๆ หรือจะลุกขึ้นมากล้าพูดเรื่องอื่นบ้าง นอกจากฝันหวานๆ รักๆ ใคร่ๆ และเรื่องราวกึ่งนิทานที่ต้องมีเจ้าชายเจ้าหญิงประโลมใจขายความซึ้งไม่กี่นาที?

ชีวิต ไม่ได้มีแต่บทสรุปที่ฟีลล์กู๊ดเสมอไป มันมีเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก บอกไม่ถูก อธิบายไม่ได้ บางครั้งก็สุขๆ ทุกข์ๆ ปะปนกันไป อย่างไรก็ดี พอคำว่า “ชีวิต” มาอยู่ในมือของจีทีเอช มันจะถูกทำให้มี “สุขสำเร็จ” สวยงามทุกครั้งไป...

7 ปีผ่านไปภายหลังการก่อเกิดของค่าย ซึ่งตามความเชื่อของบางแนวคิด บอกว่า ครบเวลา 7 ปี คนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงหนึ่งหน ก็ได้แต่หวังครับว่า คำบ่นเกี่ยวกับความซ้ำซากในหนังของจีทีเอชจะหมดไป และเราจะได้เห็นมิติใหม่ๆ จากค่ายนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยปลุกกระแสหนังไทยให้กลับมาโด่งดังเมื่อหลายปีก่อนในยุค “แฟนฉัน”

แต่ก็นั่นแหละ ได้ข่าวเรื่องหนังฉลองครบรอบ 7 ปีที่ไปอาราธนานิชคุณ ณ เกาหลี มาแสดงร่วม ด้วยค่าตัวที่สูงลิบแล้ว ก็เป็นที่น่าคิดว่า หรือ 7 ปีต่อไป ก็ไม่น่าจะมีอะไร มากไปกว่า “การตลาดไปวันๆ” เท่านั้นเอง จริงไหม?



กำลังโหลดความคิดเห็น