ใครได้พบเห็นสาวผิวเข้ม ตัวเล็ก แต่พลังของเธอเหลือเฟือทุกครั้งที่จะสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมทุกครั้งในการทำหน้าที่พิธีกรรายการ ว้าว!ดารา และรายการบางกอกสเตชั่น ให้ผู้คนได้ยิ้มแฉ่งและหายเครียดได้ทันที
“ขจรกิตติ์ พ้นภัย หรือ อุ้ม” ไม่ว่าจะงานเบื้องหน้าในฐานะพิธีกร หรืองานเบื้องหลังที่คอยเป็นครีเอทีฟสร้างสรรค์รายการให้แก่ผู้ชม หากรวมกันเป็นตัวตน เอกลักษณ์ของเธอแล้ว เธอคือ นักเอนเตอร์เทนเนอร์ ที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนดูได้ตลอดเวลา
ในมุมอารมณ์ขันที่หลายคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่าเธอมีช่วงเวลาที่เครียดของชีวิตหรือมีห้วงอารมณ์สงบนิ่งบ้างหรือไม่นั้น คำตอบคือ เธอเป็นผู้หนึ่งที่หลงใหลในการปฏิบัติธรรมและใช้หลักธรรมะเข้ามาช่วยในการดำรงชีวิตอยู่เสมอ
ธรรมะโอสถ
แม้ว่าหลายคนอยากจะเข้าหาธรรมะเพราะความเครียด มีหนี้สิน ติดการพนันเพื่อหาทางสว่างให้กแก่ตนเอง แต่สำหรับอุ้ม ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเข้าหาการปฏิบัติธรรม เริ่มต้นด้วยความอยากสวย
“เพราะเราชอบพี่กิ๊ก มยุริญ เขาสวย เราชอบ พี่เขาก็บอกว่า “ธรรมะโอสถ ค่ะคุณน้อง” ก็เลยไปปฏิบัติธรรมบ้าง แต่ส่วนหนึ่งที่เราไปก็เพราะว่าอยากสงบ มีสติบ้าง อยากให้มีสติ อยากให้ทำอะไรออกมาก็อยากให้มีคุณภาพที่สุด เลยไปปฏิบัติธรรม”
ในงานพิธีกรภาคสนาม อาจจะไม่ค่อยตื่นเต้นสำหรับเธอ เนื่องจากงานที่เธอทำเกี่ยวข้องกับดาราซึ่งมีความเป็นกันเองอย่างมาก เธอจึงกลายเป็นตัวแทนชาวบ้านที่ต้องสัมภาษณ์ดารา ทำตนเองให้เป็นหนึ่งในคนที่คลั่งไคล้ดารานักแสดงคนนั้นอย่างมาก
“งานเราต้องเป็นตัวแทนชาวบ้านที่เราไปสัมภาษณ์ดารา เป็นคนบ้าดารา มันมีความอยากรู้ แทนเขาไปหมด ถ้าเราสัมภาษณ์ดาราคนหนึ่ง เราอยากรู้เรื่องอะไรของเขาบ้าง การทำงาน ก็จะเครียดแค่ตอนมาตัดต่อ ถ่ายมาแล้ว แล้วเกิดกรณี ที่มันดูเยอะเกินไป ถ้าคนทำทีวีก็จะรู้ ถ้าเราจะเครียด ก็แค่เครียดเรื่องที่ว่าคนดูเราจะได้อะไรมั้ยถ้าเค้ามาดูเรา พี่บอยจะสอนเสมอว่า ทำรายการแล้วเค้าจะได้อะไรบ้างมั้ย ตามกรี๊ดดาราก็ต้องมีว่าเราต้องได้ผลงาน หรือได้อะไรที่เราไปมากกว่าการที่เราไปตามกรี๊ด บางทีด้วยความที่เราต้องพรีเซ็นต์ผ่านความเฮฮา บางทีเราก็เครียดกับตัวเองด้วยความอะเลิร์ทของเรา อะเลิร์ทไป ทำอะไรไม่รอบคอบ เคยผิดพลาด แต่เราไม่ได้ไปเสียใจกับมันหรอกนะ เพราะว่าที่เคยผ่านมาเราถามคำถามไม่รู้เรื่อง ซึ่งบางทีมันเป็นคำถามสำคัญ มากองถ่ายนี้เพื่อคำถามสำคัญแต่กลับถามไม่รู้เรื่อง เราก็จะโกรธตัวเอง เราก็คิดว่าไม่เป็นไร พอเราถ่ายครั้งหน้าก็จะรู้ตัวเองว่าควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง ต้องมีสตินะ ปัญหาส่วนใหญ่คือความเวอร์มากไป”
การได้ไปปฏิบัติธรรมครั้งแรก นอกจากเหตุเพราะอยากสวยแล้ว ทว่าตั้งแต่เด็ก อุ้มจะถูกคนตามใจ และเอาแต่ใจตัวเองมากจนเกินไป ทำให้เธอรู้สึกว่า ต้องหาวิธีทางแก้ไขให้ตัวเองลดในสิ่งนี้ลงได้บ้าง
“เพราะเราเองเบื่อตัวเองเหมือนกันนะ ต้องการจากคนอื่นอยู่ได้ แต่เราไม่ใช่ไปเพราะเป็นหนี้ หรือแฟนทิ้ง ไม่ได้ไปเพราะเหตุผลนั้น สิ่งที่เปลี่ยนคือเราดีขึ้นยังไง ก็จะคอยชวนเพื่อนฝูงไปกัน ”
อุ้มเล่าถึงการไปปฎิบัติธรรมครั้งแรก ซึ่งการเดินช้าๆ ของคนที่ไปปฏิบัติธรรม จะต้องระลึกถึงสติ มีความเงียบสบเกิดขึ้น ทุกคนเดินด้วยกิริยา ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ กินข้าวต้องกินช้าๆ ซึ่งอุ้มก็ทำให้ตนเองได้รู้สึกว่า เธอไม่ได้มาเพื่อจะมาทำอะไรเชื่องช้า แต่เธอก็ต้องยอมรับว่า เมื่อการมาทำเช่นนี้แล้วจะทำให้ตนเองสวยขึ้นก็ยอม
จากการปฏิบัติธรรมครั้งแรก ที่อุ้มมาเพื่อคิดว่าฉันอยากสวย หลังจากนั้นเธอก็หันมากินมังสวิรัติ จนกระทั่งมีคนมาทักว่าเธอหน้าใสขึ้น ทำให้เธอแอบคิดในใจว่าเธอทำได้สำเร็จที่พยายามทำให้ตนเองสวยด้วยธรรมะ
“พอหลังจากที่ได้ทำไปบ้างแล้ว หลังจากนั้นเราก็หันมากินมังสวิรัติ อยู่พักนึง เฮ้ย รู้สึกว่าหน้าใสขึ้นนะ ทุกคนก็จะทักว่าเราหน้าใส เราก็คิดว่าประสบความสำเร็จอย่างที่พี่กิ๊กบอก ว่า ธรรมะโอสถ”
“แต่หลังจากนั้นสิ่งที่เราได้คือ เราอยู่กับตัวเองมากขึ้น ไม่เคยรู้เลยนะว่าตัวเองกะพริบตาตอนไหน แต่พอไปครั้งนี้ทำให้เรารู้ รู้ว่าตอนนี้เราหายใจเข้า-ออกอยู่ รู้ว่าตอนนี้ท้องยุบ พอง นะ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยรู้เลย ใช้ชีวิตมาตั้งนานเราไม่เคยได้อยู่กับตัวเองเลย หลังจากนั้นก็หาคอร์สมาเรื่อยๆ ไปมาหลายครั้งนะ ส่วนใหญ่ที่ไปก็ปีใหม่กับสงกรานต์ เพราะว่างานพวกนี้ไปไม่ได้ยาวๆ”
ศรัทธา ปาฏิหาริย์ ความเชื่อ
ในช่วงวัยเด็กที่ยังไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องนั่งสมาธิ แต่เธอเห็นแม่นั่งจึงนั่งสมาธิตามแม่ ด้วยบุคลิกของอุ้มในวัยเด็ก ที่ลุกลี้ลุกลน การนั่งสมาธิครั้งแรกจึงคอยพะวงอยู่ตลอดเวลาว่าแม่จะลืมตาขึ้นตอนไหน
“เรานั่งสมาธิก็ตามแม่ เห็นแม่นั่ง เราก็จะคิดว่าแม่ลุกหรือยัง ตื่นหรือยัง แต่เรามีวินัย เราก็นั่งไม่เป็นหรอก ให้เราพุทโธ เราก็พูดไป ตอนเด็ก แม่ก็ให้ทำ ไหว้พระก็ไหว้ มีหมอดูมาบอกว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเราก็ยิ่งบ้าไหว้พระ เราขออะไร แล้วเราไม่ได้นั่งเฉยๆ ขอให้สอบได้ เราก็ตั้งใจอ่าน เราก็ทำได้ ไม่ใช่ว่าขอแล้วได้ แต่เราก็ทำด้วย”
หลังจากที่แม่คอยย้ำให้เธอนั่งสมาธิ จะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไป ก็มีเรื่องราวปาฏิหาริย์และรู้สึกว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเธออยู่เสมอ
“เราไปแข่งบรรยายธรรมะ แล้วในการแข่งขันนั้น มีพระสงฆ์ด้วย แล้วเราไปแข่งกับพระสงฆ์ แล้วเราชนะพระสงฆ์ เวลาไปแข่ง จะให้เข้าไปทีละคน ก่อนไป เรารู้สึกว่ามันเหมือนการพูดสุนทรพจน์ ซึ่งเราพูดเสร็จก็จะมีจับคำถามขึ้นมาเพื่อตอบปัญหาธรรมะ ซึ่งก็ไม่ได้เก่งนะ แต่ข้อที่เราจับได้มันดันตรงกับที่เราได้อ่านมาพอดี แล้วตอนที่พูด มีทั้งเพลง กลอน จบสวย เราเป็นคนมีวาทะดี ทำให้เราชนะ”
ก่อนหน้าที่จะบรรยายธรรม ก็จะขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเรา ช่วยคุ้มครอง เราก็ไหว้ไปตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราศรัทธา ก็จะมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น สอบได้ทุนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ทั้งที่ภาษาอังกฤษไม่ได้ดีเลิศ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการขอพร และการได้มาซึ่งเราตั้งใจ ขออะไรเราก็ตั้งใจทำ ปฏิบัติ นั่งสมาธิแล้วเรามีสติ สงบ แล้วไม่ใช่ว่าขอพรแล้วไม่ทำอะไร พอขอพรปุ๊บก็ไม่ได้ปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งมันไม่เกิดขึ้นแน่ถ้าเราไม่ปฏิบัติ มีสติ มีพลังกับการทำข้อสอบ มันไม่ใช่เรื่องของไสยศาสตร์ ความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้จริง เหมือนช่วยเป็นแรงบันดาลใจ ช่วยเรื่องของจิตใจมากกว่า
ธรรมะ คือ การยอมรับ
หลายคนอาจจะมองว่าการปฏิบัติธรรมบ่อยๆ จะยิ่งทำให้เข้าถึงธรรมะเร็วมากขึ้นเท่านั้น ในความหมายของการเข้าถึงธรรมะเป็นเช่นไร สำหรับอุ้ม พิธีกรสาวสุดฮา บอกกับเราว่า ตนเองยังไม่เข้าถึงธรรมะ เพราะการเข้าถึงธรรมะคือการใช้ชีวิตในแบบไม่ทุกข์ และต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้
เมื่อเกิดคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมวะ” สำหรับอุ้มแล้ว หมายถึงการไม่ยอมรับ ซึ่งหากสมมติว่าตนเองเชื่อว่าธรรมะคือธรรมชาติ ในสิ่งนี้จะมีความยุติธรรมเกิดขึ้นอยู่กับเราเสมอ
“อุ้มเชื่อว่ามีหัวก็ต้องมีก้อย มีถูกก็มีผิด ถ้าการเข้าถึงธรรมมะคือการยอมรับ อุ้มว่าตัวเองยังเข้าไม่ถึงแต่เราพยายามจะเข้าถึง ด้วยการพยายามที่จะใช้ชีวิต ที่มันมีสติมากที่สุด เรายังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ถ้าเปรียบกับบัวสี่เหล่า เราเองก็ยังเป็น “บัวเต่าถุย” ซึ่งเต่ายังไม่เอาอ่ะ เรารู้สึกว่าอยู่โคลนตมนั้น วันนี้แค่เรามาอยู่กับตัวเองโดยที่ไม่เบียดเบียนใคร ทั้งกาย วาจา ใจ แค่นั้นก็พอแล้ว ”
“หลักธรรม” นำมาใช้
ธรรมะไม่ได้เปลี่ยนตัวอุ้มให้สวยได้แค่ภายนอกเท่านั้น แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างที่เธอมองว่ากลายเป็นข้อเสียของเธอให้ลดลงได้บ้าง
“อุ้มเริ่มเปลี่ยนจากการเอาแต่ใจตัวเอง ใจร้อนของเราได้นะ อย่างเมื่อก่อนถ้าสมมติว่าใครมาพูดอะไร เราสวนกลับเลยทันที หัวไวมากเรื่องกัดชาวบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ก็จะมีกระบวนการคิดเพิ่มมากขึ้น เมื่อก่อนคิดแล้วพูดเลย แต่เดี๋ยวนี้จะไตร่ตรองก่อนแล้วค่อยพูด เราก็คิดสะว่าเอาไปชั่งขายบ้างก็ได้ไม่ต้องแบกทุกอย่างหมด”
บางทีเราเศร้า เสียใจกับเพื่อนที่มาว่า ด่าเรา แต่เรามันเป็นเพื่อนที่เรารักมาก แต่มันก็หาข้อติว่าเราจนได้อ่ะ เราไม่เอาเค้ามาใส่ใจ ไม่ได้จมอยู่กับทุกข์ เพราะว่าเพื่อนเรามันก็อยู่กับเราตลอด ถึงมันจะว่าเราแล้วเราก็ไม่ใช่ว่าเก็บไว้แล้วค่อยตอบโต้ แต่เราก็เฉยๆ
การอยู่กับทุกข์แบบไม่ทุกข์ ถ้าเราตื่นเต้น เราก็จะทำอะไรไม่ถูก แต่เราต้องรู้ตัวเอง ว่าเราสั่น เราตื่นเต้น มีสติไว้ที่จะอัดสคริปต์ ถามคำถาม มีสติตรงนั้น แต่เราไม่ได้ตัดกระบวนการตื่นเต้นนั้นไปเลยทีเดียวนะ ไม่ใช่ว่า จะมาอุเบกขา นิ่งเฉย แล้วฉันก็ไปทำได้มันไม่ใช่
สิ่งหนึ่งที่เอามาปรับใช้คือ การยอมรับ เมื่อธรรมะคือธรรมชาติ แล้วธรรมชาติจะมีความยุติธรรมกับเราเสมอ อย่างที่บอกมีหัวก็ต้องมีก้อย ทำดีก็ต้องได้ดี แต่จะช้าจะเร็วเราไม่รู้ไงค่ะ เราทำไปก็ไม่ได้ไปหวังว่าเมื่อไหร่จะได้ดี
เรื่อของการนินทา คำสอนของท่าน ว.วชิรเมธี ท่านสอนว่าไม่มีใครไม่โดนนินทา พระพุทธเจ้ายังโดนนินทาเลย เราห้ามใครไม่ได้ แต่เราห้ามใจตัวเองได้ ห้ามปากคนอื่นยาก เราทำได้แค่ห้ามใจตัวเองที่ไม่ไปคล้อยตามเค้า
คิดว่าทุกอย่างในธรรมะก็คือธรรมชาติ ธรรมอยู่รอบตัวเรา ทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา สามารถเป็นครูเราได้หมด เพราะเขาจะมาพิสูจน์ใจเราว่า จิตใจเราจะอ่อนไหวต่อการกระทำของเขามั้ย การที่เราไม่ไหวกับคำพูดของเขาเราจะผูกใจเจ็บกับเขา แล้วหากผูกใจเจ็บเราจะไปทำเพื่อให้มันกลายเป็นกรรมของเราทำไม
“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เราสามารถนำเอาธรรมมะไปปรับใช้ได้ เพราะว่าทุกวันนี้มีข่าว มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ามีคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เราก็จะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้”
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี