โลกเรามีพื้นที่ที่เป็นน้ำถึง 2 ใน 3 แต่มีน้ำจืดไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ หนำซ้ำยังลดลงทุกวี่วันจากกิจกรรมของมนุษย์ คาดการณ์กันว่า ในศตวรรษนี้และศตวรรษต่อๆ ไป น้ำจะเป็นต้นเหตุแห่งสงคราม
โลกธุรกิจเมืองไทย น้ำดื่มมีมูลค่าตลาดสูงถึง 19,000 ล้านบาท และยังโตต่อเนื่องทุกปี ปีที่แล้วโต 30 เปอร์เซ็นต์ และปีนี้ประมาณการว่าจะโตอีกไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ถึงสงครามแย่งชิงน้ำยังไม่เกิด แต่สงครามในธุรกิจน้ำดื่มบ้านเราเกิดขึ้นมาสักพักแล้ว
การเข้าสัประยุทธ์เพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าตลาดน้ำดื่มของบริษัทต่างๆ ในขณะนี้ คงไม่ใช่เพราะตัวเลขที่เย้ายวนเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยทางธุรกิจ สังคม และกฎหมายที่บีบคั้น ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดน้ำดื่มดุเดือดกว่าในอดีต แต่ที่ชวนวิงเวียนคือตัวผู้บริโภค ที่กลายเป็นทั้งผู้ได้รับความสะดวกสบายและกลายเป็นเหยื่อของวาทกรรมไปพร้อมๆ กัน
น้ำขวด-สงครามการตลาด
สภาพเมืองที่เราพักพิงไม่ทำให้สร้างความมั่นใจได้เลยว่า น้ำฝน น้ำในแม่น้ำลำคลอง จะสะอาดปลอดภัยพอจะเทใส่ปาก ยิ่งในกรุงเทพฯ ที่สภาพแวดล้อมปกคลุกด้วยหมอกควันจากรถยนต์ต่อให้น้ำฝนหล่นจากฟ้าก็ไม่มีใครกล้าดื่ม วิถีชีวิตอันเร่งรีบก็ไม่เอื้อให้คอยรองน้ำฝนหรือต้มน้ำดื่มเช่นในอดีตอีกต่อไป ช่องว่างตรงนี้จึงถูกเติมเต็มด้วยน้ำดื่มบรรจุขวดที่มาพร้อมความสะดวกสบายและความสะอาดที่ถูกการันตี
“มันเป็นเรื่องของความสะดวกสบายและหาซื้อง่าย เดี๋ยวนี้เดินเข้าร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายของชำทั่วไปก็สามารถหาซื้อได้ ส่วนเรื่องความสะอาด เชื่อว่าน้ำบรรจุขวดพวกนี้น่าจะสะอาดพอสมควร แต่ถ้าซื้อดื่มเองก็จะเลือกดื่มบางยี่ห้อ เลือกที่มันผ่านการออสโมซิสมาแล้ว” ณัฐินี คงสนิท พนักงานบริษัทเอกชน พูดถึงเหตุผลที่ตัดสินใจซื้อน้ำบรรจุขวด
จากน้ำดื่มขวดขุ่นที่ ‘โพลาริส’ เคยเป็นเจ้าตลาด แต่ปัจจุบันเหลือแค่ความทรงจำ เปลี่ยนเป็นน้ำดื่มขวด PET ที่เดิมทีมีเพียงเจ้าใหญ่เพียงเจ้าเดียว ก็เริ่มมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น
รศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค รองคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงธุรกิจน้ำดื่มที่กำลังเป็นที่ตื่นตัวอยู่ในขณะนี้ว่าไ ม่ได้เป็นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะยอดการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 2-3 ปี พบว่าตกลงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้บริษัทต่างๆ ต้องหาธุรกิจอื่นมาเสริม น้ำดื่มเพื่อสุขภาพจึงเกิดขึ้นอย่างมากมายในตลาดโลก
ในไทยก็ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เจอกับมาตรการทางกฎหมายหนักหน่วงก็ยิ่งต้องดิ้นรนเอาตัวรอด
"ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าตลาดแอลกอฮอล์คงไม่โตไปกว่านี้แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าคนรุ่นเก่า และในรูปแบบของการตลาดเองก็ถือจำกัดด้วยข้อกฎหมาย ตลาดก็เลยไม่เติบโต ดังนั้น เพื่อสร้างความสมดุลของผลผลิตในระยะยาวจึงต้องขยายไปที่กลุ่ม non-alcohol ซึ่งตลาดที่เติบโตสุดก็คือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ"
และถ้ามองในแง่การต่อยอดคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจตรงนี้มีโอกาสขยายตัวมากกว่าธุรกิจดั้งเดิม เพราะไม่ว่าจะเป็นการทำซีเอสอาร์หรือกิจกรรมอีเวนต์ ข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือ การยกระดับภาพลักษณ์โดยรวมของผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นด้วย จนนำไปสู่ความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ธีรยุส ก็มองว่าการรุกเข้าสู่ตลาดน้ำดื่มของบริษัทแอลกอฮอล์และบริษัทอื่นๆ ยังมีข้อจำกัด เพราะทุกวันนี้แต่ละแห่งต่อสู้แค่ในเรื่องของราคา และขนาดของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ทำให้ความแปลกใหม่ของตลาดนี้ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร
แต่ในอนาคตก็เชื่อว่า การแข่งขันก็น่าจะรุนแรงและมีการพัฒนามากขึ้นกว่านี้แน่นอน โดยเฉพาะในแง่ภาพลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ และคุณสมบัติของตัวผลิตภัณฑ์ ที่น้ำดื่มคงไม่ใช่แค่น้ำเปล่าธรรมดา แต่จะมีการเพิ่มสรรพคุณต่างๆ ลงไป เช่น ในญี่ปุ่นมีการผลิตน้ำเปล่าผสมออกซเจินมากกว่าปกติ 1,000 เท่า ที่โฆษณาว่าเป็นซูเปอร์ วอเทอร์ (Super Water) เมื่อดื่มแล้วร่างกายสามารถนำไปเผาผลาญให้พลังงานได้ดีกว่า เป็นต้น
น้ำประปาดื่มได้...หรือเปล่าไม่รู้
ในมุมของผู้บริโภค น่าคิดไม่น้อยว่าค่าใช้จ่ายการซื้อน้ำดื่มบริโภคต่อครัวเรือนจะสูงแค่ไหน มิพักต้องเอ่ยถึงต้นทุนที่โลกต้องแบกรับจากขวดพลาสติกอันท่วมท้น แล้วจะตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า น้ำดื่มซึ่งเป็นสาธารณูปโภคอย่างหนึ่งที่รัฐมีหน้าที่จัดหาให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะน้ำประปา จึงไม่สามารถอุดช่องว่างตรงนี้ได้
ชุตินันท์ ฐิตินันท์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เหตุผลในการเลือกซื้อน้ำบรรจุขวดดื่มมากกว่าที่จะเลือกดื่มน้ำประปาว่า
“รู้สึกว่าน้ำประปามันไม่สะอาด อย่างที่บ้านก็ใช้เครื่องกรองน้ำก่อนถึงจะเอามาดื่ม หรือถ้าวันไหนขยันหน่อยก็จะเอาน้ำมาต้มก่อน แต่วิธีการนี้มันก็ยุ่งยากไปหน่อย ต้องคนมีเวลาจริงๆ”
ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เคยมีงานศึกษาที่ระบุว่า คุณภาพและความสะอาดของน้ำประปาไม่ได้ด้อยไปกว่าน้ำดื่มบรรจุขวดเลย ยิ่งน้ำดื่มบรรจุขวดประเภทขวดขุ่นที่ยังมีขายในตลาดท้องถิ่นด้วยแล้ว บางยี่ห้อคุณภาพต่ำกว่าน้ำประปา ไม่ก็กรอกน้ำประปามาขายด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนคำโฆษณาเรื่องความสะอาด หรือแม้แต่สิ่งนามธรรมอย่างความดูดี ความสดชื่น ความมีสไตล์ ความดีงาม จะตะล่อมให้ผู้บริโภคยอมควักกระเป๋าซื้อได้ง่ายๆ
ผศ.ดร.จงจินต์ ผลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ก่อนหน้านี้ไลฟ์สไตล์ของคนไทยยังไม่ค่อยมีความกังวลเรื่องสุขภาพมาก แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปจึงทำให้พฤติกรรมการดื่มน้ำเปลี่ยนไปด้วย
และด้วยความเข้าใจที่เคยชินและเคยรับรู้มาว่าน้ำประปาที่บอกว่าดื่มได้มีความสกปรก เช่น เคยพบสัตว์น้ำในน้ำประปาบ่อยๆ ก็เลยทำให้ความเชื่อมั่นที่จะดื่มน้ำประปาลดน้อยลงไปโดยปริยาย
“ความจริงมันก็ดื่มได้นะ แต่การรับรู้ที่ผ่านมาทำให้คนกลัวไปเยอะ ผมก็ไม่กล้าเหมือนกันต้องใช้เครื่องกรองน้ำ แต่จริงๆ น้ำประปากรุงเทพฯ สะอาดนะ แต่คนไม่นิยม นั่นเพราะอิมเมจในอดีต”
โครงการน้ำประปาดื่มได้จึงยังเป็นอะไรที่ไกลความจริงเนื่องจากปัญหาภาพลักษณ์ที่แก้ไม่ตก
“ถ้าจะให้ไปกดดื่มตามก๊อกสาธารณะที่เขาจัดไว้ให้ ก็ไม่กล้า มันดูไม่สะอาด” ชุตินันท์เล่าถึงความไม่ไว้ใจน้ำประปา
“อีกอย่างก็ไม่รู้ว่าตั้งอยู่ตรงนั้น ผ่านอะไรมาบ้าง หนู แมลงสาบ เราว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า อะไรที่เรารู้สึกว่าสะอาด เราก็อยากกิน อยากดื่ม แต่อะไรที่เรารู้สึกว่ามันไม่สะอาด ทั้งที่จริงมันอาจจะสะอาดก็ได้ แต่มันก็ทำให้เราไม่อยากดื่ม ก็ถ้ารัฐบาลจะพยายามให้ประชาชนหันมากล้าดื่มน้ำประปา รัฐบาลก็ควรจะสร้างความเชื่อมั่นให้ได้มากกว่านี้ค่ะ”
นั่นตรงกับข้อเสนอแนะที่ ผศ.ดร.จงจินต์ บอกก็คือ ต้องแก้ที่ภาพลักษณ์ ต้องทำให้คนยอมรับมากขึ้นว่าดื่มน้ำจากก๊อกก็ได้ ซึ่งจริงๆ ก็ดื่มได้
“ส่วนตัวเชื่อว่าดื่มได้ ไม่ได้สกปรก แต่ต้องแก้อิมเมจ เมื่อก่อนมีแต่ข่าว ทางเทคนิคอลน้ำประปาโอเค ดื่มได้ แต่เราก็ไม่กล้า ปัญหาที่ประชาชนไม่ดื่มน้ำจากก๊อกเป็นเพราะความเชื่อ และเป็นช่องทางของธุรกิจเขาอยู่แล้ว ตัวน้ำจริงๆ ไม่แย่ ของประปานครหลวงไม่แย่หรอก แต่ต่างจังหวัดไม่แน่ใจ เพราะไม่มีแหล่งยืนยัน”
สุดท้าย ผศ.ดร.จงจินต์บอกว่า
“เราต้องประชาสัมพันธ์เยอะขึ้น น้ำประปาดื่มได้ ต้องทำให้เข้าใจ และเป็นสิ่งที่น่าจะทำ ไม่ใช่ว่าเงียบๆ แล้วมาบอกว่าน้ำประปาดื่มได้”
………
เป็นไปได้ยากที่จะให้กลับไปรองน้ำฝนดื่มเหมือนอดีต พูดแบบไม่ลำเอียง น้ำดื่มบรรจุขวดก็ตอบสนองความสะดวกสบายของผู้คนได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้มีภาระหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณูปโภคจะไม่ต้องทำอะไร เพราะการสร้างทางเลือกอันหลากหลายแก่ผู้บริโภคย่อมดีกว่าการผูกขาด และจะดียิ่งขึ้นหากเราจะเลือกดื่มน้ำจากความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มากกว่าความเชื่อ
*************
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK