พลันหลุดออกจากบ่วงพันธนาการที่กักขังมาตั้งแต่เกิด สัตว์เลี้ยงที่เคยเป็นสัตว์ป่าอย่างจระเข้ ก็แหวกว่ายไปตามน้ำกว้างใหญ่ที่ไหลหลากไปทั่วทุกพื้นที่ ลำพังสัตว์ดุร้ายโผล่ขึ้นมาให้ชาวบ้านเห็นเพียงตัวเดียวก็ทำเอาอกสั่นขวัญหายแล้ว แต่น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้นำพาเอาเหล่าชาละวันฟาร์มหลุดออกมาเป็นร้อยๆ ตัว เดือดร้อนถึง ‘ไกรทอง’ พากันออกมาตามล่าชาละวันกันให้อย่างกระตือรือร้น ผิดกันตรงที่การล่า ‘ไอ้เข้’ ครั้งนี้รางวัลที่ได้รับไม่ได้เป็นตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง แต่มันกลายเป็นเม็ดเงินที่สะพัดได้กับกลุ่มชาวบ้านที่หมดทางเลือก ณ เวลานี้
ที่ตำบลกระแซง อำเภอบางไทร เมืองกรุงเก่า เป็นที่มาของข่าวดังเรื่องจระเข้หลุดออกจากฟาร์มทั้งจดทะเบียนตามข่าวกว่า 200 ตัว ซึ่งยังไม่รวมฟาร์มเถื่อนอีก เรื่องใหญ่ซะจน ‘บิ๊กไกรทอง’ อย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วิทยา บุรณศิริ ออกมาอัดฉีดชาวบ้านให้ล่าจระเข้ ทั้งจับเป็นจับตาย ค่าหัวถึงตัวละ 1,000 บาท เข้าทางชาวบ้านที่ทั้งขาดรายได้และโหยหิว เพราะพื้นที่ห่างไกลยากต่อการช่วยเหลือ พกอุปกรณ์เท่าที่มี พาเรือออกล่าจระเข้กันยกใหญ่ เพราะงานนี้ นอกจากได้เงินค่าหัวแล้ว เนื้อจระเข้อวบอ้วนยังประทังชีวิตได้อีกด้วย
สนองนิยม นำมาซึ่งจระเข้อย่างมหาศาล
จากสถานการณ์น้ำท่วมแบบวิกฤตที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ส่งผลให้จระเข้หลุดออกมาจากฟาร์มที่ เถื่อนและไม่เถื่อนจำนวนหลายร้อยตัว รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดอยุธยา สิงห์บุรี และอ่างทองที่มีจำนวนฟาร์มอยู่มากอีกด้วย
โดยหากดูจากสถิติแล้วจะพบว่าทั่วประเทศไทยนั้น มีการทำฟาร์มจระเข้แบบจดทะเบียนถูกต้องอยู่กว่า 900 ฟาร์ม อีกทั้งบ่อจระเข้เถื่อนในลักษณะของฟาร์มขุน โดยรับเอาลูกจระเข้มาเลี้ยงให้โตและนำกลับไปขายคืนให้แก่ฟาร์มใหญ่ซึ่งดำเนินการแบบครบวงจรปะปนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
ซึ่งสายพันธุ์จระเข้ที่มีอยู่ในบ้านเรานั้น มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ จระเข้พันธุ์น้ำจืด (พันธุ์ไทย) นิยมเลี้ยงเอาไว้กินเนื้อ (มีการใช้หนังบ้างแต่ไม่มาก) และจระเข้น้ำเค็ม ที่เลี้ยงเพื่อเอาหนังไปใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเพราะมีหนังที่สวยงามกว่าพันธุ์น้ำจืด นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ลูกผสมเพิ่มขึ้นมาเพื่อการค้าใหม่ๆ อีกด้วย ส่วนจระเข้ที่หลุดจากฟาร์มในช่วงเวลานี้ เกือบทั้งหมดเป็นจระเข้พันธุ์น้ำจืดที่เลี้ยงกันมากในหมู่คนไทย แต่ในเรื่องพิษสงความดุร้ายผู้เชี่ยวชาญบอกว่าว่าไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนก็มีความดุร้ายพอๆ กัน
ในประเด็นนี้ ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง บอกว่าทางกรมประมงนั้นไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด จึงมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ของกรมประมงขึ้น เพื่อรับแจ้งเหตุที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงในกรณีจระเข้ที่หลุดออกมาด้วย โดยจะจัดการทั้งเรื่องการขนย้ายและการจับ ซึ่งในกรณีที่ชาวบ้านพบเจอจระเข้ ให้รีบแจ้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ทันที แต่หากต้องเผชิญหน้ากันก็ให้ใช้ไม้ตีน้ำ ให้จระเข้ตกใจและว่ายน้ำหนีไป แต่ถ้าหากเกิดจวนตัวจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้เอาไม้ตีลงไปที่ปลายจมูกของจระเข้ เพราะที่นั่นเป็นศูนย์รวมประสาทของมัน
กลยุทธ์ล่า ‘ชาละวัน’
ในวันที่กระแสน้ำยังไม่ได้มีทีท่าว่าจะหยุดหย่อนกำลังลง เป็นสิ่งที่ไม่เกินความจริงว่า หากวันหนึ่ง เราอาจต้องปะหน้ากับชาละวันเข้า ถือโอกาสแปลงกลายเป็นไกรทอง กลยุทธ์การปราบเพื่อเอาตัวรอดหรือเกมการล่าก็เริ่มขึ้นแล้ว
แน่นอน เรื่องสำคัญอย่างแรก ไม่ได้อยู่กับเจ้าสัตว์ร้ายเลยแม้แต่น้อย แต่ตัวคนจับต้องประเมินตนเองว่ามีความสามารถแค่ไหน เพราะของแบบนี้ไม่ใช่ว่า จู่ๆ นึกอยากจะทำก็ทำได้ นอกจากใจต้องกล้าแล้ว ก็ต้องมีประสบการณ์และความว่องไวติดตัวไว้ด้วย โดยเฉพาะการรู้เขารู้เรากับจระเข้ด้วย
จากข้อเขียนเรื่อง ‘จับจระเข้ให้ปลอดภัย (ไม่ถูกกัด)’ ของ น.สพ.กมลชาติ นันทพรพิพัฒน์ นายสัตวแพทย์ประจำสวนเสือศรีราชา บอกว่า จระเข้จะดุร้ายมาก โดยเวลาที่มีคนเข้าไปแหย่ ฉะนั้นไม้ยาวๆ สำหรับเขี่ยมันดูจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่านิ้ว หากจระเข้ยังนิ่งเฉยหลังถูกลูบคม โดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ก็เข้าข่ายป่วย
และเมื่อแน่ใจเรื่องพฤติกรรมแล้ว คราวนี้ก็มาถึงกระบวนการจับบ้าง โดยการจับทั่วไปมักจะใช้เชือกเป็นเครื่องมือ โดยทำเป็นห่วงเพื่อใช้โยนให้คล้องเข้ากับต้นคอของจระเข้ เมื่อคล้องได้จังหวะนี้ตัวจระเข้มักจะหมุนตัวเพื่อให้ตัวเองหลุดออกจากห่วง หากห่วงแน่นก็จะไม่หลุด ส่วนเราก็สามารถปล่อยให้จระเข้หมุนตัวได้ ไม่ต้องตกใจ เพราะนั่นหมายถึงว่า จระเข้กำลังใช้กำลังขนานใหญ่ และอีกไม่นานก็จะหมดแรงไปเอง หมดโอกาสขัดขืน พอจระเข้นิ่งแล้ว ก็ทำห่วงอีกห่วงเพื่อใช้คล้องบริเวณปากเพื่อรัดปากไม่ให้จระเข้สามารถงับได้ ซึ่งขั้นตอนนี้คนทั่วไปเรียกว่า ‘เข้าคางเรือ’
เมื่อเรียบร้อยก็เรียกทีมงานจับคนอื่นๆ เข้าไปมาช่วยจับเพื่อทำให้จระเข้อยู่นิ่ง ๆ หากมีกระสอบติดตัวมา ก็นำมาคลุมบริเวณหัวเพื่อการปิดตาและปิดปาก ป้องกันไม่ให้จระเข้สามารถใช้ปากเพื่อมากัดคนจับได้ หลังจากจับบังคับให้จระเข้สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้แล้วให้ทำการมัดปากด้วยยางให้แน่นหนาก็ส่งให้เจ้าหน้าที่ แต่ทางที่ดี หากไม่มีประสบการณ์หรือเหตุการณ์บังคับ ก็ควรหาโอกาสหนีหรือร้องขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าหน้าที่กู้ภัยเป็นการดีที่สุด
ไกรทอง 2554
หากใครจะจำแลงแปลงกายเป็นไกรทองในยุคนี้เหมาะที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้น เหล่าหน่วยกู้ภัยต่างๆ ที่ทำงานกันอย่างเต็มความสามารถ ทั้งการช่วยเหลือคนและสัตว์ นักแสดงฝาแฝดคนแกร่งอย่าง เอกพันธ์ บันลือฤทธิ์ แห่งมูลนิธิร่วมกตัญญู ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเข้าไปคลุกคลีอยู่กับการจับจระเข้ด้วยเช่นกัน โดยดาราเจ้าบทบาทเล่าให้ฟังว่า มีโอกาสเข้าไปช่วยจับจระเข้ใน ตำบลบางกระแชง อยุธยาเช่นกัน ซึ่งเมื่อเข้าไปก็เห็นว่า มีจระเข้ที่ชาวบ้านฆ่าตายไปแล้วถึง 7 ตัว ทำให้ตนตกใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ทำไมต้องลงมือฆ่ากันด้วย แต่เมื่อเห็นจากสภาพก็เข้าใจถึงสาเหตุ เพราะน้ำขังเป็นบริเวณกว้าง ในนาทีนั้นชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร ที่ดีกว่าฆ่าจระเข้และน้ำเนื้อมาแบ่งกันกิน
“ชั่วโมงนั้นไม่รู้จะเอาไปไหน ขังก็ไม่ได้ มัดก็ไม่ได้ ลูกเด็กเล็กแดงก็อยู่เยอะ อีกอย่างเขากำลังหิวด้วย จระเข้เองก็ดุร้าย ผู้ชายรูปร่างกำยำยังสู้กับมันไม่ได้เลย ขึ้นเรือมาแล้วยังโดนหางมันฟาดตกเรือเลยก็มี แต่มันก็มีทั้งขนาดทั้งตัวเล็กและใหญ่ อย่างตัวที่พวกผมช่วยก็จับประมาณเมตรครึ่ง 40 กิโลกรัม ผมยังโดนหางมันฟาด เขาก็เลยต้องฆ่ามัน เอาไฟช็อตในน้ำจนมันนิ่ง แล้วลงไปจับขึ้นมา ตัดหัวมัน เอาเนื้อไปแบ่งกันกิน
ส่วนตัวที่พวกผมจับ ผมเลยขอเขา เพราะสงสารไม่อยากให้ฆ่าเขาเลย ให้มาหนึ่งตัว เราเลยเอาไปให้กรมอนุรักษ์สัตว์ป่าดูแลต่อ”
ซึ่งกรณีที่ รมว.สาธารณสุขออกมาประกาศให้ค่าหัวทั้งจับเป็นและจับตายจระเข้นั้น ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านออกล่าจระเข้ เนื่องไม่มีอาชีพอะไรในเวลานี้ จระเข้ตัวละพันจึงเป็นอาชีพที่เหมาะที่สุดในตอนนี้
“ในความคิดผมจับเป็นจับตายก็ได้เป็นเรื่องน่าคิด น่าจะออกมาบอกว่าจับเป็นเท่านั้น ถึงจะได้หนึ่งพัน เขาจะได้ไม่ต้องฆ่า เพราะสัตว์เองก็น่าเห็นใจเหมือนกัน ที่รัฐมนตรีสั่งการ ผมคิดว่ามันเป็นการทำร้ายสัตว์มากเกินไปหรือเปล่า ควรจับเป็นให้รางวัลคนที่จับเป็นเท่านั้นจะดีกว่า เพราะบางครั้งชาวบ้านก็เอาไปคืนให้แก่เจ้าของฟาร์มเขาก็รับซื้อ เป็นรายได้อีกทางเหมือนกัน
ในกรณีนี้ไกรทองเอกพันธ์แนะวิธีการสังเกตจระเข้ที่มักซุ่มอยู่บริเวณพุ่มไม้ในน้ำ หรือโคนต้นไม้ว่า จระเข้มักจะออกหากินกลางคืน เมื่อส่องไฟไปให้สังเกตว่าหากเห็นดวงตาสีแดง ก็ให้ฟันธงไว้เลยว่าเป็นจระเข้ที่ที่สีของตาจากสีเหลืองอย่างที่เห็นในตอนกลางวันจะกลายเป็นสีแดง ส่วนจระเข้ที่หลุดบริเวณจังหวัดอยุธยา ที่ยังจับไม่ได้กว่าอีกร้อยตัว ตนตั้งข้อสังเกตว่า มีสิทธ์จะเข้ามาถึงบริเวณน้ำท่วมในที่อื่นๆ ได้ อย่างเช่นที่นนทบุรี ก็เป็นได้
ด้านนิคม พุทธา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย ก็เป็นตัวแทนจากลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีไล่ล่าจระเข้ และตั้งค่าหัวดังกล่าว
“เรื่องนี้มันน่าเห็นใจทั้งเจ้าของฟาร์มและชาวบ้านในละแวกนั้นนะ แต่ก็ไม่ควรจะใช้ความรุนแรง ไม่ควรไปฆ่า และไม่ควรไปตั้งค่าหัวแล้วให้ชาวบ้านออกไปยิงไปตามล่าให้มัน เพราะว่าไปทำอย่างนั้นมันเหมือนเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ความรุนแรง ส่งเสริมให้ฆ่าสัตว์ ก็คือไม่เห็นด้วยกับการให้ยิงจระเข้และการตั้งค่าหัว ตาย”
ทั้งนี้เหตุดังกล่าว สามารถแจ้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงให้เข้ามาจัดการได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่าย นิคม เสนอแนะว่า
“หากชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือในการจับสัตว์ ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชพร้อมช่วยเหลือ สามารถประสานกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ หรือเจ้าที่องค์การสวนสัตว์ฯ เขาก็จะส่งทีมมาช่วยจับเป็น ซึ่งการจับของเขาถ้าจำเป็นจะยิงปืนยาสลบเท่านั้น จะมาช่วยจับให้ฟรีโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทางเจ้าหน้าที่อบต. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอีกหลายฝ่ายdHสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ และองค์กรสวนสัตว์ได้”
………
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่หลวงครั้งนี้เป็นทั้งกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องทุกๆ อย่างที่ต้องเร่งแก้ไข ในขณะที่ยังคงต้องดำรงอยู่ในวิกฤตก็ต้องมีสติ พร้อมกับความเมตตาต่อสัตว์โลกที่โดนศึกหนักเหมือนกันจะช่วยให้ผ่านจุดนี้ไปได้ก็คงเป็นเรื่องดี
>>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK