อย่าเพิ่งภูมิใจกับตำแหน่ง “อันดับ 5 ของโลก” ในการเล่นเฟซบุ๊ก เพราะมันหมายถึงพวกเราชาวไทย “ถูกฆ่า” ติดอันดับ 5 ของโลก! และอาชญากรเลือดเย็นรายนั้นก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล มันซุกไซ้อยู่ในอุ้งมือนุ่มๆ ของคุณทุกครั้งที่ “อัป โหลด แชร์ แชต วอตส์แอพพ์” กันนั่นแหละ
“เหยื่อ” รายแรกแห่งประวัติศาสตร์ก็คือ “พนักงานบริษัท” ทั่วๆ ไปนี่เอง พวกเขาถูกโปรแกรมให้เป็นหนูทดลองของฆาตกรออนไลน์อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตั้งแต่สมัยเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นแรกๆ ออกมาใหม่ๆ บริษัทใหญ่ๆ ที่มีหัวคิดทันสมัยก็ตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อเจ้าโทรศัพท์ที่กล่าวกันว่าฉลาดนักฉลาดหนามาแจกผู้ใต้บังคับบัญชานับร้อยๆ เครื่อง เพื่อให้เจ้านายสามารถติดต่อเรื่องงานกับลูกน้องได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ได้ครอบครองกลายเป็นพนักงานดีเด่น ตอบสนองหัวหน้ารวดเร็วทันใจอยู่ได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งพวกเขาถูกฆ่า!
ถึงแม้ปัจจุบันไม่มีรายงานสรุปออกมาว่ามีคนตกเป็นเหยื่อไปแล้วกี่ราย แต่ทุกครั้งที่เข้าประชุมทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าพนักงานดีเด่นคนเดิมได้ “ตาย” ไปแล้ว... ไม่มีอีกแล้วลูกน้องแสนดีที่นั่งฟังเจ้านายพูดตาแป๋ว หยิบปากกาขึ้นมาจดรายละเอียดอย่างใจจดใจจ่อ จะมีก็แต่พนักงานหน้าเดิมแต่เพียบพร้อมไปด้วยพฤติกรรมใหม่ๆ กดๆ จิ้มๆ และยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ให้ไอ้เครื่องเล็กๆ ที่ถืออยู่ในมือ
ลองหันไปถามสิว่าพวกเขาทำอะไรกันอยู่ คนถูกถามก็จะตอบด้วยใบหน้าใสซื่อว่ากำลังบันทึกรายงานการประชุมลงในมือถือ ทั้งที่ความจริงแล้วอาจกำลังอัป-โหลด-แชร์ หรือแชตนินทาคนถามกับเพื่อนๆ ในกลุ่มอยู่ก็ได้ ส่วนผู้บังคับบัญชาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเขาเองนั่นแหละที่แนะนำให้อาชญากรไฮเทคมาฆ่าพนักงานดีๆ ที่เคยมี ที่ทำได้มากที่สุดจึงเหลือเพียงการยืนไว้อาลัยให้แก่คุณงามความดีที่เคยทำ
เรื่องน่าเศร้ายังไม่หมดลงเพียงเท่านั้น เพราะนี่ไม่ใช่การฆาตกรรมธรรมดาๆ แต่มันเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” คือเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อ จนขยายวงกว้าง ลุกลามไปทั่วสังคมของเราแล้วในขณะนี้ และอย่าเพิ่งปฏิเสธว่าคุณไม่ใช่หนึ่งในนั้น เพราะถ้าคุณคืออีกหนึ่งคนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังจากลองเล่นโซเชียลมีเดีย นั่นแสดงว่า “ตัวตนของคุณ” ได้ถูกฆ่าไปแล้วเหมือนกัน
ผู้เขียนเองก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากำลังถูกทำลายตัวตนลงอย่างช้าๆ ผ่านเทคโนโลยีพวกนี้เช่นกัน จากก่อนหน้าเคยมองเด็กวัยรุ่นที่ก้มหน้าก้มตาจิ้ม BB เวลาไปไหนมาไหนว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ถึงวันนี้วันที่เพื่อนในกลุ่มมีมือถือเล่นอินเทอร์เน็ตได้กันหมด จนรวมตัวกันมาคว่ำบาตร หาว่าตามไม่ทันเรื่องราวอัปเดตที่พวกมันคุยกันนาทีต่อนาที สุดท้ายต้องลองเปิดซิงสมาร์ทโฟนตามคำเรียกร้อง จนเปลี่ยนให้ตัวเราเองกลายเป็นคนประเภทที่เคยเกลียดมากที่สุด...
กลายเป็นพวกเดินไปแชตไป ถ่ายรูปมันแทบทุกมื้อ อัปนู่นอวดนี่ให้คนอื่นดูอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้รู้แล้วว่าสิ่งที่เราเคยด่า มันเป็นพฤติกรรมออโตเมติกที่ลงโปรแกรมในตัวเราพร้อมกับตัวเครื่องที่ได้มา เมื่อเปิดแอปฯ ขึ้นมาเมื่อไหร่ ระบบร่างกายจะค่อยๆ ถูกทำลายกลายเป็นพวกสายตาสั้น มองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าได้ไม่เกิน 30 ซม. คือไม่เห็นหัวคนอื่น ไม่สนใจโลกภายนอกอีกต่อไป โฟกัสอยู่แค่ตัวหนังสือยึกยือบนหน้าจอมือถือ บางรายเป็นหนักถึงขั้นมองไม่เห็นถนนหนทาง ไม่รู้ตัวว่ากำลังขึ้นรถลงเรือเลยก็มี
ส่วนเหตุผลของคนติดที่อ้างว่า “เทคโนโลยีทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น” เอาเข้าจริง วัดจากประสบการณ์ที่ได้ลองใช้จริงๆ คิดว่ากลับยิ่งทำให้ห่างไกลกันออกไปยิ่งกว่าเดิม จริงอยู่ว่าเราสามารถส่งตัวอักษรบอกเล่าเรื่องราว ส่งเสียงพูดคุย ส่งรูปที่อยากแชร์ให้คนปลายทางเห็นได้ตลอดเวลาผ่านทาง “What's app” หรือโปรแกรมแชตยอดนิยมอื่นๆ บนมือถือ แต่ผู้ส่งไม่อาจรู้เลยว่าอีกฝ่ายอยู่ในอารมณ์ไหน ดีไม่ดีเราอาจกลายเป็นฆาตกรออนไลน์ที่ “ฆ่า” ความรู้สึกของเพื่อนเสียเองโดยไม่ทันรู้ตัว
บางครั้งพิมพ์เรื่องตลกๆ เล่าประสบการณ์สนุกๆ ส่งไปในตอนที่เพื่อนขำไม่ออก ไม่อยากยิ้ม ไม่อยากพิมพ์ ไม่อยากอธิบาย แทนที่จะทำให้คนรับดีขึ้น กลับยิ่งทำให้เขารู้สึกเหงาและเศร้ายิ่งกว่าเก่า ต่างจากรูปแบบการสื่อสารเดิมๆ เจอตัวกันเป็นๆ แค่เห็นหน้าก็รู้แล้วว่าเพื่อนอยู่ในอารมณ์ไหน หรือแค่ยกหูโทรศัพท์กริ๊งเดียว ฟังเสียงถอนหายใจก็เข้าใจได้ทันทีว่าอีกฝ่ายอยากให้เราฟัง... ฟังมากกว่าพูด อ่านมากกว่าพิมพ์ เจอตัวกันจริงๆ มากกว่าตัวตนสมมติในโลกออนไลน์
หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของคนที่เรียกว่า “แฟน” ก็ถูกฆาตกรรายนี้เชือดอย่างเลือดเย็น ไม่ว่าคู่รักจะมีปัญหากันเล็กน้อยจนถึงขั้นหนักหนาสาหัสขนาดไหน ทุกพฤติกรรมจะถูก “ชำแหละ” แจกแจงเอาไว้ในสเตตัสเฟซบุ๊ก ทวิตประจานให้คนอื่นๆ เห็น จากก่อนหน้าที่เรื่องราวความสัมพันธ์ยังไม่เปิดเผยออนไลน์ก็ยังพอปรับความเข้าใจกันได้ง่ายๆ แต่พอมีการคอมเมนต์จากคนรอบข้างเข้ามาเมื่อไหร่ สถานะความรักของเขาและเธอจะเปลี่ยนไปเป็น It's complicated ทันที
คำถามคือทุกวันนี้เราปกป้องตัวเองจากฆาตกรรายนี้ได้มากน้อยแค่ไหน หรือกำลังปล่อยให้โซเชียลมีเดียทำลายตัวตน ทำร้ายความสัมพันธ์กับคนที่เรารักไปวันๆ อย่างไม่เคยไยดี และถ้าคำตอบคือใช่ ก็คงเป็นเพราะความสนใจทั้งหมดที่มีทุกวันนี้ได้เทไปให้อาชญากรออนไลน์เรียบร้อยแล้ว
มองดูผู้คนบนรถไฟฟ้าที่เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับก้อนโลหะในมือแล้วชวนให้นึกถึงคำพูดหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับชื่อดัง “เก้ง-จิระ มะลิกุล” เมื่อหลายปีก่อนที่เคยบอกไว้ว่าแหล่งความคิดสร้างสรรค์ของเขาคือการเปิดหูเปิดตามองดูผู้คนรอบข้าง เริ่มจากการถอดหูฟังบนรถไฟฟ้า เลิกหมกมุ่นอยู่กับตัวเองแล้วหันมาสอดรู้เรื่องของคนอื่นให้มากขึ้น ถ้าให้เทียบกับสมัยนี้ คงคล้ายกับคำแนะนำในละครเรื่อง “สามหนุ่มเนื้อทอง” ที่บอกไว้ว่า “โลกเรามันกว้างใหญ่มากกว่าไอ้จอสี่เหลี่ยมที่ถืออยู่ในมือนะ ละสายตาจากจอโทรศัพท์มาสู่โลกภายนอกบ้างเถอะ เราจะได้เห็นความสร้างสรรค์ที่มันเกิดบนโลกใบนี้บ้าง”
จริงๆ แล้วเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรายนี้เลย หากรู้จักแบ่งให้ถูก ใช้ให้เป็น และเงยหน้าขึ้นมาพบกับโลกกว้างๆ บ้าง อย่าปล่อยให้ “โซเชียลมีเดีย” กลายเป็น “โซเชือดมีเดีย” ที่คอยเชือด เฉือน ชำแหละส่วนดีๆ ที่เคยมีให้ค่อยๆ “ตาย” ไปจากตัวเราทุกคนเพราะใช้เทคโนโลยีอย่างขาดสติจะดีกว่า