xs
xsm
sm
md
lg

‘ลำพูน’ เมืองสบาย สบาย เมืองในฝันของกระทรวงวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘ความช้า’ ในบริบทโลกศตวรรษที่ 21 เหมือนจะเป็นความแปลกปลอม มันไปกันไม่ได้เลยกับการแข่งขัน ผลกำไร หรือผลิตภาพ วิถีชีวิตที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถส่งเราข้ามโลกได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่เวลา 24 ชั่วโมงกลับสั้นลงจนน่าใจหาย

อีกด้าน ‘ความช้า’ กลายเป็นกระแสคัดง้าง ‘ความเร็ว’ ขึ้นหลายแห่งทั่วโลก ‘Slow Movement’ เน้นความช้า ความเรียบง่าย และความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม มีตั้งแต่ กินช้าๆ (Slow Food) เดินทางช้าๆ (Slow Travel) ใช้ชีวิตช้าๆ (Slow Life) ฯลฯ แม้จะเป็นแรงขัดขืนกระแสโลกที่น่าสนใจ แต่ถ้าให้พูดกันแรงๆ ก็ต้องบอกว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงวิถีการบริโภคอีกรูปแบบหนึ่งที่เสกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองจริตชนชั้นกลางที่ชอบความแตกต่าง

เมืองไทย-เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำโดย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ได้คัดเลือกลำพูนเป็นจังหวัดนำร่องตามนโยบาย เมืองสบาย สบาย (Slow town) หรือเมืองที่มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมเรียบง่ายและมีเอกลักษณ์โดดเด่น เพราะมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน, เป็นพื้นที่ชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมต่างๆ, มีรูปแบบวัฒนธรรมที่สะท้อนการมีจิตสำนึกร่วมกันอย่างเรียบง่าย สงบสุขและมีคุณค่า, มีการรวมตัวเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ และมีโครงสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนอย่างสมดุลของคนและธรรมชาติ

แนวคิดฟังแล้วดูดี แต่รากฐานความคิดและการปฏิบัติยังต้องพิสูจน์อีกมาก เพราะการจะให้เมืองทั้งเมืองเคลื่อนไหวเชื่องช้าไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายดาย

[1]

แน่นอน แนวคิดเมืองช้าๆ วธ. ไม่ใช่ต้นคิด แต่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในอิตาลีมาตั้งแต่ตุลาคม ปี 2542 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากองค์การสโลว์ ฟูด (Slow Food) ขบวนการเมืองช้าๆ นี้มีชื่อว่า Cittaslow

เมืองช้าๆ ในความหมายของ Cittaslow ไม่ใช่เมืองที่มีรถยนต์น้อย ผู้คนไม่ใช่อินเทอร์เน็ต มีแต่บ้านเก่าๆ แต่จุดมุ่งหมายของ Cittaslow เพื่อต้องการส่งเสริมชุมชนที่ดำรงตนอยู่โดยไม่โอนเอนตามกระแสโลก คัดง้างการกลืนให้เหมือนๆ กันไปหมดของโลกาภิวัตน์ ดำรงและส่งเสริมความหลากหลายทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณี และสิ่งแวดล้อมของเมืองหรือชุมชนไว้ได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน และจะต้องมีประชากรไม่เกินกว่า 50,000 คน

เมืองที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานจะสามารถนำโลโก้ ของ Cittaslow ไปใช้ได้เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าเป็นเมืองช้าๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า แนวคิดและมุมมองต่อความเป็นเมืองช้าๆ ดังกล่าวก็เป็นมุมมองแบบตะวันตกที่นิยมการจัดประเภทและทำตัวเป็นผู้กำหนดให้ผู้อื่นให้ทำตาม

สุนีรัตน์ ไม้ทิม บรรณาธิการบริหารนิตยสาร ‘Simply Living’ กล่าวถึงความหมายของ สโลว์ ทาวน์ ในเชิงอุดมคติว่าเป็นเมืองที่มีวิถีแบบเนิบช้า เป็นลักษณะของการใช้ชีวิตอย่างสบายไม่เร่งรีบ มีเวลาสร้างความสุขจากสิ่งรอบตัว และดำเนินด้วยวิถีแห่งท้องถิ่น เธอยกตัวอย่างว่า

“ที่นิวซีแลนด์ ชาวบ้านแถวทะเลสาบเทคาโป เขาทำเขตอนุรักษ์แสงดาว ถึงเวลา 2 ทุ่มเขาปิดไฟหมดทั้งเมืองเพื่อให้ดาวได้ส่องแสง คือชุมชนแถบนั้นเขายังพึงพอใจกับวิถีชีวิตดั่งเดิม เมื่อก่อนผู้คนจะใช้ชีวิตอย่างพื้นถิ่น เลี้ยงสัตว์กัน”

[2]

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เจ้าของโครงการอธิบายว่า โครงการดังกล่าวถูกคิดค้นและเตรียมการมาปีกว่าแล้ว ซึ่งในประเทศแถบยุโรปเขาก็มีเหมือนกันที่เน้นเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม เช่น อิตาลี มีกรุงโรม เวนิส และเมืองเล็กๆ อีกหลายเมืองที่รองรับนักท่องเที่ยวไม่ได้มาก อย่างเมืองเซียนน่า ก็นำเรื่องแข่งม้ามาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้หวังว่านักท่องเที่ยวจะมาอย่างล้นหลาม เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาวะสำลักนักท่องเที่ยว ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของ สโลว์ ทาวน์

ส่วนในเรื่องแนวคิดทางปรัชญาในภาวะปัจจุบันก็ทราบอยู่แล้วว่าเรื่องฟาสต์ฟูด การใช้ชีวิตที่รีบเร่งในมหานครเป็นอย่างไร คนก็พยายามแสวงหาสิ่งที่ช้าลง สบายขึ้น และแสวงหาอดีตมากขึ้น

การยกให้ลำพูนเป็นจังหวัดนำร่อง ทาง วธ. ไม่ได้มีการเข้าไปควบคุมสิ่งต่างๆ เพราะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามแบบแผนของตัวเอง และไม่ได้รีบเร่งทำให้เกิดขึ้น

“เราก็มีการไปคุยกับเครือข่ายชุมชน สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูนก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีนะ หากเราไปโปรโมตเมืองใดเมืองหนึ่งจนเกินไปก็ไม่ดี คนก็เฮกันไป เช่น ปายหรือน่าน เราต้องให้ความรู้เขาว่าต้องปรับตัวเองด้วย ไม่ใช่มาแล้วถามหาร้านสะดวกซื้อ หรือร้านกาแฟชื่อดัง เมืองนั้นเขาอาจจะไม่มี ผู้ที่ไปเยือนต้องศึกษาสถานะความเป็นอยู่และคาราวะชุมชนนั้นด้วย”

ส่วนคำนิยามของสโลว์ ทาวน์ ศ.ดร.อภินันท์ บอกว่า คือ เน้นเรื่องของการเข้าใจพื้นที่เหล่านั้น และปล่อยให้เติบโตไปแบบสบายๆ ตามวิถีของตัวเอง ซึ่งทาง วธ. จะไม่เข้าไปจัดการอะไร

“ไม่เลย เราจะไม่เข้าไปทำอะไรกับเมืองเขา ให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติ อย่างลานหน้าพระธาตุหริภุญไชย เขามีกิจกรรมอยู่แล้ว เราก็จะไปสนับสนุน เช่น มีพิพิธภัณฑ์ชุมชน เขาก็มีอยู่แล้ว เราจะไม่ไปบอกเขาว่าต้องทำอะไรเพื่อให้เป็นเมืองสบายๆ เพราะเขาสบายอยู่แล้ว มันต้องใช้ความละเอียดอ่อน”

ส่วนการควบคุมการก่อสร้างอาคารนั้น ศ.ดร.อภินันท์ บอกว่า ควรดูตัวอย่างจากเมืองหลวงพระบางที่แม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมาก แต่ก็ไม่มีอาคารสูง ในกรณีลำพูนก็เช่นกันเพราะชุมชนเขาเป็นแบบนั้น และนักท่องเที่ยวเองก็ต้องปรับตัว

“การควบคุมก็ต้องเป็นการร่วมมือของหลายฝ่าย ผู้ว่าฯ ตัวแทนชุมชน มีแรงต้าน ความสมดุล ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่ใช่ว่านักท่องเที่ยวมาเยอะแล้วต้องสร้างโรงแรมหรูสูงๆ”

[3]

การจะสร้างให้เมืองเมืองหนึ่งเป็นเมืองช้าๆ (ถ้ามันสร้างกันได้) ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการดำรงอยู่ของเมืองมิใช่แค่ตึกรามบ้านช่อง ถนนรนแคม สภาพเศรษฐกิจ แต่ส่วนผสมสำคัญคือ ‘วิถีวัฒนธรรม’ และ ‘คน’ ที่อาศัยอยู่ในเมืองว่าเกื้อกูลต่อความช้าหรือไม่

ในมุมของ ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกเจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี 2553 มองแนวคิดเรื่องเมืองสบาย สบาย ของกระทรวงวัฒนธรรมว่า ยังไม่มีความชัดเจนและไม่น่าจะมีประโยชน์ เพราะการที่เมืองใดเมืองหนึ่งจะเป็น Slow City ได้หรือไม่ ย่อมมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ 'คน'

"ทุกวันนี้รู้สึกว่าลำพูนเชื่อมต่อกับเชียงใหม่จนเหมือนเป็นเมืองเดียวกันจนน่าตกใจ ดังนั้น คำว่า Slow จะเป็นไปได้แค่ไหนคงตอบลำบาก แต่จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับคน ถ้าคนเปลี่ยน เมืองก็ไปตามคน ยิ่งมีอะไรให้ใช้ไวไว ก็ยิ่งไวขึ้นเรื่อยๆ"

เพราะฉะนั้นการที่จะไปบอกว่า เมืองนี้ต้องเป็นแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นไปของเมืองเป็นเรื่องที่ฝืนไม่ได้ อย่างเมืองไทยเองก็ต้องยอมรับว่า เป็นประเทศที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ช้าแห่งหนึ่งก็ว่าได้ แต่ด้วยความที่เราไม่ใช่ประเทศเดียวในโลก พอกระแสโลกมันผลักให้เร็ว สุดท้ายก็ปฏิเสธไม่ได้ และต้องเร็วตามวิถีที่เปลี่ยนไป

หรือเบื้องต้นที่สุด การที่ วธ. จะกำหนดให้ลำพูนเป็นเมืองสบาย สบาย ได้ถามคนลำพูนมากน้อยแค่ไหน

“จริงๆ แล้ว การทำอะไรกับชุมชนควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองนะ คนลำพูนในภาคส่วนต่างๆ ต้องรับรู้ ไม่ใช่จู่ๆ จะมีใครมากำหนดว่าจะให้มันเติบโตไปอย่างไร นี่คนลำพูนส่วนมากเองยังไม่รู้เลยว่าสโลว์ ทาวน์ที่ว่า มันจะเป็นอย่างไร”

เคารพ พินิจนาม นักวิจัยอิสระที่ทำงานในภาคประชาชนและเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดลำพูนมาหลายสิบปี กล่าวถึงประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ดูเหมือนทางภาครัฐจะละเลยไป เนื่องจากที่ผ่านมาวันร้ายคืนร้าย นิคมอุตสาหกรรมก็ผุดขึ้น จากเมืองที่อยู่กับธรรมชาติเปลี่ยนเป็นเมืองอุตสาหกรรมแบบไม่ตั้งตัว

จึงออกจะเป็นสภาพที่ขัดแย้งไม่น้อยว่าเมืองอุตสาหกรรมจะเป็นเมืองสบาย สบาย เมืองช้าในรูปแบบไหน

[4]

"การเป็นเมืองๆ หนึ่ง มันไม่ใช่แค่ตั้งเมืองแล้วจบ แต่มีเงื่อนไขมากมายที่จะทำให้เมืองมันดันไปทางไหนและไปในรูปแบบไหน และต่อให้เมืองที่มีการวางผังหรือออกแบบมาแล้ว สุดท้ายมันก็ตามผู้ออกแบบ เป็นแบบนี้เหมือนกันทุกเมือง เพราะการวางผังก็เป็นแค่การมองในเชิงกายภาพ แต่การมองเมือง มันต้องมองไปที่วิถีคนหรือมองให้ลึกกว่านั้น ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่ามีเงื่อนไขเยอะ การทำให้มันสโลว์จึงเป็นเรื่องยาก” ปฐมาแสดงความเห็น

ส่วนสุนีรัตน์มองว่า ปัจจัยที่จะทำให้เมืองเมืองหนึ่งกลายเป็นสโลว์ ทาวน์ ต้องมีความชัดเจนด้านนโยบาย การปฏิบัติที่เข้มงวด ต้องมีการวางแผนการเจริญเติบโตให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม

ในมุมของคนลำพูนอย่างเคารพ เขาบอกว่า

“ทางออกมันมีอยู่ทางเดียวคือ ในการกำหนดกรอบการพัฒนามันต้องมองรากฐานจากความเป็นจริง ไม่ใช่มองจากข้างบน เพราะปัญหาของลำพูนในเรื่องอื่นๆ มีอยู่หลายด้าน ต้องดูก่อนว่าลำพูนมีอะไรที่เป็นทุนอยู่แล้วบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ทรัพยากร แต่ที่สำคัญก็ต้องมาดูกันก่อนว่าคนที่นี่มีความพร้อมแค่ไหนและต้องการอะไรกันแน่”

สมมติเล่นๆ ว่า ลำพูนได้เป็นเมืองสบาย สบาย จริงตามนโยบายของ วธ. ฝูงนักท่องเที่ยวคงจะแห่มารุมทึ้งดังที่เกิดกับปายหรือเชียงคาน มันจึงไม่ได้จบแค่การเป็นเมืองสบาย สบาย แต่ยังต้องคิดถึงอนาคตอีกว่า จะปกป้องความสบายนี้ให้รอดพ้นจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างไร

>>>>>>>>>>

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น