xs
xsm
sm
md
lg

คอสเพลย์การเมือง สีสัน-สร้างสรรค์-เสแสร้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่การเลือกตั้งปี 2554 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ เรื่องของสีสันการเรียกคะแนนเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่จากสื่อมวลชนทุกแขนงไม่เว้นแต่ละวัน

กลยุทธ์หนึ่งที่นิยมงัดออกมาใช้อ้อนขอคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชนคงไม่พ้นการทำตัวให้กลมกลืนสถานที่ สวมบทบาท 'คอสเพลย์' แต่งตัวแสดงบุคลิกลักษณะให้สอดคล้องกับคนในพื้นที่ที่ได้ลงไปหาเสียง กลายเป็นภาพอันคุ้นชินที่ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

เรียกว่าไม่มีใครยอมใคร!

โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายกฯ รักษาการ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคเพื่อไทย ที่ส่งตัวตายตัวแทนอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาขอคะแนนเสียง

ครั้นลงพื้นที่ไหนก็สลัดมาดนักการเมืองผู้ทรงศักดิ์ มาสวมบทบาทที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นชาวนา, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ,แม่ค้าพ่อค้า ฯลฯ เรียกว่างานนี้ต้องทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อประกาศให้พวกเขารู้ว่า ‘เราน่ะพวกเดียวกัน’

หากกล่าวถึงความหมายโดยทั่วไปของ 'คอสเพลย์' ก็คือ 'การแต่งตัวเลียนแบบหรือสวมบทบาทเสมือน' ตัวละครจากเกม, การ์ตูน, ภาพยนตร์ รวมถึงวงดนตรี ฯลฯ มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นภายหลังได้แพร่หลายและเกิดการยอมรับไปทั่วโลก กระทั่งในที่สุดก็ถูกปรับมาเป็นกลยุทธ์การหาเสียงในเชิงการเมือง

คอสเพลย์ยุทธการมุ่งชิงพื้นที่สื่อ

การที่บรรดานักการเมืองพยายามแต่งตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ เวลาลงพื้นที่หาเสียง จุดประสงค์หลักน่าจะมาจากการชิงพื้นที่ในสื่อ เพราะต้องยอมรับว่า กว่าจะออกสื่อในสมัยนี้ได้ คงต้องทำตัวให้โดดเด่นเอาไว้ก่อน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แสดงทัศนะว่า

"ในเรื่องนี้การหาคะแนนน่าจะเป็นประเด็นรอง เพราะถ้าไม่มีสีสันแล้ว ก็จะไม่ได้เป็นข่าว พอเป็นข่าว คะแนนก็จะตาม และถ้าจะว่าไปแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว และในหลายๆ ประเทศด้วย อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ก็มี หรือฝรั่งเขาจะเป็นเสื้อ เป็นหมวก เรียกว่ายูนิฟอร์มก็ได้"

โดยกระบวนการเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเลือกตั้งเท่านั้น เพราะนักการเมืองเหล่านี้เข้าสภาฯ ไปแล้ว บางคนก็ยังพยายามสร้างสีสันต่อ ทั้งในแง่ของการแต่งตัว หรือการไปทำหน้าที่เป็นดาวสภา เป็นนักตรวจสอบ หรือเป็นคนที่สร้างพื้นที่สื่ออยู่ตลอด

"พวกนี้เขามีแบรนด์เนมของเขาให้ติดตลาดเอาไว้ ไม่ได้อยู่แค่การเลือกตั้ง แม้เข้าไปในสภาฯ ก็ยังต้องทำต่อ เช่น ล่าสุดผมได้ดูสัมภาษณ์ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เขาบอกเลยว่าถ้าเขาไม่ทำแบบนั้น แฟนๆ ก็จะไม่ติดตามเขา เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องซ่าๆ หน่อย เพื่อให้ถูกใจแฟนคลับ แต่การที่บางคนมาทำ ทั้งๆ สมัยก่อนไม่ได้ทำ ผมมองว่าเป็นแฟชั่น เป็นการเอาอย่างกัน ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้เป็นข่าว ต้องไปแข่งกีฬา นั่งรถไปดำนา ปลูกข้าว เข้าถึงมวลชนกลุ่มต่างๆ หรือบางทีก็มีจัดฉาก มีคนมาคล้องพวงมาลัย มีแม่ยก ลูกหาบลูกหามตามแห่ตามขบวน เรียกว่าทำกันทุกรูปแบบ แต่การทำเช่นนี้ ก็ต้องทำอย่างพอเหมาะพอควร เพราะหากมากเกินไป ก็ย่อมจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่า สร้างภาพหรือกำลังเล่นปาหี่อยู่ได้ ซึ่งจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้สมัครคนนั้นได้”

อย่างไรก็ดีหากถามว่าจริงๆ แล้วการแสดงออกแบบนี้จะมีผลต่อคะแนนมากน้อยแค่นั้น ผศ.ทวี ถือว่านี่เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการทำคะแนนเท่านั้น เพราะหลักๆ คะแนนนั้นจะมาจากปัจจัยอีกหลายอย่าง อาทิ ผู้สมัคร, พรรคการเมือง, การลงพื้นที่, กลยุทธ์ในการดึงคะแนนเสียง ซึ่งมีทั้งแบบใต้ดินหรือการใช้เงินทองทุ่มลงในพื้นที่

การตลาดต้องเข้าถึงมวลชน

แน่นอนว่าผู้สมัครทุกคนอยากได้คะแนนเสียง และวิธีการที่จะได้รับคะแนนเสียงก็คือนำกลไกทางการตลาดมาประยุกต์ใช้ อย่างแรกเลยต้องเอาใจประชาชนก่อนเพระเขาก็เปรียบดั่งลูกค้าคนสำคัญ ตามสโลแกนของหลักการตลาดที่กล่าวไว้ว่าลูกค้าคือพระเจ้า

กรณีนี้นักการเมืองก็มองว่าประชาชนเป็นลูกค้า ดร.ชลิต ลิมปนะเวช คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและโฆษณา กล่าวว่า การที่จะขายสินค้าและบริการของตนได้นั้น คงต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาช่วย พยายามสร้างการจดจำ สร้างสีสัน ความหลากหลายของตัวสินค้าเพื่อครองตลาด

การแต่งตัวของนักการเมืองเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ เป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจ เวลาแพร่ภาพออกสื่อก็จะดูโดดเด่นกว่าธรรมดา กลายเป็นจุดสนใจให้ประชาชนจดจำ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะเทคะแนนเลือกพวกเขา

“สีสันอย่างไรก็ไม่มีผล เพราะไม่ใช่ประเด็นหลักที่สำคัญ หากสิ่งที่สำคัญที่ประชาชนเลือกน่าจะอยู่ที่นโยบายมากกว่าว่า ประชาชนเขาชอบหรือไม่และดีแค่ไหน เรื่องนี้เหมือนเป็นการทำแพกเกจจิ้ง ถ้าพูดในด้านการตลาดก็คือการทำแพกเกจจิ้งใหม่ให้มันดูสวย”

การสวมบทบาทต่างๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงมวลชนก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือก ทั้งหมดเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจเท่านั้น ถ้ามองในแง่ผู้บริโภคอย่างประชาชนเอง ก็ย่อมมีดุลพินิจในการวิเคราะห์บุคคลผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนทางการเมือง

“หากมะม่วงมันไม่อร่อย ต่อให้คุณแพกกระดาษห่อดียังไง พอแกะออกมาก็มะม่วงเดิมนี่หว่า เขาก็ไม่กินหรอกใช่ไหม ถ้าเป็นผมก็ไม่เลือกเหมือนกัน ต่อให้คุณแก้ผ้าออกมาเดินเล่นให้มันโดดเด่นแค่ไหน ถ้านโยบายคุณไม่ดีและผมไม่มั่นใจว่าจะทำได้ในสิ่งที่พูดหรือเปล่า แล้วคุณจะเลือกหรือเปล่าละ แล้วคุณจะไว้ใจเขาได้อย่างไร”

ด้าน ณัฐวัตร บริคุต เจ้าของกิจการส่วนตัว กล่าวถึงนักการเมืองที่พยายามทำตัวกลมกลืนกับชาวบ้าน ด้วยน้ำเสียงประชดประชัน ซึ่งถ้าถามว่ากลยุทธ์การหาเสียงแบบนี้จะใช้ได้ผลหรือไม่เ ขากล่าวว่าอาจใช้ได้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น

“มันเป็นการสร้างภาพทางการเมืองก่อนเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ใครๆ ก็รู้ ถ้าถามความเห็นส่วนตัวผมก็ต้องบอกว่าไม่ชอบอะไรแบบนี้ เพราะคนเราเปลือกมันจะเป็นยังไงก็ได้ ตัวตนเขาจริงๆ ก็เป็นเหมือนเดิมอยู่ดี คือถ้าเป็นระดับคนที่สนใจข้อมูลการเมือง ของแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ขัดตาอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นในสายตาของชาวบ้านทั่วๆ ไป ก็อาจจะรู้สึกอบอุ่นมั้ง (หัวเราะ) ที่มีนักการเมืองมาขี่วินมอเตอร์ไซค์ มาทำนาเป็นเพื่อน”

สุดท้ายการทำแบบนี้หลายๆ คนอาจมองว่าดัดจริตหรือกระแดะ แต่นักการเมืองก็เป็นนักการเมืองจะแต่งตัวเป็นอะไรเพื่อหาเสียงก็ช่างเขา แค่ขอให้เข้าไปในสภาแล้วทำอย่างที่เคยสัญญากับชาวบ้านให้ได้ก็พอ
….......

อย่างไรก็ตามการเมืองในลีลาหาเสียงเลือกตั้งแบบคอสเพลย์ คงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มสีสันปลุกเร้าความสนใจของมวลชน ยังมีอีกหลายปัจจัยที่พรรคนำมาประชันกันเพื่อเรียกคะแนน แต่จะได้การตอบรับดีเพียงไรคำตอบคงอยู่ในมือประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ เพราะบทบาทของนักการเมืองที่สร้างการเข้าถึงภาคประชาชนอย่างใกล้ชิดอาจจะยุติเมื่อฤดูกาลเลือกตั้งจบลง แต่คำสัญญาและนโยบายสวยหรูที่เปรยเอาไว้ควรเร่งดำเนินการอย่ารีรอ
>>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น