xs
xsm
sm
md
lg

‘ตั๋วรถเมล์ล่วงหน้า’ โปรโมชันเกาไม่ถูกที่คันของ ขสมก.?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หายหน้าหายตาจากระบบขนส่งมวลชนมานานเกือบ 5 ปี ในที่สุดองค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ขสมก.) ก็ตัดสินใจเข็นโครงการจำหน่ายตั๋วรถเมล์แบบรายสัปดาห์และรายเดือนกลับมาอีกครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการโดยสารรถประจำทางมากขึ้น

ว่ากันว่า การกลับมาครั้งนี้ซึ่งมีกำหนดดีเดย์ในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ดูจะตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งนัก เพราะในวันนั้นก็เป็นวันที่ครบกำหนดนโยบายการให้บริการรถประจำทางฟรีจำนวน 800 คันพอดี (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต่ออายุออกไปอีกหรือเปล่า?) ราวกับต้องการให้โครงการนี้เข้าเชื่อมต่อโครงการรถเมล์ฟรียังไงก็ไม่รู้

แถมล่าสุดเจ้าของโปรเจกต์ก็ได้เคาะราคากันออกมาแล้วคือ ตั๋วรายสัปดาห์ราคา 100 บาท และรายเดือน 400 บาท สามารถใช้โดยสารรถ ขสมก. ทุกสายไม่จำกัดเส้นทาง และไม่จำกัดเที่ยวภายในวันที่กำหนดไว้ในตั๋ว แต่จะใช้เฉพาะรถแบบธรรมดาเท่านั้น ส่วนตั๋วรถปรับอากาศก็มี 2 ราคาเช่นกัน คือ 200 บาทสำหรับรายสัปดาห์ และ 800 บาทสำหรับรายเดือน โดยคุณสมบัติก็เหมือนแบบแรกทุกประการแต่สามารถขึ้นรถ ขสมก.ได้ทุกประเภท ทั้งรถร้อนรถเย็น

เห็นความตั้งใจดีๆ ขององค์กรรัฐเกิดขึ้นก็อดปลื้มใจแทนไม่ได้ แต่อย่างว่าอีกใจหนึ่งก็อดรู้สึกเป็นห่วงไม่ได้ เพราะอย่างที่กล่าวไว้แต่แรกแล้วว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยมีการจำหน่ายตั๋วทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี แถมยังมีบริการเชิงรุกด้วยการขึ้นไปขายถึงบนรถเมล์

แต่ดูเหมือนความพยายามดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากผ่าน 2 ปีก็มีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโกงตั๋ววันด้วยการนำตั๋วกลับมาใช้ใหม่ จนสุดท้ายต้องยกเลิกตั๋วแบบรายวัน ขณะที่ความนิยมเองก็ดูลุ่มๆ ดอนๆ ก่อนที่ ขสมก.จะประกาศยกเลิกโครงการทั้งหมด ในปี 2549 และกลับมาใช้เงินสด ฉีกตั๋วในกระบอกเหมือนเดิมทุกประการ

เพราะฉะนั้นพอโครงการนี้กลับมารื้อฟื้นใหม่ก็เลยไม่มั่นใจว่าสุดท้ายโศกนาฏกรรมแบบเดิมๆ จะกลับมาเยือน ขสมก.อีกคำรบ งานนี้จึงต้องมาวิเคราะห์จุดเด่น-จุดด้อยของโครงการนี้แบบชัดๆ ว่าเรื่องแบบนี้จะเป็นไปได้จริง (และยั่งยืน) ในสังคมเมืองแบบกรุงเทพมหานครหรือไม่

ต้องดีกว่าเก่า?

“เราเน้นเรื่องความสะดวกและความประหยัดของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้รถโดยสารเป็นประจำ จะได้ไม่ต้องมาเตรียมเงินอะไรมากมายเวลาขึ้น และถ้าใช้หลายๆ เที่ยวก็ถือว่าคุ้มกว่า” ปราณี ศุกระศร รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก.เปิดฉากเล่าถึงการกลับมาของโครงการนี้อีกรอบ

และเมื่อมองสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าอะไรหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไป อย่างครั้งที่แล้วการประชาสัมพันธ์ก็ไม่ดี บวกกับการถือกำเนิดของระบบขนส่งมวลชนใหม่ๆ อย่างรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งก็ดูดลูกค้าไปเยอะเช่นกัน ขณะที่ครั้งนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะเป็นใจมากกว่าเยอะ เพราะอย่างที่ทราบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้เงินแต่ละทีก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะฉะนั้นเมื่อประชาชนเห็นโปรโมชันที่คุ้มเช่นนี้ ก็น่าจะเรียกความสนใจได้ไม่ยาก

“เรามั่นใจว่าโครงการนี้จะไปรอด เพราะทุกวันนี้อะไรที่ประหยัดก็ต้องประหยัด ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้อยู่ทุกวัน หากมีส่วนลดได้ก็น่าจะเอาแถมยังสะดวกด้วย อย่างน้อยก็ตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปเลย”

โดยราคาของตั๋วนั้นก็พิจารณาจากพื้นฐานการใช้ของผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 3 เที่ยว ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเป็นจริง ก็ถือว่าน้อยกว่าการเดินทางจริงของคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ

ที่สำคัญ ตั๋วแบบนี้ยังถือเป็นการอุดช่องว่างเรื่องรถโดยสารไม่เพียงพอของ ขสมก.อีกด้วย เพราะพอผู้โดยสารจ่ายแบบเหมาไปแล้ว หากรถสายที่ต้องการมาช้า ก็สามารถหันไปนั่งรถสายอื่น แล้วค่อยไปต่ออีกคันเพื่อไปถึงจุดเป้าหมายก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองเงินทองเหมือนตอนที่ยังไม่ใช้ตั๋วล่วงหน้า

จุดอ่อนที่กำจัดได้ยาก!

แต่อย่างว่า แม้แนวคิดดังกล่าวจะออกมาดี แต่สำหรับคนที่เคยใช้งานมาก่อนก็ใช่ว่าจะไม่รู้ถึงจุดเด่นในข้อนี้

อย่าง ชนนิกานต์ พัฒนพันธุ์พงศ์ นิสิตปริญญาโท คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ยอมรับว่ารู้สึกสะดวกสบายกับการใช้ตั๋วล่วงหน้า เพราะนอกจากจะรู้สึกคุ้มเวลาเดินทางไปเรียน เนื่องจากบ้านอยู่ไกล เลยต้องนั่งรถประจำทางหลายสาย แต่หลังจากผ่านไป 1-2 เดือนความรู้สึกคุ้ม ก็เริ่มมลายหายไป เพราะตั๋วดังกล่าวนั้นใช้ได้แต่รถของ ขสมก.เท่านั้น ในขณะที่จำนวนของรถ ขสมก.ที่วิ่งผ่านนั้นเมื่อเทียบกับรถร่วมบริการก็เป็นอัตราที่น้อยเสียเหลือเกิน

“บางทีต้องรอรถนานมาก หลายครั้งที่ยืนรอแล้วมีแต่รถเมล์ร่วมบริการ บางทีจะถึงเวลาเรียนแล้ว รถเมล์ของ ขสมก. ก็ยังไม่มีมาเลย เรารอไม่ได้ก็ต้องใช้บริการรถเมล์ร่วม ก็เสียเงินเพิ่มอีก พอมันเป็นแบบนี้บ่อยๆ เข้า มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันไม่คุ้มแล้วนะ ที่เราต้องมาเสียเงินสองต่อ เหมือนเราเสียเงินซื้อตั๋วเดือนไปหลายร้อย แล้วทำไมมันใช้ได้ไม่เต็มที่ รถเมล์มาบ้าง ไม่มาบ้าง ช่วงเวลาเร่งรีบ รู้สึกเลยว่าพึ่งรถเมล์ ขสมก.ไม่ได้เลย ไม่รู้ทำไมรถเมล์สายที่รอจะขึ้นไม่เคยมาทันเวลาเร่งรีบ”

สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงความเห็นว่า เรื่องรถร่วมฯ เป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะทุกวันนี้ถ้าไปสังเกตพื้นที่บนถนนจะพบว่ารถร่วมฯ นั้นวิ่งทับซ้อนกับ รถ ขสมก.เป็นจำนวนมาก และการที่ให้คนที่ใช้ตั๋วรอเฉพาะแต่รถ ขสมก.อย่างเดียวย่อมเป็นไปได้ยาก และไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ทางทีดี ขสมก.น่าจะขอความร่วมมือรถร่วมบริการในเรื่องตรงนี้ และมีการแบ่งค่าตอบแทนที่เหมาะสมก็น่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ และยังทำให้คนที่ซื้อตั๋วใช้ เขาสามารถเอาตั๋วไปใช้กับรถคันไหนก็ได้ แทนที่จะถูกจำกัดโดยรถไม่กี่คัน เพราะปัจจุบันรถก็วิ่งทับซ้อนจำนวนมาก แล้วคนที่ใช้ตั๋วเขาก็จะต้องรอเฉพาะรถเมล์ ขสมก.เท่านั้นถึงจะไปได้ แทนที่จะไปได้ทุกคัน คือถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาแบบครบวงจรได้ ก็ยากที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้รับผิดชอบ ปราณีก็ยอมรับถึงจุดอ่อนในข้อนี้ และการใช้ตั๋วครั้งนี้ก็ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า การที่รถร่วมจะเข้าโครงการนี้ย่อมหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์ไปไม่น้อย และสัดส่วนการแบ่งรายได้ก็ต้องมีปัญหา

“ทุกวันนี้ระบบมันยังไปไม่ถึง แล้วลองคิดดูคนขึ้นรถร่วมอีกเที่ยวเขาก็ได้ตังค์แล้ว ถ้าเวียนแบบนี้เขาจะยอมเราเหรอ เพราะเขายอมก็ต้องเสียรายได้ และเราก็ยังคิดไม่ถูกว่าจะต้องจ่ายให้รถร่วมฯ ต่อวันต่อคันเท่าไหร่ แต่ตรงนี้เรายังยืนยันว่า ทุกวันนี้รถองค์การฯ ก็ยังมีอยู่ ไม่มีทางที่ผ่านหน้าไปจะมีแต่รถร่วมฯ อย่างเดียวแน่นอน”

องค์กรเดียวทำได้แน่!

เห็นระบบการจัดการขนส่งในเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วยปัญหาไปหมดอย่างนี้ ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วในรถโดยสารในต่างประเทศล่ะ เขามีปัญหาแบบบ้านเราบ้างหรือไม่

จากการสอบถาม แต้มฝัน วาทยานนท์ นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็น 3 เดือนครึ่ง ก็เล่าถึงการขนส่งมวลชนที่นั่นว่ามีวินัย ตรงต่อเวลา เพราะถึงจะไม่มีรถประจำทางเยอะเหมือนบ้านเรา แต่ก็มีตารางเวลาชัดเจน จอดตามป้ายเป็นเวลา

“พอเราขึ้นไปคนขับก็ทำหน้าที่จำหน่ายตั๋ว ราคาก็ต่างกันตามระยะทาง เราก็เตรียมเงินให้พอดีหยอดลงไปในตู้ใสๆ ข้างๆ คนขับ ถ้าเงินเกินเขาก็จะไม่ทอน คนเขามีระเบียบกว่าเราเยอะ เขาตรงต่อเวลามาก คือเราไปช้าไม่ได้รถมันทิ้งเลยนะ ต้องรอเที่ยวถัดไป ขณะที่เวลาเฉลี่ยของรถแต่ละสายก็ไม่เท่ากัน 15 นาที, 1 ชม. ต่างกันไป มีตารางบอกชัดเจน เวลาจอดตามป้ายถ้าเป็นท่าใหญ่รถจะใช้เวลาจอด 20 นาที แต่ท่าเล็กก็เหมือนเมืองไทยมาปุ๊บก็ขึ้นเลย มันทำให้เรามีเวลาในการคิดหรือทำอะไรมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเผื่อเวลาในการเดินทางเลย”

ส่วนประเภทของตั๋วก็มีให้เลือกแบบหลากหลาย ไม่ว่าตั๋วแบบเที่ยวเดียว จะมีลักษณะเป็นกระดาษคิดราคาตามระยะทาง ตั๋วแบบทรานส์เฟอร์ คือเป็นตั๋วสำหรับไปที่ไกลๆ ใช้ในกรณีที่รถสายที่ขึ้นไปนั้นไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ คุณก็สามารถนำตั๋วประเภทนี้แล้วไปต่อสายอื่นโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแล้วเขาก็จะเก็บตั๋วไป และตั๋ววัน ซึ่งซื้อเพียงใบเดียวก็สามารถขึ้นสายไหนก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก

แน่นอนว่า ความสะดวกเหล่านี้ ผศ.ดร.จิตติชัยก็อธิบายว่า หลักๆ นั้นมาจากการบริหารงานในรูปแบบองค์กรเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟ รถโดยสาร หรือหากมีหลายองค์กร ก็จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดการเรื่องต่างๆ โดยเด็ดขาดเพียงองค์กรเดียว ซึ่งถือว่าแตกต่างจากสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

แต่ก็ใช่ว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะไม่มีทางพัฒนาไปได้ โดยปราณีก็อธิบายว่า ตั๋วที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะถูกไปต่อยอดเป็นตั๋วอิเล็กทรอนิกส์และตั๋วร่วมกับระบบขนส่งมวลชนอื่นในอนาคต โดยที่น่าจะเห็นผลเร็วที่สุด ก็คือ รถร่วมบริการ

“ถ้าเทียบกับเมืองนอก เรายังถือว่าล้าหลังมาก เพราะเขาจะมีตั๋วเล็กๆ ที่เรียกว่า อี-ทิกเก็ต แปะเอาไม่ต้องให้กระเป๋าดู คือให้ระบบมันอ่าน แต่เราคงไม่จำเป็นต้องถึงระบบนั้น หน้าที่หลักของเราก็คือการเชื่อมระบบขนส่งมวลชนให้ได้เสียก่อน ซึ่งสำหรับรถร่วมฯ เอง ในอนาคตจะต้องถูกดึงเข้ามาแน่นอน เพราะต่อไปเขาจะเข้ามาเดินรถในรูปแบบสัญญาการจ้างแบบ PBC (Performance Based Contract-การให้บริการเชิงคุณภาพ) ซึ่งมีการจ่ายค่าตอบแทนแบบที่เขาอยู่ได้ ไม่ใช่เดินรถแบบขาดทุน ซึ่งระบบตั๋วก็จะมาคู่กับสัญญาจ้างนั่นเอง”
.........

คงไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่า สุดท้ายแล้วโครงการนี้จะลงเอยเหมือนหรือแตกแต่งจากหลายปีก่อน แต่ไม่แน่ นี่อาจจะเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ทำให้คนในสังคมเมือง หันกลับมาใส่ใจถึงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่าง 'การเดินทาง' ขึ้นมาก็ได้

ว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวงแห่งนี้จะต้องปรับตัวให้ได้มาตรฐาน เทียบเท่ากับนานาประเทศสักที
>>>>>>>>>>
.........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น