ด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนมาและนามสกุลที่ติดตัวมาแต่เด็ก ไม่ยากที่ชายหนุ่มชื่อเหมือนช้างคนนี้จะเดินไปบนหนทางแบบที่หนุ่มๆ ยุคนี้หลายคนต้องการ
พลาย ภิรมย์ หลานชายของ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบัน เขาเป็นผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษให้แก่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาบอกว่าเขารู้สึกดีกับนามสกุลของตัวเอง แต่นั่นก็คนละเรื่องที่จะโยงงานที่เขาทำกับนามสกุลที่เขามี เพราะมันคนละเรื่องกัน
ทำไมเขาจึงทิ้งงานรายได้ดีและหันมาเป็นเอ็นจีโอที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกตำหนิไม่น้อย เอาเข้าจริงๆ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องราวของคนหนุ่มที่เดินออกนอกลู่นอกทางเพื่อความเท่
แต่มันเป็นสิ่งที่เขาเลือกแล้วจากการค้นหาตัวตนที่เคยหลบซุกอยู่ใต้บริษัทขนาดใหญ่ และการเกลาตัวเองและงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน
เพื่อทำให้การเป็น-อยู่ของตัวเองประณีตขึ้นแบบไม่ต้องทำร้ายโลกมากเกินไป
ที่คุณชื่อ ‘พลาย’ เพราะพ่อแม่ของคุณชอบช้าง?
ชอบครับ ชื่อพลาย คุณแม่ตั้งให้เพราะชอบช้าง ตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่าชื่อนี้มันแปลกแยกเหมือนกัน อายชื่อตัวเอง มีแค่พยางค์เดียว ชื่อเราแปลก พอโตมาก็เริ่มรู้ว่าชื่อนี้มีความหมายที่ดี และเป็นชื่อที่ผมชอบมากเหมือนกัน ปัจจุบันนี้ ด้วยที่ชื่อเราเป็นชื่อช้าง ผมก็เลยทำงานตอบแทนช้าง นอกเวลางานของกรีนพีซ ผมก็ไปช่วยกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย
คุณเป็นญาติข้างไหนของคุณกษิต
ผมเป็นหลานชายครับ พ่อผมเป็นน้องชายของคุณกษิต คุณกษิตเป็นลุงครับ สนิทกัน คือครอบครัวเราค่อนข้างจะสอนว่าความเป็นครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่กับคุณลุงกษิตเอง ถ้าไม่ได้เจอกันนานๆ ก็จะโทร. คุยกัน อัปเดตข่าวคราวในครอบครัว บอกเล่าปัญหา การเมือง สิ่งแวดล้อม บางทีทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก็จะมีคำติชมหรือปรึกษาบ้าง
คุณกษิตสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยไหม
ก็คงสนใจน่ะครับ ผมก็พยายามเล่าให้ฟังเรื่อยๆ พยายามผลักดัน อะไรที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาล บางทีก็จะฝากลุงไป (หัวเราะเขินๆ) ส่วนจะสำเร็จบ้างไหม ก็คงมีบ้าง เพราะกระทรวงต่างประเทศก็ไม่ใช่หน่วยงานโดยตรงด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็จะมีประเด็นเกี่ยวกับต่างประเทศบ้าง ซึ่งผมจะบอกเล่าให้ฟัง
สมมติว่ามีสื่อมาสัมภาษณ์คุณเพียงเพราะคุณนามสกุล ‘ภิรมย์’ คุณจะรู้สึกยังไง
ผมเฉยๆ และไม่อยากให้เอาผมไปอิงกับญาติผมหรือนักการเมือง ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจน่าจะเป็นสิ่งที่ผมทำมากกว่าที่จะเอาผมไปอิงกับคนอื่นๆ มันกลายเป็นว่าผมเป็นเด็กเส้น ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวผม ผมอยากจะมองถึงคนที่ทำงานเหมือนผมหรือทำงานมากกว่าผมด้วยซ้ำ ชื่อนามสกุลเขาอาจจะไม่ดัง แล้วคนไม่สนใจ ถ้าผมมาทำตรงนี้แล้วใช้นามสกุลของผม ผมถือว่ามันไม่แฟร์ ไม่ใช่เรื่องที่ภูมิใจอะไร
แต่ที่ผมภูมิใจกับนามสกุล ไม่ใช่เพราะว่าลุงผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ผมมองว่าคนในตระกูลผมทำงานเพื่อสังคม ไม่เคยทำผิดอะไร เออ ตระกูลของเราไม่มีใครคดโกงนะ และเป็นแบบอย่างที่ดีกันมาตลอด
เรียนจบด้านอะไรมา
ผมไม่ได้เรียนมาทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ตั้งแต่เด็กแล้ว ผมจะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คือชอบไปเที่ยว เป็นคนบ้าธรรมชาติ ชอบเลี้ยงสัตว์ ชอบดูต้นไม้ ชอบเที่ยวป่า เขา ทะเล แต่ตอนแรกผมเรียนจบวิศวอุตสาหการที่ธรรมศาสตร์ ทำงานในบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่ง รายได้ก็โอเคตามที่จบมา
ทำงานอยู่สี่ห้าปี สนุกกับงานดีครับ แต่พอทำไปทำมาก็คิดว่าที่เราขยัน ทำไปก็เพื่อบริษัท เพื่อกลุ่มคน และทางด้านอุตสาหกรรมเองมันก็มีส่วนสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็รู้สึกเราน่าจะเอาความรู้ของเรา เอาสิ่งที่เราชอบมาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อส่วนรวมบ้าง น่าจะดีกว่า มันก็ถึงจุดเปลี่ยน
ผมลาออกไปเรียนต่อด้านสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยเอไอที ทางด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง เรียนสองปี เป็นการเรียนที่มีความสุขมากเพราะมันถูกกับธาตุเรา ผมไม่ต้องอ่านหนังสือเลย ผมก็เรียนได้ดี มาค้นพบตัวเองว่าต้องมาทางด้านนี้
พอจบมาปุ๊บ ผมก็คิดในใจเลยว่าจะไม่มาทำงานให้บริษัทเอกชนแล้ว จะหางานที่มันเป็น...อาจจะไม่ใช่เอ็นจีโอก็ได้ ผมตั้งเป้าไว้เยอะครับ หางานเอ็นจีโอหรือทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อม ก็ปรากฏว่าไปเจอโพสของกรีนพีซอันหนึ่ง เขารับสมัครตำแหน่งผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ เออ นี่ก็โอเคนะ เราก็อยากทำงานด้านการลดมลพิษอยู่ ก็สมัครเข้ามา ได้ ก็ทำงานกับกรีนพีซมาประมาณสามปีกว่าๆ แล้วครับ
เป็นคนเรียนเก่งไหม
ตอนผมเรียนปริญญาตรีวิศวะ ผมก็เรียนอยู่ระดับกลางๆ ดีกว่ากลางๆ นิดหนึ่ง ประมาณที่สิบของคลาส ไม่ได้เกียรตินิยม แต่พอมาเรียนด้านสิ่งแวดล้อม ผมกลับเรียนได้ที่หนึ่ง ได้สี่จุดศูนย์ศูนย์ โดยที่ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ มันเหมือนเจอสิ่งที่ตัวเองชอบ อ่านหนังสือแล้วมันอิน สนุก ไม่ต้องท่องจำเลย เป็นธรรมชาติของมันเอง กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเรียนมันเป็นสิ่งที่เราคิดพอดีเลย ผมก็ทำข้อสอบได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร
กลับไปตอนที่จะลาออกจากงาน อยู่ๆ มันก็ขึ้นมาเลย...
คือมาถึงช่วงหนึ่งที่ผมคิดว่าเวลาเราทำงานให้บริษัทเอกชน เราทำงานหนักไป ผลประโยชน์มันไม่ได้ตกอยู่กับตัวเรา แต่ว่ามันเป็นกำไรของบริษัท ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับตรงนั้น แต่ผมอยากจะทำงานหนักเพื่อให้ตัวเองได้ดี และให้มันเกิดผลบวกกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ผมคิดอย่างนี้ก็เลยรู้สึกว่าทำงานบริษัทเอกชนมันไม่ใช่แบบนี้แล้ว มันมีความรู้สึกว่ากดดัน เครียด ทำไปก็ไม่มีความสุข ออกดีกว่า อยากทำงานที่มีความสุขและมีผลบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การได้ทำงานบริษัทเอกชน ทำให้ผมเห็นได้ชัดเลยว่ามันเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับคนส่วนน้อย โดยการขโมยทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ไปใช้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับระบบทุนนิยม ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการตักตวงทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ ผมก็เลยมาร่วมต่อสู้กับภาคประชาชนเพื่อปกป้องทรัพยากรผืนที่เป็นประโยชน์ของคนมากกว่า ปกป้องให้เขามีกิน มีใช้ และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ พอมาทำตรงนี้ ผมถือว่าผมทำอะไรได้เยอะ แม้ว่าจะไม่มีผลมาก แต่ก็ถือว่าเราได้เริ่มทำแล้ว
แล้วยังไง พอมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเต็มตัว
ก็สนุกครับ ต่างจากงานบริษัทเอกชนที่ค่อนข้างกดดัน ต้องมาทำงานเป๊ะ เจ็ดโมงเช้า เลิกสี่โมงครึ่ง แต่เลิกจริงๆ ทุ่มหนึ่ง มันก็ไม่ค่อยแฟร์ จะหยุดงานทีหนึ่งด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ก็รู้สึกผิด เจ็บป่วยทียังไม่กล้าหยุดเลย คนทำงานออฟฟิศจะรู้ว่ามันเป็นยังไง มันกดดัน บีบคั้น ผมไม่ชอบอะไรแบบนี้ พอออกมาทำงานกับกรีนพีซ ผมว่าผมทำงานเยอะขึ้น แต่ก็รู้สึกมีความสุขกับมันมากกว่าการทำงานแบบเดิม
ยากไหม
ยากครับ ต้องตื่นตัวตลอดเวลา และเวทีที่เราอยู่ไม่ใช่พูดคุยแบบการทำธุรกิจ แต่เราพูดถึงผลประโยชน์ของคนส่วนรวม ความรู้ก็ต้องอัปเดตเพิ่มเติม ต้องตื่นตัวกับข่าวสารต่างๆ นานาอยู่ตลอดเวลา และถ้าเรามีโอกาสได้พูดทีหนึ่งก็ต้องทำให้ดี มันจะมีผลมาก ค่อนข้างกดดัน กดดันในลักษณะที่เราต้องทำให้สำเร็จ ทำงานมาสามปีกว่า ให้บอกตามตรง มันก็ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น ผมยังไม่พอใจกับตรงนี้ มันน่าจะต้องดีกว่านี้
เข้าใจว่ากระแสกรีน ฟีเวอร์ น่าจะมีผลต่อการทำงานของคุณอยู่เหมือนกัน
มีผลครับ แต่ผมไม่ค่อยศรัทธาเท่าไหร่ มันเหมือนไฟลามทุ่ง บางทีคิดว่าได้ทำแล้ว เช่น การทำซีเอสอาร์ แทนที่จะเอาเงินไปพัฒนาบริษัทให้ลดมลพิษจริงๆ กลับเอาเงินมาสร้างภาพว่าตัวเองรักสิ่งแวดล้อม ผมอาจยกตัวอย่างบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่ของไทยแห่งหนึ่ง รู้สึกว่าเขาไม่ได้รักษาสิ่งแวดล้อมเลย นอกจากเอาเงินมาทุ่มโฆษณาให้ตัวเอง บอกว่าปลูกต้นไม้ล้านต้น ถ้าไปดูต้นไม้ที่เขาปลูกตอนนี้ก็แห้งเป็นทะเลทรายเหมือนเดิม คือไปปูลก ทำพีอาร์เสร็จ จบ แล้วก็มาโฆษณาว่าตัวเองปลูกต้นไม้
ผมจึงไม่ค่อยศรัทธาซีเอสอาร์ของบริษัทต่างๆ ที่ออกมาพูดกัน อาจจะเป็นฝันร้ายด้วยซ้ำ เพราะกลายเป็นตรายางประทับว่าเขาดี แต่ถ้าพูดถึงในแนวทางการรณรงค์ กระแสสิ่งแวดล้อมมันก็ช่วยได้มาก มันทำให้คนตระหนักมากขึ้น ปัญหาก็คือมันเป็นแค่กระแสที่ยังไม่ได้แปรเปลี่ยนเป็นการปฏิบัติอย่างจริงจัง
การใช้ถุงผ้าไม่ถือว่าเป็นการกระทำ
แต่มันกลายเป็นว่าคุณต้องผลิตถุงผ้ามากขึ้น มันก็ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตเหมือนกัน การที่คุณถือถุงผ้า แต่คุณก็ยังใช้ถุงพลาสติก แล้วก็เอามายัดลงในถุงผ้า ซึ่งมันไม่ใช่ไง แต่เราบอกว่าเรารักสิ่งแวดล้อม เรามีถุงผ้าหนึ่งใบ แต่ทิ้งถุงผ้าไว้ที่บ้าน ทุกคนมี แต่ไม่ใช้ ใช้ชีวิตแบบเดิม มันก็เหมือนครึ่งๆ กลางๆ หรือบริษัทบอกว่าอยากช่วยสิ่งแวดล้อม ผลิตถุงผ้าขึ้นมาหมื่นใบ จบ มันกลายเป็นแฟชั่นฉาบฉวยมากกว่าจะให้ความรู้เกี่ยวกับต้นเหตุของปัญหาและผลกระทบที่ชัดเจน
สำหรับวัยรุ่นยุคนี้ เรื่องกรีนเขาก็ให้ความสนใจเยอะนะ
ผมว่าก็ดีนะ ที่คนรุ่นใหม่คิดเรื่องนี้เยอะ แต่ผมเคยดูตัวเลขการศึกษาเกี่ยวพฤติกรรมการบริโภค วัยรุ่นยุคใหม่ๆ จะบริโภคกันเยอะมากกว่ารุ่นเก่าๆ ที่สำคัญและน่าห่วงคือสมัยก่อนเราอาจยังไม่ได้ดูโฆษณาที่กระตุ้นการบริโภคมากเหมือนเดี๋ยวนี้ แล้วคนรุ่นใหม่เองก็ถูกเลี้ยงและเติบโตขึ้นมาในสังคมบริโภคนิยม มันค่อนข้างน่าห่วงเหมือนกัน
ดูท่าคุณจะแอนตี้ระบบทุนนิยมมากเอาเรื่อง
คือ...ผมไม่ได้แอนตี้หรอก แต่ผมเห็นว่ามันเป็นสาเหตุของปัญหาในปัจจุบันมากกว่า จะบอกว่าแอนตี้ ผมก็ไม่ใช่ จริงๆ ตัวผมเองก็ใช้ ก็บริโภค แต่ผมมองว่าถ้ากระแสยังเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ โลกต้องระเบิดแน่ๆ อาจจะต้องมีโลกอีกสองสามใบ ถ้าตอนนี้ทุกคนมานั่งคิดว่าปัญหาเกิดจากทุนนิยม เริ่มปรับเปลี่ยน เอาทุนนิยมมาปรับ ลดปัญหา ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาให้มากกว่าการนำทรัพยากรมาใช้ แต่เป็นการสร้างทรัพยากร อย่างนี้ผมว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ขอนอกเรื่องหน่อย อยากรู้ว่าความแตกแยกขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ขณะนี้ มันส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณบ้างหรือเปล่า
มันเกี่ยวเหมือนกัน มันทำให้การรณรงค์ของเราไม่มีความต่อเนื่อง บางทีเราต้องการผลักดันกฎหมายใหม่ๆ หรือแนวทางการแก้ปัญหาให้กับนักการเมือง แต่พอมีความขัดแย้ง แน่นอน มันก็จะช้าลง และกระแสสังคมก็ไม่สนใจเรื่องนี้
แต่สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือการเมืองมันมาเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนา ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมากกว่า บางทีมันมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง คือนักการเมืองที่ไม่ดีมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมเยอะ ไปสร้างอิทธิพลในพื้นที่ เอาโครงการต่างๆ ลงไป โดยที่ตัวเองก็มีผลประโยชน์ ผลักดันต่างๆ นานา เพื่อให้กลุ่มทุนของตัวเองไปได้ แต่ทิ้งความเสียหายไว้
ถ้าตอนนี้คุณไม่ใช่เอ็นจีโอ คุณจะกำลังทำอะไรอยู่
ผมก็คงหาอะไรทำที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือด้านเกษตร ซึ่งมันเหมาะกับธาตุของตัวเอง ผมอาจจะไปเป็นชาวสวน หรือไม่ก็ทำธุรกิจที่สีเขียวนิดหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่าผมจะทำอะไร แต่แน่นอนว่าผมไม่ได้ทำให้ธุรกิจเอกชนแน่นอน
จากพนักงานบริษัทเอกชน พอมาเป็นเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม คุณต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับงานที่ทำมากน้อยแค่ไหน
ก็มีบ้างครับ รายได้มันน้อยลง (หัวเราะ) คือผมค่อนข้างจะสมถะอยู่แล้ว แต่พอรายได้ลดลงก็ต้องสมถะกว่าเดิม แล้วบางทีพอเรามาทำงานตรงนี้ เราก็ต้องเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสิ่งที่เรารณรงค์มันทำได้จริง บางทีผมก็เดินทางโดยหลีกเลี่ยงการใช้รถส่วนตัว เดินทางโดยใช้ระบบขนส่งมวลชน บางทีก็ขี่จักรยาน ไลฟ์สไตล์ของผมก็จะใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้มาก
หมายถึงภาพลักษณ์กับเนื้องานบางทีก็ต้องสอดคล้องกัน
ผมไม่ใช้คำว่าภาพลักษณ์ เพราะผมไม่ได้สร้างภาพไง แต่เราทำจริงๆ คำว่าภาพลักษณ์บางทีเราเสแสร้ง แต่ผมไม่ใช่ บางทีเราคิดจะทำอะไรอย่างหนึ่งต้องคิดมากขึ้นว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน ไม่ทำอะไรในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่สร้างภาระให้แก่โลกนี้มากเหมือนเดิม
ทำงานแบบนี้ก็ต้องเดินทางบ่อย
บ่อยครับ เมื่อก่อนอาจจะจัดกระเป๋าใบใหญ่ เดี๋ยวนี้ผมก็แบ็คแพ็คอันเดียว ง่ายๆ แม้กระทั่งเสื้อผ้าที่เราใส่มาทำงาน บางทีผมก็เสื้อเชิ้ตหนึ่งตัว เสื้อยืด กางเกงยีน สบายๆ ไม่เหมือนตอนทำงานออฟฟิศที่ต้องแต่งตัวเนี้ยบตลอด ที่สำคัญตอนนี้ชีวิตหรือของใช้ส่วนตัว ผมก็พยายามที่จะไปในแนวทางที่เรียบง่ายที่สุด ไม่ค่อยใช้แบรนด์เนม ถ้าไม่จำเป็น บางอย่างถ้าทำอะไรเองได้ก็ทำเอง ทำอาหาร ผมก็ทำเอง เลือกวัตถุดิบก็เลือกเอง พอเราเริ่มมีจิตประณีตตรงนั้นแล้ว มันจะเห็นสัจจะอะไรเยอะ
อย่างผมชอบทำอาหาร ผมก็จะเริ่มดูแล้วว่าผักนี้ไม่ดีนะ มีสารพิษ พอเราเริ่มศึกษา เราจะรู้ว่าอะไรมีผลกระทบต่อตัวเรา ต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้มันเกิดจากสิ่งที่เราทำอยู่กับตัวเอง อย่างงานที่ผมทำอยู่คือการรณรงค์เกี่ยวกับกรีน อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือที่ผมใช้อยู่ ผมก็ต้องเลือกยี่ห้อแล้วว่าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด มันจะเป็นรายละเอียดต่างๆ นานา ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
การใช้ชีวิตแบบนี้หลายคนถือว่าค่อนข้างยุ่งยาก
จริงๆ ผมว่าถ้าเรามานั่งทำจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่บางอย่างต้องเสียสละบ้าง
ต้องพกอุปกรณ์ติดตัวเยอะแค่ไหน
นอกจากมือถือกับโน้ตบุ๊กก็ไม่มีแล้วครับ ผมจะไม่ค่อยเห่อตามกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นและคุณคิดว่าคุณได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ผมก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร แต่บางอย่างถ้าจะทำเป็นแฟชั่นหรือต้องตามกระแส ผมว่าไม่ใช่แล้ว แต่ส่วนตัวผมเอง อะไรถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ เพราะยิ่งใช้เยอะ เห่อกระแสใหม่ๆ มันก็ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับโลก ผมเข้าใจว่าบางคนมีเงิน แล้วคุณมายุ่งอะไรกับเรา (หัวเราะ) แต่ถ้าคุณมีเงิน แล้วเงินของคุณสร้างภาระให้กับโลก มันก็กระทบต่อคนอื่นเหมือนกัน
อาชีพแบบที่คุณทำอยู่มีความคาดหวังในอาชีพเหมือนอาชีพอื่นๆ มั้ย
ไม่คาดหวังอะไรเลยครับ ก็ทำๆ ให้ดีที่สุดไปวันๆ หนึ่ง แต่โดยส่วนตัวผมเองแล้ว จุดมุ่งหมายในชีวิตผมก็ไม่ต้องการอะไรมาก อยู่กินไม่ต้องขัดสนอะไรมาก อีกอันหนึ่งคืออยากมีสวนผลไม้ของตัวเอง แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว
แล้วในเนื้องาน
ผมไม่กล้าคาดหวังอะไรมากว่าสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นยังไง คือผมคาดหวังให้คนหันกลับมาคิดถึงผลกระทบของสิ่งที่ทุกคนทำมากกว่า และผมคาดหวังว่ากระแสจะเปลี่ยนจากบริโภคนิยมมาเป็นเห็นความสำคัญของธรรมชาติ หมายถึงให้ทุกคนมีจิตสำนึก ปัจจุบันการพัฒนาคือการทำลาย มันไม่ใช่อนุรักษ์ที่ผมอยากเห็น
*****************
เรื่อง: กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ: ธนารักษ์ คุณทน