มาสร้างรอยยักให้สมองกันกับเกมฉลาดคิดอย่าง “หมากล้อม” เกมที่ผู้บริหารหลายคนต่างยอมรับว่าสามารถพัฒนาไอคิวได้เป็นอย่างดี ด้วยวิธีการเล่นที่สอนการจัดลำดับความคิดอย่างเป็นแบบแผน ยิ่งเล่นมากก็ยิ่งรู้มาก จึงเป็นสิ่งดีถ้าวันนี้หมากล้อมจะกลายเป็นเกมเริ่มต้นสำหรับเด็กไทยให้หันมาฝึกเล่นเพื่อสะสมความฉลาดกันให้หัวไบรท์แบบไม่รู้ตัว
หมากล้อม หรือโกะ (GO) เป็นกีฬาที่แสดงถึงอารยธรรมจีนที่มีมาช้านานกว่า 3,000 ปี ถือเป็นภูมิปัญญาตะวันออกที่เปี่ยมด้วยคุณค่าต่อการพัฒนาปัญญา ในสมัยอดีตนิยมเล่นกันในหมู่ผู้บริหารประเทศระดับฮ่องเต้ แม่ทัพนายกอง และปัญญาชนชั้นสูง
คนในวงการหมากล้อมรู้จักกีฬาชนิดนี้ตามเสียงภาษาญี่ปุ่นว่า “โกะ” จนกลายเป็นชื่อสากลภาษาอังกฤษเขียนว่า “GO” ในเมืองไทยคำว่า โกะ ก็เป็นชื่อที่แพร่หลาย แต่ชื่อทางการนิยมเรียกว่า หมากล้อม เพื่อให้เข้ากับการเรียกหมากกระดานชนิดอื่นๆ
ยิ่งเล่นมาก ยิ่งรู้มาก
ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนเล่นหมากล้อมกว่าล้านคน แต่คนที่เล่นอย่างจริงจังและฝีมือเทียบระดับผู้เชี่ยวชาญด้านหมากล้อม มีประมาณ 400 กว่าคน ซึ่งคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าไว้ว่าอยากได้คนที่ขึ้นดั้งซึ่งอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่น ประมาณ 1,000 คน และอยากให้เด็กไทยสนใจการเล่นหมากล้อมเพิ่มขึ้น
การเล่นหมากล้อมให้เก่งสำหรับผู้เริ่มเล่นใหม่ๆ เมื่อเริ่มเล่นแล้วต้องเล่นต่อไปเรื่อยๆ เพราะในขณะที่เล่นจะเป็นการฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ฉะนั้น ยิ่งเล่นมากก็ยิ่งรู้มาก และสามารถนำความรู้จากการเล่นหมากล้อมนี้มาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
หมากล้อมเป็นเกมที่ต่างจากหมากกระดานชนิดอื่นๆ มากพอสมควร แต่วิธีเล่นไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแต้มให้ได้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม ใครได้แต้มมากกว่าก็จะเป็นฝ่ายชนะ
เริ่มตั้งแต่วิธีการวางหมาก เม็ดหมากจะวางอยู่บนจุดตัดที่จุดใดก็ได้ของกระดานไม่ว่าจะเป็นกลางกระดาน เส้นขอบด้านข้างกระดาน หรือจุดมุมกระดาน เมื่อวางหมากแล้วห้ามย้าย หมากที่วางลงไปแล้วนั้นจะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เหมือนหมากรุกหรือหมากฮอร์ส และผลัดกันวางหมากคนละครั้ง ครั้งละ 1 เม็ดสลับกันไป เป้าหมายเพื่อได้พื้นที่บนกระดานมากกว่าอีกฝ่าย
การแย่งชิงพื้นที่บนกระดานโดยใช้หมากจับจองตามแนวเส้นบนกระดาน ซึ่งเรียกว่า “ลมหายใจ” ถ้าโดนล้อมทั้ง 4 ด้านจนหมดลมหายใจ แสดงว่าถูกกินหมากที่อยู่ด้านในจะต้องเสียแต้มให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยนับคะแนนจากจุดตัดภายในที่มีหมากล้อมอยู่ (จุดตัดที่ว่างอยู่บนกระดานคือพื้นที่ 1 จุด เท่ากับ 1 คะแนน) ยกตัวอย่างเช่น หมากดำมีการเดินล้อมพื้นที่และมีจุดตัดอยู่ภายในทั้งหมด 12 จุด จะถือว่าหมากดำมีคะแนนอยู่ 12 คะแนน
อ๊อฟ-ชลธิต รัตนเศรษฐ์ยุทธ นักกีฬาหมากล้อมทีมชาติไทย ฝีมือระดับ 6 ดั้ง เล่าถึงความชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ให้ฟังว่า ตอนแรกผมเล่นหมากรุกมาอยู่แล้ว แล้วพอมาเล่นหมากล้อมรู้สึกสนุกกว่า ผมชอบลอจิก (Logic) ของพวกหมากกระดานในการเล่น มันเหมือนกับว่าเราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์กับอย่างอื่นได้ด้วย เราสามารถจินตนาการว่าหมากล้อมเป็นอะไรก็ได้ อย่างสมมติว่าเล่นหุ้น เราสามารถจินตนาการว่ากระดานของเรานี้เป็นกระดานหุ้นแล้วก็เล่นตามแบบแผนวิธีการเล่นที่เขาได้กำหนดไว้
“ในขณะที่วางเราก็ต้องคิดแผนการไปด้วยว่าจะล้อมเขาได้อย่างไร เราต้องเดินให้ดีที่สุดสำหรับเรา เราต้องเล่นด้วยกลยุทธ์เพราะบนกระดานทุกครั้งที่เล่นเราต้องปรับเปลี่ยนเอาเอง คิดไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่มีอะไรตายตัว ผมชอบหมากล้อมในความเป็นอิสระของมันซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหมากล้อม”
มากกว่าเกมพัฒนา IQ
ปัจจุบันหมากล้อมแพร่หลายไปกว่า 60 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอิ่มสะดวกเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นผู้ก่อตั้งชมรมหมากล้อมแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่กีฬาหมากล้อมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย มีการจัดอบรมหมากล้อมขั้นพื้นฐานจนถึงระดับสูง นอกจากนี้ยังได้จัดการแข่งขันหมากล้อมและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการเล่นหมากล้อมแก่สมาชิก และผู้ที่สนใจ
“คนไทยเล่นหมากล้อมในเมืองไทยเยอะ แต่คนที่เล่นอย่างจริงจังไม่เยอะมากเพราะยังเป็นเกมที่ไม่แพร่หลาย แต่ผมคิดว่าอนาคตอาจมีคนเล่นเยอะกว่านี้ เนื่องจากเกมนี้เป็นเกมที่ผู้บริหารหลายคนเล่น อย่างเช่น คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ CEO เซเว่น อีเลฟเว่น ก็เล่น ผู้บริหารของประเทศญี่ปุ่นหลายๆ คนก็เล่น มันเป็นเกมที่มีเสน่ห์ และที่สำคัญคือได้ฝึกพัฒนาสมอง พัฒนาความคิดของเรา ตอนเล่นเราต้องคิดอาจจะเครียดบ้าง ไม่เครียดก็ไม่สนุก เหมือนคนที่ชอบทำโจทย์เลข ถ้าโจทย์ง่ายมันก็ไม่สนุก แต่ถ้าโจทย์ยากหน่อยเราเครียดนิดหนึ่ง มันก็สนุกขึ้น”
“หมากล้อมสามารถพัฒนาคนได้หลายด้าน และมีการพัฒนาหลายรูปแบบมาก อย่างเช่นการเปิดเกม เป็นการเริ่มพัฒนาทางด้านจินตนาการ ในบนกระดานที่กว้างมากเราต้องจินตนาการว่าเราต้องลงมุมไหน วางอย่างไรให้หมากสวยงามที่เขาเรียกว่าเป็นรูปลักษณ์ที่สวยงาม แต่มันก็แล้วแต่คนว่าอยากเล่นรูปร่างแบบไหน บางคนอาจวางห่างกันหรืออาจติดกันก็แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคนว่าชอบแบบไหน”
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการเริ่มเล่นจากมุมกระดานเป็นที่นิยมมากที่สุดเนื่องจาก การเล่นมุมมีพื้นที่ใหญ่กว่า ใช้ 2 เม็ดในการสร้าง ข้างกระดานใช้ 3 เม็ด และกลางกระดานใช้ 4 เม็ด แต่มันก็ไม่มีกฎตายตัวว่าทุกคนต้องเริ่มวางหมากที่มุมกระดาน อาจเริ่มจากตรงกลางหรือตรงข้างก่อนก็ได้แล้วแต่ผู้เล่น แต่การวางหมากที่ดีต้องให้เม็ดนั้นใช้ประโยชน์บนพื้นที่ได้มากที่สุด ถ้ามีเหตุผลรองรับเพียงพอและไม่มีเม็ดอื่นที่ดีกว่า แสดงว่าเม็ดนั้นเป็นเม็ดที่ดีที่สุด
“ต่อจากนั้นก็จะเป็นการสู้กันเพื่อแย่งพื้นที่กลางกระดาน เราก็ต้องจินตนาการอีกว่าลำดับเราเป็นยังไง เป็นการพัฒนาตรรกะทางด้านลำดับการวางหมากแต่ละอันๆ ว่าเราต้องเดินไปทิศทางไหนก่อน คือต้องเป็นลำดับที่ถูกต้อง หลายคนอาจคิดว่าลำดับไม่สำคัญ แต่เรื่องลำดับในหมากล้อมนี้สำคัญมาก ถ้าเราเดินลำดับไม่ถูกก็จะเสียเปรียบคู่แข่งได้
พอใกล้จบเกมเราจะรู้แล้วว่าพื้นที่ของเราและคู่แข่งมีเท่าไหร่ ต่อไปก็จะเป็นการปิดเกม ก็ต้องมาคิดคำนวณว่าตรงไหนมีแต้มเท่าไหร่บ้างเป็นการคิดเลขไปในตัว เป็นการฝึกทักษะในการคิดบวก ลบ คูณ หาร” สุดท้ายก็จะกลายเป็นผลสรุปเกมว่าใครมีแต้มเยอะกว่าก็ชนะไป
“เราอาจจะมองว่ามันเป็นกระดาน 361 จุด แต่เมื่อเล่นแล้วเกิดการกินแล้วถูกหยิบออกไป หมากตัวใหม่สามารถลงเม็ดแทนที่ได้อีก ฉะนั้น ความน่าจะเป็นของโกะนั้นมหาศาลมาก จึงมีหลายคนบอกว่าเล่นกี่ครั้งก็ไม่เหมือนกระดานเดิม และยิ่งถ้าเราเป็นคนแพ้พอเล่นอีกก็คงไม่เล่นเหมือนเดิม”
สิ่งที่เห็นชัดเจนของหมากล้อมคือการได้สมาธิ ได้ความสงบนิ่ง แต่ก็ต้องพัฒนาในส่วนของการเรียนรู้ไปด้วย เมื่อเราเข้าใจในหมากล้อมก็จะรู้ว่าเป็นเกมที่มีเสน่ห์อย่างมาก หมากล้อมสามารถตอบโจทย์ตัวเองได้โดยนำมาผนวกใช้ในชีวิตประจำวันว่าเราเล่นแล้วได้อะไร
บริหารธุรกิจด้วยปรัชญาหมากล้อม
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างหมากล้อมและหมากรุก ซึ่งต่างก็เป็นเกมเดินหมากกระดานเหมือนกัน เพียงแต่หมากล้อมจะไม่มีการเลื่อนเหมือนหมากรุก ผู้เล่นเมื่อวางแล้วต้องวางเลยและเพิ่มเม็ดไปเรื่อยๆ จึงมีกลวิธีการเล่นที่แตกต่างกันในการต่อยอดกระบวนการคิด อ๊อฟ บอกว่าหมากรุกเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่า แต่ในส่วนของหมากล้อมจะเป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างสิ่งที่ยังไม่มี
“เมื่อเทียบกับหมากรุกที่ความน่าจะเป็นมันน้อยกว่าที่จะเกิดขึ้นในกระดาน และอีกอย่างหนึ่งคือเราต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อทำลายเขา สมมติว่าเราต้องการปรับมาใช้กับชีวิตจริงของเรา ผมยังตอบโจทย์ของตัวผมเองไม่ได้ในการเล่นหมากรุก แต่หมากล้อมมันตอบโจทย์ตัวเราได้ คือใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างสิ่งที่ยังไม่มี”
“สมมติว่าเราต้องการเล่นหุ้น เราต้องกระจายหุ้นกี่ตัวเพื่อลดความเสี่ยง การเล่นหมากล้อมมากกว่า 5 กลุ่มก็ไม่ดีแล้ว เล่นกลุ่มเดียวดีที่สุด แล้วถ้าเราลงหุ้นไป 5 ตัว ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นไหม จึงเป็นการนำมาปรับให้เข้ากับชีวิตจริงของเราได้ เป็นการใช้ทรัพยากรที่ยังไม่มีเพื่อให้มีขึ้นบนพื้นที่กระดาน ฉะนั้นทั้งหมากล้อมและธุรกิจจำเป็นต้องเดินให้เป็น 1 2 3 4 5 6... ตามลำดับ
จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ในส่วนของหมากรุกยังตอบโจทย์ตัวนี้ไม่ได้ ผู้เล่นหลายคนหลงเสน่ห์การเล่นที่ไม่มีวันจบของหมากล้อม ทั้งยังสนุกในทุกครั้งที่เริ่มวางหมาก ยิ่งเล่นเก่งก็ยิ่งสนุก”
ตอนนี้อ๊อฟมีฝีมืออยู่ที่ระดับ 5 ดั้ง ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านหมากล้อม การเพิ่มระดับดั้ง เริ่มต้นจาก 30 คิวก่อนแล้วจะไล่ลงมาถึง 1 คิว เมื่อพอถึง 1 คิวแล้วก็จะต้องสอบเป็นดั้ง หลังจากที่สอบได้ 1 ดั้งแล้วจะเหมือนเป็นการแข่งเพื่อเก็บแต้มให้ได้ระดับหนึ่ง จึงต้องไปสอบต่อเป็น 2 ดั้ง 3 ดั้ง 4 ดั้งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ การได้ดั้งถือว่าเป็นระดับจากมือสมัครเล่นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านหมากล้อม
“คนส่วนใหญ่จะเล่นมีฝีมือในระดับ 8 คิว ในช่วงนั้นจะยังไม่ค่อยสนุกเพราะกระดานมันใหญ่มาก มันรู้สึกเวิ้งว้าง คือคนปกติจะชอบอะไรที่เราต้องการ คุณต้องเดินตัวแถวๆ นี้ ตรงนี้ ต้องเลือกสักอัน แต่หมากล้อม พอคุณหยิบมาหนึ่งเม็ดแล้วให้วางตรงไหนก็ได้ พื้นที่บนกระดานมันกว้างมากจึงเริ่มไม่สนุก แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ จะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของมันว่าคุณต้องทำอย่างไรต่อไป แล้วจะสนุกขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งพอถึง 1 ดั้ง ก็จะเริ่มรู้มากขึ้น ยิ่งเพิ่มดั้งมากก็จะรู้มากกว่าดั้งที่ต่ำกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าฝีมือ 5 ดั้งจะชนะฝีมือ 4 ดั้งเสมอไป แพ้-ชนะอาจเป็นไปได้เสมอ”
6 ดั้ง ฝีมือขั้นเทพในไทย
ตอนนี้คนที่มีระดับฝีมือสูงที่สุด ได้แก่ อาจารย์ โฆษา อารียา และ ฤทธิ์ เบญจฤทธิ์ บุคคลทั้งสองมีฝีมืออยู่ระดับ 6 ดั้ง ซึ่งถือว่าสูงสุดในเมืองไทย
“อาจารย์ โฆษา อารียา ซึ่งเป็นอาจารย์ของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ตอนนี้อยู่ประเทศญี่ปุ่น และอีกคนคือ ฤทธิ์ เบญจฤทธิ์ จบชั้นมัธยม โรงเรียนอัสสัมชัญเหมือนกัน แต่ตอนนี้เขาได้ไปเรียนต่อหมากล้อมที่ประเทศจีน
ส่วนฝีมือรองลงมาระดับ 5 ดั้ง ได้แก่ คุณก่อศักดิ์ ท่านเหมือนกับเป็นพ่อของหมากล้อม เพราะว่าท่านสร้างสมาคมหมากล้อมมาตลอด 20 ปี ไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่ แต่ท่านเห็นคุณค่าในหมากล้อม เราจะเห็นว่าคุณก่อศักดิ์เป็นคนที่เก่งมากในด้านธุรกิจและเป็นคนที่หาตัวเจอยากมาก แต่จะหาตัวไม่ยากเลยในชมรมหมากล้อม เพราะท่านจะมาเล่นเกือบทุกวัน ผมเคยเล่นกับท่านอยู่ครั้งเดียว ตอนนั้นท่านเป็นคนสอบดั้งให้ เราก็ดีใจได้สอบกับคุณก่อศักดิ์ เวลาสอบจะเหมือนกับการประชันฝีมือกันแต่ท่านต่อให้เรา 5 เม็ด”
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อ๊อฟได้เป็นตัวแทนนักกีฬาหมากล้อมทีมชาติไทยไปแข่งขัน The 32nd World Ameteur Go Championship Shimane Tournament ครั้งที่ 32 ณ ประเทศญี่ปุ่น สามารถคว้าอันดับที่ 11 มาครองได้จากทั้งหมด 58 ประเทศ เป็นสถิติที่ขึ้นไปเทียบเท่าผลงานที่ดีที่สุดของนักหมากล้อมไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่สร้างไว้โดย อาจารย์โฆษา อารียา ในอันดับที่ 11 เช่นกัน
“การแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา ผมได้ที่ 11 เท่ากับอาจารย์โฆษา เมื่อหลายปีที่แล้ว ตั้งแต่หมดรุ่นอาจารย์โฆษาไป หมากล้อมเมืองไทยยังไม่มีใครพัฒนาถึงขนาดนี้ พอมาถึงรุ่นผม หมากล้อมไทยพัฒนามาเป็นลำดับขั้น เราคิดว่าคงจะได้ระดับ 1-10 ได้แล้ว เพราะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยส่วนตัวก็ผิดหวังกับตัวเองนิดหน่อย (หัวเราะ) ผมก็อยากได้ในอันดับที่ 1-10 อะไรอย่างนี้ อยากทำให้ประเทศดูดีขึ้น แต่มาได้เบสต์ 11 เหมือนเดิม มันก็ไม่ได้ไปไหนแต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราเริ่มกลับมาที่จะเป็นท็อปเท็นได้อีก”
“เราได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจ เพราะครั้งหนึ่งในชีวิตเราเคยทำให้ประเทศไทย เหมือนเป็นตัวแทนได้เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ ฉะนั้น ต้องทำให้ยิ่งใหญ่ ถ้าไปแล้วได้ที่ 58 มา ผมไม่ได้เสียใจหรอก ต่างชาติไม่ได้บอกว่า ชลธิต รัตนเศรษฐ์ยุทธ ได้ที่ 58 มาแต่เขาพูดว่าประเทศไทยได้ที่ 58 มา คือคนที่เสียคือประเทศ ไม่ใช่เรา เราจึงอยากได้ที่มันดีขึ้นแต่ก็ยังสู้ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะเขาเก่งกว่าและเล่นมาก่อนเราเยอะ พอเราเล่นถึงระดับทีมชาติแล้วเราก็ต้องพัฒนาให้มากขึ้น”
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหมากล้อมมักจะบอกว่า หมากล้อมไม่ใช่กีฬาที่เล่นเพื่อให้เป็นแชมป์ ถ้าต้องการเล่นให้เป็นแชมป์เมื่อไหร่ก็ไม่ได้เป็นแชมป์หรอก แต่ถ้าเล่นให้สนุกเพื่อการพัฒนาความคิดและทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราเล่นได้ นั่นแหละคุณเป็นแชมป์ให้กับตัวเอง เมื่อพอเล่นให้ดีที่สุดแล้วมันจะเก่งขึ้นเอง เพราะฉะนั้นทำอะไร ทำให้มันดีที่สุด
วิธีการเล่นหมากล้อมแบบง่ายๆ
กระดานขนาดมาตรฐานทั่วไปเรียกว่ากระดาน 19 เส้น แต่สำหรับผู้เริ่มเล่นควรหัดเล่นจากกระดาน 9 เส้น นอกจากนี้ยังมีกระดานขนาดกลาง 13 เส้น ให้เลือกเล่นได้อีกด้วย
1. เริ่มตั้งแต่วิธีการวางหมาก เม็ดหมากจะวางอยู่บนจุดตัดที่จุดใดก็ได้ของกระดานไม่ว่าจะเป็นกลางกระดาน เส้นขอบด้านข้างกระดาน หรือจุดมุมกระดาน (หากใครได้เป็นฝ่ายดำจะได้เดินก่อน ส่วนหมากขาวได้เดินทีหลังแต่จะได้แต้มต่อ 6.5 แต้ม)
2. สลับกันวางทีละเม็ด
3. ถ้าฝ่ายใดโดนล้อมทั้ง 4 ด้านจนหมดลมหายใจ แสดงว่าถูกกินหมากที่อยู่ด้านในจะต้องเสียแต้มให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือเป็นการเสียพื้นที่นั่นเอง (เส้นจุดตัดที่ว่างอยู่บนกระดานคือพื้นที่ 1 จุด เท่ากับ 1 คะแนน)
4. สามารถวางหมากแทนที่เม็ดที่ถูกดึงออกไปได้อีก
5. สลับกันวางหมากต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าพื้นที่จะถูกจับจองทั้งหมดและไม่สามารถกินแต้มกันได้แล้ว จะนับคะแนนโดยที่ใครได้แต้มมากกว่าก็จะเป็นฝ่ายชนะไป
ใครสนใจอยากเรียนคอร์สหมากล้อมเป็นเรื่องเป็นเราว สามารถเข้าไปสมัครได้ที่สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย หรือดูรายละเอียดที่ www.thaigojournal.com
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ