xs
xsm
sm
md
lg

ความรื่นรมย์ของ ‘เดือน วงษา’ ดอกไม้เหล็กต่อต้านการค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องราวของการค้ามนุษย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีอยู่จริงในสังคมไทย แต่ก็น้อยคนนักที่จะได้รับรู้ หรือเข้าไปใกล้ชิด อย่างมากก็อาจจะเคยเห็นเรื่องราวเหล่านี้มาบ้างในหนังในละคร ตอนที่มีฉากตำรวจบุกเข้าทลายซ่อง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกจับมาบังคับให้ค้าประเวณี แต่ในโลกของความเป็นจริง การบุกเข้าไปในซ่องหรือโรงงานนรก เพื่อช่วยเหลือเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง และฝ่ายธรรมะก็อาจจะถูกกระสุนของฝ่ายอธรรมเป่าได้ทุกเมื่อ

เดือน วงษา คือผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้พบเห็นฉากการทลายซ่องทลายโรงงานนรกจนชินตา และในบางครั้งเธอเองก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการช่วยเหลือเหยื่อออกมาจากขุมนรกการค้ามนุษย์ เคียงข้างชายอกสามศอกอีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะหลังจากช่วยเหลือเหยื่อออกมาได้แล้ว เธอก็ต้องเป็นคนแรกที่เข้าไปปะทะพูดคุยกับผู้เสียหาย ที่ทั้งหวาดกลัว...เสียขวัญ

ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะเธอดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการโครงการหน่วยประสานงานต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคเหนือตอนบน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ‘ทราฟคอร์ด’ (TRAFCORD) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือคนที่ตกเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบถูกขูดรีด และรวมถึงเด็กที่ได้รับการทารุณกรรมและล่วงเกินทางเพศ

ฟังๆ ดูมันช่างเป็นงานที่หนักหน่วงและเต็มไปด้วยความตึงเครียด จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่มีลักษณะบอบบางอย่างเดือน จะมีวิธีจัดการชีวิตของตนเองอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกพลังด้านลบและเรื่องราวแย่ๆ ที่เธอต้องพบเห็นจากการทำงานมากัดกินตัวเธอเอง

ในการทำงานที่ค่อนข้างจะหนักหน่วง ต้องเห็นภาพของความทารุณตลอดเวลา เครียดบ้างไหม
คือในการทำงานทุกอย่างมันก็ต้องเครียดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ยิ่งงานนี้มันเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนอื่น ในการทำงานเราต้องนึกถึงทั้งคนที่เราบุกเข้าไปช่วยและความปลอดภัยของทีมงานเราด้วย แต่เมื่อทำงานเสร็จแล้วความเครียดส่วนนี้ก็บรรเทาลงไปบ้าง

แล้วทำไมถึงสนใจเข้ามาทำงานนี้ ทั้งๆ ที่มันดูไม่น่าสนุกเลย
มันเป็นเรื่องที่เราถนัด และรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่ทำได้ เพราะตัวเองจบมาทางด้านกฎหมาย เลยคิดว่าน่าจะเอาความรู้ที่มีมาช่วยเหลือคน ถ้าตอบแบบง่ายๆ เลยก็คือรู้สึกชอบนั่นเอง ส่วนเรื่องของการเข้ามาทำมันน่าจะเป็นจังหวะของชีวิต คือหลังจากที่เพิ่งก้าวออกมาจากการทำงานในบริษัทข้ามชาติที่รู้สึกว่าอิ่มตัวแล้ว ก็ได้มาพบกับที่นี่ จากนั้นก็ลองเข้ามาทำ แล้วก็พบว่างานนี้...ใช่! ถ้าจะพูดให้ดูดรามามันก็คงเป็นเรื่องของฟ้าลิขิต

ลักษณะงานมีการออกไปลุยด้วย
เรียกว่าออกไปลงพื้นที่ดีกว่า ต้องออกตัวไว้ก่อนเลยนะว่า ไม่ได้ทำคนเดียว งานของเรานั้น เป็นการรับแจ้งเหตุ และเบาะแสเกี่ยวกับเรื่องของการค้ามนุษย์ หลังจากนั้นก็จะเป็นการเข้าไปสืบหาข้อเท็จจริง ถ้ามีข้อมูลเพียงพอก็จะประสานงานกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนและบุกเข้าไปช่วยเหลือ และจะต้องเข้าไปบุกยังที่ที่กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ เช่น สถานค้าประเวณี คาราโอเกะ

คล้ายๆ เป็นการสนับสนุนการทำงานของตำรวจ
ถ้าจะใช้ศัพท์เทคนิค มันเป็นการทำงานของกลุ่ม 'สหวิชาชีพ' ซึ่งหมายถึงคนหลายๆ อาชีพมาร่วมมือกัน ส่วนงานของทราฟคอร์ดก็คือ หลังจากที่มีการบุกเข้าไปช่วยเหลือแล้ว เราจะต้องการปกป้องดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหาย

แสดงว่าเป็นคนที่ต้องเข้าไปรับรู้เรื่องราวเลวร้ายโดยตรง
ใช่...เพราะการทำงานของเราคือการเข้าไปพูดคุยโดยเบื้องต้น เข้าไปสัมภาษณ์ข้อเท็จจริง อธิบายขั้นตอนการช่วยเหลือหลังจากนี้ นั่นทำให้มีโอกาสได้รับรู้รับฟังเรื่องราวโดยตรง

ได้ฟังเรื่องราวพวกนี้บ่อยๆ แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ประสบปัญหา แต่คนที่ทำงานด้านนี้มีหลักสำคัญอยู่ข้อหนึ่งว่า ต้องพยายามไม่อินไปกับคนที่เราเข้าไปช่วยเหลือ รู้สึกได้ไหมก็รู้สึกได้ แต่อย่าเศร้าจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้แล้ว ก็ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เช่นกัน

อย่างกรณีที่เลวร้ายมากๆ ที่เจอเป็นแบบไหน
ก็เป็นกรณีที่เหยื่อเสียชีวิต และมันมักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกล่อลวงมาค้าประเวณีแล้วต้องมาติดโรคเอดส์ ซึ่งเด็กเหล่านี้มีตั้งแต่อายุ 12 - 13 ปีเท่านั้นเอง มีทั้งหญิงและชาย ทั้งๆ ที่เด็กในวัยนี้น่าจะเป็นวัยที่มีความสุขตามอายุของเขา แต่เด็กที่โชคร้ายเหล่านี้ถูกจับมาขาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกเปิดบริสุทธิ์จากเจ้าของสถานประกอบการ ก่อนที่จะขายส่งต่อไปจนติดโรคในที่สุด และอีกไม่นานพวกเขาก็จะต้องเสียชีวิต

เด็กบางคนเราไปเจอเขาในช่วงที่สุขภาพไม่แข็งแรงแล้ว ก็ช่วยเขาออกมาและเยียวยากันไป จากนั้นไม่นานเราก็ได้ข่าวว่าเขาได้เสียชีวิตลง ก็เสียใจที่มาเจอเขาและมาช่วยเขาช้าไป

ถ้าช่วยผู้เคราะห์ร้ายไม่สำเร็จล่ะ
ถ้าไม่สำเร็จก็เก็บเป็นบทเรียน เพราะอาการอกหัก กับการทำงานไม่สำเร็จมันเกิดขึ้นเป็นประจำ ก็จะเก็บเอาประสบการณ์ที่มันไม่สำเร็จมาเป็นบทเรียน มาปรับใช้ในการทำงาน เพราะบางทีมันมีปัจจัยภายนอกมากระทบ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น บางทีมันมีการรั่วไหลของข้อมูล เป็นต้น

พอเลิกงาน ชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างไร
ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ เรามีการบริหารเวลาของตัวเองในแต่ละวัน โดยยึดหลักของการอยู่กับปัจจุบัน เวลาที่ทำงานสมาธิเราก็จะจดจ่ออยู่กับงาน แต่พอทำงานเสร็จแล้วปิดคอมพ์ เก็บเอกสารแล้ว กลับบ้านไปพัก จะให้เวลาแก่กิจกรรมที่เราทำ เช่น ให้เวลาแก่ครอบครัว คนที่เรารัก คนรอบตัว แล้วก็ให้เวลาแก่ตัวเอง

กิจกรรมที่นอกเหนือจากการทำงานของคุณ มีอะไรบ้าง
จริง ๆ แล้ว ใช้เวลากับการทำงานค่อนข้างเยอะ เพราะความรับผิดชอบเยอะ บางครั้งวันหยุดก็ยังคงทำงาน แต่โชคดีที่เป็นคนซึ่งสนุกกับการทำงาน ไม่ได้รู้สึกว่ามันมากดทับเรา ถ้ามีเวลาก็จะทำงานอดิเรก เช่น ถ่ายรูป ขับรถออกไปนอกบ้าน บางครั้งถ้ามีเวลานานก็ไปท่องเที่ยว ไปถ่ายรูป ก็เป็นวิธีการผ่อนคลาย ซึ่งอาจไม่บ่อยนัก
ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านนะในช่วงวันหยุด

ทำไมถึงเลือกการถ่ายรูปมาเป็นงานอดิเรก
เหตุผลก็เหมือนเดิม คือมันเป็นสิ่งที่เราชอบ เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อย้อนกลับไปมองว่า ทำไมถึงชอบถ่ายรูป ก็เพราะว่าเราชอบดูรูปในนิตยสารมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว บางครั้งก็จะตัดออกมาเก็บไว้ ซึ่งตอนที่ทำนั้นไม่รู้ตัวว่าชอบ

พอโตขึ้นมา ก็เลยถ่ายภาพมากขึ้น จริงจังกับมันมากขึ้น แล้วเราก็ชอบห้วงเวลาหรือโมเมนต์ที่เรากำลังกดชัตเตอร์ ชอบโมเมนต์ของตัวเองตอนที่มองผ่านเลนส์ ตอนที่ปรับโฟกัส จะรู้สึกว่าเราลืมทุกอย่างไป และสมาธิก็จดจ่ออยู่กับการถ่ายภาพ รู้สึกว่าการถ่ายภาพมันเหมือนการบำบัดตัวเองอย่างหนึ่ง มันเป็นการอยู่กับปัจจุบัน

ชอบตอนถ่ายมากกว่าการมานั่งดูผลงานของตัวเองหรือ
ใช่ มันเป็นสิ่งที่เราหลงใหล ไปถ่ายรูปข้างนอก ไม่กินข้าว กินน้ำ ก็ไม่เป็นไร คือไม่ได้เก่งหรอก แต่เวลาเรากำลังถ่ายรูป มันลืมทุกอย่าง ลืมงาน ลืมเรื่องส่วนตัว แล้วเราก็อยู่กับมันตรงนั้น

ส่วนใหญ่ถ่ายรูปอะไร
รูปธรรมชาติ รูปในเชิงวัฒนธรรม อะไรแบบนั้น

ทุกวันนี้งานถ่ายรูปเป็นงานอดิเรก ในอนาคตคิดว่าตัวเองจะเอาจริง เอาจัง กับมันมากขึ้นไหม
ความฝันอย่างหนึ่งของเรา ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะมีนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเอง แล้วก็อยากจะประมูลภาพ เพื่อเอาเงินไปช่วยเหลือคนอื่นคนต่อ อาจจะไปช่วยเหลือเด็กที่ทางทราฟคอร์ดทำโครงการอยู่

แต่ทุกวันนี้ คิดว่าตัวเราเองยังฝีมือไม่ถึง ก็ถ่ายเก็บไว้เรื่อยๆ ถ้าวันหนึ่งเรามีรูปที่เราพอใจมากพอก็คงจะลุกขึ้นมาทำอย่างแน่นอน

งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ค่อนข้างหนัก คิดว่ามีวันที่จะเกษียณตัวเองไหม
แน่นอน ปัญหาการค้ามนุษย์มันไม่มีวันที่จะหมดไปหรอก พูดจากความเป็นจริงนะ คิดว่าอาจจะต้องทำงานนี้ไปจนแก่จนเฒ่า แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีวาระของตัวเอง ที่ผ่านมาก็คิดเรื่องการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย แต่เรื่องเกษียณคงจะไม่ใช่ตอนนี้ เพราะยังมีกำลังวังชา แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยมือ เพื่อที่จะให้คนรุ่นหลังรับภารกิจนี้ต่อ ต้องมองถึงคนในเจเนอเรชันต่อไป

ที่ผ่านมาเรารับงานต่อมาจากรุ่นพี่ รุ่นป้า ที่ตอนนี้ตอนนี้เขาก็อายุมากกันแล้ว แต่ดูสิว่าปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์มันก็ไม่ได้หมดไปเลย

>>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : เอกชาติ ใจเพชร



กำลังโหลดความคิดเห็น