xs
xsm
sm
md
lg

‘วิกิพีเดีย’ แปลเป็นไทย สารานุกรมออนไลน์ง่ายๆ แบบไทยๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลไทยปีนี้ ดูจะไฉไลกว่าเป็นไหนๆ เพราะล่าสุดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้มอบหมายให้บริษัท กสท. จำกัด (มหาชน) รีบไปสนับสนุนโครงการแปลสารานุกรมออนไลน์ และให้งบประมาณ 10.17 ล้านบาท เพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งความรู้ของเยาวชน และให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

โดยวางเป้าหมายระยะแรก 3.5 ล้านบทความ และสูงสุดอยู่ที่ 100 ล้านบทความภายใน 18-24 เดือน

แน่นอนว่า หากพูดถึงในแง่คุณประโยชน์ก็ต้องถือว่า นี่อาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของการศึกษาในเมืองไทยที่จะเริ่มถ่ายเทความรู้เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาบ้าง รวมไปถึงคนที่ต้องอาศัยข้อมูลความรู้จากต่างประเทศ

แต่ทว่า มุมหนึ่งที่ต้องกลับมาคิดก็คือ เพราะอะไรรัฐบาลไทยถึงตัดสินใจเลือกเว็บไซต์วิกิพีเดียเป็นตัวขยายความรู้ในครั้งนี้ เพราะอย่างที่ทราบว่าเว็บไซต์นี้เป็นของสาธารณะที่ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถเข้าไปแก้ไขได้

และที่สำคัญก็คือ วิธีการแปลซึ่งจากปากคำของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบอย่าง จุติ ไกรฤกษ์ บอกว่าบทความทั้งหมดจะถูกแปลด้วยเทคโนโลยี Statistical Machine Translation ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักภาษาศาสตร์ชาวไทย

ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีปัญหาในการเรียบเรียง หรือดีไม่ดีอาจไม่แตกต่างกันการใช้โปรแกรมเว็บไซต์แปลในเว็บไซต์กูเกิลเลยก็ได้

แค่คิดจะเริ่มแปลก็ดีแล้ว

ย้อนกลับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จริงๆ รัฐบาลไทยก็เคยมีความคิดถึงเรื่องการแปลหนังสือจากต่างประเทศอยู่เหมือนกัน โดยตอนนั้น ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยยื่นของบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อทำโครงการนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

“เรื่องโครงการแปลเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะต้องไม่ลืมว่าเราเป็นประเทศเอกราชมาตลอด ดังนั้นโอกาสที่จะรู้ภาษาอังกฤษเทียบเท่าประเทศอื่นๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ และที่ผ่านมาประเทศที่มีคนไม่รู้ภาษาอังกฤษเยอะอย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เขาก็มีการแปลหนังสือต่างๆ เป็นภาษาของเขา เพื่อให้คนเจริญก้าวหน้าได้

“เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า เมื่อความรู้ยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่จะหวังให้เด็กไทยอ่านออกหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เงิน 3-4 ล้านบาทต่อหัว ถึงจะทำได้ อย่างในสมัยผมเป็นรัฐมนตรีก็เคยของบไป 500 ล้านบาทได้จริงแค่ 100 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ากระทรวงเอางบไปทำอย่างอื่น ไม่ได้ทำ ไม่ได้สนใจเลย”

สอดคล้องกับคำ ดิออน วิกกินส์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชีย ออนไลน์ พอร์ทอลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเข้ารับหน้าที่ในโครงการนี้ ซึ่งอธิบายว่า แม้เว็บไซต์นี้เป็นที่นิยมในผู้ใช้งานในเมืองไทยอย่างมาก แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ ในวิกิพีเดียของไทยนั้นมุ่งเน้นไปที่ความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ความรู้เกี่ยวกับด้านการศึกษามีน้อย ถือเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำความรู้ ระหว่างคนที่รู้ภาษาอังกฤษกับคนที่ไม่รู้

ดังนั้นหากมีการจะแปลจากวิกิพีเดียจริงๆ ศ.ดร.สิทธิชัย ก็มองว่าเป็นเรื่องน่าสนับสนุน เพราะถึงยังไงก็ดีกว่าการไม่แปลอะไรเลย และเว็บไซต์นี้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เหมือนหนังสือ เนื่องจากเป็นของสาธารณะที่ทุกคนใช้ได้

และที่สำคัญยังมีประโยชน์กับคนหลายๆ สายเ ช่นนักข่าวสาวสายเศรษฐกิจ วาสินี ลภนะพันธ์ ที่บอกว่า ควรจะแปลออกมาตั้งนานแล้ว เพราะถือเป็นการเพิ่มความสะดวกในเวลาทำงานอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องค้นข้อมูลที่เป็นเรื่องเฉพาะทาง ซึ่งในเว็บภาษาไทยมักไม่ค่อยข้อมูลอะไรระบุเอาไว้

“มันสะดวก เวลาที่เราจะหาข้อมูลอะไรต่างๆ ซึ่งบางทีเป็นภาษาอังกฤษ เพราะปกตินักข่าวก็ต้องใช้ความไวในการทำงานอยู่แล้ว ถ้าให้มาแปลมันจะล่าช้าไปอีก”

วิกิพีเดีย เชื่อได้-เชื่อไม่ได้

แต่แม้เว็บไซต์นี้จะได้รับความนิยมจะพุ่งกระฉูดสักแค่ไหน ความจริงอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในความรู้สึกของทุกคนก็คือ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่อยู่ในวิกิพีเดียนั้นมีมากน้อยสักแค่ไหน

จากคำยืนยันของ จงจิต อรรถยุกติ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้จะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่ก็อดห่วงถึงความผิดพลาดที่อาจจะตามมาไม่ได้

“รัฐบาลคงอยากให้คนไทยหูกว้างตากว้างขึ้น และแน่นอนว่าคนไทยที่ไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษจะได้มีโอกาสติดตามข้อมูล เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าเขาเขียนหรือพูดอะไรไว้บ้าง แต่อย่างว่า เราเองก็ไม่อยากเชื่อข้อมูลจากวิกิพีเดียเท่าใดนัก แต่เราก็ไม่มีปัญญาสืบสวนหรอกว่าเรื่องไหนจริงกี่เปอร์เซ็นต์ เชื่อได้เท่าไหร่เหมือนกัน เพราะมันขึ้นอยู่กับคนเขียน และคนที่ให้การสนับสนุนข้อเท็จจริงเหล่านั้น

“แต่อย่างน้อยๆ ก็ถือว่าดีกว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพียงแต่ว่าการแปลต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลหลายขั้นตอนเพื่อให้เกิดความถูกต้องที่สุด”

ซึ่งสาเหตุตรงนี้ ก็คงจะไปปรับเปลี่ยนไม่ได้ เพราะลักษณะของเว็บไซต์อย่างวิกิพีเดียนั้นถูกออกแบบมาเฉพาะ และเปิดให้เป็นทุกคนเป็นเจ้าของใครจะมาแก้ไขก็ได้ ทำให้ข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งหากจะว่าไปแล้วก็ต้องถือว่ามันเว็บไซต์ที่มีระบบการสื่อสารโต้ตอบระหว่างกันสูงกว่าเฟซบุ๊ก ที่เป็นระดับ 2.0 เสียอีก

“วิกิพีเดีย มันเป็นเว็บ 3.0 ซึ่งมันมีปรัชญาอยู่ว่า ความรู้นั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความรู้จริงๆ ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโต้เถียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีใครที่จะมาเป็นนายทวารหรือคนที่จะมาควบคุมความรู้ บอกว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ได้” ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิกิพีเดีย

เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลนำเว็บไซต์ตัวนี้ขึ้นมาทำ จึงมีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะหากความรู้ที่ว่าได้ถูกแก้ให้ล้าสมัย หรือมีมิติที่แคบเกินไป และดีไม่ดี รัฐบาลก็อาจจะเป็นกลายเป็นผู้ผูกขาดความรู้เอาไว้เอง

“ถ้ารัฐแปลในลักษณะนี้ ใครเขาจะเข้าไปอีดิท(ระบบบรณาธิการ) ได้ล่ะ นั่นก็เท่ากับว่ารัฐบาลกลายเป็นคนควบคุมความรู้เอาไว้เอง จริงๆ ถ้าอยากให้มีการเพิ่มพูนความรู้มากขึ้น อาจจะต้องทำแบบญี่ปุ่น ที่ไปลงทุนในการแปลเอกสารตำราที่สำคัญ ซึ่งสิ่งที่แปลมานี่มันก็ไม่ได้หมายความว่าถูกต้องนะ แต่มันจะทำให้มันได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างและถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เท่านั้น คือเป็นการแปลออกมาให้รู้เท่าทัน ไม่ได้แปลออกมาแล้วให้ทำตาม เราจะเห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้น”

ในเรื่องนี้ผู้คุมระบบอย่าง ดิออนก็เข้าใจและยอมรับ แต่เขาก็มองว่าตัววิกิพีเดียเองก็มีการทำวิจัยและเปรียบเทียบกับสารานุกรมอื่นตลอดเวลา จนมีความน่าเชื่อถือแม่นยำพอสมควร ซึ่งหากไม่ถูกจริงๆ ตัวผู้ใช้นั่นแหละที่จะเข้าไปแก้ไขให้ถูกต้อง และที่สำคัญโดยปกติของการค้นข้อมูล วิกิพีเดียถือเป็นเพียงแหล่งข้อมูลหนึ่งเท่านั้น

“เราจะพยายามอัปเดตอยู่ตลอดเวลา เพราะเราทราบว่าวิกิพีเดียนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นวันนี้ข้อมูลอาจจะถูกต้อง แต่พออีกอาทิตย์อาจจะผิดแล้ว ซึ่งปกติทางวิกิฯ เองก็จะมีบันทึกอยู่ซึ่งเราก็จะมีการแก้ไขด้วยตลอด”

แปลดี-ไม่ดี เรื่องใหญ่เหมือนกัน

ประเด็นต่อมาที่ติดตามเช่นกัน ก็คือความน่าเชื่อถือของการแปล และการคัดเลือกบทความที่จะแปล ซึ่งอย่างที่ทราบก็คือ บทความทั้งหมดนั้นจะถูกแปลจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีทางที่จะละเอียดอ่อนหรือมีวาทศิลป์มากมายเหมือนกับใช้คนจริงๆ แปล

ในเรื่องนี้นายกสมาคมนักแปลฯ เองก็ชี้ว่า นี่คือเรื่องสำคัญ เพราะบทความจะเป็นประโยชน์หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพิถีพิถันของผู้แปลเองว่า แปลได้ตรงตามความหมายหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วเครื่องจักรไม่สามารถทำได้ อย่างมากก็สามารถแปลได้แต่ประโยคง่ายๆ

ขณะเดียวกัน เรื่องการคัดเลือกต้นฉบับเองก็สำคัญไม่น้อย ซึ่ง ศ.ดร.สิทธิชัย มองว่า บทความประเภทวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแปลอย่างเร่งด่วน เพราะประเทศไทยขาดความรู้เหล่านี้ค่อนข้างมาก แต่โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ค่อยมั่นใจว่า สุดท้ายจะสามารถแปลออกมาได้จริงๆ หรือไม่

ซึ่งทั้งหมดผู้รับผิดชอบอย่าง ดิออน ก็ชี้แจงว่า ในประเด็นของการคัดเลือกบทความไม่ได้เป็นห่วง เพราะไม่มีการคัดเลือกแต่ใช้วิธีการแปลทุกบทความในวิกิพีเดีย ซึ่งตอนนี้ก็แปลเรียบร้อยหมดแล้ว อยู่ในระหว่างการนำขึ้นที่เว็บไซต์ www.asiaonline.com

ส่วนในเรื่องของกระบวนการแปลนั้น เขาก็ยอมรับว่าคงไม่สามารถทำให้ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคนมาทำหน้าที่พิสูจน์ความถูกต้องของภาษาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน โปรแกรมดังกล่าวก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแปลวิกิพีเดียเป็นภาษาไทยโดยเฉพาะ

“โปรแกรมนี้จะเหมือนสมองเด็กที่ยิ่งป้อนข้อมูลไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น แต่แน่นอนว่า ยังไงก็ต้องผิดอยู่แล้ว เราก็เลยต้องเอาคนมานั่งตรวจปรู๊ฟ แล้วเรายังเปิดโอกาสให้คนเข้ามาตรวจแก้ในส่วนของภาษาไทย ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และพอมีการแก้ไขปุ๊บก็จะมีการนำข้อมูลกลับเข้าไปในระบบและบันทึกเอาไว้ ซึ่งจะทำให้เวลาแปลครั้งต่อไป ก็จะยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ และหากหน้าไหนที่ไม่มีการแก้ไข โปรแกรมก็จะมีการแปลอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน เพื่อให้ภาษาที่แปลออกมานั้นดีขึ้น”
..........

แม้ว่าภาพลักษณ์ของโครงการนี้จะดูดีและมีประโยชน์แก่เยาวชนค่อนข้างสูง เป็นจุดเริ่มต้นความรู้ที่ดีของคนไทย?

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องจับตาดูมากที่สุด ก็คือสุดท้ายความยั่งยืนและประสิทธิภาพของโครงการว่าจะสามารถขยายความรู้ให้แก่ประชาชนได้จริงๆ อย่างที่ตั้งหวังหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า มีแต่เวลาและความจริงใจของรัฐเท่านั้นที่จะพิสูจน์คำตอบได้
>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น