xs
xsm
sm
md
lg

‘คุกไทย’ แออัด ทุกข์ที่ต้องจำยอมของนักโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” เป็นสำนวนไทยที่ใช้กับคนปกติสามัญทั่วไปที่อยู่ในสังคม แต่สำหรับบางคนแล้วนั้น ไม่สามารถเลือกได้ไม่ว่าจะอยู่อย่างไร...ก็คับทั้งที่คับทั้งใจไม่สร่างซา นี่คือปัญหาของคุกไทยที่ไม่เพียงแต่เป็นที่กักขังเพื่อลงโทษนักโทษแบบธรรมดาสามัญเพื่อให้นักโทษสำนึกผิดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่นักโทษต้องต่อสู้แก่งแย่งแข่งขันช่วงชิงที่หลับที่นอน รวมไปถึงความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตให้รอดไปวันๆ อีกด้วย

แม้ขณะนี้ในประเทศไทยจะมีเรือนจำทั้งหมด142 เรือนจำ และ 1 สถานกักกัน แล้วก็ตาม แต่ยังไม่เพียงพอ

จากปัญหาดังกล่าว มีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาสภาพแออัดยัดเยียดที่เกิดขึ้นของเรือนจำที่ไม่เป็นไปตามสิทธิที่กำหนดไว้ในสัญญาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รวมไปถึงอารยธรรมและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่พึงจะได้รับตามสิทธิที่รัฐบาลพึงให้แก่ประชาชนทุกคน

แต่จวบจนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานหรือภาครัฐใดเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจังในการดูแลสภาพความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ในคุกให้ได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามสิทธิขั้นพื้นฐานด้านปัจจัย 4 ที่มนุษย์คนหนึ่งควรมีแม้จะอยู่ในคุกก็ตาม…

สร้างคุกใหม่! ใหญ่กว่าเดิมให้นักโทษ
จากสภาพคุกไทยในวันนี้แล้ว ต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า คุกเมืองไทยแออัดจริงๆ เนื่องจากเรือนจำที่มีอยู่สามารถจุผู้ต้องขังได้ประมาณ 1.4 แสนคน แต่ขณะนี้ยอดผู้ต้องขังเลยไปที่ 2.2 แสนคนแล้ว เฉลี่ยคิดเป็น 2.35 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งหากเป็นมาตรฐานของประเทศยุโรปเฉลี่ยประมาณ 5-7 ตารางเมตรต่อคน ชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์อธิบายว่า

“เราก็มีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และงบประมาณ ในพื้นที่เท่ากันประเทศยุโรปขังห้องละ 1 คน ของไทยขัง 10 คน”

ปริมาณการเข้าออกของผู้ต้องขังในแต่ละเดือนมียอดเป็นหมื่น บวกลบแล้ว คนที่เข้ามาใหม่ก็ยังมากกว่าคนที่ออกไปประมาณเดือนละ 1,700 - 1,900 คน ทั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากคดียาเสพติด ซึ่งมากกว่าครึ่ง ประมาณ 58 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด รองลงมาก็คือความผิดต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเหตุที่จำนวนคนเยอะขึ้นอีกอย่างก็คือ ระยะเวลาการพำนักอยู่ในเรือนจำของแต่ละคนเฉลี่ย 10 กว่าปีขึ้นไป ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาด้วยการจะสร้างเรือนจำใหม่ที่มีพื้นที่เพิ่มจากเดิม 10 - 15 เปอร์เซ็นต์

“เราพยายามหางบประมาณสร้างเรือนจำใหม่ทดแทนเรือนจำเก่า หรือการย้ายผู้ต้องขังไปเรือนจำอื่นที่ยังมีพื้นที่ว่าง เรือนจำของเราตอนนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ต้องขังมากขนาดนี้ ที่นี่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แออัดในห้องนอนอย่างเดียว พอลงจากห้องนอนแล้วเขาก็ต้องลงมาเรียนฝึกวิชาชีพ เล่นกีฬาซึ่งก็แออัดหมด เราก็ดูแลเขาได้ไม่ครบถ้วน”

ส่วนด้านอื่นๆ กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังไว้ค่อนข้างรัดกุม ซึ่งมีอาหาร 3 มื้อ ในงบ 42 บาท ต่อคนต่อวัน

“คุณภาพเราก็อยู่ในระดับงบประมาณ และไม่สามารถปรุงอาหารต่างชาติได้ ต้องปรุงแบบไทย สถานที่อื่นๆ ก็ควบคุมความสะอาด เราก็พยายามควบคุมมาตรฐานนี้ให้ได้”

แม้วันนี้ทางกรมราชทัณฑ์จะพยายามพัฒนาระบบคุณภาพชีวิตของนักโทษให้ดีมากขึ้น เช่น เรื่องอาหารก็มีคุณภาพและรสชาติที่ดีมากขึ้น หรือมีโครงการเกี่ยวกับอาชีพหรือธรรมะ แต่ปัญหาสำคัญยังอยู่ที่เรื่องการนอน และการใช้ชีวิตรวมกันของคนหมู่มาก ที่ต้องกินต้องใช้ เพราะแต่ละปีก็มีนักโทษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สถานที่ยังมีจำกัดเท่าเดิม

สุขภาพกายและจิตใจคนในคุก
ต้องยอมรับว่าวันนี้ ปัญหาสำคัญของคุกในเมืองไทย ก็คือความแออัดและขาดมาตรฐานการดูแลจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ ซึ่งบุคคลที่น่าสะท้อนภาพนี้ได้ที่สุด ก็คือบรรดานักโทษที่เคยถูกจองจำนั่นเอง

พระรักเกียรติ รักขิตะธัมโม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำกว่า 5 ปี ฉายภาพให้เห็นว่า ตอนที่หลวงพ่อเข้าไปที่เรือนจำคลองเปรม เมื่อเดือนตุลาคม 2547 มีนักโทษอยู่ 5,000 คน แต่ตอนที่ออกเมื่อปี 2552 มีถึง 8,000 คน คนมันเยอะขึ้น ในวันหนึ่งคนเข้าคุกวันละกว่า 40 คน เสาร์-อาทิตย์ก็ไม่เว้น แต่คนปล่อยตัวมันน้อย วันละ 1 คน บางวันก็ไม่ปล่อย ขณะที่เรือนนอนมันเท่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะต่างจังหวัดก็เป็นเหมือนกัน อย่างที่อุดรธานี ซึ่งหลวงพ่อเคยไปติดอยู่ ตอนเข้ามีคนอยู่ 1,500-1,600 คน แต่เดี๋ยวนี้มากถึง 3,000 คน

"แล้ววันๆ หนึ่งนักโทษต้องอยู่ในเรือนนอนตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า คิดเป็น 14 ชั่วโมง มันก็เลยแออัดเป็นธรรมดา เวลานอนก็ต้องนอนเบียดกัน ต้องนอนตะแคง นอนสลับฟันปลาบ้าง เอาขาก่ายกัน บางทีลุกไป กลับมา...ที่ก็หาย ต้องนั่งหลับก็มี แถมแต่ละคนมีกลิ่น ต้องใช้พัดลมเข้าช่วย และหากวันนั้นไฟดับ กลิ่นก็เหม็นจนแทบจะหายใจไม่ออก ซึ่งถามว่า ทางหน่วยงานเขาก็พยายามปรับทั้งเรื่องอนามัย สาธารณสุข แต่เนื่องจากมันแออัดมาก ปัญหาบางอย่างก็เลยแก้ไม่ได้"

จากสภาพเช่นนี้ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพกายและลุกลามไปยังจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ พอเจอความแออัดบวกกับปัญหาความกดดันส่วนตัว เช่น ความเครียด เลยเกิดอาการบ้าขึ้นมาก็มี เพราะฉะนั้นทางออกที่เป็นไปได้ ก็คือคนที่จะเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็ต้องพยายามช่วยเหลือตัวเอง ปรับตัวปรับใจให้ยอมรับสภาพให้ได้ และท่องไว้เสมอว่า “รักษาตัวไม่ให้ป่วยไม่ให้ตาย รักษาใจไม่ให้บ้า”

แต่คงเกิดความลำบากเป็นทวีคูณแน่หากผู้ที่ต้องขัง ไม่ใช่แค่เจอการต่อสู้กับปัญหากายและใจเพื่อให้มีชีวิตรอดเท่านั้น แต่ยังต้องพยายามดูแลรักษาตัวเองมากกว่าเดิมอีกในกรณีที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว

"อาตมาเป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว พอเข้าไปก็ต้องพยายามคุมอาหาร คุมน้ำตาล ออกกำลังกาย เราต้องดูแลตัวเอง เพราะจะไปหวังแก้เรื่องความแออัดก็คงลำบาก ซึ่งอาตมาเคยเห็นเขาย้ายระบายนักโทษเหมือนกัน จากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดกลับภูมิลำเนา ซึ่งก็พอจะช่วยได้ แต่ปัจจุบันก็คงยากเพราะทุกที่แออัดหมด เต็มทุกที่"

เช่นเดียวกับ ยงยุทธ์ ใจปิง บอกเล่าถึงเรื่องราวที่ตนพบเจอในคุกคลองเปรมกว่า 2 ปีว่าเป็นชีวิตที่แสนทรมาน แม้อาหารการกินจะครบ 3 มื้อก็ตาม แต่ละมื้อก็ใช่ว่าจะอิ่มเพราะบางครั้งต้องอดทนรอไว้กินในมื้อถัดไป

“บางมื้อเป็นไข่ต้ม 1 ฟองกับข้าวต้ม เราก็กินไม่อิ่ม แม้จะหิวอีกเราก็ไม่รู้จะทำยังไง อิ่มไม่อิ่มก็ต้องกินน้ำลูบท้องตามเอา เพราะเดี๋ยวเขาก็จะมีกิจกรรมให้เราทำอีกเยอะ บางครั้งทำงานถางหญ้ามาเหนื่อยหิวมาก แต่พอมาเห็นกับข้าวแล้วกินไม่อิ่ม เราก็ร้องไห้เหมือนกันเพราะคิดถึงบ้าน”

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ในคุก ยงยุทธ์นึกถึงการมาครั้งแรก

“ตอนเข้าใหม่ๆ คนในนั้นเขาก็จะแกล้งสารพัด มีการดูถูกด่าว่า ชกตี เป็นประจำ เราก็ต้องยอมทน เพราะว่าไม่มีทางเลือกหากฟ้องใครเขาก็คงเอาเราตายเหมือนกัน มันก็ต้องทนทั้งลำบากใจและกายก็ต้องอยู่ให้รอด ยังไงก็ต้องมีชีวิตต่อไปเพื่อรอวันที่ได้ออกจากนรกแห่งนี้”

ส่วนที่หลับที่นอนไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าบ้างครั้งก็นั่งหลับเป็นส่วนใหญ่ ยงยุทธ์ย้อนรำลึกความหลังครั้งอยู่ในคุกว่า

“เมื่อเข้านอนได้ที่แล้ว หากปวดฉี่ก็ต้องทนเพราะถ้าลุกไปก็คงไม่มีที่ให้นอนอีกแล้ว และต้องมานั่งงอเข่างอขานอนแถวๆ ที่ว่างเพื่อรอเวลาให้รีบสว่างเสียที”

คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับ
มาตรฐานขอบทัณฑสถานหรือคุกในเมืองไทยเลวร้ายกว่าที่นานาประเทศหรือสากลจะยอมรับ โดยเห็นได้จากบรรดานักโทษชาวต่างชาติที่เคยผ่านประสบการณ์กระทำความผิดและติดคุกไทย ต่างเข็ดขยาดและเอาไปเล่าลือโจษจัน หรือแม้กระทั่งเขียนหนังสือออกมา อนุชา วินทะไชย ผู้ประสานงานจากสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพเรือนจำที่แออัดว่า

“ตามมาตรฐานสากลแล้ว ที่นอนต้องมีความกว้างมากกว่า 2 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ในการขยับเขยื้อน จากที่เห็นเรือนจำกลางบางขวางก็มีที่นอนที่เล็กนิดเดียว ความกว้างของเรือนนอนไม่ได้มาตรฐาน โดยห้องขนาด 3 คูณ 9 เมตร ควรจะนอนได้เพียง 10 คนเท่านั้น แต่นักโทษนอนรวมกันกว่า 20-25 คน ซึ่งถือว่าแออัดมาก”

อนุชาเล่าถึงประสบการณ์ของเขาจากการที่เคยเข้าไปศึกษาในเรือนจำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีสภาพไม่แพ้กัน และในส่วนของการรักษาพยาบาลของแพทย์ผู้ดูแลด้านนี้ ก็มีจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งที่เรือนจำกลางบางขวาง มีแพทย์ผู้ดูแล เพียง 1 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะเรือนจำกลางบางขวางมีนักโทษเยอะ

“ดังนั้น คุกควรได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานหลายด้านประกอบด้วย สภาพความเป็นอยู่ เรื่องอาคารสถานที่ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งสภาพอาคารสถานที่มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ต้องขังช่วยในเรื่องการปรับตัว และฟื้นฟูสภาพจิตใจเช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพของนักโทษ ต้องมีการมาตรฐานเพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจของนักโทษ ให้เขาได้กลับเข้าสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ

“และอีกอย่างคือ การตีตรวน ซึ่งเป็นลักษณะถาวร ใช้ไฟเชื่อม โดยเฉพาะนักโทษประหาร ตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสิทธิพลเมืองแล้ว การตีตรวนในลักษณะนี้ก็ควรมีการยกเลิกได้แล้ว”

แม้ว่านักโทษจะเป็นเหมือนผู้รับผิดหาก แต่หากมองในมุมของผู้ถูกกระทำ ก็เรียกร้องความเห็นใจว่า

“ก็เข้าใจว่าควรต่อการได้รับโทษ แต่โดยพื้นฐานการปฏิบัติต่อนักโทษก็ต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นพื้นฐานที่ต่ำสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่ใช่การปฏิบัติต่อเขาในลักษณะที่ไม่ใช่มนุษย์”

คุกสถานที่รับกรรม
น่าเห็นใจหากมองในมุมมองความเป็นมนุษย์ที่ต้องไปอาศัยอยู่ในสภาพที่แออัดยัดเยียดแบบนั้น แต่ในมุมหนึ่งแล้วความผิดที่พวกเขาได้กระทำก็สมควรรับผิดชอบ ปรียานุช ติละ พนักงานออฟฟิศแห่งหนึ่งให้ความคิดเห็นว่า

“นักโทษลำบาก แต่คนที่เคยเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์หรือคดีที่เขาก่อไม่ลำบากกว่าเหรอ คนที่อยู่ในคุกอาจก่อคดีฆ่าคน ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่โดนคนที่อยู่ในคุกทำร้าย ก็คงไม่คิดว่าคนที่อยู่ในคุกลำบากหรือไม่ คนที่น่าสงสารไม่ใช่คนที่โดนทำร้ายหรอกหรือ”

ปรียานุชมองถึงกรณีคุกแออัดว่า การทุกข์ใจกับทุกข์กายมันต่างกัน หากมองให้ลึกลงไปนักโทษพวกนั้นก็เพียงแต่ลำบากกายไม่กี่ปีเดี๋ยวก็ออกมาแล้ว หากลำบากจริงคงไม่มีคนทำผิดแล้วไปติดคุกกันเยอะแยะขนาดนั้น

“นักโทษที่อยู่ในคุกเขาอยู่ไม่กี่ปี แต่คนที่ถูกกระทำอยู่ข้างนอกเขาก็ทุกข์ใจไปตลอดชีวิต แค่นี้ยังน้อยไปด้วยซ้ำกับกรรมที่เขาก่อ และถ้าลำบากจริงทำไมคนถึงอยากเข้าคุกกันทุกวันๆละ แล้วทำไมคนมากขึ้นทุกวัน”

ปรียานุช แสดงทัศนะเสริมเรื่องคุกว่า สมัยก่อนยังเป็นคุกขี้ไก่ด้วยซ้ำเดี๋ยวนี้ดีกว่าแต่ก่อน คนเข้าคุกต้องให้เขาสำนึกผิดถ้าอยู่อย่างสบายก็ไม่สำนึกผิด แล้วเข้าคุกไปทำไม คุกต้องลำบากต้องทนต้องทบทวนความผิดต้องรับกรรมถูกแล้วที่เป็นอย่างนี้

                                    >>>>>>>>>>>
                                          ……….

                                    เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
                                    ภาพ : ทีมข่าว CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น