xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ...“พีท พีระ” ทำไมเพลงไทยยุคนี้ห่วยแตก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หายหน้าจากวงการเพลงไปกว่า 3 ปี สำหรับ “พีท พีระ เทศวิศาล” หนุ่มผมยาว มาดเข้ม กับเสียงร้องอันแสนอบอุ่นทุกครั้งที่ได้ฟังเพลง หลายคนอาจจะติดภาพกับการออกอัลบั้มคู่ใน “พีซเมกเกอร์” มาครั้งนี้เขากลับมาพร้อมอัลบั้มเดี่ยว และเพลงที่แสนจะหยอกล้อกับความรู้สึกของหนุ่มสาวยุคปัจจุบันกับเพลง “อยากเจอเพื่อนเธอก่อน” เพลงที่จะทำให้ทุกคนฟังแล้วแอบยิ้มไปกับการเผลอไผลคิดไปไกลกับเพื่อนของแฟนตนเอง

วันนี้ M-Lite พาเขากลับมานั่งพูดคุยกับเรื่องราว ประสบการณ์ที่ห่างหายไป พร้อมแนวคิดมุมมองความแตกต่างของเพลงในยุคที่เรียกกันว่า Generation X กับปัจจุบันถึงความเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส และมีอิสระในการทำเพลงมากขึ้นรวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา

ช่วงที่ผ่านมา หายไปทำอะไรมาบ้าง

ก็ไม่ได้หายไปไหนครับ ก็ซุ่มซ้อม แต่งเพลงแต่ว่าไม่เสร็จสักทีก็เลยดูเหมือนว่าหายไปนานหน่อย ก็หายไป 2 ปีเกือบ 3 ปีครับ มีไปทำกิจการร้านอาหารบ้าง หลายร้านอยู่เหมือนกันครับ แต่ตอนนี้เหลือแค่ร้านเดียว เป็นร้านโอเพ่น นั่งกินข้าว ฟังเพลงชิลๆ ครับ แล้วช่วงนี้ก็มาทำงานเพลงกับทางค่าย โมโน มิวสิค ครับ

วันนี้ก็จะมี ซิงเกิลใหม่มาฝาก “อยากเจอเพื่อนเธอก่อน” ฟังชื่อเพลงก็ตกใจแล้ว ดนตรีจะเป็นแนวฟังสบายๆ กีตาร์โปร่งเพราะๆ ฟังนุ่มๆ สบายๆ เรื่อย เมโลดี สวยๆ เนื้อเพลงจะพูดถึงคนคนนึงที่มีแฟนแล้ว แล้วแฟนของเราก็มีเพื่อนที่หน้าตาน่ารัก เราก็ได้แค่คิด ว่าทำไมเราไม่เจอเพื่อนเธอก่อน ฟังแล้วเหมือนว่าจะคิด แต่ก็หยุดคิด เหมือนว่าเรากำลังเผลอคิด นานนะกว่าจะแต่งได้ ประมาณ 5 เดือน

เพลงที่เราทำออกมา ก็จะมีการพูดคุยกันกับทีม ว่าเราจะทำเพลงกันแบบไหน เนื้อเพลงอย่างไรดี ที่เด็กรุ่นใหม่ฟังได้ แล้วก็คนรุ่นเก่าก็ฟังแล้วไม่อี้เกินไป อย่างที่ผ่านมา มีเพลง “คนรักคนที่สอง” ความหมายไม่ดี เหมือนว่า มีกิ๊ก มุมนั้นมันก็ตีโจทย์ ที่ไม่ค่อยมีใครเขียน เนื้อเพลงก็จะสื่ออกมา ให้เห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และเกิดขึ้นกับเราทุกวันด้วย แรงบันดาลใจก็ได้มาจากสิ่งรอบข้างด้วย แล้วก็เรื่องของการฉีกแนวความคิด เอาเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมมาถ่ายทอด อีกมุมหนึ่ง พี่เขียนเพลงมาเยอะมาก ก็จะใช้ประสบการณ์ ดูคนนู้น คนนี้แล้วเอามาเขียนเป็นเพลง

การกลับมาทำงานครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ยากกว่าเดิมมั้ย

ก็ยังเหมือนเดิมครับ ยังเป็นทีมงานที่เคยร่วมกันมาตั้งแต่ทำ เพลง “คนรักคนที่สอง” ก็ทำไปตามไป เพลงใหม่จะฟังสบายๆ รู้สึกอมยิ้มอยู่คนเดียวเลยนะ ยากมั้ยกับการทำงานก็ไม่ยากแล้วก็ไม่ง่าย ก็ต้องใช้เวลาในการทำเพลงให้มันดูกลมกล่อมขึ้น เวลา 2 ปี กว่า ทำงานมาอยู่หลายค่าย ค่ายก่อนหน้านั้นก็ทำอะไรที่มันเป็นอินดี้มาก เพราะตอนอยู่แกรมมี่ ผมก็เบื่อกฎเกณฑ์มาก ก็เลยออกมาอยู่แบบอิสระ แต่พอถึงจุดหนึ่ง ก็เริ่มรู้สึกเหนื่อย ที่ทำงานเราต้องมีอิสระในการทำเพลง ซึ่งมันไม่ต้องกำหนดเวลาว่าจะต้องทำตอนไหน ทำอะไรบ้าง ซึ่งมันอิสระกว่า

ประสบการณ์ในการเริ่มทำงานที่มีอิสระมากขึ้นเป็นยังไง

เปรียบเทียบเหมือน เดจาวูเลยนะ มองภาพซ้ำตัวเองกลับมา ตั้งแต่ออกจากแกรมมี่ เราก็ทำเพลงเอง หาสื่อเอง โปรโมตเอง ก็ทำจนมันดูโอเคมา แล้วมันก็ออกมาเริ่มใหม่ มาอยู่กับองค์กรใหม่ ก็เหมือนที่เดิม ผมเคยรู้สึกว่า ที่หายไปสองปีกว่า ไฟมันจะหมด เขียนเพลงก็ไม่เสร็จสักที เขียนแล้วพับไว้ เสร็จ แล้วไม่เอา ความน่าค้นหาในชีวิตมันหายไป ชีวิตมันรางๆ เหมือนมาอยู่ที่นี่ มันเริ่มมีเป้าหมาย หาเป้าหมายได้ ตั้งจุดได้แล้ว ภาพที่ทำมาก็ชัดขึ้น ทำทุกอย่าง

ผมทำมาหลายอย่างมาก เป็นนักร้อง ทำร้านอาหาร ทำค่ายเพลง กลับมาทำร้านอาหารอีกมันเลยเหมือนว่าจุดหมายมันไม่มี จนตอนนี้เริ่มมีไฟที่อยากจะเขียน ตอนนี้เหลือธุรกิจแค่อันเดียว ผมไม่เหนื่อยนะ เราพักมาตั้งนานนะ

อะไรที่ได้จากการทำงานที่มีความอิสระและเป็นตัวของตัวเอง

มันเหมือนเราเรียนปริญญาเอก ครับ เรียนรู้เองล้วนๆ ตอนนั้นเราทำรายการเบื้องหลัง ได้กึ้งกับมดดำเป็นพิธีกร งานเบื้องหลังก็จบได้ปีนึงรายการโอเคนะ แล้วอีกรายการทำได้สองเทปก็เจ๊ง จากนั้นก็มาทำค่ายเพลง อินดี้ แบบเอาพวกเขาทำมาอัลบั้ม รวมนักร้องเยอะมาก ตอนนั้นอัลบั้มดูไฮโซมากเลยนะ ทำเป็นลิมิเต็ด รันหมายเลขด้วยนะ เพราะตอนนั้นทำออกมาแค่ หมื่นแผ่น ต้นทุนมันตั้ง 65 บาท แล้วผมก็เจ๊ง เพราะเราก็ขาดประสบการณ์ในการวางขาย ซึ่งเรื่องนี้วางขายที่ไหนก็ไม่มีใครเจอ ต้องถามคนขาย เพราะเป็นระบบที่อยู่ที่เซลส์

ผ่านอะไรมาหลายๆ อย่างรู้สึกท้อมั้ย

เหนื่อยมากกว่า แต่ไม่ท้อ ผมก็แค่คิดว่ายังไง ลิขสิทธิ์เพลงของผมก็อยู่ตั้ง 50 ปีนะ เกิดว่าวันหนึ่งผมฟิตขึ้นมา เอาเพลงมาคัฟเวอร์ใหม่ก็ได้นะ ตอนนั้นให้กำลังใจตัวเอง “อดทน เรียนรู้ รอคอย” สามคำเด็ดมากเลย เอามาใช้ได้เสมอ หรือถ้ามันถึงที่สุดจริงๆ ก็เอาคำที่พระสอนมาเลยนะ “ให้รักในสิ่งที่เกลียด” ถ้าเรารักมัน เราก็จะผ่านมันไปได้ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เราทำไม่ได้ มันเป็นอีโก้ของตัวเอง ความเกลียดมันเป็นความรู้สึกอยู่แล้ว แต่บางครั้งมันจำเป็นที่เราจะร่วมงานกับคนที่เราเกลียด แต่ถ้ามันทำอะไรไม่ได้เลย เราก็ทำให้รักมันซะเลยก็แล้วกันนะ เราต้องทำใจให้ได้ให้ไม่เสแสร้ง เราก็ฟังความรู้สึกตัวเอง ทำใจไทยได้ มันยากมาก ผมผ่านมาแล้วนะ ถึงกับร้องไห้เยนะ เกลียดมากแต่ก็ต้องทำ แต่เคสต์นี้ทำให้งานเพื่อผ่านนะครับ แต่ถ้าให้อยู่ตลอดก็คงไม่ได้นะ แต่ทำเพื่อให้ผ่านอุปสรรคสักอย่างเราเองก็ต้องทำ ไม่ใช่การตีสองหน้า แต่เราต้องเต็มใจทำให้ได้

ในมุมของนักแต่งเพลง มีความคิดเห็นยังไงกับเพลงในยุคนี้

เราไม่กล้าวิจารณ์อะไรหรอกครับ อย่างเห็นได้ชัดให้พูดถึงเพลงที่วัยรุ่นตอนนี้ฟังกันอยู่ ผมคิดว่า ผมฟังไม่รู้เรื่องนะครับ ฟังไม่ได้ ภาษาที่เขาใช้มันเป็นภาษาแค่ว่า ฉันรักเธอ แล้วเธอก็รักฉัน แค่นั้น รักเธอจัง อ้าว! แค่นี้จบเพลงแล้วหรอ เออ ... ถ้าจะแต่งเพลงแบบนี้มันก็ถือว่าได้นะ แต่ผมว่ามันน่าจะให้มีสัมผัสนิดนึง ไม่ใช่ว่า เมโลดีจบตัวนี้ แล้วคุณก็โดดไปอีกเมโลดีนึง มันก็จะฟังไม่รื่นหู นี่มันเป้นความคิดผมคนเดียวนะ แต่วัยรุ่นแต่งเพลงเก่งๆ ในปัจจุบันก็มีเยอะ

ถ้าจะว่ามันไม่สละสลวยมั้ย ผมก็ไม่รู้ว่าอะไร มันอาจจะเป็นยุคของมัน จาก เจเนอเรชัน x แล้วหลังจากนั้นเป็นเจเนอเรชันไหนผมก็ไม่รู้แล้วล่ะ คือยุค เจเนอเรชัน x ก็มีฟังได้นะ แต่สมัยนี้ให้ผมฟังแนวแบบนี้ สำหรับผมก็คงจะแก่เกินไปแล้วมั้งครับ ผมว่าใช้คำอะไรก็ได้ แต่ขอให้มันมีสัมผัสหน่อย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษมันก็ง่ายไง แต่ถ้าเป็นภาษาไทยเนี่ย คือ มันต้องสวย ไม่รู้ว่าเราถูกปลูกฝังมาแบบนี้หรือป่าวนะ เด็กรุ่นใหม่ก็อาจจะคิดว่า เฮ้ย ไม่เห็นจำเป็นต้องมีเลยก็ได้ มันก็ไม่ผิดนะ

ถ้าเทียบกับยุคก่อนกับยุคนี้ต่างกันมากมั้ย

ต่างกันมาก ถ้าเปรียบเทียบเลย คือ ถ้ายุคก่อน เพลงพี่แจ้ คำสวยมาก ทุกคำเชื่อมกันหมด จนทุกวันนี้ร้องกี่รอบ ฟังกี่รอบก็เพราะ แล้วยุคนี้วัยรุ่นเอามาร้องใหม่ยังเพราะอยู่เลย ถ้าวัยรุ่นล่าสุด เอาเพลงเด็กแนว ที่เขาเรียกกัน เอาไปให้คนแก่ร้อง เขาร้องไม่ได้หรอกครับ แต่ไม่ใช่ว่าเขาผิดนะ แต่มันเป็นช่วง เวลายุคสมัยที่แตกต่างกัน เพลงของยุคนั้นวัยรุ่นก็คงไม่ไปฟังมากขนาดนั้นหรอก

ถ้าอยากเป็นนักแต่งเพลงควรจะเริ่มต้นยังไง

อันดับแรก ผมว่าชอบอ่านหนังสือ หรือกลอน แต่ผมว่ากลอนเนี่ยอาจจะอ่านตามวัยนะครับ สมัยพี่เขียนกลอนก็เริ่มตั้งแต่ ป 3 -4 มันก็เริ่มต้น แต่งกลอนจีบสาวไงครับ แต่สมัยนี้ก็คงจะไม่มี แต่ผมก็ไม่รู้ยุคนี้จะมีพื้นฐานยังไง ก็ร้องอ่านหนังสือ คิดได้ก็เขียนเก็บเอาไว้ สักวันก็จะได้เพลงของตัวเองสักเพลงครับ

ในส่วนของเมโลดี แตกต่างมาก มันชัดเจนมากนะ ในยุค สิบปีที่แล้วยังเป็นการร้องเพลง ท่อน A ,B ฮุก ธรรมดา ยกตัวอย่างเลยนะ เพลงพี่แจ้ พี่พลพล พี่เต๋อ แต่ยุคนี้ นักร้องต้องร้องเสียงหลบได้จริงมั้ย อย่างที่เพิ่งฟังมา เพลงหน่วง ของ room 39 นี่ยังเป็นเพลงที่ร้องเพราะนะ แต่เคยฟังเพลงที่แบบว่า หลบเสียงจนฟังไม่ออก

ใครๆ ก็เป็นนักร้องได้ มองยังไง

จริงๆ มันควรจะเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้วนะ เพราะว่าที่ต่างประเทศก็เป็นแบบนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครทรัพย์เยอะ แต่สำหรับเมืองไทย ใครๆ ก็เป็นนักร้องได้ คือ อันดับแรก บ้านรวย พ่อแม่สนับสนุน มีกิจการ ให้การสนับสนุนค่ายใหญ่ เปิดค่ายเอง ขายเอง อย่างเพลงอินดี้เพราะๆที่ไม่ได้มีโอกาสสู่ตลาด แต่ก็มีคลื่นวิทยุที่เป็นกลาง ก็ให้โอกาสให้แก่เพลงอินดี้ บางคนเสียงดีไม่มีการสนับสนุน ถ้าน้องๆ เค้าพยายามแล้ว แต่ไม่มีโอกาส เดี๋ยวนี้มันมีเวทีดังๆ มากมาย ตามร้านผับ ก็เป็นโอกาส จะมากจะน้อยมันก็คือโอกาส

ในสมัย ยุคนั้นก็คือโอกาส ซึ่งผมคนนึงที่เกิดขึ้นมาจากการเป็นนักร้องในผับมาก่อนสมัยก่อน ค่ายเพลงยังไม่ผุดมากขนาดนี้ และวัฒนธรรมดนตรีก็ไม่ได้เกิดมาขึ้นแบบนี้ เมื่อก่อนมีแค่โฟล์ก หรือแค่วงก็เป็นวงดนตรีไปเลย เมื่อก่อน ผับก็ไม่ได้เยอะแบบนี้ ซึ่งสมัยนี้ก็มีนะจากในผับ น้อยมากที่จะเป็นเด็กนักเรียน รวมตัวกัน แล้วมาออกเพลง เป็นเรื่องยากมาก จริงๆ เส้นทางมันเหมือนเดิม แต่มันแค่เริ่มกลายออกไป เป็นกลุ่มดนตรีที่มันแปลกมากขึ้นกว่าเดิม แนวเพลงมันเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี มันเหมือนได้เปิดหูคนฟังมากขึ้น ซึ่งในสมัยก่อน มันไม่มี เหมือนเมื่อก่อนคนฟังถูกบังคับให้ฟัง และคลื่นวิทยุก็น้อย มีทางเลือกเปิดเพียงแค่ไม่กี่แบบนะ ป็อป ร็อก แร็ป แดนซ์ แต่เรกเก้ยังไม่มี แต่ผมคิดว่า แนวป๊อป มันก็เป็นเพลงที่ฟังสบายๆ ได้เรื่อยๆ

สุดท้ายฝากผลงาน

ก็ให้ติดตามเพลง “อยากเจอเพื่อนเธอก่อน” เพลงสบายๆ แอบยิ้มนิดๆ กับเพื่อนของแฟน และเพลงก่อนหน้านั้น “คนรักคนที่สอง” ก็จะคนละอารมณ์กัน ก็อยากให้ลองฟังดูครับ
 
**************************
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์

ภาพโดย ธัชกร  กิจไชยภณ 





กำลังโหลดความคิดเห็น