“ผมพยายามที่จะประคองโลกใบเล็กๆ ก็คือครอบครัว ให้ไปพร้อมๆ กับโลกของการทำงานเพลง ทำงานเขียนหนังสือ ในขณะเดียวกันก็ดำเนินชีวิตในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง พยายามที่จะใช้ทุกโอกาสเพื่อที่จะตอบแทนพระพุทธศาสนา เพราะเราเป็นหนี้บุญคุณพระพุทธศาสนา”
“ฤทธิพร อินสว่าง” ถือได้ว่าเป็นศิลปินอินดี้คนแรกๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงด้วยตนเอง ไม่ตามกระแสของการตลาด ตั้งแต่สมัยที่ยุคอินดี้ยังไม่เกิด และผลิตผลงานเพลงคุณภาพ ซึ่งต่อมาถูกนำมารวมฮิตอยู่หลายครั้ง อย่างเพลงใบไผ่ เธอผู้ห่างไกล และกำลังใจ หลังจากวงการเพลงเกิดภาวะวิกฤติ เขาห่างหายจากวงการฯ นานกว่า 20 ปี บ้างก็ว่าเขาเป็นศิลปินที่ชอบเก็บตัวเงียบๆ ใช้ชีวิตสันโดษ และไม่ชอบให้สัมภาษณ์ออกสื่อฯ แต่เมื่อ M-Light ได้ติดต่อไปเขากลับยอมให้นัดคุยได้ง่ายๆ โดยให้เหตุผลว่า "ยินดีอย่างยิ่งที่จะคุยเรื่องธรรมะ"
เมื่อถึงเวลานัดหมาย ผู้ชายร่างสูง วัย 40 กว่าๆ ในชุดเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ สวมแว่นดำ เดินตรงเข้ามาทักเราด้วยน้ำเสียงสุภาพ ถามไถ่ว่ารอนานไหม จะสั่งอะไรมาดื่มหรือเปล่า กลับรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ชายนิ่งๆ มาดขรึมอย่างที่คิดไว้ หลายคนสงสัยว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อไม่ได้อยู่ในวงการเพลง เขาบอกว่าทุกวันนี้เขาทำหน้าที่พ่อให้แก่ลูกทั้งสองคน ยังคงเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงาน และทำหน้าที่ชาวพุทธ ใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ บนพื้นฐานของความสันโดษ เรียบง่าย คือพอเพียง และมีความสุข แม้ว่าการสนทนาในวันนี้อาจจะมีคำพูด หรือถ้อยคำที่บางคนอาจจะคิดว่าแรง แต่เขายืนยันว่าสิ่งที่เขาพูดมาจากสิ่งที่เขาคิด ตรงไปตรงมา และมาจากข้างในจริงๆ
พ่อ...ที่กอดลูกอย่างอบอุ่น
ณ วันนี้ เขาเป็นทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวได้อย่างอบอุ่น เป็นพ่อที่คอยขับรถรับ-ส่งลูกๆ ไปโรงเรียนด้วยตนเองทุกวัน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใย ให้ความปลอดภัย และระหว่างเดินทางก็ยังสามารถสอนสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ให้แก่ลูกๆ และสิ่งสำคัญที่เขามักจะปฏิบัติกับลูกๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีมาก นั่นก็คือการกอดลูก แต่ไม่ได้กอดแบบธรรมดา เขากอดลูกด้วยความรัก ความเข้าใจ และมอบความอบอุ่น ถึงแม้เวลาที่ไม่ได้อยู่ใกล้ แต่ลูกก็ยังรู้สึกได้ว่าพ่อคนนี้กอดพวกเขาอยู่เสมอ
“ช่วงที่ห่างหายไปจากวงการฯ ผมใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ลูกๆ กำลังเข้าสู่วัยรุ่น คนโตเป็นผู้หญิงกำลังจะขึ้น ม. 5 คนเล็กเป็นผู้ชายกำลังจะขึ้น ม. 3 ผมกับลูกๆ จะสนิทกัน มีความผูกพันกันมาก ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ เรามีหน้าที่ที่จะเลี้ยงดูให้เขาเป็นคนดีให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำ แต่จะไม่ทำแบบสุดโต่ง ผมไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะเป็นอะไร ไม่อยากให้ความคาดหวังของเราไปแบกไว้ที่ลูก แต่พยายามที่จะให้ลูกอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็เป็นคนดี เป็นแรงเล็กๆ ที่ช่วยมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมได้
ผมพยายามเป็นตัวอย่างให้ลูกทุกเรื่องนะ เช่น ความประหยัด อดออม ประมาณตน ผมสอนด้วย และทำให้ลูกดูด้วย ผมให้ลูกดูบันทึกรายรับ-รายจ่าย ค่าตอบแทนในการทำงานที่ทำเอาไว้ตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบันโดยละเอียด จัดสรรค่าใช้จ่ายเป็นส่วนๆ สำหรับค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนของลูก ค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะฉะนั้นผมสามารถสอนลูกได้ว่า โตขึ้นไปไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร ลูกสามารถเอาแบบอย่างจากอย่างพ่อได้ สิ่งสำคัญที่สอนคือ เมื่อลูกแข็งแรงแล้ว ลูกต้องตอบแทนสังคมด้วย พ่อไม่อยากให้ลูกโตขึ้นไปเป็นคนรวยที่เห็นแก่ตัว พ่อไม่อยากได้
ในอดีตผมเคยสูบบุหรี่ แต่ผมเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดมาเป็น 10 ปี เพราะผมคิดว่าถ้าผมยังสูบบุหรี่อยู่ แล้วผมจะสอนลูกได้อย่างไร ทุกวันนี้ผมสอนลูกได้เต็มปากว่า “ลูกมีพ่อในอดีตที่เคยสูบบุหรี่ และ 10 ปีที่ผ่านมา พ่อเลิกสูบบุหรี่เพื่อให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อลูกโตขึ้นพ่อคิดว่าลูกมีคำตอบแล้วว่าลูกจะสูบหรือไม่สูบบุหรี่ เพราะพ่อทำให้ลูกดูแล้ว พ่อเนี่ยไปโง่สูบบุหรี่อยู่นานเลย พอพ่อเลิกบุหรี่ได้ ชีวิตพ่อดีขึ้นตั้งเยอะ ร่างกายพ่อดีขึ้นตั้งเยอะ”
ในสังคมปัจจุบัน ที่มีความอันตรายรอบด้าน ทำให้เขามีความเป็นห่วงลูกอยู่ไม่น้อย “การเลี้ยงลูกในสมัยนี้ผมคิดว่ายากนะ เนื่องจากเทคโนโลยีมันไปข้างหน้า ถ้าเราไม่มีอะไรที่จะไปดึงมาสู่ปัญญา ลูกจะอันตรายมาก เพราะว่าเทคโนโลยีที่ก้าวไกลมันตอบสนองกิเลสตัณหา พอได้ใช้ไปสักพักมันจะพาให้ลูกเราเป็นเหยื่อวัตถุ เป็นเหยื่อกิเลสตัณหา เราต้องคอยสอนให้เขาเลือกใช้เทคโนโลยีพวกนี้อย่างฉลาด เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเด็กๆ เขาต้องใช้คอมพิวเตอร์ เขาต้องเรียนรู้ ทำการบ้านก็ต้องเข้าอินเทอร์เน็ต หาข้อมูล ถ้าเราไม่สอน ปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง บางทีคนเราเมื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองก็อาจจะมีทั้งผิดทาง ถูกทาง การที่เราจะให้เขาไปพลาดซ้ำในเรื่องที่ไม่น่าจะพลาดซ้ำ
สิ่งหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำก็คือการกอดลูก ตราบใดก็ตามที่พ่อแม่กอดลูกด้วยร่างกาย และกอดเขาด้วยความเข้าใจ กอดด้วยความรักความอบอุ่น นอกจากเป็นพ่อแล้ว ยังเป็นเพื่อนของเขาด้วยนะ คอยรับรู้เรื่องราวทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตของเขา ตราบใดที่เขายังเชื่อใจ และไว้ใจเรามากที่สุด เมื่อนั้นเรายังกอดลูกอยู่ ต่อให้เขาไปอยู่ที่โรงเรียน อยู่กับเพื่อน เขาก็ยังรู้สึกว่าเรากอดเขาอยู่ สิ่งที่เราสอน ความรักที่มอบให้เขา ทำให้เขาซึมซับมาตั้งแต่เด็ก และจะทำให้เขา นึกถึงเราตลอดเวลา ผมคิดว่าความรัก ความเข้าใจ คำสั่งสอนที่มีให้ลูกนั่นแหละสำคัญที่สุด ไม่มีทางหรอกที่พ่อแม่จะอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ถึงเวลาเขาก็ต้องไปโรงเรียน อยู่กับเพื่อน ทำกิจกรรม เขาต้องมีชีวิตที่เป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นความรัก ความเข้าใจ เหล่านี้แหละที่จะคอยโอบกอดเขา”
ศิลปิน....สรรค์สร้างงานคุณภาพ
สาเหตุหลักที่คนรักงานเพลง และทุ่มเทแรงใจ แรงกายอย่างเขาตัดสินใจเดินออกจากเส้นทางในวงการเพลง มาจากการวิกฤติของวงการเพลง เทปผี ซีดีเถื่อน ทำให้หลายคนที่ทำงานเพลงคุณภาพไม่สามารถทำงานต่อได้ แต่เขาก็ยังโชคดีที่มีผลงานเพลงซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของเขา ถูกนำมารวมฮิตอยู่หลายครั้ง แม้ว่าในวันนี้เขาจะไม่ได้ทำงานเพลงในฐานะศิลปินเพลงแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังคงเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานในสิ่งที่เขารัก แต่รูปแบบของงานอาจจะเปลี่ยนไปจากการประพันธ์เพลงสู่งานประพันธ์หนังสือที่สะท้อนตัวตน และสอดแทรกคำสอน หลักธรรมของพระพุทธศาสนา จากประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และมีศิลป์
"ผมทำงานในวงการเพลงมานานมาก ตั้งแต่อายุ 22 เรียกว่าอยู่ในวงการเพลงมานานกว่าครึ่งชีวิต ผมรู้สึกว่าการทำงานในลักษณะวิ่งมาตลอด เหมือนกับกระหายที่จะทำงาน หาแต่เงิน หาแต่ชื่อเสียง มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงมันคือได้หยุด แล้วกลับมาอยู่กับตัวเองบ้าง เพื่อที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกภายในใจตัวเอง แล้วก็พบว่าแนวทางของพุทธศาสนานี่แหละคือคำตอบของชีวิต
แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่วงการเพลงอยู่ในภาวะวิกฤติจากปัญหาสองด้าน หนึ่งคือเทปผี ซีดีเถื่อน ซึ่งรัฐยังไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นที่รู้กันทั่วโลก และเป็นเรื่องน่าอับอายมาก บวกกับพฤติกรรมบริโภคของคนที่เปลี่ยนไป คนนิยมการดาวน์โหลดมากขึ้น แต่การดาวน์โหลดนั้นก็ไม่นิยมดาวน์โหลดลิขสิทธิ์ อย่างเพลงของผมถ้าเสิร์ชในอินเทอร์เน็ต ชื่อเพลงใบไผ่ เพลงกำลังใจ จะมีเว็บไซต์จำนวนมหาศาลเลยที่ให้ดาวน์โหลดฟรี ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของ ซึ่งเรามองว่าไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ตีโพยตีพาย หรือว่ารู้สึกฟูมฟายกับเรื่องนี้ เพียงแต่ว่ามันก็สะท้อนใจ ตรงที่ว่าความอ่อนด้อยทางจริยธรรมทางสังคม มันยังไม่วิ่งไปข้างหน้าเหมือนกับความก้าวไกลทางการสื่อสาร”
ถึงวงการเพลงจะเกิดภาวะวิกฤติ แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ประมาท และเตรียมรับมือกับปัญหาไว้ก่อนแล้ว ทำให้เขามองว่าเรื่องร้ายกลายเป็นเรื่องดีสำหรับเขา ที่ได้พิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ยังทำให้ครอบครัวรู้สึกว่ายังเป็นปกติอยู่ โดยไม่ลำบาก
"ผมรู้ว่าอาชีพศิลปินมันเป็นอาชีพที่พิเศษก็จริง หลายครั้งมันมีรายได้เยอะ หาเงินง่าย แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน สิ่งที่ผมทำมาตลอดก็คือการจัดการบริหารชีวิตให้ดี การบริหารค่าใช้จ่าย การใช้เงิน การบริโภค นี่คือศิลปะในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ศิลปินมันไม่ใช่แค่สักจะเป็นศิลปินนะ แต่มันต้องเป็นศิลปินให้เป็นด้วย การจะเป็นศิลปินให้เป็นต้องรู้ว่า จะทำงานอย่างไรที่มันตอบสนองอุดมคติได้ ผมทำเพลงตามอุดมคติผมมาตั้งแต่ อายุ 22 โดยไม่อยู่ในกรอบของการทำงานบริษัทที่ต้องจ่ายใบสั่งให้เรา ตรงนี้มันเป็นศิลปะที่ว่าคุณจะทำอย่างไร ที่จะตอบสนองอุดมคติของคุณแล้วมันไปได้ในเชิงธุรกิจ”
เคยหลงทางมาก่อน
แม้ว่าจะเป็นที่มีความรอบคอบ จัดสรรทุกอย่างในชีวิตอย่างเป็นสัดส่วน แต่เขาก็ยอมรับว่าสมัยเป็นวัยรุ่นก็เคยเดินหลงทางเหมือนเช่นเด็กวัยรุ่นทั่วไป อยากใส่เสื้อผ้าแพงๆ รองเท้าดีๆ บางทีทั้งชุดราคาเหยียบหมื่น แต่พอยิ่งโตขึ้นเขาก็เริ่มคิดได้ว่าเส้นทางที่กำลังเดินอยู่มันผิด
“เคยหลงเหมือนกัน สมัยก่อน สวมเสื้อผ้า รองเท้า กางเกง ทั้งชุดราคาเป็นหมื่น หลงวัตถุ นั่นคือตอนวัยรุ่น แต่พอโตขึ้นเรื่อยๆ พอเริ่มอายุ 25 หลังจากบวช เริ่มคิดได้แล้วว่าเราจะทำอย่างนี้ไม่ได้แล้วนะ เราจะสนองความต้องการของตัวเองเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปไม่ได้ ตอนนั้นที่ผมออกอัลบั้มชุดแรก ผมเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง อายุแค่ 22 เท่านั้นเอง ทำงานมาก็อยากได้เสื้อผ้าสวยๆ แพงๆ เราชอบเราก็ไปซื้อ อยากใส่รองเท้าที่เราอยากใส่
เมื่อก่อนชีวิตวัยรุ่น เหมือนเราทำงานมาตลอด เราโตมาพร้อมๆ กับการทำงาน มันได้ลองผิดลองถูก เรียนผิดเรียนถูกมาตลอด ชีวิตบนเส้นทางการทำงานมันสอนเรา บวกกับการที่เราได้เรียนรู้พุทธศาสนามาประมาณ 10 ปี มันทำให้ได้พบว่า ชีวิตเมื่อก่อนมันสนุก แต่บางทีมันไม่ได้สุขนะ สนุกคือมันสนุกที่ได้ตอบสนองตัวเอง ได้ฟังเพลงที่ตัวเองอยากฟัง ได้เงิน ได้ชื่อเสียง มีคนล้อมหน้าล้อมหลัง ได้รางวัลทางดนตรี รู้สึกมีความมีความสุขที่ได้อยู่เรื่อย แต่ในความสนุกนั้น ผมสังเกตว่ามันมีความร้อนอยู่ด้วยนะ รู้สึกว่าได้เท่านี้ก็ยังอยากได้อีก แต่ความสุขมันลึกล้ำกว่า มันมีอิสรภาพมากกว่า บางทีไม่สนุกนะ แต่มันสุข หลายคนอาจจะมองว่าผมมีความสุขได้อย่างไร ไม่ไปไปเที่ยวร้านเหล้า ไม่ไปเที่ยวที่คนทั่วไปอยากจะไป ชีวิตอย่างนั้นผมก็เคยผ่านมาแล้ว แต่พอมาวันหนึ่งผมคิดว่าชีวิตแบบนั้นมันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผมอีกต่อไป
ผมไม่ได้เป็นคนดีทุกเรื่องหรอก เรื่องไม่ดีก็มี ผมเป็นแค่เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่มาจากต่างจังหวัด แล้วเริ่มต้นทำงานในวงการค่อนข้างเร็ว ผมต้องแต่งเพลงเอง ร้องเพลงเอง ควบคุมการผลิตเอง บริหารจัดการด้วยตัวเอง ผมจะบอกว่าผมดีตั้งแต่ต้นเลยก็คงไม่ได้ ผมมีทั้งดี และไม่ดีในตัวเอง มีทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อน แต่ผมบอกกับตัวเองมาตลอดว่า หน้าที่ของความเป็นมนุษย์ทั้งในฐานะพ่อ ศิลปิน ชาวพุทธ เราจะต้องพัฒนาตัวเองตลอด สิ่งไหนที่เป็นจุดด้อย จะต้องขจัดออก สิ่งไหนเป็นข้อเสีย ต้องพยายามทำให้มันเสียน้อยที่สุด แล้วสิ่งไหนที่เป็นจุดดีพยายามให้เพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้ผมก็ยังมีข้อเสียบางด้านซึ่งพยายามทำให้มันน้อยลง เช่น ความเป็นคนบ้างาน สมัยก่อนผมเป็นคนบ้างานมาก ทำงานในห้องบันทึกเสียงวันละ 18-19 ชั่วโมง ทำจนกระทั่งซาวด์เอ็นจิเนียนอนหลับคาเครื่องบันทึกเสียงเลย วันไหนที่ผมมาทำงานนี่พวกซาวด์เอ็นจิเนียจะหนาวกันหมดเลย เพราะว่าผมทำงานหนักมาก
ความเป็นคนบ้างานนี่ผมว่าไม่ดีนะ นอกจากจะได้งานที่ไม่ดี เพราะมันเครียด แล้วยังเสียสุขภาพ เสียเรื่องสภาพจิตใจมาก จากความเป็นคนบ้างานเนี่ย ผมดึงตัวเองออกมา ให้เป็นคนที่มีความเพียร มีความรับผิดชอบต่อการทำงาน แต่ไม่บ้างาน ทุกวันนี้ไม่บ้าแล้ว ทำงานเขียนหนังสือ ตั้งใจทำมาก ทำงานหนัก แต่ในความหนักนั้นรู้ว่าควรจะหนักแค่ไหน รู้ว่าเวลาไหนควรจะหยุด เวลาไหนควรจะผ่อนคลาย”
หน้าที่ชาวพุทธ ไม่ใช่แค่เปลือก
นอกจากจะทำหน้าที่ศิลปิน หน้าที่พ่อที่ดี แล้ว เขายังทำหน้าที่ของชาวพุทธไปพร้อมๆ กับการดำเนินชีวิต เมื่อมีโอกาสที่จะทำสิ่งดีๆ เขาไม่ลังเลที่จะทำ และมุ่งหวังที่จะถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ในฐานะนักประพันธ์ ด้วยความหวังว่าเรื่องราวที่เขาได้ถ่ายทอดออกไป อาจจะมีประโยชน์ หรือเป็นกำลังใจให้แก่ใครหลายๆ คนได้
“ทุกวันนี้ที่ผมมีชีวิตที่ดีได้ก็เพราะหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นอะไรที่เราทำเพื่อศาสนาได้ ทำเพลง เขียนบทกวี เขียนหนังสือเพื่อศาสนาได้ ผมก็อยากทำ เพราะผมคิดว่าเป็นกุศลสูงสุดในชีวิตแล้วที่ได้ทำงานตรงนี้
ชีวิตผมเปลี่ยนไปหลังจากได้บวชในวัดที่ชนบท ได้เรียนรู้ชีวิตที่สมถะ การบวชทำให้เรียนรู้ว่าเราควรจะมีความสุขจากการพึ่งวัตถุแต่เพียงน้อย ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เรียบง่าย คำว่าสันโดษ คนส่วนใหญ่ในสังคมจะตีค่า หรือให้ความหมายคำว่าสันโดษผิด สันโดษที่แท้ พระพุทธเจ้าสอนให้เราพึ่งวัตถุแต่เพียงน้อย รู้จักพอใจในสิ่งที่เรามี แต่ไม่ได้หมายความว่าสันโดษ ฉันจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว ปลีกวิเวก ขังตัวเองไว้ในบ้าน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ไม่ใช่ ตรงไหนก็ตามที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความสันโดษ จะมีสอนเรื่องความเพียรไว้ด้วย นั่นหมายความว่าในความสันโดษ พึ่งวัตถุน้อยๆ มีความสุขกับสิ่งที่มีที่เป็นนั้น ต้องไม่ละความดี ตรงนี้เป็นหลักคำสอนที่ผมใช้มาตลอด
สังคมเราเป็นสังคมพุทธ ถ้าทุกคนพอใจในชีวิตสันโดษ เรียบง่าย พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี สิ่งที่เราเป็น เราก็ไม่ต้องไปคดไปโกงคนอื่น ประเทศชาติที่อยู่ในภาวะที่ล่อแหลม กับความวิบัติ หรืออาจะวิบัติไปแล้วหลายครั้งก็ได้ มันเกิดจากความไม่สันโดษ นอกจากจะเป็นประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์อันดับต้นๆ แล้ว ยังเป็นประเทศที่ติดอันดับคอรัปชั่นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย ทั้งๆ ที่เราเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นมันถึงมีความขัดแย้งคนละขั้ว
ศาสนาสอนให้เชื่อในเรื่องหลักกรรม แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยตีความหมายผิดอีก กรรมก็หมายถึงการกระทำ ผลมีที่มาจากเหตุ เพราะฉะนั้นอยากจะทำอะไร อยากจะได้ผลแบบไหน ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยนั้นให้ตรง ให้พร้อม แล้วก็ให้พอ แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับมองว่ากรรมหมายถึง กรรมตั้งแต่ชาติที่แล้ว ชีวิตเกิดมาจนเหลือเกิน ลำบากเหลือเกิน เราคงทำกรรมมา คงไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าชาติที่แล้วมีจริงหรือเปล่า ชาติหน้ามีจริงหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ แต่ศาสนาก็สอนว่าถ้าไม่อยากทำบาป ไม่อยากจน ก็ต้องขยัน ต้องไม่ประมาท ทำมาหากินก็ต้องพัฒนาการทำงานของตนบนพื้นฐานของปัญญา เชื่อในหลักของเหตุผล ผลเป็นที่มาจากเหตุ
อยากจะรวยแต่ไปขอหวย ขูดต้นไม้ นอนรอโชคชะตา นั่นไม่ใช่หลักของศาสนาพุทธ แทนที่จะใช้สติ ปัญหา กลับไปอ้อนวอนร้องขอ เอาตัวเองไปหวังพึ่งกับสิ่งปลุกเสก ประหลาดๆ แปลกๆ น่าหดหู่ใจที่เรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดา แต่เราไปบูชาสิ่ง วัตถุ ไปกราบไหว้ เห็นอะไรแปลกๆ ต้องไปกราบไหว้บูชา เหมือนสิ่งเหล่านั้นเป็นพระศาสดา ซึ่งอันนั้นมันไม่ใช่ มันนอกทางแล้ว
ศาสนาสอนให้เราฉลาดในการบริโภค ไม่เบียดเบียนโลก อะไรที่มันเกินๆ ไปเราไม่ทำ แต่ขณะเดียวกันเราต้องตอบแทนแผ่นดินเกิด ถ้าถามว่าเกิดมาทำไม เดี๋ยวก็ตายแล้ว ก็เกิดมาเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินนี้ ต่อเพื่อนร่วมโลก ถ้าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ ชีวิตมันก็ไม่มีความหมายอะไรอีกแล้ว เพราะไม่รู้จะเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่ทำไม”
ช่วยกันปกป้องศาสนาดีกว่าทำลาย
ในฐานะชาวพุทธ ที่เชื่อในหลักธรรมคำสอน และปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมาโดยตลอด สิ่งหนึ่งที่เขาได้เห็นในสังคม และรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ชาวพุทธไม่ควรนิ่งนอนใจ คือเรื่องของพระสงฆ์นอกรีต ซึ่งถูกนำเสนอทางสื่อฯ อยู่บ่อยครั้งจนทำให้ชาวพุทธทั้งหลาย เกิดความเบื่อหน่าย บางคนก็ถึงกับไม่ศรัทธาที่จะทำบุญกับพระสงฆ์ ซึ่งกลายเป็นมุมมองด้านลบ จนเกิดความไม่ศรัทธาในศาสนา
“เราต้องยอมรับว่าวงการสงฆ์ อยู่ในช่วงที่วิกฤติอย่างรุนแรง บางครั้งคนดูข่าวแล้ว ไม่อยากเข้าวัด เบื่อจังเลยพระสงฆ์ แต่ต้องไม่ลืมนะว่าเราในฐานะชาวพุทธ เรามีหน้าที่โดยตรงเลยที่จะต้องร่วมแก้ปัญหานั้นด้วย หนึ่งไม่สนับสนุนพระสงฆ์ที่ไม่อยู่ในธรรมวินัย แต่ส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อพระสงฆ์ซึ่งประพฤติดี ประพฤติชอบ สองการที่เราจะปกป้องพระศาสนาได้ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราต้องรู้ว่าแก่นของศาสนาสอนว่าอะไร สอนให้ปล่อยวาง พึ่งตนเอง ใช้ชีวิตด้วยการพัฒนาปัญญา แต่ว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมเวลานี้ ที่เป็นข่าวอยู่ทุกวัน มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ชาวพุทธอยู่ในวิถีของปัญญาหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องที่ชาวพุทธจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราควรวางท่าทีอย่างไรต่อวิกฤติที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์ เพียงแค่บ่น เบื่อ ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง
ผมอยากจะวิงวอนว่า ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับวงการสงฆ์ออกไปในเชิงลบ ถ้าสื่อฯ ผู้นำเสนอข่าวนั้นได้ใช้โอกาสนั้นในการชี้นำ โน้มน้าวว่าชาวพุทธน่าจะมีส่วนร่วมอย่างไร ในการที่จะช่วยกันประคับประคองหรือปกป้อง พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไป แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นในการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะทางทีวี เราจะเห็นนำเสนอภาพร้ายของวงการสงฆ์ เพียงด้านเดียว ทั้งๆ ที่คุณมีโอกาสที่จะพูดกับคนเป็นสิบล้านคนได้ ทำให้ผมรู้สึกว่านี่คือการนำเสนอข่าว (ไม่รู้ว่าใช้คำแรงไปหรือเปล่า) หรือขายข่าว คุณอย่าลืมว่านอกจากคุณจะสวมเสื้อสื่อมวลชนแล้ว หมวกอีกใบที่คุณสวมอยู่คือ คุณเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นคุณมีหน้าที่ที่จะปกป้องศาสนาด้วย
การตอกย้ำความเลวร้าย แทนที่จะให้ชาวพุทธตื่นตัว รวมตัวกันปกป้อง กลับกลายเป็นว่าชาวพุทธก็ยิ่งเกิดความเบื่อหน่าย ต่อศาสนา อย่าลืมว่าเราเป็นชาวพุทธ แล้วศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธต้องช่วยกันประคับประคอง ถ้าศาสนาพุทธอยู่ในภาวะที่วิกฤติ มันอันตรายมาก สังคมก็อยู่ยาก ผมว่ามันมีผลกระทบอย่างรุนแรง ผมอยากให้มีเสรีภาพในการนำเสนอ แต่เสรีภาพนั้นก็ต้องมีจิตสำนึกต่อความรับผิดชอบด้วย”
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ภาพโดย อดิศร ฉาบสูงเนิน