“รางจืด” ช่วยชีวิตปาฏิหาริย์...
หลังจากที่สมุนไพรรางจืดสามารถช่วยชีวิตแม่ลูกที่อาการโคม่าจากพิษแมงดาทะเลได้ ทำให้สมุนไพรชนิดนี้เป็นที่ฮือฮาในวงการแพทย์ และถือว่าเป็นสุดยอดสมุนไพรที่คนกำลังให้ความสนใจ ด้วยสรรพคุณที่มากมาย หมอยาโบราณเชื่อเป็นยาวิเศษที่สามารถรักษาได้สารพัดโรคมากกว่าการถอนพิษ
สมุนไพรรางจืดที่เคยรู้จักกันถึงสรรพคุณช่วยในการถอนพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และขณะนี้ได้มีนักวิชาการทำวิจัยเพิ่มเติมในสรรพคุณของรางจืด จนทราบว่ารางจืดไม่เพียงแค่ถอนพิษหรือล้างพิษได้เท่านั้นแต่ยังสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แก้ไข้ รักษาโรคผิวหนัง แก้แพ้ ผื่นคัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด ต้านพิษตะกั่วต่อสมอง ต้านการก่อกลายพันธุ์ ฯลฯ สมุนไพรไทยที่เคยอยู่คู่กับการรักษาโรคของคนไทยโบราณ ได้นำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง และแล้วคนก็ต้องหันกลับมาพึ่งธรรมชาติที่เคยมี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเราเอง
รู้จักรางจืดหรือยัง?
หลายคนคงยังไม่เคยรู้จักต้นรางจืดมาก่อน อาจจะนึกไม่ออกว่ามีลักษณะอย่างไร หรือบางคนอาจเคยเห็นมาก่อนด้วยซ้ำแต่ไม่รู้จักว่าคือต้นรางจืด วันนี้ทีมงาน M-healthy จะพาคุณมารู้จักกับรางจืด ต้นไม้ที่มีสรรพคุณมากมาย ที่หลายคนคิดไม่ถึงว่าต้นไม้ใบรียาวธรรมดาๆนี้จะสามารถรักษาสารพัดโรคได้จริง
รางจืด เป็นที่รู้จักในชื่อไทยอีกหลายชื่อด้วยกัน เช่น กำลังช้างเผือก, ขอบชะนาง, เครือเขาเขียว, ยาเขียว (ภาคกลาง) รางเย็น (ยะลา) ดุเหว่า (ปัตตานี) ทิดพุด (นครศรีธรรมราช) น้ำนอง (สระบุรี) ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์) น้ำแน่ (อีสาน) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าThunbergia laurifolia Lindl.
รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย จึงสามารถขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นของประเทศไทยทุกภาค รางจืดจะเลื้อยพันต้นไม้อื่น ลำต้นและใบไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนตำลึงหรือมะระ อาศัยลำต้นพันรัดขึ้นไป ใบแยกออกจากลำต้นเป็นคู่ตรงบริเวณข้อ ซึ่งจะมีกิ่งแขนงแยกออกไปจากลำต้นเดิมตรงข้อ (โคนใบ) ทั้ง 2 ด้าน
ใบรางจืดมีลักษณะเป็นรูปยาวรีดคล้ายใบหญ้านาง แต่ใบโตกว่าประมาณเท่าตัวและมีสีเขียวอ่อนกว่าใบหญ้านาง ปลายเรียวแหลมโคนเว้าหรือหยักรูปหัวใจ ขอบใบอาจเป็นหยักหรือไม่มีหยักก็ได้ (นิยมชนิดขอบไม่มีหยักมากกว่า) และดอกมีขนาดเท่าดอกผักบุ้ง มีสีม่วงแกมน้ำเงิน สีเหลือง สีขาว ซึ่งนิยมดอกสีม่วงเข้มมากกว่า ผลเป็นรูปทรงกลม เมื่อผลแก่จะแตก 2 ซีกจากจะงอยส่วนบน
สารพัดประโยชน์ตั้งแต่ใบจรดราก
รางจืดมีการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานในหมอยาพื้นบ้านในด้านการยาแก้พิษ ไม่ว่าจะเป็นพิษยาเบื่อ ยาสั่ง ยาฆ่าแมลง พืชพิษ เห็ดพิษ รวมไปถึงพิษสุราและยาเสพติด ไม่เว้นแม้แต่พิษงู แมลงป่องหรือตะขาบ กล่าวคือ สามารถนำไปใช้แก้พิษในสัตว์ที่ได้รับยาพิษเช่นสุนัขหรือแมว ในตำรายาไทยรวมทั้งตำรายาพื้นบ้านกล่าวว่า รากและเถา รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใบและราก ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ผดผื่นคัน เริม สุกใส ทำลายพิษยาฆ่าแมลง หรือยาเบื่อ พิษจากการดื่มเหล้ามากเกินไป
ภูมิปัญญาอีสานมีประสบการณ์สืบต่อกันมาว่า เมื่อจะปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้งให้ใส่ใบและและดอกของเถารางจืดเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดจากพืชหรือสัตว์ป่าที่นำมารับประทาน ซึ่งคล้ายคลึงกับหมอยาไทยใหญ่ที่แนะนำให้นำยอดและดอกของรางจืดมาแกงกินเป็นอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ หมอยาพื้นบ้านยังนิยมให้รางจืดในการลดความดันโลหิต รักษาอาหารแพ้และผดพื่นคันทางผิวหนัง
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เจ้าตำรับสมุนไพรไทย และหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลอภัยภูเบศร กล่าวว่า รางจืดเป็นสมุนไพรมากด้วยสรรพคุณ ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ในด้านล้างพิษยาฆ่าแมลงและสารเคมีเท่านั้น หากยังมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริม งูสวัด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ใกล้คียงกับยาสเตียรอยด์ครีม แก้ผื่นแพ้ ลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้ลดระดับน้ำตาล และใช้พอกบาดแผลน้ำร้อนลวกได้
งานวิจัยรับรองสรรพคุณ
งานทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่สนับสนุนการใช้ของหมอยาพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้รางจืดในการต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืช ต้านพิษของตะกั่วต่อสมอง มีฤทธิ์ในการต้านสารเสพติดและพิษของสุรา ต้านการกลายพันธุ์ และยังช่วยรักษาโรคผิวหนัง อาการผื่นแพ้ต่างๆ เป็นต้น
รางจืด...ลดพิษยาฆ่าแมลง เนื่องจากพบว่าสารสกัดใบรางจืดแก้พิษยาฆ่าแมลง Folidol-E ซึ่งพบในน้ำสกัดจากใบรางจืดร่วมกับ Nropine สามารถลดอัตราการตายได้ มีการทดลองในหนูพบว่าน้ำสกัดใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านพิษยาฆ่าแมลงชนิด Organophosphate ได้ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพื่อศึกษาผลของการใช้รางจืดรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษพาราควอท (Paraquat) โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี ซึ่งสรุปได้ว่า รางจืดมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารพาราควอทรอดชีวิตได้มากขึ้น และการใช้รางจืดไปลดการสะสมของยาฆ่าแมลงในเลือดของเกษตรกรได้ ดังนั้น รางจืดจึงเหมาะที่จะใช้ลดสารพิษสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภค
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ยังกล่าวอีกว่า มีผลการวิจัยจากนักวิชาการหลายสถาบันเกี่ยวกับสมุนไพรรางจืดพบว่า สามารถรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากย่าฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตได้ผลดี และจากพิษของแมงดาทะเล ซึ่งพบว่าสามารถช่วยถอนพิษผู้ป่วยระยะวิกฤตในขณะที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและรูม่านตาไม่ตอบสนองให้กลับฟื้นเป็นปกติ หลังจากได้รับสารสกัดสมุนไพรรางจืดในรูปของน้ำจากใบรางจืดเป็นระยะเวลา 40 นาที ตามตำรายาไทย สามารถใช้แก้ไข้ ถอนพิษยาฆ่าแมลง และยังช่วยขับสารพิษในตับด้วย
รางจืด...ลดพิษของตะกั่ว รางจืดยังเหมาะกับสถานการณ์มลพิษในกรุงที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากไอเสียน้ำมันเบนซินซึ่งสารตะกั่วสะสมเป็นโรคพิษสารตะกั่วเรื้อรังในระยะยาวได้ สารตะกั่วจะสะสมในส่วนสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ (Hippocampus) มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากรางจืดสามารถลดอัตราการตายของเซลล์สมอง อันเนื่องจากพิษของตะกั่วและสามารถยับยั้งการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่เกิดจากพิษของตะกั่วได้อีกด้วย
เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ องค์กรรณรงค์ด้านเกษตรปลอดสารพิษ กล่าวว่า ในปัจจุบันคนได้รับสารพิษตกค้างอยู่ในร่างกายเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 45% ซึ่งสารพิษเหล่านั้นที่ร่างกายของเราไม่ต้องการ เมื่อเกิดสะสมในร่างกายมากขึ้น อาจเกิดเป็นโรคต่างๆได้ในอนาคต อย่างเช่น โรคมะเร็ง ซึ่งอัตราการเกิดโรคของคนในปัจจุบันได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะคนเมืองที่ได้รับสารตะกั่วจากควันรถ ซึ่งสมุนไพรรางจืดมีฤทธิ์สามารถขับสารพิษในร่างกายได้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคจากสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย
รางจืด...รักษาผู้ป่วยติดยาบ้า การที่หมอยาพื้นบ้านนำรางจืดมาแก้พิษยาเสพติด ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาพบว่ารางจืดมีฤทธิ์ที่กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกับ โคเคน (cocaine) และแอมเฟตามีน (amphetamine) แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า จึงมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการทำให้ผู้ติดยาเลิกเสพยาเสพติดได้ นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายด้วยเหล้าได้อีกด้วย ซึ่งพบว่ารางจืดมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับที่สูงมาก
รางจืด...รักษาโรคผิวหนัง ปัจจุบันก็มีการยืนยันจากรายงานการศึกษาที่บอกว่ารางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสโรคเริมได้ดี ซึ่งสนับสนุนการใช้รางจืดในการรักษาผดผื่นคัน เริม งูสวัดหรือผิวหนังอักเสบอื่นๆ
วิธีใช้และขนาดรับประทาน
สำหรับพิษที่รุนแรง ให้การรับประทานใบ ใช้ครั้งละ 10 - 12 ใบตำคั้นกับน้ำซาวข้าว ให้ใช้รากสดที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปเพียง 1 ราก โขลกหรือฝนผสมน้ำซาวข้าวจนขุ่นข้นประมาณครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้ว ดื่มเฉพาะน้ำให้หมดทันทีที่มีอาการ หรืออาจใช้ใบรางจืดแห้ง 300 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มดื่มน้ำครั้งละ 1 แก้ว และควรดื่มขณะที่ยังอุ่นจะให้ผลดีกว่า หรือนำใบหรือรากมาหั่นฝอย ผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผง หรือทำเป็นเม็ด รับประทานครั้งละ ประมาณ 5 กรัม โดยให้รับประทาน ทุก 1.5-2 ชั่วโมง
สำหรับแก้ร้อนใน ถอนพิษไข้ ถอนพิษสุรา หรือบำรุงร่างกาย ให้ใช้ 4 - 5 ใบ หรือประมาณ1.5-3 กรัม ชงน้ำดื่มหรือทำเป็นเม็ดรับประทาน วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการ
รางจืดสามารถปลูกได้ทั่วไป ชอบดินร่วนปนทราย ชอบความชุ่มชื้น หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รางจืดเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดปานกลาง คือ ไม่ต้องการแสงแดดที่จัดมากเกินไป การขยายพันธุ์ นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำ หรือใช้เมล็ดแก่ รางจืดสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เพราะมีสารสำคัญทางยาอยู่ในปริมาณสูง สำหรับการใช้ประโยชน์จากรากรางจืด ให้เลือกรากที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
วิธีการปลูกพืชสมุนไพรรางจืด คุณเดชาได้แนะนำวิธีการที่พัฒนาได้ง่ายที่สุด โดยการตัดเถามาส่วนหนึ่ง แยกเด็ดใบออกมาโดยยังเหลือกิ่งของใบไม้อีกใบหนึ่ง นำใบที่มีตาของกิ่งนั้นมาปลูกในแกลบดำหรือทรายหยาบ แล้วรดน้ำใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะสังเกตเห็นว่าส่วนของรากจะงอกออกมา ซึ่งรับสารอาหารจากใบนำไปสร้างรากนั่นเอง จากนั้นจึงนำมาปลูกลงดิน ซึ่งต่อไปรากที่งอกมานั้นจะรับเอาอาหารจากดินมาเลี้ยงลำต้นให้เติบโตแทน
ประสบการณ์จากผู้ใช้รางจืด
จากประสบการณ์การใช้รางจืดในการรักษาโรคของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ทราบและเคยใช้จริงว่า สมุนไพรจางจืดสามารถรักษาอาการของโรคต่างๆที่เป็นอยู่ได้จริง
ศิริทรัพย์ พูลเชื้อ เป็นผู้เคยใช้รางจืดในการถอนพิษเป็นคนแรกๆที่ทาง ภญ.ดรสุภาภรณ์ ปิติพร ได้สัมผัสถึงสรรพคุณของรางจืดในการถอนพิษอาการแพ้จากยาฆ่าแมลง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณศิริทรัพย์ ได้ขับรถมอเตอร์ไซค์มาทำงานตามปกติระหว่างทางได้ขับผ่านสวนผักที่ชาวบ้านกำลังฉีดยาฆ่าแมลงอยู่ ทำให้ละอองของสารเคมีมาโดนใบหน้า และต่อมารู้สึกมีอาการร้อนแสบบริเวณใบหน้า และพบว่าหน้ามีอาการแดง จึงกลับบ้านไปต้มรางจืดโดยใช้รางจืดอบแห้งต้มจากคำแนะนำของภญ.ดรสุภาภรณ์ นำรางจืดที่ต้มแล้วมาใช้ดื่มและพอกที่บริเวณผิวหน้า กากรางจืดที่นำมาพอกที่หน้าจะรู้สึกเย็นและเหมือนถูกดูดความร้อนออกไปอาการแสบร้อนที่ผิวหน้าเริ่มหายไปทีละน้อยจนไม่มีอาการ และดื่มน้ำรางจืดต้มต่างน้ำอยู่ประมาณ 1 วัน กับอีก 1 คืน จนอาการหมดไป
หลังจากเหตุการณ์นี้คุณศิริทรัพย์ มีการนำรางจืดมาใช้แก้อาการที่เกี่ยวกับการแพ้แล้วมีผื่นคัน หรือแสบร้อนที่ผิวหนังบ้างเมื่อมีอาการ และได้นำต้นรางจืดมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อให้ง่ายต่อการใช้ ในปัจจุบันยังใช้รางจืดในกรณีที่รับประทานอาหารทะเลแล้วมีอาการคันในปาก โดยจะนำชารางจืดมาชงดื่มก็จะมีอาการดีขึ้น
ข้อควรระวัง! สมุนไพรรางจืด
ถึงอย่างไรก็ตามสมุนไพรรางจืดจะสามารถล้างพิษได้จริง แต่ยังไม่มีข้อมูลการวิจัยหรือเอกสารใดบ่งชี้ได้ว่า เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหรือใช้เป็นจำนวนมากในคนจะเกิดผลอย่างไร นักวิชาการทางด้านนี้จึงไม่แนะนำให้รับประทานอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงควรใช้เป็นครั้งคราวหรือเมื่อรักษาโรคได้แล้วก็ควรหยุดใช้ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นตามมาเมื่อใช้ในระยะยาวได้ ซึ่งไม่เฉพาะรางจืดเท่านั้น สารทุกตัวที่รับประทานเข้าไปภายในร่างกายต้องผ่านกระบวนการทำงานของตับและไต ดังนั้นหากใช้สมุนไพรในเวลานานจึงควรตรวจการทำงานของตับและไตด้วย
สำหรับคนที่มีการรับประทานรางจืดเป็นผัก ได้มีการศึกษาวิจัยพิษเรื้อรัง (chronic tocixity) โดยให้หนูกินรางจืดในขนาดสูงกว่าขนาดปกติที่คนได้รับประมาณ 100เท่าเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีพิษ แต่เป็นการทดลองในสัตว์ยังไม่มีการทดสอบในคนเป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีผลข้างเคียงจริงในอนาคต ซึ่งต่อไปต้องทำการวิจัยเพื่อให้เกิดการใช้รางจืดในคนอย่างกว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้มีข้อควรระวัง สำหรับการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ถ้าเกิดอาการแพ้รางจืดซึ่งแต่ละคนมีระดับอาการแพ้ที่ร่างกายต่อต้านไม่เหมือนกัน จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจหรือถ้ามีอาการแพ้ไม่มากก็จะเป็นแค่ผื่นคันตามผิวหนัง และควรระวังการใช้ร่วมกับยาอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอื่นอย่างต่อเนื่อง เพราะรางจืดอาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย
วันนี้ถือได้ว่าสมุนไพรรางจืด เป็นยอดสมุนไพรต้านพิษที่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นสมุนไพรประจำบ้าน เพื่อใช้เป็นยารักษาช่วยขับพิษ แก้พิษ แก้ร้อนในทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ดังนั้นการรักษาโรคบางอย่างจึงสามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันได้ดีเลยทีเดียว
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับรางจืด
“รางจืด” เป็นพืชสมุนไพรหรือว่าน ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ รางจืดชนิดต้น (รางจืดต้น) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ต้นหิงหาย” เป็นไม้พุ่มตระกูลถั่ว รางจืดชนิดหัว (รางจืดหัว) เป็นว่านพืชจำพวกหัวคล้ายขมิ้นชัน มีหัว ลำต้นอยู่ใต้ดิน และรางจืดชนิดเถาวัลย์ (รางจืดเถา) เป็นพืชจำพวกเถาเลื้อย มีด้วยกัน 3 พันธุ์ คือพันธุ์ดอกสีขาว สีเหลือง และสีม่วง ซึ่งรางจืดชนิดเถาดอกสีม่วงมีคนนิยมใช้มากที่สุดเนื่องจากมีคุณสมบัติในการถอนพิษได้ดีที่สุด
ข่าวโดย M-lite / ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์