xs
xsm
sm
md
lg

‘งานคือเงิน’ อาชีพและช่องว่างรายได้ของคนไทยยุคปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในชีวิตของมนุษย์ ถ้าไม่นับเวลานอนแล้ว เชื่อว่าคนในวัยทำงานคงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตให้แก่การทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพของตนและครอบครัว ซึ่งงานที่แต่ละคนทำนั้น ก็จะมีรายละเอียดเรื่องของการทำงานและรายได้แตกต่างกันไป บางคนก็มีรายได้ต่อเดือนสูงลิ่ว ในขณะที่บางคนต้องทำงานหนักเพื่อได้ค่าจ้างแค่พอประทังชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในช่วงปี 2553-2557 ซึ่งจากงานวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ามีอาชีพบางอาชีพที่มีคนเดินเข้าไปทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นอาชีพการเลี้ยงโคนมการทำปศุสัตว์, การทำการประมงเพื่อยังชีพ ฯลฯ และมีบางอาชีพที่มีอัตตราการขยายตัวสูงจนน่าจับตาอย่างเช่น ผู้บริหารองค์กรเพื่อมนุษยธรรมและองค์กรเฉพาะด้าน, ช่างเทคนิควิทยาศาสตร์และกายภาพ, งานประเภทวิศวกรรมและอื่นๆ อีกมาก

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าอาชีพที่มีคนทำลดลงนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีอาชีพที่มีค่าตอบแทนน้อยและกลุ่มอาชีพที่มีคนทำมากขึ้นนั้นก็คืออาชีพที่มีผลตอบแทนสูงนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ งานวิจัยฉบับนี้มีข้อมูลตอนหนึ่งบอกว่าอาชีพที่มีรายได้สูงตั้งแต่ 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปมีจำนวนคนที่ได้รับอยู่แค่ 33,936 คนเท่านั้น ซึ่งโดยมากเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาชีพในระดับสูงและส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ เช่น พวกนักบิน, วิศวกร, ผู้พิพากษา, สถาปนิก เป็นต้น ในขณะที่อาชีพที่มีรายได้ต่ำเฉลี่ย 2,000-10,000 บาทต่อเดือนนั้นมีคนทำงานอยู่ถึง 14,251,339 คน ซึ่งส่วนมากเป็นคนที่ทำงานในภาคการเกษตรและประมงแบบยังชีพ

นั่นแสดงให้เห็นว่าในสังคมบ้านเรายังมีช่องว่างของรายได้ระหว่างคนสองกลุ่มห่างไกลกันหรือเกิน และนี่คงเป็นเหตุผลใหญ่ข้อหนึ่งที่คนตัดสินใจเดินออกมาจากกลุ่มอาชีพที่รายได้น้อย ไม่ใช่ว่าเขามีทางเลือก ทว่างานที่ทำอยู่มันไม่คุ้มกับการลงแรงแล้วต่างหาก


ช่องว่างทางรายได้ ปัญหาโลกแตกที่ยังคงเป็นอมตะ

“มันต้องดูสถิติก่อนนะว่ามันเป็นไปอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ผมไม่ได้หมายความว่าช่องว่างรายได้ที่บอกมันไม่จริงนะ แต่มันมีความเป็นไปได้ที่คนรายได้สูงกว่าหนึ่งแสนบาทน่าจะมีมากกว่านั้น”

รศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงเรื่องของรายได้ของคนทำงานในแต่ละกลุ่มที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว

“เราต้องลองมาดูว่า ประชากรในวัยทำงานของบ้านเรา มีอยู่ประมาณ 40 - 50 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่มีการศึกษาน้อยอยู่ถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เขาได้รับค่าตอบแทนต่ำไปด้วย คือถ้าเอารายได้เฉลี่ยของคนรายได้สูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์ข้างบน มาเปรียบกับรายได้เฉลี่ยของคนที่อยู่ล่างสุด 20 เปอร์เซ็นต์ก็จะพบว่ามันแตกต่างกันถึง 15 - 20 เท่า

“ซึ่งดูๆ ไป อาชีพที่มีคนทำลดลงนั้น มันก็เป็นไปตามสภาพของสังคม มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียวหรอก เพราะถ้าดูโดยรวมเศรษฐกิจบ้านเราเคลื่อนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ งานที่ใช้ทักษะน้อยจะค่อยๆ หมดไป ส่วนงานที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทางก็จะมากขึ้น ในภาคเกษตรเองก็จะใช้คนลดลงเพราะเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นนะ”

แต่ทางด้านอาจารย์เฟื่องฟ้า ปัญญา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กลับมีมุมมองว่า ช่องว่างทางรายได้ที่สูงมากถึงขนาดนี้ มันเนื่องมาจากการสะสมทุนและความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันของคนในสังคมมากกว่า เช่นคนรวยก็มีทุนในการสะสมสูง ยิ่งมีมากก็ยิ่งเอาไปลงทุนมาก ขณะที่คนกลุ่มรายได้น้อย รายได้ก็มักจะไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการกู้ยืมเงิน ทั้งในหรือนอกระบบ ก็ยิ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นไปอีก ดังนั้นแทนที่เงินจะได้เก็บ ก็กลายเป็นมีภาระมากขึ้นแทน

และถึงแม้ปัญหานี้จะป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และยังไม่มีใครแก้ได้ แต่ในเชิงอุดมคติ มันก็ยังพอมีทาง..

"การแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ผลก็คือสังคมของเราต้องรื้อปรับใหม่หมดเลย ทั้งโอกาสทางการศึกษา หรือการกระจายรายได้ทุกๆ อย่าง ปัญหาก็ยิ่งเพิ่มพูนเนื่องจากคนมากระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมือง อะไรดีๆ ก็มีอยู่แต่ในกรุงเทพฯ การศึกษาดีๆ ก็ต้องอยู่ในเมือง ซึ่งหากต้องการให้เรื่องพวกนี้ดีขึ้นก็คงต้องใช้เวลานานมาก และความเอาจริงเอาจังของรัฐ มากกว่าจะเป็นการหาเสียงเพียงฉาบฉวยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้"

รายได้สูงมีต้นทุน รายได้ต่ำก็เพราะไม่มีทุน

เอาเข้าจริง การที่ใครจะมาประกอบอาชีพที่มีรายได้งามๆ ได้นั้น มันก็มีต้นทุนแฝงอยู่ไม่ใช่น้อย สถาปนิกหรือนักออกแบบ ก็เป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่มีรายได้ดีเป็นอันดับต้นๆ แน่นอนว่ามันย่อมมีต้นทุนของมันอยู่

“ที่รายได้สูง เพราะลักษณะงานที่ทำมันต้องใช้ความคิด แล้วถ่ายทอด ออกมาเป็นงาน”

ประพันธ์ แย้มกลาง สถาปนิกรายหนึ่งให้เหตุผลไว้และบอกต่อว่าสาเหตุที่ทำให้อาชีพสถาปนิกของเขามีรายได้ที่สูงกว่าอาชีพอื่นๆ อีกมากก็เนื่องจากเหตุผลหลักๆ ก็คือ อันดับแรกค่าวิชาชีพมาตรฐานที่สูงอยู่แล้ว ซึ่งก็คือตัวบอกว่าอาชีพนี้จะมีรายได้ประมาณไหน รับงานชิ้นหนึ่งจะได้เงินประมาณเท่าไหร่ และก็ต้องมีการสอบเอาใบประกอบวิชาชีพด้วยจึงจะสามารถเซ็นรับรองแบบเพื่อขออนุญาตก่อสร้างได้

“อย่างเช่น การออกแบบบ้าน ให้ลูกค้าหนึ่งหลัง ราคาค่าก่อสร้างบ้านสองล้าน ก็จะมีตัวมากำหนด ว่าค่าวิชาชีพ ค่าแรง หรือรายได้ ที่เราจะได้จากงานนี้ เราจะได้กี่เปอร์เซ็นต์มันจะมีตัวมากำหนด”

เหตุผลที่สองคือความยากของงาน เพราะกว่าจะจบงานหนึ่งได้ก็ต้องใช้กระบวนการในการคิด หลายขั้นตอน และลักษณะงานครอบคลุมกับหลายฝ่าย

“โดยสรุปก็คืองานมันยาก และเพราะงานมันยากก็เลยต้องมีผลตอบแทนที่สูง”

ส่วนคนที่มีรายได้น้อยในบ้านเรา ก็คงจะทำอะไรไม่ได้ไปกว่าการทำใจยอมรับว่า ที่ผ่านมาตนเองไม่มีทุนที่จะเอาไว้ตั้งต้นชีวิตเพียงพอโดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่ง ทัศนีย์ สายนุ้ย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างค้าปลีกแห่งหนึ่ง กล่าวถึงอัตราเงินเดือนที่ค่อนข้างต่ำของตนว่าเป็นไปตามระเบียบอัตราจ้างขององค์กร ซึ่งตนก็เคารพกับการพิจารณาดังกล่าว

“ยอมรับว่าเงินเดือนต่ำ แต่ก็เป็นตำแหน่งที่เราเลือกเอง และเขาก็รับเราเข้าทำงานแล้วก็เคารพกับการพิจารณาเงินเดือนของเขานะ อย่างที่อื่นอาจมีรูปแบบการทำงานเหมือนกันแต่ได้เงินเดือนมากกว่า มันก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานด้วยว่าเขาจะให้ตำแหน่งเราเท่าไหร่”

เชื่อว่าประสบการณ์ในการทำงานจะผลักดันอัตราเงินเดือนให้เพิ่มขึ้นในภายภาคหน้า ทัศนีย์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยความหวังว่า

“เราก้าวเข้ามาทำแล้วก็ไม่อยากไปเริ่มนับหนึ่งที่อื่น สู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ของที่นี่ไปก่อนดีกว่า อนาคตอาจจะมีการเพิ่มเงินเดือนตามประสบการณ์ หรือขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าก็ได้”

อย่างไรก็ตามเธอก็บอกว่าอัตราเงินเดือนที่น้อยของเธอนั้น มิได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพแต่อย่างใด หากรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

..........

จริงๆ ปัญหาเรื่องช่องว่างของรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันอย่างมากของสังคมไทยนั้น ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และแม้แนวโน้มในปัจจุบันอาชีพบางอาชีพที่ค่าตอบแทนน้อยๆ อย่างอาชีพในภาคเกษตรกรรมจะค่อยๆ หายไปและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ๆ ที่ไม่ต้องใช้คน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าช่องว่างทางรายได้ของประชากรไทยนั้นจะลดลง

เพราะตราบใดที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างเช่นเรื่องของการกระจายโอกาสและการศึกษายังไม่ได้รับการแก้ไข เราก็คงจะต้องเห็นช่องว่างทางรายได้ที่ว่าถ่างออกไปห่างไกลกันเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น