xs
xsm
sm
md
lg

‘เก็บตกกฐิน’ 2554 น้ำท่วมใหญ่ วัดไร้งานทอดกฐิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยกับศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ถือว่าคู่กันอย่างแนบแน่น กิจกรรมทางศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย แต่ในปีนี้พิษของน้ำที่ท่วมสูงจะสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้านไปทุกหัวระแหงและกระทบไปถึงกิจกรรมทางศาสนา เพราะวัดวาที่เป็นสถานที่ใกล้เคียงกับชุมชนก็พลอยพากันจมน้ำเสียหายไปด้วย ช่วงออกพรรษาในปีนี้ประเพณีที่สำคัญอีกอย่างคือ การทอดกฐิน จึงพลอยซบเซาไปด้วย

กระนั้นยังมีภาพชาวบ้านอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่พากันพายเรือเพื่อไปทอดกฐิน ณ วัดสำประซิว กันอย่างชื่นมื่นด้วยแรงศรัทธาที่เต็มเปี่ยม แต่ในทางกลับกันในบางพื้นที่ที่เสียหายทั้งวัดและชุมชนโดยรอบไม่ได้มีโอกาสเช่นดังนั้น เนื่องด้วยเหตุการณ์ในหลายๆ พื้นที่ร้ายแรงเกินกว่าจะประกอบกิจกรรมใดๆ ได้ ประเพณีการทอดกฐินในปีนี้ลดทอนความสำคัญลง

ทอดกฐินนั้นสำคัญไฉน

‘กฐิน’ เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อยู่พรรษาครบ 3 เดือน สามารถรับผ้าใหม่มานุ่งห่มได้ การทอดกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาท ที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันลอยกระทง เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรใหม่นั่นเอง

กฐิน อาจจำแนกตามความหมายเพื่อความเข้าใจง่ายได้ดังนี้

1.กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร
2.กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน
3.กฐิน เป็นชื่อของงานบุญประเพณีถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน
4.กฐิน เป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์

โดยพระครูพิพิธธรรมภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ฉายภาพให้เห็นโดยง่ายว่า พระสงฆ์จะได้รับอานิสงส์จากการเข้าพรรษา และถึงคราวได้เปลี่ยนผ้าจีวร ซึ่งบางวัดก็ไม่ได้รับกฐินทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับความศรัทธาของเจ้าภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดตามต่างจังหวัดไกลๆ ที่มักไม่ค่อยได้รับกฐินนัก เพราะเจ้าภาพต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ยิ่งในปีนี้จากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ยากต่อการทำสังฆกรรมอย่างนี้ขึ้นไปอีก เพราะอุโบสถก็พลอยถูกน้ำท่วมเสียหายไปด้วย โดยทางแก้ไขง่ายๆ คือ เลื่อนจากการรับกฐิน ให้เป็นการรับผ้าป่าแทนเสียก็ได้

“อานิสงส์คือการไม่ได้รับสิทธิในการไปที่ไหน พระสงฆ์สามารถไปไหนโดยไม่ต้องบอกลา หรือมีไตรจีวรครบ ซึ่งเป็นพระวินัยในสมัยก่อน และเป็นการสร้างความสามัคคีระหว่างวัดกับชาวบ้าน แต่ด้วยสังคมไทยที่มีการยืดหยุ่น ในบางครั้งทีพระสงฆ์ไม่ได้รับกฐินก็ยังสามารถไปไหนได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิด”

อย่างนี้ต้อง ‘เก็บตกกฐิน’

เมื่อสถานการณ์ไม่อำนวย และเวลาก็กระชั้นชิดเข้ามา ภายในเวลาหลังวันออกพรรษาจนถึงวันเพ็ญเดือน 12 ในปีนี้ชาวบ้านอาจยังไม่สามารถทอดกฐินได้ เพราะยังต้องลุยกับน้ำท่วมอยู่ หรือในบางพื้นที่ก็อยู่ในช่วงฟื้นฟูชุมชน ‘เก็บตกกฐิน’ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นตัวช่วยในการจรรโลงพุทธศาสนาไว้ในสภาวะที่ไม่อำนวยเช่นนี้

สยาม ราชวัตร อาจารย์ประจำ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความสำคัญของการทอดกฐินในพระพุทธศาสนา ถ้าหากวัดได้ไม่ได้มีพิธีการทอดกฐินเกิดขึ้น พระที่จำพรรษาอยู่ในวัดนั้นก็จะไม่ได้อานิสงส์จากการจำพรรษา แต่ทั้งนี้ถ้าหากมีเหตุจำเป็น ในสังคมพุทธศาสนาบ้านเราก็มีการอนุโลมให้มีการเก็บตกกฐินได้

“ถ้าวัดไหนไม่ได้กฐิน พระก็จะไม่ได้รับอานิสงส์ ก็ต้องทำไปตามเดิม เช่นไปไหนก็ต้องบอกลาทำสัตตาหะ นั่นคือความสำคัญหลักของการทำกฐิน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการเก็บตกกฐิน เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ขยายออกไป สามารถต่อกฐินไปได้อีก 1 เดือน ในกรณีที่พระเข้าพรรษาหลังคนอื่น”

ตามความเป็นจริงแล้ว การรับกฐินนั้นก็จะต้องทำในวัดที่พระปวารณาตนเข้าพรรษาเท่านั้น โดยพระสงฆ์จะต้องรับกฐินภายในเขตพัทธสีมาของตนเองที่พระปวารณาเข้าพรรษา ณ วัดนั้น ซึ่งในแง่ของพระวินัยนั้นค่อนข้างเคร่งครัด แต่กรณีปัจจุบันนั้น จะต้องมีการอนุโลม ตามหลักการของ มหาปเทส 4 ที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้

“ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างตอนนี้ สำหรับเรื่องกฐิน ในสมัยพุทธกาลไม่ได้มีการกล่าวถึงเอาไว้ มีกล่าวไว้แต่เรื่องของการสวดปาติโมกข์ ที่จะอนุโลมกันได้ในกรณีที่มีภัยน้ำท่วม ภัยแล้งหรือโจรภัย แต่ถ้าจะอนุโลมกันจริงๆ ก็อนุโลมได้ แม้ว่าจะไม่ตรงกับพุทธบัญญัติโดยตรง”

ซึ่งในเรื่องนี้ ฝ่ายที่รับผิดชอบนอกจากวัดวาอารามต่างๆ และพุทธศาสนิกชนแล้ว ในฐานะที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงจัดการแก้ปัญหาในครั้งนี้โดยอธิบายว่า ที่ผ่านมามีการสั่งให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานกฐินจร ประจำปี 2554 เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้กิจกรรมทางพระพุทธศาสนามีความสมบูรณ์มากขึ้น

"ตอนนี้มีวัดที่ได้รับผลกระทบเยอะมาก เพราะนอกจากน้ำท่วมแล้วยังมีเรื่องปัญหาภาคใต้ รวมไปถึงปัญหาของวัดที่อยู่ในที่กันดาร ทำให้ไม่มีเจ้าภาพมาจองทอดกฐิน ซึ่งกำหนดเวลาการทอดกฐินจะถึงแค่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจึงทำโครงการที่เป็นสื่อกลางให้วัดที่ไม่มีเจ้าภาพแจ้งเข้ามา ให้พี่น้องประชาชนที่อยากทำบุญ อยากเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่ไม่ยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายไม่มากแจ้งเข้ามา ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นก็มีกรรมการวัดแจ้งเข้ามาประมาณ 880 วัด โดยเรามีหลักง่ายๆ ว่ากฐินที่ทำนี้เป็นกฐินจร ไม่มีเจ้าภาพทอดง่ายๆ เพราะฉะนั้นก็จะมีแค่ค่าองค์กฐินประมาณ 5,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น ส่วนจะมีปัจจัยหรือเงินประกอบเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร

จากนั้นผมก็บอกเบอร์โทรศัพท์ให้ไปว่า สามารถโทรมาที่เบอร์ 08-523-387-60 ซึ่งก็จะมีคนรับสายตลอด 24 ชั่วโมง หรือไม่ก็เบอร์สำนักงานที่ 0-228-814-69 ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีผู้ที่ประสงค์อยากทำบุญเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวคิดแล้วเป็นเงินประมาณเกือบ 3 ล้านบาทแล้ว โดยเราคิดว่าจะพยายามหาเจ้าภาพไปทอดให้ได้มากที่สุด"

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่หลายคนเป็นห่วงว่า บางวัดยังต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมอยู่นั้น นพ.สุรวิทย์ก็บอกว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา โดยทางหนึ่งที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการก็คือ การจัดหาสถานที่ที่สามารถทอดกฐิน แล้วนิมนต์พระจากวัดนั้นๆ มารับ ซึ่งเมื่อรับกฐินเสร็จ พระก็สามารถนำเครื่องกฐินกลับไปได้เลย แต่ถ้านำกลับไปไม่ได้ก็จะเก็บไว้ก่อน แล้วจะจัดส่งตามไปให้ภายหลัง ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้จะรวมไปถึงวัดที่มีเจ้าภาพจองอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางไปทอดกฐินเองได้อีกด้วย

"เรื่องวัดที่จะรับกฐิน หากเจ้าภาพแจ้งมาว่าต้องการจะทอดกฐินจังหวัดใด วัดใด เราก็จะจัดการให้ หรือถ้าไม่แจ้งเราก็จับคู่ให้ ส่วนใครที่ไม่สะดวกที่จะไปทอดเอง ก็สามารถฝากเงินไว้ แล้วเราก็จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนั้นไปทอดแทน แต่ในกรณีที่ไม่มีเจ้าภาพจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะอาจจะมีคนไปทอดผ้าป่าแทนให้ภายหลัง เพียงแต่กระบวนการบางอย่างก็อาจจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังเป็นวัดได้อยู่"

แม้น้ำท่วม วัดหาย แต่ความศรัทธาไม่เสื่อมคลายตาม

อาจจะต้องยอมรับว่าแม้จะอยู่ในสภาวะใดก็ตาม หากศรัทธายังมั่นคง ก็ไม่มีอะไรขัดขวางการกระทำได้ เช่นเดียวกับ คณิต ผลเพิ่มศีลกุล หนึ่งในผู้รับอาสาเป็นเจ้าภาพทอดกฐินอย่างเป็นประจำเปิดเผยว่า ถึงแม้น้ำท่วมเป็นปัญหาต่อการเดินทางไปทำบุญอยู่บ้าง แต่ในฐานะคนทำบุญก็ยังคงจะทำหน้าที่ทอดกฐินเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่าน

“ปีนี้เรื่องน้ำท่วมหนักทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก น่าจะต้องอ้อมไปไกลหน่อย ทำให้ปีนี้คนที่จะไปร่วมดูเหมือนจะน้อยกว่าปกติ ความสนุกก็อาจจะลดน้องลง แต่ในการทอดกฐิน จุดประสงค์ในการไปทำบุญ ช่วยเหลือวัดก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง”

ในส่วนของการเข้ามาเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน เขาเล่าว่า เป็นสิ่งที่ทำสืบต่อกันมาของที่บ้าน โดยพ่อแม่มีบ้านเกิดที่จังหวัดลำปางรู้จักกับทางวัด เมื่อทางวัดมีการแจ้งเจตจำนงมาว่าจะสร้างโบสถ์ สร้างอุโบสถ ต่อเติมหลังคา ขอเชิญไปเป็นเจ้าภาพทอดกฐินก็จะไปร่วมช่วยเหลือเป็นเรื่องปกติ

“ส่วนของหลักวิชาการ หรือที่ระบุในพระไตรปิฎก ผมก็บอกไม่ได้หรอกว่ามันบอกว่ายังไง ผมแค่ต้องการทำบุญ ช่วยเหลือวัด วัดยังขาดอะไร ขาดห้องน้ำ โบสถ์หรือหลังคา เราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งตัววัดก็ส่งผลต่อชุมชนที่อยู่ร่วมด้วย”

……….

หลังเรื่องร้ายๆ จบลง เชื่อว่าหลายคนคงวิ่งเข้าหาศาสนาเพื่อนำใจไปพักพิง แม้ในปีนี้วิกฤตการณ์ร้ายภัยพิบัติน้ำท่วมจะเกิดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมและประเพณีที่ดีงามหลายๆ อย่างจะถูกละเลย แต่เมื่อปีหน้าฟ้าใหม่ความเสียหายผ่านพ้นไป วิถีชีวิตและประเพณีที่ดีงามก็จะกลับมาสจรรโลงสังคมให้สงบสุขอีกครั้งอย่างแน่นอน

..........……….

ธงจระเข้+นางมัจฉา

สัญลักษณ์ที่ถือว่าโดดเด่นของประเพณีการทอดกฐิน แบบเห็นปุ๊บก็รู้ทันทีนอกเหนือจากช่วงเวลาแล้ว ธงจระเข้ และนางมัจฉาก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่พุทธประเพณีนี้จะขาดเสียไม่ได้ ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวมีมาตั้งแต่โบราณกาล ในยุคสมัยที่การเดินทางของคนไทยยังต้องอาศัยเรือ สัญจรทางน้ำเป็นหลัก ซึ่งมีความเชื่อกันว่า จะทำให้ปลอดภัยแคล้วคลาดจากอันตรายที่ผจญอย่างจระเข้ ที่มักขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม หรือไล่กัดผู้คนบ้าง เป็นที่หวั่นเกรงต่อผู้คน ผู้แก่ผู้เฒ่าจึงคิดกุศโลบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือเพื่อให้สัตว์ร้ายในน้ำ อย่างจระเข้รับทราบการบุญกุศลครั้งนั้นๆ และพลอยอนุโมทนาไปด้วย จนชาวบ้านสามารถพายเรือไปประกอบกิจเป็นอันเสร็จ

บางตำนานก็เล่าว่ามีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือมีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญในการทอดกฐิน จึงว่ายน้ำตามเรืออุบาสกนั้นไปด้วย แต่เมื่อว่ายไปได้พักใหญ่ก็หมดแรง เพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที จึงขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนบนธง แล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดกฐินด้วย อุบาสกรับคำจระเข้แล้วก็ทำตามที่จระเข้สั่ง ตั้งแต่นั้นมาธงรูปจระเข้จึงปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในเวลามีการทอดกฐินสืบมาถึงทุกวันนี้

ส่วนธงมัจฉานั้น เป็นการแสดงภัยที่จะเกิดกับพระสงฆ์ ข้อที่ 4 คือ ภัยที่เกิดแต่การรักผู้หญิง ท่านเปรียบเสมือนปลาร้าย ซึ่งธงดังกล่าวช่างเขียนจึงประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปนางมัจฉา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเหตุแห่งทุกข์ ต่อมาทั้งธงรูปจระเข้และธงรูปนางมัจฉา จึงเป็นสัญลักษณ์ของการทอดกฐิน ที่มักปักไว้หน้าวัด เพื่อให้คนที่ผ่านไปผ่านมาทราบว่าวัดนี้มีการทอดกฐินแล้ว ก็พลอยอนุโมทนาบุญไปด้วย

>>>>>>>>>>

………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น