xs
xsm
sm
md
lg

‘แม่สื่อแม่ชักยุคดิจิตอล’ วัฒนธรรมการหาคู่ที่เปลี่ยนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อยู่กันไปเดี๋ยวก็รักกันเอง เรื่องของความรักไม่มีใครสามารถบังคับจิตใจใครให้รักใครได้ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ

สังคมไทยในอดีตที่ผ่านมาการแต่งงานมีชีวิตคู่ สร้างครอบครัวด้วยกันอาศัยต้อง 'แม่สื่อ-พ่อสื่อ' ในการแนะนำคนที่คู่ควรมาให้ทำความรู้จัก พัฒนาความสัมพันธ์ และแต่งงานกันในที่สุด บางคู่อาจจะมองแค่เรื่องความเหมาะสมทางฐานะการเงิน ฐานะสังคม วงศ์ตระกูล ซึ่งหากสิ่งเหล่านี้ผ่านแล้ว ก็สามารถลงเอยด้วยการแต่งงานได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องรักกันมาก่อน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่มาของประโยคที่ว่า อยู่กันไปเดี๋ยวก็รักกันเอง

หากแต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปวัฒนธรรมการเลือกคู่ครองของคนสมัยนี้ก็เปลี่ยนตาม หากแต่จะรอคอยให้มีแม่สื่อ-พ่อสื่อพามาให้รู้จัก ก็อาจจะอายุเลยวัยอันควรแต่งงานไปแล้วหลายปี

การเลือกคู่ของคนสมัยนี้อาจจะไม่ได้ยึดติดเรื่องฐานะทางสังคม การเงิน วงศ์ตระกูลเท่าไหร่นัก หากแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องรสนิยม ความชอบส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงกันและกันมากกว่าอย่างอื่น

แม่สื่อกับสังคมไทยในอดีต

ศ.ดร.ภัสสร ลิมานนท์ อดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการเลือกคู่ในสังคมไทยว่า แต่เดิมจะมีระบบแม่สื่อแม่ชักเป็นตัวชักนำให้ชาย-หญิงมีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน เพราะสังคมในช่วงนั้นยังไม่เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวติดต่อกันโดยตรง

เมืองไทยไม่ได้ใช้วิธีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนอย่างเช่นสังคมจีน ที่จะเห็นหน้ากันก็เมื่อวันแต่งงาน แต่ที่สังคมไทยต้องใช้แม่สื่อก็เนื่องจากว่าที่ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ออกไปนอกบ้าน หรือเลือกคู่ครองและตัดสินใจเอง จึงต้องมีการผ่านแม่สื่อ เหมือนเป็นพิธีการ ซึ่งหน้าที่ของแม่สื่อก็คือพูดให้ฟังว่าแต่ละข้างมีคุณสมบัติอะไรบ้าง และการเลือกคู่ส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในมาตรฐานของคนสังคมระดับเดียวกัน

“แต่ท้ายที่สุดการยอมรับของคู่หนุ่มสาวเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็โดยการเห็นชอบของพ่อแม่ คือดูแล้วไม่ใช่นักเลงหัวไม้ เป็นคนทำมาหากิน พ่อแม่ก็ไม่ขัดข้อง มันก็เลยไม่เกิดลักษณะพ่อแม่บังคับ เว้นแต่พ่อแม่ไม่เห็นชอบด้วยจริงๆ ก็ใช้ลักษณะหนีตามกัน ซึ่งสังคมไทยเองก็จะเป็นแบบพอมีลูกมีหลาน กลับมาขอขมาพ่อแม่ ก็จะกลับมาเป็นครอบครัวตามเดิม"

แม่สื่อยุคใหม่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก

เมื่อระยะเวลาผ่านไป อะไรๆ ก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา การเลือกคู่เองก็เช่นกัน เพราะในยุคนี้ทางเลือกของคนในสังคมนั้นมีเพิ่มมากขึ้น ประกอบสื่อต่างๆ ก็รองรับเต็มไปหมด ทั้งหนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต นายหน้า รวมไปถึงบริษัทจัดหาคู่ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การเลือกคู่นั้นเปลี่ยนไปมากสิ่งเหล่านี้ ศ.ดร.ภัสสร อธิบายต่อว่า

"ช่องทางทุกวันนี้ ทำให้หนุ่มสาวมีโอกาสเลือกคู่ด้วยตัวเองมากขึ้น ที่เห็นๆ เลยก็คือการแต่งงานกับคนต่างชาติ ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อนจะดูไม่ดี แต่สมัยนี้ไม่ถือเป็นเรื่องผิดแล้ว แม้แต่การมีคู่แบบไม่แต่งงาน ไม่มีข้อผูกพัน คือเป็นคู่อยู่กินและก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่กันตลอด ก็เริ่มมีกระแสตรงนี้มากขึ้น"

ที่สำคัญ จุดเปลี่ยนแปลงของการเลือกคู่ทุกวันนี้ ก็คือหนุ่มสาวนั้นเริ่มรู้จักกันมากขึ้น และมีไลฟ์สไตล์ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากเทียบกับสมัยก่อนก็จะเป็นลักษณะการรับข้อมูลจากแม่สื่อเป็นหลักว่า แต่ละคนนั้นมีคุณสมบัติเช่นใด ยอมรับได้หรือไม่ แต่อาจจะไม่มีโอกาสได้ศึกษาอย่างแท้จริงว่าเป็นคนเช่นใดกันแน่ จึงอาจจะต้องยอมรับสิ่งที่แม่สื่อพูดออกมา

"ทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนไป เราเห็นได้เลยว่าผู้หญิงไม่แต่งงานเยอะมาก เพราะมีทางเลือกเยอะ บางคนก็ไม่อยากมีภาระผูกพันของความเป็นแม่ เป็นภรรยา ไม่อยากผูกมัด ก็อาจจะมีแฟน แล้วอยู่ด้วยกันเฉยๆ ไม่พอใจก็เลิกกันไป"

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดบริษัทจัดหาคู่ขึ้นมาเพื่อรองรับ กลุ่มคนที่มีทางเลือกใหม่ ในการมองหาคู่ครอง ซึ่งอาจจะไม่มีเวลาในการหาเอง แต่หากผ่านการคัดกรองจากบริษัทจัดหาคู่แล้วก็ถือว่าผ่านมาตรฐานขั้นพื้นฐาน หน้าตา อายุ รายได้ ไลฟ์สไตล์ ส่วนจะสานต่อความสัมพันธ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนสองคนตัดสินใจกันเองแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของ ศ.ดร.ภัสสร ก็มองว่าธุรกิจนี้ค่อนข้างจะเติบโตลำบาก เพราะสังคมไทยเอง ส่วนมากยังไม่ชินกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ยังคงเป็นแค่คนเฉพาะกลุ่มที่เล็กๆ อยู่แค่นั้นเอง เพราะบางกลุ่มสังคมที่มีการศึกษาก็มีการรู้จักกับคนสังคมเดียวกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

เลือกคู่ตามรสนิยมและไลฟ์สไตล์

ในสังคมปัจจุบันที่คนไทยเข้าถึงและนิยมใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น รชต ธรรมรัตน์ พ่อสื่อออนไลน์ที่สังคมอินเทอร์เน็ตรู้จักเขาในนาม Dr.Date เจ้าของเว็บไซต์จัดหาคู่ชั้นนำของประเทศไทยอย่าง www.ilikedate.com แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับค่านิยมการจับคู่ของพ่อสื่อแม่สื่อว่าเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อก่อนอาจมองในฐานะ ชาติตระกูล แต่ปัจจุบันจะเน้นในเรื่องพื้นฐานของลักษณะนิสัย ความคิด มุมมอง และการยอมรับซึ่งกันและกัน

“ถ้าเป็นสมัยก่อนเขาจะดูทางด้านหน้าที่การงาน รายได้ ฐานะ และเรื่องของความรู้สึกความรักจะเป็นเรื่องรอง จะมีความรู้สึกว่าอยู่ๆ กันไปเดี๋ยวก็รักกันเอง แต่ในปัจจุบันพ่อสื่อ-แม่สื่อเขาจะดูจากคนสองคน หลังจากนั้นก็จะดูในเรื่องของประวัติพื้นฐานต่างๆ ค่อนข้างจะละเอียดมากขึ้น และสิ่งสำคัญจะดูเรื่องของการยอมรับระหว่างบุคคลสองคน เขายอมรับในโปรไฟล์ของกันและกันหรือเปล่า อย่างนิสัยใจคอ ไลฟสไตล์ ฯลฯ จะเน้นความรักระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงมากขึ้น ถ้าจะแต่งงานกันคงต้องยอมรับพื้นฐานตรงนี้ก่อน มันก็ค่อนข้างจะทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นครับ”

ปัจจุบันการหาคู่ง่ายขึ้นมาก สำหรับขั้นตอนการเป็นกามเทพสานใยรักระหว่างหนุ่มสาวว่าผ่านเว็บไซต์หาคู่ รชต เปิดเผยว่า

“เริ่มต้นด้วยการสัมภาษณ์จะมีเรื่องของเกณฑ์การให้คะแนนของลูกค้าว่าที่เข้ามา เช่น เรื่องของบุคลิกภาพ รูปร่างหน้าตา นิสัย พื้นฐานสุขภาพ สเปกต่างๆ เราจะประเมินออกมาเป็นคะแนน แล้วเอาคะแนนตรงนี้มาวิเคราะห์ว่าเหมาะสมกับฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายคนไหน การประเมินนี้เหมือนการวิเคราะห์เบื้องต้นครับว่าเขามีโอกาสเหมาะสมกับคนไหนหรือเปล่า ซึ่งเราจะเก็บข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ แต่จะเปิดเผยโดยความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายเมื่อพิจารณาว่าทั้งคู่เหมาะสม”

ส่วนมากผู้ที่เข้ามาใช้บริการไม่ได้มีความบกพร่องด้านหน้าตา แต่กลุ่มที่มีหน้าตาค่อนข้างดี มีการศึกษา บุคลิกภาพดี เพียงแต่ไม่มีเวลาพิจารณาคู่ครองด้วยหน้าที่การงานรัดตัว ความพึ่งพอใจของลูกค้ากับคู่ทางที่ทาง ilikedate เฟ้นหาให้คงเป็นโจทย์แต่ละท่านต่อยอดความรู้สึกของตัวเอง

“เราไม่สามารถที่จะบังคับให้ลูกค้าหรือใครรักกันได้ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำออกมา เราวัดผลจากการที่ความพอใจของคนสองคนที่ยอมรับในเรื่องของโปรไฟล์ของกันและกัน คบหาดูใจเป็นแฟนกัน เพราะฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องสเปกของทางลูกค้ามากกว่าที่ระบุยังไม่ชัดเจน ทำให้ทางเราทำงานได้ไม่ถูกต้อง และเราก็ต้องมาปรับทำความเข้าใจกันซึ่งกันและกันครับ”

สองเจเนเรชันที่แตกต่าง

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปใครมองอย่างไรกันบ้าง ในมุมของคนแก่หัวโบราณอย่าง บุญนาค สารทมีสุข อายุ 60 ปี บอกว่าหลายครั้งที่เคยพาลูกชายไปดูตัว ลูกสาวเพื่อนๆ ที่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งเห็นว่าเหมาะสมกันดีทั้งฐานะ การงาน และการศึกษา และทั้งสองครอบครัวก็รู้จักกันดี

“เคยพาลูกชายไปดูตัวกันมา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แต่งงานกันนะ เพราะเหมือนยุคสมัยเปลี่ยนไป ต่างคนต่างมีสิทธิ์เลือกในทางเดินของตัวเอง ซึ่งเราเป็นแม่เราก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของลูก ลูกรักใครเราก็ต้องรักด้วย แต่ก็แอบเสียดายเหมือนกัน”

บุญนาคบอกอีกว่า สมัยนี้แตกต่างจากเมื่อก่อน เพราะหากรู้ว่าบ้านไหนลูกสาวสวยก็จะมีการมาขอดูตัว หากดูว่าฐานะทางบ้านเหมาะสมกันดีก็จะยกขันหมากมาขอเลย ทั้งๆ ที่หนุ่มสาวไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

“เคยมีบ้านหนึ่งฝ่ายหญิงเป็นพี่น้องกัน แต่ฝ่ายชายเป็นฝาแฝด เขาก็ยกมาขอทั้งคู่เลย ขอไปตั้งแต่ฝ่ายหญิงอายุแค่ 17-18 ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่ด้วยกันดีนะ มีลูกตั้ง 5 คน เราก็ยังเชื่อว่าเวลาผ่านไป ความใกล้ชิดจะสามารถทำให้รักกันได้ ไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือดูใจกันมาก่อนหรอก”

มาถึงสมัยนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแปลงคนในยุคใหม่อย่าง ปราณี ธงไชย อายุ 25 ปี มองว่า การมีแม่สื่อช่วยนำพาเนื้อคู่มาให้เจอกันก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะบางคู่ก็รักกันเพราะแม่สื่อนี่แหละ

“เราอาจจะเจอผู้ชายดีๆ ผ่านทางแม่สื่อนี่ก็ได้นะ แต่ถ้าเราจะหาคู่จริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีแม่สื่อก็ได้นะ เพราะจริงๆ เราพบกันแบบบุพเพสันนิวาสจะดีกว่านะค่ะ”

>>>>>>>>>>>>>
……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น