xs
xsm
sm
md
lg

ภาพหลุดเสพยา แค่ไหนถึงจะ ‘จับกุม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความที่เป็นเซเลบ ดาราหรือนักร้องดัง ที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะในวงสังคม คงไม่แปลกเท่าไหร่หากมีข่าวฉาวเกี่ยวพันธ์กับสารเสพติดจะถูกจับจ้องกันเป็นพิเศษ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่ากฎหมายได้คาดโทษไว้อย่างชัดเจน และสังคมไทยก็มีองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาทำสงครามกับยาเสพติดอยู่ไม่น้อย ฉะนั้นหากว่ากันตามกฎหมายแล้ว ต้องบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม หากข้องเกี่ยวกับยาเสพติดก็คงต้องมีพิจารณาดำเนินคดี(อย่างทันควัน!)

ไมใช่กับนักร้องดังใช้มาตรฐานหนึ่ง กับชาวบ้านตาดำก็อีกมาตรฐานหนึ่ง

ถึงแม้จะมีหลากหลายหน่วยงานที่ดูแลด้านยาเสพติดโดยตรง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ยกตัวอย่างกรณีศิลปินร๊อกชื่อดังที่ถูกภรรยาเก่านำภาพขณะเสพยาพร้อมอุปกรณ์ออกเผยแพร่บนโลกอินเทอร์เน็ต ด้านเจ้าตัวก็ออกมารับผิดต่อพฤติกรรมการเสพยาทางเฟซบุ๊กด้วยตนเอง

ก็คงต้องกลับมาย้อนมองข้อกฎหมายในเรื่องยาเสพติดกันต่อว่าพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแค่ไหนที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

กระแสวิพากษ์สู่บทลงทัณฑ์ทางสังคม
กระแสสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ โดยสร้างความคลางแคลงใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานแก่ประชาชนจำนวนไม่น้อย เพราะหลังจากภาพหลุดสองถึงสามวัน หน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) และกระทรวงยุติธรรมที่มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ก็ไม่มีผู้รับผิดชอบออกมาปริปากถึงกรณีดังกล่าว จนกระทั่งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผบช.ปส. ตรวจสอบความผิดในข้อกฎหมาย ก็มุ่งประเด็นความผิดเรื่องดังกล่าวไปที่ภรรยาผู้โพสภาพ เพราะถือเป็นการแพร่ภาพในลักษณะชักจูงให้มีการเสพยาเสพติด โดยไม่ได้กล่าวโทษผู้ที่สงสัยว่าจะเสพยาเสพติดเลย....จนชาวบ้านด่ากันทั้งเมือง

ความคืบหน้าล่าสุด พล.ต.ต.เอื้อพงศ์ โกมารกุล ณ นคร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าจากภาพถ่ายของ เสก โลโซ หรือ เสกสรร ศุขพิมาย ที่มีลักษณะคล้ายกำลังเสพยาเสพติดลงโพสต์ในเฟซบุ๊กภรรยา รวมถึงเสก โลโซ ออกมาแถลงข่าวพร้อมกับยอมรับว่า ได้เสพยาเสพติดจริง ซึ่งเบื้องต้นทราบเพียงว่าเสก โลโซจัดแถลงข่าว แต่ไม่ได้ติดตามรายละเอียดในเชิงลึกมากนัก ในส่วนของการดำเนินคดีจะต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ชัดเจนก่อนว่า ปัจจุบัน เสก โลโซ ยังมีการเสพยาเสพติดอยู่อีกหรือไม่ โดยจะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำการตรวจหาสารเสพติด แต่จะต้องได้รับความยินยอมสมัครใจจากเจ้าตัวด้วย

ด้าน พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บัญชาการกองปราบปราม (ผบก.ป.) ออกมาให้สัมภาษณ์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า โดยส่วนตัวแล้วตนรู้จักกับ นายเสกสรร เพราะมีผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นญาติกับ นายเสกสรร และเคยได้ออกทำงานช่วยเหลือสังคมมาด้วยกัน ซึ่ง นายเสกสรร เป็นผู้มีจิตอาสา โดยล่าสุด นายเสกสรร เพิ่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เขตสายไหม กับทางตำรวจกองบังคับการปราบปราม

แม้ร๊อคสตาร์ชื่อดังจะไม่ได้ถูกดำเนินคดีใดๆ ทั้งที่มีภาพในลักษณะการเสพยาเสพติด แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ซึ่งตรงนี้ก็สั่นคลอนความเชื่อมั่นของภาคประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งตัวบทกฎหมาย ศรัณยู ศมพวงภักดี พนักงานบริษัทเอกชน ได้แสดงทัศนะถึงความไม่เห็นด้วยกับตำรวจที่ไม่ได้ตั้งข้อหายาเสพติด กับนักร้องชื่อดังทั้งที่มีภาพให้เห็นเต็มตา

“เห็นกันชัดขนาดนั้น ผมว่าเสกก็น่าจะผิดบ้างนะ ภาพมันฟ้อง อย่างเวลาตัดสินคดีต่างๆ ก็ใช้ภาพเป็นหลักฐานประกอบ อย่างผู้ร้ายขโมยของก็ตัดสินด้วยภาพ เห็นหน้าชัดๆ อย่างกรณีนี้ก็เห็นหน้าชัดนะ เห็นชัดด้วยว่าเล่นยาอยู่ ผมว่ากฎหมายไทยมันอ่อนเกินไป ถ้าเราไม่จริงจังเด็ดขาด ปัญหายาเสพติดก็ไม่มีทางหมดไปหรอก ตำรวจน่าจะเอาเรื่องภาพเสก โลโซ มาจัดการมาตรฐานมันจะได้ตรงกัน”

เช่นเดียวกับ ฤทธิชัย ปริญญาณัฏฐ์ พนักงานบริษัทเอกชน ก็แสดงความคิดเห็นว่าภาพที่เผยแพร่ออกมาน่าจะใช้เป็นหลักฐานในคดีเสพยาเสพติดได้ แต่แปลกที่เจ้าหน้าที่กลับเบี่ยงไปประเด็นอื่น

“คนเสพไม่ผิด แต่คนเอารูปมาเผยแพร่ผิด มันเป็นไปได้ไง ถึงจะมีแค่รูปถ่าย แล้วว่าหลักฐานไม่เพียงพอ มันไม่ได้หรอก รูปมันฟ้องขนาดนั้น ถ้าฆ่าคน แล้วมีรูปยิงปืนอยู่ แล้วบอกว่าไม่ได้ฆ่า แค่รูปกำลังเหนี่ยวไกอยู่ มันก็ไม่ใช่แล้ว ยังไงภาพมันก็ฟ้องไปหมดแล้ว ว่าใครทำอะไรยังไง ต้องดำเนินคดี ไม่ก็ต้องสอบสวนให้แน่ชัด”

ดำเนินคดีได้..แต่ไม่ทำ!?
“โดยหลักการ สำนักงาน ป.ป.ส.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) หรือตำรวจ ตำรวจท้องที่ ซึ่งมีหน้าที่จับกุมหรือปราบปรามยาเสพติดอยู่แล้ว ทันทีที่เห็นภาพเขาสามารถที่จะขอศาลออกหมายค้นได้ทันทีโดยหลักการทางกฎหมายข้อหนึ่งหากมีเหตุอันควรสงสัย ยิ่งกรณีนี้เมื่อมีภาพปรากฏมีภรรยามายืนยันในเฟซบุ๊กเช่นนี้ ก็ถือเป็นเหตุต้องสงสัย ซึ่งตำรวจต้องรีบออกหมายศาลแล้วบุกตรวจค้นทันที และตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย...แต่ตำรวจไม่ทำ”

ทนายผู้เชี่ยวชาญด้านคดียาเสพติดที่ขอสงวนนามจริง อธิบายถึงการดำเนินการเบื้องต้นต่อกรณีปรากฏภาพหรือคลิปวีดีโอที่การเกี่ยวพันธ์กับยาเสพติด แต่อย่างไรก็ตาม เพียงภาพที่ปรากฏนั้น ไม่สามารถพิสูจน์ว่ามีสารเสพติดจริงหรือไม่ จึงส่งผลต่อรูปคดีที่อาจยุติลงง่ายๆ

“ความผิดต่อยาเสพติดกรณีที่มีภาพ มันไม่เห็นว่าที่เขาทำมีสารเสพติดหรือไม่ คือพูดง่ายๆ ว่า มันอาจเป็นภาพที่ใช้เกี่ยวกับเครื่องมือโดยไม่มีสารเสพติดทางการสอบสวนเป็นภาพที่พิสูจน์ไม่ได้ว่ามียาเสพติดหรือไม่ ซึ่งมันก็จะไม่สามารถฟ้องคดีนี้ได้ เพราะเวลาขึ้นศาลมันต้องมีคำว่ายึดสารยาเสพติดได้เท่าไหร่”

ซึ่งในส่วนนี้ทนายความคนเดิมแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า เป็นผลมาจากความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ซึ่งหากมีการบุกตรวจสอบอย่างทันท่วงทีและปรากฏหลักฐานก็อาจสามารถดำเนินคดี แต่นี่ราวกับพยายามทำอย่างช้าๆ ให้เรื่องนี้มันจบไป

ว่าไปแล้วตามโทษของคดีการเสพยาเสพติดนั้นค่อยข้างเบา ยิ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรกจะไม่ถูกจำคุก อาจจะเป็นโทษปรับ ส่งไปบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ และบำเพ็ญประโยชน์ช่วยสังคม ทั้งหมดทั้งมวลก็คงสะท้อนถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อยู่ไม่น้อย หากถามว่ากฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดียาเสพติดของไทยนั้น อ่อนเกินไปหรือเปล่า

“กฎหมายไทยในการปราบปรามยาเสพติดก็นำของต่างประเทศมา แต่คนของเขามีประสิทธิภาพมากกว่าคนของเรา ในต่างประเทศต้องดีกว่าไทยแน่นอนเพราะตำรวจเขาเงินเดือนสูงและตำรวจเขาคุยยาก คอรัปชันน้อยมาก แต่ไทยเราต้องเข้าใจว่าพอคนดังปุ๊บมันก็จะมีความเกรงใจ อีกอย่างหนึ่งถ้ามีเส้นทางก็พูดจากันได้

“ในแง่ปราบปรามยาเสพติดโดยตรง คงต้องฝากถึง ป.ป.ส. มีบุคลากรจำนวนมาก ก็ควรจะเป็นหูเป็นตา หากเกิดเหตุว่าผู้ใดเสพหรือมีครอบครอง ป.ป.ส. ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยไม่เลือกว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร หรือพูดไปในทำนองเป็นรูปที่จับไม่ได้ซึ่งมันไม่ถูก”

มองปัญหาอย่างบูรณาการ
อย่างไรก็ตาม แม้จะหน่วยงานหลายแห่งที่ทำหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด แต่สิ่งที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันก็คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติดนั้น ถือประเด็นที่ใหญ่มาก และอาจจะเกินกำลังของหน่วยงานราชการที่มีอยู่ เพราะถ้าลองแยกแยะให้ดีจะพบว่า คดีส่วนหนึ่งเป็นการกระทำความผิดที่ไม่มีผู้เสียหาย แม้จะมีความผิดทางอาญาก็ตาม
 
รศ.ดร.เดชา สังขวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม และคณบดีสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยราชการไทยเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดว่า การที่มีหลายหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ มักจะส่งผลต่อเรื่องเอกภาพในการทำงานเป็นธรรมดา เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งก็จะมีภารกิจและวิสัยทัศน์ของตัวเอง ซึ่งบางทีแนวคิดและการปฏิบัติงานก็อาจจะสอดคล้องกัน แต่ก็มีอีกหลายครั้งที่อาจจะเกิดความขัดแย้งได้เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ก็จะนำมาสู่ผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการแก้ไขปัญหาอย่างหลีกไม่ได้”

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องการเสพ บางหน่วยงานก็อาจจะมองว่าเป็นความผิด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย แต่ถ้าเกิดเรามีมุมมองว่าผู้เสพคือผู้ป่วย เราก็จะไม่ถือว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด แต่เป็นผู้ที่ต้องรับการรักษา ซึ่งเพียงแค่นี้ ก็สะท้อนได้อย่างดีแล้วว่า มุมมองที่แตกต่างกันของ 2 องค์กร ก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาที่ตามมาได้เช่นกัน

"ทุกวันนี้ คนที่ทำผิดเขาจะไปกระทำที่ไหน เมื่อไหร่ การที่จะรู้เห็นมันยากเกินกว่าจะเข้าไปติดตาม การที่เราจะไปหวังพึ่งแต่การปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอแน่นอน และคงต้องใช้มาตรการอื่น และใช้องค์กรสถาบันอื่นๆ มาประกอบด้วย และที่สำคัญสังคมและชุมชนน่าจะมีบทบาทมากกว่าการป้องกันและแก้ไขยาเสพติด"
..........

อย่างไรก็ตามถึงแม้พฤติกรรมการเสพบางรูปแบบอาจไม่ปรากฏความผิดอย่างชัดเจนในแง่กฎหมาย แต่แน่ละว่าการมีข่าวคราวของเหล่าไอดอลคนดังเข้ามาเกี่ยวพันกับคดียาเสพติดมากๆ เข้า ก็อาจส่งผลต่อทัศนะคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในตัวพวกเขา เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นถือมั่นว่าพฤติกรรมเสพยา (แล้วยืดอกรับ) นั้นเท่เสียเต็มประดา

ด้านหน่วยงานผู้ดูแลทางด้านยาเสพติดก็คงจะต้องร่วมมือเร่งเดินหน้า 'ปราบปราม' อย่างบูรณากรเสียที เพราะประชาชนกำลังจดจ้องการปฏิบัติงานของพวกท่านอย่างไม่ละสายตา ท้ายที่สุดแล้วผิดหรือไม่ผิดก็รู้อยู่แก่ใจ

>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงษ์ศักดิ์ ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น