xs
xsm
sm
md
lg

‘บอมบ์สูท’ ชุดศพสวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเสียชีวิตของ ด.ต.กิตติ มิ่งสุก ตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) ตชด.447 และ จ.ส.ต.กฤษฎา ทองโอ ผบ.หมู่ (จร.) สภ.สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ทั้งที่อยู่ในชุดบอมบ์สูท (BOMB SUIT) ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง นับจากเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200

ด้วยงบประมาณจำนวนมากที่ลงไปในแต่ละปี เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดคำถามว่า ทำไมบอมบ์สูทจึงน้อยทั้งประสิทธิภาพและจำนวน สื่อบางสำนักที่นำปากคำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาเผยแพร่พูดไปในทำนองว่า บอมบ์สูทหมดอายุการใช้งานและรัฐก็ไม่ได้จัดหาให้ใหม่

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามชี้แจงว่า การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นเพราะแรงระเบิดเกิดขึ้นในระยะประชิด ทั้งคนร้ายอาจใช้ระเบิดที่มีความร้ายแรงและมีปริมาณมาก จึงทำให้เกิดสะเก็ดระเบิดที่มีขนาดใหญ่และมีความเร็วสูงกว่าที่ชุดบอมบ์สูทจะต้านทานได้

แต่เมื่อสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จึงพบว่า บอมบ์สูทเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำอาจเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ความเข้าใจ ของหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่รู้ หรืออาจจะรู้แต่ยังไม่จริงจังมากพอที่จะทำ

เอาคนเข้าไป ไม่มีที่ไหนทำกัน

จากข้อมูลที่ปรากฏในข่าว บอมบ์สูทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่เป็นยี่ห้อ MED-ENG รุ่น MK 8 หรือ EOD 8 จัดซื้อเมื่อปี 2547 มอบให้ข้าราชการตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 3 ชุด เป็นชุดที่มีแผ่นเกราะใยสังเคราะห์ประเภทอารามิด (ARRAMID) เป็นวัสดุป้องกัน ซึ่งผู้ผลิตรับรองอายุการใช้งาน 5 ปี

ทั้งนี้หากเก็บรักษาดี ไม่ถูกน้ำหรือแสงแดด ความชื้น เป็นเวลานานๆ อาจทำให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น โดยมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันสะเก็ดระเบิดขนาด 17 เกรน (ประมาณ 300 กรัม) ตามมาตรฐาน V50 (มาตรฐานนาโต) ได้ที่ 400-800 เมตร/วินาที หรือป้องกันระเบิดน้ำหนักประมาณ 1-2 ปอนด์ ระยะประมาณ 3 เมตร มีแผ่นเกราะแข็งที่สามารถป้องกันสะเก็ดระเบิดได้ที่ความเร็วไม่เกิน 1,600 เมตร/วินาที

ทว่า พ.ต.ทรงพล เอี่ยมบุญฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีซิพาร์ท จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการ ‘เสื้อเกราะบางระจัน’ ให้ความเห็นเกี่ยวกับบอมบ์สูทว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่เหมาะกับสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน เพราะบอมบ์สูทก็เปรียบเสมือนแค่เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ที่สามารถช่วยชีวิตได้ระดับหนึ่งเท่านั้นหากความรุนแรงไม่สูงมาก และต่อให้คุณภาพดีกว่านี้ก็ยังไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในภาคใต้อยู่ดี

"บอมบ์สูทมันจะมีลิมิตอยู่ ใช้แค่ผ่อนหนักเป็นเบา ระเบิดที่แรงกว่าปอนด์หนึ่ง หรือมีสะเก็ดรุนแรงมันใช้ไม่ได้ เวลาใช้จึงต้องดูว่าวัตถุระเบิดนั้นใหญ่หรือเล็ก ถ้าเป็นการก่อการร้าย ส่วนใหญ่บอมบ์สูทเอาไม่อยู่ แต่ถ้าเป็นระเบิดแบบมาตรฐาน บอมบ์สูทเอาอยู่หมด หน้าที่จริงๆ ของบอมบ์สูท คือ พิสูจน์ทราบ ไม่ได้เอาไว้กู้โดยตรงนั้น เพราะถ้ากู้โดยตรงระเบิดมาก็แขนขาดหมด

"แล้วชุดบอมบ์สูท จริงๆ อายุการใช้งานไม่ได้แค่ 5 ปีหรอก เพราะหน้าอกที่เป็นสีดำ จะเป็นแผ่นแข็ง เพื่อป้องกันแรงสะเก็ด อายุการใช้งานประมาณ 10 ปี แต่จุดอ่อนที่แก้ไม่ได้เลยคือบริเวณข้อพับ ข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อพับมือ ข้อพับแขน ข้อพับเข่า จะไปใส่แข็งไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นหุ่นยนต์ ตรงนี้แหละที่เวลาโดนแรงระเบิดมากๆ จะขาด เขาถึงกำหนดไว้ว่า ห้ามเกิน 1 ปอนด์ เขาถึงเรียกว่า ชุดศพสวย"

รวมไปถึงการเอาคนเข้าไปกู้โดยตรงนั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีที่ไหนทำกัน เพราะอันตรายมาก แต่เรื่องแบบนี้ก็พอเข้าใจได้ว่า คงเป็นเพราะสถานการณ์บังคับเนื่องจากไม่มีเครื่องมือใดที่มีประสิทธิภาพพอสำหรับการกู้ระเบิด

สอดคล้องกับแหล่งข่าวด้านความมั่นคงที่บอกว่า การที่บอมบ์สูทจะป้องกันได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ การใส่ชุดของเจ้าหน้าที่ว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่, ขนาดของระเบิด และระยะ เช่น หากอยู่ในระยะที่ใกล้เกินไปและระเบิดมีขนาดใหญ่ก็มีความเสี่ยงสูง แหล่งข่าวผู้นี้ยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ในกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางออกที่ดีที่สุดคือควรใช้หุ่นยนต์เข้าไปตรวจสอบก่อน หากไม่แน่ใจจึงใช้ปืนแรงดันน้ำยิงทำลาย แทนที่จะเอาชีวิตเจ้าหน้าที่เข้าไปเสี่ยง

ต้องวิเคราะห์ข้อผิดพลาดและดัดแปลง

ทางแก้ปัญหาที่สำคัญ ซึ่ง พ.ต.ทรงพล ชี้ให้เห็นก็คือ การแก้ปัญหาอย่างถูกจุด เพราะจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ก็คือการขาดการสรุปบทเรียนที่ดี และมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหล่านี้โดยตรง ทำให้ไม่มีการวิเคราะห์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร

สิ่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบควรจะทำ ก็คือไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศว่า มีวิธีกู้ระเบิดอย่างไรบ้าง แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

"ปัจจุบันอเมริกันไม่ค่อยใช้บอมบ์สูทหรอก วิธีกู้ของอเมริกันก็คือจะมีรถอยู่คันหนึ่งเรียกว่า Buffalo EOD Vehicle คล้ายๆ รถวีว่า (รถหุ้มเกราะประเภทหนึ่ง) ของเราที่ใช้อยู่ภาคใต้ เป็นรถกันกระสุน แต่จุดที่แตกต่างก็คือเขาจะมีรถเฮียบหรือรถที่มีเครนเล็กติดอยู่ (HIAB Truck Cranes) บังคับจากด้านในหมด ซึ่งหากเราจะทำ ก็ไม่ต้องไปซื้อแบบเขา แค่เอารถ 4-6 ล้อมาติดเครนเล็ก ข้างบนโล่ง แต่ขอบต้องกันกระสุน กันระเบิด บังคับจากข้างใน มีกระจกส่อง พอเจอวัตถุต้องสงสัยก็ขับรถตัวนี้ไปเทียบ โดยท้ายของรถจะมีแท่งซีเมนต์อยู่ 4-5 แท่ง ซึ่งแท่งซีเมนต์ตรงนี้จะคล้ายแบลิเออร์ที่กั้นถนน แต่สูงกว่าประมาณ 1.20 เมตร แบลิเออร์คือสูตรสำเร็จในการกู้ระเบิด

"และเมื่อไปถึงสถานที่ คุณก็เอาเครนเล็กยกแท่งซีเมนต์วางเลย โดยเครนเล็กนี้จะต้องยืดยาวไปได้ประมาณ 15 เมตร วางเป็นกรอบหรือวางตั้งก็ได้ เพราะเวลาระเบิดขึ้นมา มันจะได้ปลอดภัย และทีนี่ปลายของเครนเล็กตัวนี้ที่อเมริกันออกแบบให้มีทั้งสปอตไลต์ มีทั้งกล้องวงจรปิด มีทั้งปืนยิงน้ำ มีทั้งมือจับ รวมทั้งตัวแซะ ซึ่งหากกู้ไม่ได้ มันจะยิงตรงนั้นเลย ถ้าไม่แน่ใจว่าจะวางอยู่ข้างล่างหรือเปล่า มันใช้ตัวแซะแล้วพลิกเลย ซึ่งพอแซะเสร็จมันจะลอยขึ้นมา แล้วมันจะมีคีมคีบเอาไว้ จากนั้นรถก็ขับออกไป เพื่อไปวางในที่ปลอดภัย รอให้มันจุดระเบิด ถ้าทำแบบนี้ถูกก็ถูก ลงทุนทำเองทั้งคันไม่เกิน 5 ล้านบาท ภาคใต้ใช้จังหวัดละคันก็พอ ปลอดภัยก็ปลอดภัยกว่า ไม่ต้องไปซื้อชุดอะไรราคาตั้ง 2 ล้านบาทก็ได้"

โดยทั้งหมดนี้ พ.ต.ทรงพล บอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปซื้อจากต่างประเทศ เพียงแค่นำรถที่มีอยู่มาดัดแปลง ใส่อุปกรณ์กู้ระเบิด มีเครื่องตัดสัญญาณที่มีโปรแกรมสำหรับป้องกันคลื่นรบกวน และมีแท่งซีเมนต์สำหรับป้องกันเศษสะเก็ดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปกู้ โดยห้ามใช้ยางรถเด็ดขาด เพราะไม่สามารถป้องกันอะไรได้

เสียงจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ : อุ่นใจกว่าไม่มี

เมื่อลองสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คนหนึ่ง เขาบอกว่า โดยส่วนตัวไม่เคยใช้ชุดนี้ เนื่องจากไม่ได้อยู่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด แต่อุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีข้อจำกัด

“จริงๆ ถ้าผมเป็นหน่วยที่ต้องใช้บอมบ์สูท ถึงแม้ใครจะบอกว่ามันไม่ได้ผล หรือหมดอายุแล้ว หรือไม่มีประสิทธิภาพอะไรก็ตามแต่ ผมก็จะยังคงใส่มันอยู่นะ เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้สึกมั่นใจและอุ่นใจในการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มขึ้น ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

“ยังคงรู้สึกมั่นใจกับเครื่องมือเหล่านี้นะ มันแล้วแต่คน อย่างกรณีจีที 200 ที่ผ่านมา ผมเคยใช้มันก็ได้ผลดีนะ แต่บางทีมันก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน จึงเกิดเป็นข่าวขึ้นมา ตรงนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ”

อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถเอาชีวิตคนทั้งคนไปผูกติดไว้กับแค่ความมั่นใจโดยไม่มีหลักประกันใดๆ ได้ ดังนั้น นอกจากเรื่องวัตถุอุปกรณ์ที่ต้องมีพร้อมแล้ว ยังต้องยกเครื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันเสียที
>>>>>>>>>>

………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น