xs
xsm
sm
md
lg

เถาวัลย์แก่งกระจาน ชนวนป่าล้มสลาย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นร้อนที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ใหญ่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 สำหรับเรื่องเถาวัลย์มหาประลัยซึ่งเข้ามาปกคลุมพื้นที่ของป่าแก่งกระจานเกือบ 400,000 ไร่ นำความเดือดร้อนมาสู่ป่าสมบูรณ์แห่งนี้ ซึ่งมีเป้าหมายจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติให้ได้ เนื่องจากมันได้เข้าไปรัดและปกคลุมพื้นป่าเอาไว้หมด ส่งผลให้ต้นไม้เก่าแก่จำนวนมากยืนต้นตาย หรือไม่ก็หักโค่นลง รวมไปถึงสัตว์ป่าอีกจำนวนไม่น้อยก็กำลังใกล้จะสูญพันธุ์เพราะอิทธิฤทธิ์ของเถาวัลย์มรณะเข้าไปฆ่าตัดตอนแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นช้าง จระเข้ เหยี่ยว ชะนี นกเงือก เสือโคร่ง วัวแดง ฯลฯ

ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ได้สร้างกระแสความตื่นตัวให้แก่คนรักธรรมชาติอย่างหนัก เพราะมีการระดมทั้งนักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภา นักศึกษา นักเรียนจำนวนมาก เพื่อมาสางเถาวัลย์ออกจากป่าแก่งกระจาน รุ่นที่ 2 หรือป่าสัมปทานเดิมออกให้หมด และที่สำคัญ ล่าสุดรายงานชุดนี้ยังได้รับรางวัลอีกมากมาย จากทั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และตัวหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดว่าเป็นข่าวที่ยอดเยี่ยมอีกต่างหาก

ทว่า ในอีกมุมหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่านั้นใด ก็คือกลุ่มชาวบ้านรอบพื้นที่แก่งกระจาน ซึ่งมองว่าเถาวัลย์ก็คือหนึ่งในผลิตผลอย่างหนึ่งของธรรมชาติที่อยู่คู่กับป่าแห่งนี้มานานมากกว่า 30 ปี โดยไม่สร้างปัญหาอะไรเลย ที่สำคัญยังเป็นอาหารสำคัญของสัตว์หลายประเภทด้วยซ้ำ จนนำมาสู่กระบวนการเรียกร้องอย่างหนัก เป็นเหตุให้เรื่องนี้ยังคาราคาซัง และยังไม่เกิดการถางเถาวัลย์อย่างเป็นรูปธรรมจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี แม้เรื่องนี้จะผ่านมาหลายเดือน แต่ความแตกต่างทางความคิดก็ยังคงดำเนินอยู่ และแน่นอนว่าคำถามอย่าง 'เถาวัลย์' คือผู้พิทักษ์หรือฆาตกรกันแน่

[1]

2 กันยายน 2553 คือจุดเริ่มต้นของชนวนความขัดแย้งในครั้งนี้ เมื่อจู่ๆ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ก็มีดำริจะให้ตัดเถาวัลย์ออกจากป่ากระจาน กว่า 400,000 ไร่ หลังจากที่พบว่า มีเถาวัลย์เกิดขึ้นมากกว่าปกติ และน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของสรรพสิ่งในป่าได้

“เป็นเรื่องผิดปกติมาก เพราะในป่าที่เป็นพื้นที่สัมปทานเดิมมันมีเถาวัลย์ขึ้นเยอะผิดปกติ คลุมเป็นร่างแห ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ป่าถล่ม ตอนนี้ต้นไม้อายุตั้งแต่ 20-70 ปี ที่เป็นแม่ไม้ (ไม้รุ่นแรกๆ ของป่า) โค่นล้มมาหมดแล้ว เถาวัลย์ถล่มโค่นลงมาหมดเลย จะเหลือเพียงไม้รุ่น 2 ที่ไม่มีลักษณะเด่นของไม้ ซึ่งก็ถูกเถาวัลย์ดึงคดหงิกงอ ซึ่งผมเชื่อว่า อนาคตไม่เกินอีก 10 ปี ตรงนี้จะไม่เหลือป่าที่ไม้ยืนต้นให้เราเห็นแน่นอน”

โดยเถาวัลย์ที่ถือเป็นผู้รุกรานนั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ ‘กระดูกแตก’ มากถึง 37 เปอร์เซ็นต์ และ ‘แก้วลืมวาง’ อีก 35 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นเถาวัลย์อื่นๆ จำนวน 18 ชนิด และถึงแม้เถาวัลย์จะเป็นอาหารสำหรับสัตว์ก็ตาม แต่ความจริงอีกข้อที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ ทุกวันนี้สัตว์ป่า อย่างกระทิง วัวแดง เก้ง กวาง ช้าง ก็ไม่ได้กินเถาวัลย์อยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่ไปเจริญเติบโตบนที่สูง ซึ่งสัตว์ไปกินไม่ถึง ดังนั้นเถาวัลย์จึงน่าจะเปรียบเสมือนวัชพืชที่ไร้ประโยชน์และน่าจะถูกกำจัดไป เพื่อไม่ได้ให้เป็นอุปสรรคแก่การเจริญเติบโตของพืช

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่มีผลวิจัยใดๆ รองรับว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง หัวหน้าอุทยานฯ จึงได้ทำความเห็นไปเสนอยังสื่อต่างๆ รวมไปทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่า 'ยังไม่มีการตัดเถาวัลย์ออกแม้แต่ต้นเดียว'

[2]

แม้ในมุมมองของฝั่งอุทยานฯ จะมองว่า การตัดเถาวัลย์เป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยยืดอายุให้ป่าแห่งนี้ได้
แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับป่าแห่งนี้มานาน อย่างพีรยา สังวรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน กลับแสดงความเห็นที่แตกต่างออกไป และยืนยันจะคัดค้านในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

“เถาวัลย์ไม่ได้เยอะ ถือเป็นจำนวนปกติ แต่ที่ดูเหมือนว่าเยอะ เพราะเดิมที่นี่เป็นป่าสัมปทาน ซึ่งก็เวลาเขาตัดต้นไม้ก็จะตัดเฉพาะต้นใหญ่ พอตัดไปก็จะมีพื้นที่เป็นช่องแฝง ไม้ที่ขึ้นเร็วๆ ก็ขึ้นตามธรรมชาติ กระบวนการเถาวัลย์ก็ขึ้นไปคลุม เพราะฉะนั้นไม่มีหรอกที่ต้นไม้ตัวไหนที่ตายเพราะถูกเถาวัลย์คลุม”

ซึ่งการที่เป็นประเด็นขึ้นมานั้น ก็เพราะเวลาที่หัวหน้าอุทยานฯ พาไปดูสถานการณ์ก็จะมักจะเลือกดูแต่จุดที่ทำให้เข้าใจว่า เถาวัลย์นั้นเป็นอันตราย เช่น ต้นไม้ใหญ่ซึ่งอายุมากนับร้อยปียืนต้นตาย ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นเหตุการณ์ปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งหากให้สันนิษฐานเหตุผลว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเพราะต้องการจะพัฒนาป่าแก่งกระจานให้เป็นป่าโปร่ง และมีผลต่อการท่องเที่ยว สังเกตได้จากโครงการที่เคยหัวหน้าฯ คนนี้ คิดจะทำ เช่น ไนท์ซาฟารี รีสอร์ท หรือฝายขนาดใหญ่

“เขาคงอยากให้เวลามองเข้าไปในป่า จะได้รู้สึกว่ามันไม่น่ากลัว ดูโปร่งไปหมด แล้วสัตว์จะออกมาให้เห็น คือเขาคิดถึงเฉพาะเรื่องเถาวัลย์ เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องงบประมาณที่จะได้ คือจริงๆ คุณจะตัดบ้างก็ได้ เหมือนกับช่วยต้นไม้ แต่ไม่ใช่ตัดทีละ 300,000-400,000 ไร่ ซึ่งเรามองไว้ไม่มีความจำเป็นเลย ที่จะต้องสูญเสียงบประมาณตรงนั้นไป สู้เอาเงินไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลลาดตระเวนสัตว์ป่า และเอาไปช่วยให้ชุมชนและสัตว์ป่าอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่มีการล่าดีกว่า”

และเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้แล้ว โอกาสที่จะตัดเถาวัลย์ให้หมดไป ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และยังใช้ทั้งงบประมาณ เวลา และกำลังคนจำนวนมหาศาล ประกอบเมื่อพิจารณาธรรมชาติของเถาวัลย์แล้ว จะพบว่ายิ่งตัดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งงอกเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นการทำเช่นนี้ย่อมไม่มีทางจบสิ้นไปได้

ดังนั้น พีรยาจึงยอมรับตามตรงว่า ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเมื่อโครงการนี้ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อนเช่นนี้ ถึงมีการออกมาประโคมข่าวกันใหญ่โตเช่นนี้

“ตอนนี้มันเกินความจริงไปหมดแล้ว คุณต้องเข้าใจว่า พอมันเป็นป่าสัมปทานเก่า ไม้แบบไม้สัก ไม้มะค่า มันต้องโตช้าอยู่แล้ว แล้วเวลามันขึ้นก็จะถูกเถาวัลย์คลุม ตอนที่เราไปดูรื้อๆ เถาวัลย์ออก ต้นไม้ก็ไม่ตาย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ คือต้องการจะตัดต้นไม้แซมไปกับการตัดเถาวัลย์ เพราะมันเป็นป่าสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่คุณจะไปตัดเป็นที่ราบ แล้วต้นไม้ไปไหนไม่รู้ ไปทำเป็นแปลงช้าง (แหล่งให้อาหารช้าง) ซึ่งผิดหลักวิชาการ แล้วตรงเขาปะการังที่จะไปทำ มันเป็นไข่แดงของป่า เป็นที่สมบูรณ์ สัตว์ชุกชุม ทั้งช้าง ทั้งกระทิง ทั้งงูจงอาง รู้สึกว่าตัดไป 200 กว่าไร่ เราก็เลยไปยื่นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้มาตรวจสอบ ซึ่งเขาก็บอกว่าไม่ได้ตัดอะไร แต่พอไปเปิดป่าปรากฏว่าต้นไม้ถูกตัดจริงๆ”

[3]

เมื่อแต่ละฝ่าย พยายามงัดข้อมูลและความเชื่อออกมาอย่างเต็มที่ จนนำมาสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ ทางออกที่ดีที่สุด ก็คือทำวิจัยอย่างจริงจัง ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มอบเงินจำนวน 1 ล้านบาทเพื่อศึกษาเรื่องนี้ภายในระยะเวลา 6 เดือน แต่ดูเหมือนจะไม่คืบหน้าเท่าใดนัก

“เราจัดตั้งแปลงทดลองจุดละ 1 ไร่ ในแต่ละจุดจะมีแปลงทดลอง 3 แบบคือ แปลงเถาวัลย์หนาแน่นโดยไม่ตัดทิ้ง แปลงเถาวัลย์หนาแน่นและตัดเถาวัลย์ทิ้ง กับแปลงเถาวัลย์ปกติหรือป่าธรรมชาติ โดยในพื้นที่ที่เราตั้งแปลงทดลองไว้ 3 จุด ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 3 จากปากทางเข้าอุทยานจนถึงกิโลเมตรที่ 15 พบว่า เถาวัลย์มีปริมาณมากในกิโลเมตรที่ 3 โดยจะมีประมาณสามสี่ชนิดที่เป็นปัญหาคือแก้วลืมวาง กระดูกแตก กระดูกกบ และสะแล 4 ชนิดนี้เป็นเถาวัลย์ที่มีเนื้อไม้และเจริญเติบโตเร็ว ปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขวางทำให้ต้นไม้ยอดหักและตายหลายชนิด นอกนั้นเถาวัลย์ชนิดอื่นๆ มีปริมาณน้อย ไม่ระบาดเยอะ” นี่คือรายละเอียดเบื้องต้นที่ ดร.วัฒนา ศักดิ์ชูวงศ์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยแก้ไขปัญหาเถาวัลย์ สามารถสรุปได้ตอนนี้ เพราะฉะนั้น การระบุสาเหตุของปัญหาว่าเป็นเพราะอะไร คงอาศัยการศึกษาในระยะยาวอีกที

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.จันทรเพ็ญ วงษ์ศรีเผือก อาจารย์ประจำหลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ที่อธิบายถึงการมองเถาวัลย์เป็นผู้รุกราน เพราะฉะนั้นต้องตัดทิ้งให้หมด ถือเป็นการมองที่เร็วเกินไปหน่อย เพราะการจะลงมืออะไรควรจะศึกษาให้ดี เนื่องจากหากทำไปแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากมองในแง่ของคุณประโยชน์เองจริง เถาวัลย์ก็ถือเป็นพืชที่มีประโยชน์ไม่น้อยในฐานะของอาหารสัตว์ป่าในฤดูแล้ง เพราะเถาวัลย์นั้นก็เหมือนพืชทั่วไปที่มีการออกดอกออกผล ขณะเดียวกันก็ยังเป็นที่อาศัย และที่หลบภัยของสัตว์ป่าบางชนิด และมีอีกหลายตัวที่สามารถนำไปใช้เป็นยาสมุนไพร เช่น ม้ากระทืบโรงก็มีชาวบ้านเอาไปดองเหล้ากันเต็มไปหมด

“มีงานวิจัยในต่างประเทศเขาบอกว่าถ้าคุณจะทำป่าอุตสาหกรรมเพื่อจะเอาต้นไม้มาใช้ประโยชน์ ก็ต้องเอาเถาวัลย์ออก เพราะมันจะไปแย่งอาหารต้นไม้ แต่ในธรรมชาตินั้นไม่จำเป็น นอกเสียจากว่าจะมีการศึกษามาแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน เป็น 10 ปี 15 ปี เพื่อที่จะรู้ว่าเถาวัลย์ชนิดไหนบ้างที่เป็นโทษ ถึงตรงนั้นก็อาจจะมีการตัดออกไปบ้างบางเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตัดมันทิ้งไปทั้งหมด ถ้ายังยืนยันว่าอยากตัดอยู่ ก็ขอให้มีการศึกษาในเรื่องนี้ในระยะเวลาที่เพียงพอก่อน”

ซึ่งสำหรับกรณีของป่าแก่งกระจานแล้ว ซึ่งถือเป็นป่าธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์สูง จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นแม้แต่น้อย และที่สำคัญปรากฏการณ์เช่นนี้ ดร.วัฒนา ยังบอกว่ายังไม่เคยเห็นในพื้นที่ป่าแห่งอื่นในประเทศไทยเลย ขณะที่ในต่างประเทศ เคยมีการรายงานในแถบทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา และในประเทศเนปาลมาบ้าง

“ผมสันนิษฐานว่า เป็นเพราะป่าแก่งกระจานมีความชื้นสูงกว่าที่อื่น เมื่อความชื้นสูง ต้นไม้ที่ถูกตัดออกไปแล้ว ไม่สามารถโตทันเถาวัลย์ เถาวัลย์ปกคลุมหมด ต้นไม้อื่นโตสู้ไม่ได้ เถาวัลย์จึงยึดครองพื้นที่ได้”

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดต้องรอข้อมูลยืนยันอีกครั้งจากสำนักอุทกศาสตร์ว่า ฝนและความชื้นมันมากขึ้นหรือลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการยืนยันว่า เถาวัลย์ที่ตัดมาแล้วมีวงปีเท่าไหร่ จึงจะรู้ว่าสภาพอากาศหรือโลกร้อนเปลี่ยนแปลงสภาพเถาวัลย์อย่างไร ทำให้เถาวัลย์โตเร็วขึ้นหรือเปล่า
..........

แม้ตอนนี้ กระบวนการตัดเถาวัลย์ในป่าแก่งกระจานจะถูกยุติลงชั่วคราว เพื่อหาชนวนเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าคืออะไรกันแน่ แต่สิ่งที่เกิดมาตลอดระยะเวลาครึ่งปีนั้น กลับสะท้อนให้เห็นว่า บางทีเรื่องเล็กๆ อย่างแค่เถาวัลย์อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ลุกลามใหญ่โต เกินจะคาดคิดได้

ถึงตรงนี้ ก็คงยังไม่มีใครบอกได้ว่าระหว่างผู้ร้ายกับผู้ดี เถาวัลย์นั้นยืนอยู่จุดไหนกันแน่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าจะทำได้ก็คือ การพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง และหลักการทางวิชาการ ก่อนจะตัดสินใจเชื่อทางฝั่งไหน
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น