xs
xsm
sm
md
lg

“พวงมาลัยดอกดาวเรือง” วัฒนธรรมโชว์พาว...การเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องราวของพวงมาลัยดอกดาวเรืองกับนักการเมืองไทย ดูเหมือนจะเป็นของคู่กันและคงขาดสีสันเหลืองอร่ามนี้ไปไม่ได้ ที่เคยผ่านตามาหลายคนคงเคยเห็นนักการเมืองบางคนถูกคล้องพวงมาลัยดอกดาวเรืองจนเกือบมิดหัว หรือไม่ก็คล้องแขนจนถึงหัวไหล่ บางคนเชื่อว่ากระแสความนิยมของดอกดาวเรือง มาพร้อมกับคะแนนนิยมของพรรคและตัวนักการเมืองเอง ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ต่างก็นำพวงมาลัยดอกดาวเรืองมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

แม้การเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปแล้ว การใช้ดอกดาวเรืองอาจจะลดน้อยลงตามลำดับของความต้องการ แต่ล่าสุดในวันรายงานตัวต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาสดๆ ร้อนๆ หรือ ส.ส. ใหม่ เข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งแรก ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2554

ก็มีข่าวรายงานว่า ทางเจ้าหน้าที่สภาฯ ได้เตรียมพวงมาลัยดอกดาวเรืองมาใช้เพื่อรอต้อนรับกันอย่างถ้วนหน้า แม้งานนี้ พิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะรีบออกตัวปฏิเสธว่าไม่ได้เตรียม เพราะหน้าที่ของสภาฯ ก็คือการเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่และเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นในการต้อนรับ ส.ส.ใหม่เท่านั้น

แต่สุดท้ายเรื่อง ดอกดาวเรืองกับการเมือง ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่ดี เพราะฉะนั้นงานนี้จึงจะขอหยิบกระแสความนิยมของดาวดอกเรืองในช่วงที่การเมืองกำลังเข้มข้นอยู่ขึ้นมาพูดสักหน่อย ว่าจะฮอตฮิตจริงอย่างที่ว่าหรือเปล่า

ดาวเรืองบูมหนัก รับเลือกตั้ง-การเมือง
จุดหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยัน ก็ผลสำรวจ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ดอกดาวเรือง ดอกไม้ที่ทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงเลือกตั้ง โดยศูนย์วิจัยกสิกรประมาณการว่า ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 จะทำให้ธุรกิจมีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 53 ล้านบาท และคาดว่า จะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นกว่าการเลือกตั้งปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งตามสถานที่ต่างๆจะเห็นดอกดาวเรืองอยู่บนคอผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทบทุกคน เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 5 พวงต่อวัน

จากปากคำของ วรรณวิษา ศรีรัตนะ เจ้าหน้าที่วิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย อธิบายถึงความน่าสนใจในการเลือกซื้อดอกดาวเรืองในตลาดปากคลองตลาดว่า ช่วงเลือกตั้งดอกดาวเรืองถูกใช้มากกว่าช่วงวันสำคัญทางศาสนาเสียอีก และไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะมีการขยับราคาดอกเรืองสูงขึ้นกว่าปกติ

“พวงมาลัยดอกดาวเรืองจะใช้ในวันพระ แต่ใช้ไม่มาก พวงมาลัยหนึ่งพวงอาจจะใช้แค่ 1-2 ดอก แต่พวงมาลัยคล้องคอให้นักการเมืองในช่วงเลือกตั้งต้องใช้ปริมาณที่เยอะ ทำให้ปริมาณดอกดาวเรืองขาดแคลนมากกว่าช่วงปกติ ซึ่งจากที่สอบถามมาจากพ่อค้าแม่ค้าที่ปากคลองตลาดแล้วก็มีความขาดแคลนริงๆ และมีการขายได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นผลสำรวจที่บ่งชี้ราคาขายหรือความต้องการในตลาดของทั้งประเทศ

“โดยกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกลุ่มหัวคะแนน ส่วนของประชาชนในกรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้ชัดเจนมาก แต่ว่าถ้าเป็นตามต่างจังหวัดเวลานักการเมืองไปหาเสียง พวกประชาชนที่นิยมชมชอบก็จะนำพวงมาลัยมาคล้องคอกัน แต่ในกรุงเทพอาจจะไม่ได้มีการต้อนรับด้วยดอกดาวเรืองเพียงอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม แม้ทางศูนย์วิจัยฯ จะยืนยันเช่นนั้น แต่ทว่า เล็ก หนึ่งในแม่ค้าร้านของดอกดาวเรืองขนาดใหญ่ ในย่านปากคลองตลาดกลับบอกว่า การเลือกตั้งแทบไม่มีผลใดๆ ต่อการขายดอกดาวเรืองแต่อย่างใด ช่วงที่มีผลต่อราคาดอกดาวเรืองกลับเป็นช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนา

“ช่วงที่ขายดีกว่าปกติจะเป็นก่อนวันโกนหนึ่งวัน วันโกน และวันพระ แต่การเลือกตั้งไม่มีผลขายดี เพราะว่าคนที่ซื้อไปเป็นพวงมาลัยคล้องคอน้อยมาก แล้วราคาดาวเรืองช่วงนั้นก็ปกติ ช่วงที่ราคาขึ้นจริงๆ คือช่วงนี้จะตรงกับวันพระใหญ่ ช่วงเข้าพรรษา อย่างช่วงนี้ดาวเรืองแพงมาเป็นอาทิตย์แล้ว

จุดเริ่มแรกระหว่างดาวเรืองกับนักการเมืองไทย
พอเห็นถึงความนิยมของดอกดาวเรืองในธุรกิจกันไปแล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นประเด็นที่ใครต่อใครตั้งข้อสงสัยอยู่ใจก็คือ ทำไมจู่ๆ ดอกดาวเรืองถึงมาปรากฏกายในสนามการเมืองได้

“สมัยก่อนเวลาผมไปฟังไฮด์ปาร์ก ก็ไม่เคยเห็นมีการใช้ดอกไม้ อย่างยุคของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม หรือพรรคเก่าๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้ดอกไม้กัน ไม่ทราบว่าทำไมถึงใช้ดอกดาวเรืองกันมากในทางการเมืองปัจจุบัน” นั่นคือปากคำของผู้ติดตามวงการเมืองอย่างเชี่ยวกร่ำอีกคน อย่าง รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่หากถ้าสันนิษฐาน จุดกำเนิดเริ่มแรกที่พอจะจำได้ ก็อยู่ในช่วงที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ก่อตั้ง “พรรคความหวังใหม่” ขึ้นในปี 2533 และมีการใช้ดอกดาวเรืองนี้เป็นอุปกรณ์สำคัญเวลาที่ผู้สมัครรณรงค์ขึ้นเวทีก็จะมีการคล้องพวงมาลัยดอกดาวเรืองให้

โดยเหตุผลนั้น อาณัติ มาเทศ ผู้สื่อข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน ให้ข้อสังเกตว่าน่าจะมาจากหลายๆ สาเหตุ เช่น ดอกดาวเรืองสามารถสื่อความหมายในการแสดงความยินดีได้ และหากให้ไปเปรียบเทียบกับดอกมะลิ ดาวดอกเรืองก็มีขนาดใหญ่กว่า สีสันสวยงามกว่ามาก

“มันมีตลอดนั่นแหละ อย่างเมื่อก่อนก็มี พวงมะลิ พวงมาลัย มันก็ดูเล็กเกิน มันก็เลยมองไม่ค่อยเห็น พอเป็นดอกดาวเรืองมันก็เลยใหญ่ พอช่วงที่ บิ๊กจิ๋ว (พล.อ.ชวลิต) ก็ตั้งพรรคความหวังใหม่ขึ้นมา แล้วสัญลักษณ์ของพรรคคือ ดอกทานตะวัน ซึ่งมันเป็นดอกไม้อย่างหนึ่ง แต่ดอกนั้นมันใหญ่เกินไปที่จะทำเอาทำพวงมาลัย เขาก็เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นพวงดอกดาวเรืองแทน และพวกหัวคะแนนก็คงชอบด้วย”

และนี่ก็คือ ความผูกพันก้าวแรกระหว่างการเมืองและดอกดาวเรือง ก่อนที่จะขยายตัวอย่างใหญ่หลวง จนกลายเป็นเรื่องปกติของวงการในปัจจุบันไปเสียแล้ว เพราะหากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่าเวลาบรรดานักการเมืองไม่ว่าพรรคไหน จังหวัดใด ก็มักจะมีพวงมาลัยดอกดาวเรืองเป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ

ดาวเรือง ดอกไม้แห่งการบูชา
แม้ปัจจุบันนี้จะมีการใช้ดาวดอกเรืองไปคล้องคอนักการเมืองอย่างมหาศาล แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ก็จะพบว่า สถานที่แห่งหนึ่งที่มักจะพบว่า พ่อค้าแม่ค้าดาวเรืองทำเงินมากสุด เห็นจะไม่มีที่ไหนเกินรูปเคารพของเหล่าเทวรูปฮินดูไปได้

“การที่ดอกดาวเรืองได้รับความนิยมในการใช้บูชาเทพ ก็เพราะมันไม่ค่อยมีปัญหากับเทพทั่วๆ ไป แต่กับดอกไม้หรือใบไม้บางอย่างนั้น ห้ามสำหรับบางองค์ ประกอบกับมันเป็นดอกไม้ที่ราคาถูก หาง่ายด้วย อีกทั้งมันยังมีสีที่เป็นมงคล (สีขาว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ถือเป็นสีมงคลของชาวฮินดู)”

คือคำอธิบายของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทพเจ้าฮินดู ถึงของบูชาเทพที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูที่รากเหง้า อย่างประเทศอินเดีย ก็จะพบว่ามีการใช้ดอกดาวเรืองในการบูชาเทพอย่างกว้างขวาง เพราะตามหลักของฮินดู จะใช้สีดอกไม้ (ดอกอะไรก็ได้) อยู่ 4 สี คือขาว เหลือง ส้ม และแดง ซึ่งดอกดาวเรืองก็เป็นอยู่ในกลุ่มนั้นพอดี

“ดอกดาวเรืองมีสีเหลือง ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระวิษณุและเทพที่เป็นอวตารของพระวิษณุ เพราะสีประจำองค์ของพระวิษณุนั้นเป็นสีเหลือง ซึ่งนอกจากจะบูชาด้วยดอกดาวเรืองสีเหลืองแล้ว ก็จะมีการบูชาด้วยใบกะเพราด้วยอีกอย่างหนึ่ง”

และจากความเชื่อเหล่านั้น บวกกับปริมาณการผลิตที่มาอย่างไม่จำกัด จึงไม่ต้องแปลกใจไปเลยว่า ทำไมดอกดาวเรืองจึงติดอันดับดอกไม้ขายดีเวลาบูชาเจ้า

"ดอกดาวเรืองเก็บได้ทั้งปี หาได้ง่าย ขณะที่ดอกไม้อื่นๆ ก็เป็นไปตามฤดูกาล ที่สำคัญสาเหตุที่คนใช้เยอะ ก็น่าจะมาจากท้ายคือ คำว่า 'เรือง' นั้นเป็นคำที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง แสดงความรู้สึกให้ดี และเหมาะกับการบูชาเทพไม่ว่าองค์ไหนก็ตาม ซึ่งตรงนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น อย่างในเอเชียหลายๆ แห่งก็มี เพราะมันปลูกง่ายเหมือนกันหมด อย่างอินเดียอันนี้ชัดๆ ที่นิยมจัดดาวเรืองไปบูชา ดอกอื่นๆ ก็มีแต่ไม่มากเท่าดาวเรือง" พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ สำนักพระราชวัง อธิบาย

อย่างไรก็ดี ความหมายของดอกดาวเรืองนี้ ไม่ใช้ถูกใช้จำกัดเฉพาะเทพเจ้าเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้กับคนที่เราเคารพ รัก หรืออยากให้เกียรติด้วย เช่น เวลาไปไหว้ครู ก็มีการนำดอกไม้ไปไหว้ครู หรือแขกที่เข้ามาเยี่ยมเยียนก็มีการนำดอกไม้มาให้ เพื่อแสดงความรู้สึกเป็นไมตรี หรือให้เป็นความรู้สึกที่ดี

                                              ……….

ใครๆ ก็มักจะบอกว่า จุดเด่นของดอกไม้คือความสวยงาม และสร้างความรู้สึกดีให้เกิดขึ้นได้ ไม่เชื่อก็ลองกลับมาดูที่ปรากฏการณ์การใช้ดอกดาวเรืองในมิติทางการเมือง ดูก็ได้ เพราะอย่างที่ทุกคนคงทราบว่า แวดวงนี้มันน้ำเน่ายิ่งกว่าคลองแสนแสบเสียก่อน

แต่อย่างน้อย ดอกไม้สีสวยๆ ดอกใหญ่ๆ อย่างดาวเรืองก็ยังสามารถสร้างบรรยากาศดีๆ ให้กลับมาได้บ้าง แม้ว่าจะงานนี้จะลำบากสักหน่อยก็ตาม เพราะนักการเมืองสวมพวงมาลัยดอกดาวเรืองเมื่อไหร่ นานไปก็เป็นดอกดาวโรยเสียทุกคนไป...
 
 

>>>>>>>>>>
..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น