อารมณ์นั้นเปรียบดั่งลาวาที่เดือดอยู่บนภูเขาไฟ เมื่อถูกปลุกเร้าจากสภาวะแวดล้อมรอบกายมากขึ้นๆ ก็พร้อมจะระเบิดออกมาผลาญทุกสิ่ง ถ้ามองภาพในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพมหานครก็จะพบว่า ลาวาของแต่ละคนนั้น พลุ่งพล่านกันอย่างเต็มที่ และจุดเดือดของอารมณ์ที่ไร้การควบคุมนี้เองก็นำมาซึ่งเหตุอาชญากรรม
สะท้อนถึงภาวะอีคิวต่ำ (E.Q. - Emotional Quotient คือความฉลาดทางอารมณ์) ที่ทำให้คนมีระดับความอดทนลดลง กลายเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ กระทั่งนำไปสู่พฤติกรรมที่แสดงออกอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะที่เห็นได้บ่อยๆ ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เหตุการณ์เบาๆ อย่างเหตุทะเลาะวิวาทกันบนท้องถนนเพราะบีบแตรไล่กัน, การดื่มสุราและเกิดการทะเลาะวิวาท ฯลฯ หรือเหตุร้ายแรงที่ถึงขั้นเอาชีวิตเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ อย่างเช่นกรณีนายทหารท่านหนึ่งตั้งใจขับรถพุ่งชนแพทย์หญิง เพราะเกิดความเครียดจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ หรืออย่างกรณีไฮโซหนุ่มขับรถยนต์ไล่บี้คนเดินถนนริมฟุตบาธจนถึงแก่ชีวิต ฯลฯ
จากการสำรวจสุขภาพจิตคนกรุงเทพฯ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำการสำรวจจาก 100,000 คนทั่วประเทศ ในปี 2551-2553 เผยว่าผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทยทั่วภูมิภาคล้วนมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นชาวกรุงเทพมหานครมีความสุขลดลงต่อเนื่องกันถึง 3 ปี
กลายเป็นตัวบ่งถึงภาวะ E.Q. ของชาวกรุงว่าเข้าข่ายวิกฤติและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตมากขึ้น ซึ่งดูจากคดีที่มีความรุนแรงก็ล้วนเกิดโดยฝีมือคนเมืองแทบทั้งสิ้น
เจาะเบื้องหลังการสำรวจสุขภาพจิตคนไทย
แน่นอนว่าชนวนเหตุที่พบนั้นก็เริ่มมาจากตัวบุคคลเอง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเกิดจากสภาพแวดล้อมรอบกาย นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า การวัดสุขภาพจิตของผลสำรวจดังกล่าวจะใช้ 4 ประเด็นในการวัดเพื่อให้ได้ผลที่มีความสมดุลกัน
“ประเด็นแรกคือเราวัดจากเรื่องสถานะทางจิตใจ เรื่องอาการซึมเศร้าต่างๆ ส่วนในประเด็นที่สองวัดจากเรื่องของความสามารถทางจิตใจว่าสามารถรับมือในความเปลี่ยนแปลง การจัดการความเครียด การมองโลกในแง่ดีแค่ไหน ในประเด็นที่สามคือวัดคุณภาพของจิตใจ การยินดี อยากช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในภาวะยากลำบาก วัดว่าเราเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ มีจิตการกุศลช่วยเหลือคนอื่นหรือเปล่า ส่วนประเด็นสุดท้ายวัดจากเรื่องสภาพแวดล้อมครอบครัว ฉะนั้นมันจึงเป็น 4 ประเด็นที่สมดุลกันอยู่ เพื่อให้รับรู้ว่าภาพรวมบุคคลนั้นมีสุขภาพจิตอย่างไร”
ซึ่งสถิติที่ประกาศออกมานั้นเป็นการสุ่มสำรวจจากอาสาสมัครทั้ง 77 จังหวัดประเทศ นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจนั้นเบื้องต้นก็จะมีการนำมาพัฒนากลยุทธ์เพื่อหวังจะให้สภาวะทางอารมณ์ของชาวเมืองในแต่ละจังหวัดให้อยู่ระดับที่ดียิ่งขึ้น
“ทางเราก็เผยแพร่ข้อมูลอยู่เป็นระยะว่า ทำยังไงจะให้ดีขึ้น มีทางเลือกหลากหลายประการที่จะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้แค่ทำไม่กี่เรื่องโดยที่ไม่ต้องทำทุกเรื่อง ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดบอกว่าจังหวัดใดมีจุดอ่อนตรงไหน เพราะใน 4 ประเด็นนั้นแต่ละจังหวัดจุดอ่อนจะไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนจะต้องทำเหมือนกัน นี่คือเรื่องของสังคมชุมชน และตัวบุคคลถ้ารู้สึกว่ามีปัญหาความสุขต่ำกว่าคนทั่วไป ก็ควรจะพัฒนาความสามารถในทางจิตใจเรื่องของความดีงานของจิตใจ”
เรื่องของสุขภาพจิตนั้นคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกินกว่าจะให้ออกกฎหมายมาควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ฉะนั้นคงถือเป็นสภาวะฉุกคิดที่ทุกฝ่ายต้องเร่งตระหนักเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงจากลาวาอารมณ์นี้ได้อีก
คดีเยอะขึ้น ตำรวจก็เดือดร้อนจากคนกรุงอีคิวต่ำ
จากเสียงของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่าง พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ยอมรับว่า ปัจจุบันคนจำนวนมากมีความอดทนน้อยลง สัมผัสได้จากเหตุการณ์หลายๆ กรณี เช่น ปัญหาเรื่องการจราจรเล็กๆ ก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกาย การดื่มสุราแล้วทะเลาะกันเรื่องเล็กๆ แล้วจบท้ายด้วยการทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่ปัญหาครอบครัวเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกขยายขึ้นมาจนนำมาสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น
"ต้องยอมรับว่า ใน 3-4 ปีหลัง มีการยกระดับของปัญหาอาชญากรรมขึ้นมาเยอะมาก ทั้งๆ ที่ดูแลปัญหาบางอย่างก็น่าจบได้ง่าย คดีจราจรเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยว่า คนจะยอมกันได้น้อยลง และนอกจากนี้ยังมีเรื่องการทะเลาะวิวาท หรือเรื่องของการเมืองก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ถ้าถามว่าสาเหตุมาจากการลดลงของอีคิวในคนในเมืองหรือเปล่านั้น ผมมองว่าก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะอีคิวมันก็ถือเป็นเรื่องที่กว้างเกินไป แต่ถ้าเราเจาะลึกๆ ปัญหาหลักน่าจะเป็นความอดทนที่น้อยลง"
ซึ่งพอเกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นมามากๆ การแก้ไขปัญหาก็ทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมีหลายครั้งที่ตำรวจจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ซึ่งบางครั้งก็สำเร็จ บางครั้งก็ไม่สำเร็จ และก็มีอีกหลายครั้ง ที่ตำรวจได้รับลูกหลงจากปัญหาความอดทนที่น้อยลงของประชาชนไปด้วย
กรณีศึกษาซ้ำซาก
“ลูกศิษย์ของดิฉันที่เป็นตำรวจยังถูกยิงตายเลย เพราะว่าไปเป็นพูดจาสอนพลตำรวจที่ยศต่ำแต่อายุมากกว่า พอถึงจุดๆ กลับหนึ่งกลับถูกยิงตาย เพราะนายตำรวจผู้นั้นเขาควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และไม่ใช่ว่าลูกศิษย์ของดิฉันจะไม่ดี เชื่อว่าเขาพูดด้วยความหวังดีแต่คนเขารับไม่ได้ เพราะมองคนละมุม”
อีกตัวอย่างหนึ่งของบุคคลที่ขาดการควบคุมทางอารมณ์จนเกิดเป็นเหตุสลดใจของ รศ.สุพัตรา สุภาพ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพแวดล้อมนั้นเป็นตัวยั่วยุให้คนในปัจจุบันขาดการควบคุมทางด้านอารมณ์
ทั้งนี้ เราสามารถเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ได้ตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อที่จะรู้จักควบคุมตนเองให้พ้นจากสิ่งเร้ารอบข้าง และจัดการปัญหาโดยใช้ปัญญามากกว่าอารมณ์ รศ.สุพัตรา กล่าวว่า การบริหารอารมณ์นั้นมีอยู่หลายปัจจัย ทั้งอยู่ที่ตัวเรา คนอื่น และสิ่งแวดล้อม แต่หลักๆ เลย ถ้าใครก็ตามที่ได้รับความรักความอบอุ่นจากบ้าน จากโรงเรียน จากเพื่อน เขาก็จะไม่ค่อยทำผิด จะมีสุขภาพจิตที่ดีบริหารอารมณ์ของตัวเองได้
“ทุกคนเป็นคนดี เพียงแต่ว่าถ้าเขาไม่ดีเราก็ปรับเขา ถ้าเขาดีอยู่แล้วเราก็ช่วยให้เขาดีขึ้น ทุกวันนี้ที่ทำผิดกันเพราะสิ่งแวดล้อมไปทำลายเขา มนุษย์เรามีลักษณะปรับตามสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งแวดล้อมมันยั่วคน พอถึงจุดหนึ่งมันก็ระงับอารมณ์ไม่ได้ เราสังเกตได้เลยว่าอารมณ์มันอยู่ที่ตัวเรา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าคนมั่งมีไม่ใช่ว่าจะต้องประพฤติตัวดีเสมอไป มันมีสิ่งยั่วยุรอบข้างทำให้เขาเป็น แต่เราสร้างอารมณ์ควบคุมคุณภาพของอารมณ์ได้ตั้งแต่เล็ก เรื่องของอารมณ์มันต้องช่วยเหลือกันตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อม เพื่อน ฯลฯ”
ขณะเดียวกันในมุมของ ขจรศักดิ์ ใจเที่ยง พนักงานบริษัทควบคุมงานก่อสร้าง ย่านธุรกิจใจกลางเมือง ก็เปิดเผยว่าในสังคมเมืองกรุงนั้นมีความเครียดมากว่าในสมัยอดีต ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และตัวเองก็ตกอยู่ในสภาวะเครียดก็เนื่องมาจากปัญหาทั้งด้านการเมือง สังคม และเรื่องปากท้อง และทุกเรื่องก็ล้วนเกี่ยวข้องกันหมด
“มันไม่เหมือนเดิม อย่างเรื่องการเมืองสมัยก่อน กับเพื่อนเราคุยกัน เราอาจจะชอบคนละพรรคแต่มันก็ไม่แรงเท่ากับปัจจุบัน ที่มีแบ่งฝ่ายแบ่งสี พอคุยกันเรื่องการเมืองเพื่อนบางคนเลิกคบกันไปเลยก็มี เพราะคุยกันแล้วก็ทะเลาะกัน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจเรื่องปากท้องเรื่องราคาสินค้า เราเคยซื้อสินค้าตามห้างจากเมื่อก่อนอาจจะสัก 1,000 แต่เดี๋ยวนี้ก็ขึ้นเป็น 1,500 หรือขึ้นไปถึง 2,000 ราคาของมันเพิ่ม แล้วเรื่องสังคมก็มี ซึ่งถ้าจะพูดไปแล้วมันก็วนกลับมาที่เรื่องการเมืองอีกนั่นแหละ มันเกี่ยวโยงกันหมด”
แม้ปัจจุบันนั้นชีวิตในเมืองเครียดกว่าอดีตที่ผ่านมามาก แต่ขจรศักดิ์ก็สามารถจัดการกับความเครียดได้ดี และที่สำคัญคงเป็นเพราะเขาเคยผ่านช่วงวิกฤตของชีวิตมาแล้ว
“ตอนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทต้องเอาพนักงานออก ผมก็ตกงานอยู่พักหนึ่งซึ่งเครียดและถือเป็นวิกฤตที่หนัก แต่พอผ่านพ้นจุดนั้นมาได้ก็สามารถรับมือกับความเครียดอื่นได้ดีขึ้น เดี๋ยวนี้ถ้าว่างๆ ผมก็จะไปเดินเล่นแถวเวิ้งฯ ดูการแสดงดนตรีบ้าง แล้วก็เล่นดนตรีไทย”
………
ถึงเป็นเพียงการสุ่มสำรวจจากประชากรเพียงส่วนหนึ่งของประเทศ แต่ก็น่าจะกระตุ้นเตือนชาวไทยกว่า 70ล้านคน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ 10 กว่าล้านคน ให้หันมาดูแลสุขภาพทางจิตเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ ของตัวเองและคนรอบข้างให้มากยิ่งขึ้น คงไม่มีใครอยากทำผิดเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ และคงไม่มีใครอยากเป็นเหยื่อของอารมณ์ผู้อื่น
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK