xs
xsm
sm
md
lg

สมรภูมินรกวันเกณฑ์ทหาร ผู้ชายนะย่ะขยาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มาริโอ้ เมาเร่อ, ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล (นักร้องดูโอ กอล์ฟ – ไมค์), อ๊อฟ-ชนะพล สัตยา (พระเอกจากเวทีดัชชี่), กานต์ อ่ำสุพรรณ (นักดนตรีวงโปเตโต้), เพชร-สรภพ ลีละเมฆินทร์ (ลูกชายพุ่มพวง ดวงจันทร์), ธีรศิลป์ แดงดา (นักฟุตบอลทีมชาติไทย) และชายไทยอีกหลายคนที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (เกณฑ์ทหาร) ประจำปี 2553 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 เมษายน 2553

โดยทหารกองเกินที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกคือ ผู้ที่มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ที่เกิดปี พ.ศ.2532 กับผู้ที่มีอายุ 22 ถึง 29 ปีบริบูรณ์ คือ ผู้ที่เกิด พ.ศ.2524 ถึง พ.ศ.2531 ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกหรือยังไม่ผ่านพ้นการตรวจเลือกได้แก่ผู้ที่ขอผ่อนผันด้วยเหตุต่างๆ หรือผู้ที่คณะกรรมการตรวจเลือกในปีที่ผ่านมา กำหนดเป็นคนจำพวกที่ 3 คือป่วยไม่สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 30 วัน (ส่วนใครที่เรียนวิชารักษาดินแดนหรือ รด. ก็รอดตัวไป)

ในขณะที่มุมของมิตรรัก แฟนเพลง แฟนคลับ แม่ยก ที่แห่มาให้กำลังใจเหล่าคนดังที่พวกเขาและเธอชื่นชอบกันแล้ว รวมถึงญาติๆ และครอบครัวของผู้มาเกณฑ์ทหารก็เป็นอันต้องเฮ เมื่อได้เจอดาราตัวเป็นๆ มาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการมาขอผ่อนผัน มากกว่าที่จะมาจับใบดำใบแดง โดยระหว่างทำการคัดเลือกนั้น ชายไทยทั้งหลายที่มารอการคัดเลือกก็ต้องถอดเสื้อล่อนจ้อนโชว์กล้ามเป็นมัดๆ ซิกแพกอันเซ็กซี่ เหลือแต่กางเกงตัวเดียว เพื่อเตรียมเข้าตรวจร่างกายโดยทีมแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

และในอีกมุมเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของชายที่มีหัวใจเป็นหญิง ที่เฝ้ามองจุดสนใจของคนหมู่มากอยู่อย่างเงียบๆ แต่ถ้าเมื่อใด เธอได้ปรากฏกายขึ้น ก็สามารถเรียกความสนใจได้จากสายตาคนรอบๆ ข้างไม่แพ้ดาราเหมือนกัน

ด้วยรูปร่างอรชร อ้อนแอ้น ผมยาวสลวย ราวกับผู้หญิง แต่เหตุใดจึงมาปรากฏกายในหมู่ชายร่างกำยำที่กำลังเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งสายตาที่มองมาแต่ละคู่อาจจะไม่ใช่ความรู้สึกเดียวกับที่มองดารา เพราะส่วนใหญ่แสดงอาการดูถูก เย้ยหยัน บางสายตา เจ้าของก็ส่งเสียงหัวเราะแกมขบขันออกมา ทำให้ผู้ที่ถูกเป็นเป้าสายตาอดที่จะรู้สึกอับอายไม่ได้

จำนวนสาวประเภทสองหรือกะเทยทุกวันนี้ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน ซึ่งส่วนใหญ่มีสรีระไม่ตรงกับเพศกำเนิด (เพศชาย) โดยก่อนปี 2549 ในการบันทึกผลการตรวจเลือกทหารกองเกินหรือใบ สด.43 ระบุในนั้นว่าพวกเธอ (ในร่างเขา) เป็นโรคจิตหรือวิกลจริต มีสถานะเปรียบเสมือนคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญาสมัครงานในหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมทั้งไม่สามารถทำพาสปอร์ตไปต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความแตกต่างทางเพศเหล่านี้

ในที่สุด เครือข่ายปกป้องผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ต่อสู้เรื่องนี้ให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขตัดคำว่าโรคจิตออกไป เพื่อเป็นการคืนสิทธิให้คนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงกลาโหมได้รับปากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยสั่งการให้หน่วยบัญชาการกำลังสำรองหรือหน่วยคัดเลือกเกณฑ์ทหาร ดำเนินการแก้ไขไม่ระบุคำว่าโรคจิตในการตรวจเลือกทหารกองเกิน ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

เรียกร้องสิทธิ์ ยกเลิก ระบุเป็นคนโรคจิต

นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร แสดงทัศนะว่า การที่ทางการเขียนว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรคจิตหรือวิกลจริตนั้น ส่งผลกระทบต่อพวกเขา โดยส่วนมากคนที่เข้าไปเกณฑ์ทหารและไม่ได้รับการคัดเลือก จะเป็นพวกที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง เช่น ตาเหล่ นิ้วกุด ส่วนกรณีคนที่มีความหลากหลายทางเพศเมื่อไปเกณฑ์ทหาร เจ้าหน้าที่เขาเห็นว่าเป็นคนกระตุ้งกระติ้ง มีหน้าอก ผมยาว เป็นผู้หญิง สวยงาม เจ้าหน้าที่ก็เลยไม่อยากให้มาเป็นทหาร เพราะถ้าผ่านการตรวจเลือกเข้าไปจะทำให้เกิดความปั่นป่วนในกองทัพ

“ที่ผ่านมามีการเรียกร้อง เพราะเจ้าหน้าที่เขาเห็นว่า คนกลุ่มนี้เป็นโรคจิต ซึ่งกะเทยบางคนไม่ชอบใจ บางทีเขียนว่าเป็นโรคจิตถาวรเลยก็มี เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นเขาถือใบ สด.43 มาร้องทุกข์ที่กรรมการสิทธิฯ ว่ามีการเขียนว่าเป็นโรคจิตถาวร โรคจิตผิดปกติ เขียนไปต่างๆ นานา มันสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ที่ความหลากหลายทางเพศ

“นอกเหนือจากเอกสาร แล้วก็ยังมาซ้ำเติมเขาอีกนะ ตอนที่เขามาหาเรา เขาบอกว่า เขาไม่ได้เป็นโรคจิตอะไรรเลย เขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมา ไม่ใช่เพศหญิง เพศชายเท่านั้นเอง เพราะโลกใบนี้มีมนุษย์มากกว่าสองเพศ มีคนที่ไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชายเยอะแยะ แต่ว่าความไม่รู้ของเราในอดีต ทำให้เราออกกฎเกณฑ์กติกา มารองรับคนแค่สองเพศเท่านั้น มันก็เลยทำให้คนที่ไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชายลำบาก หรือทำให้เขาเกิดความทุกข์ คนกลุ่มนี้เลยอยากให้แก้ระเบียบอันนี้ซักที”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนขององค์การอนามัยโลก ก็ออกเอกสารมารับรองว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นโรคจิต เป็นธรรมชาติที่เขาเกิดมาแล้ว บอร์น ทู บี ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตก็มีการออกหนังสือรับรอง แต่หนังสือนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นระเบียบ กติกา หรือเป็นวิธีคิดของคนที่มีอำนาจในการใช้กฎหมาย เลยทำให้คนยังใช้ทัศนคติแบบเดิม ระเบียบแบบเดิม ซึ่งส่งผลกระทบกับคนกลุ่มนี้อยู่มาก

ระหว่างที่มีการรอให้ใช้ระเบียบนี้เป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ได้ถูกยกเลิกระบุว่าเป็นโรคจิตหรือวิกลจริต โดยเปลี่ยนมาใช้คำว่าหน้าอกผิดรูปหรือไม่ได้ขนาดบ้าง ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ต้องเป็นทหาร

เป็นกะเทย ไม่ใช่ 'โรคจิต'

“กรณีผลการเกณฑ์ทหาร ที่กระทรวงกลาโหมระบุว่าคนที่เป็นกะเทยเป็นโรคจิตถาวรนั้น เรียกได้ว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้น คนที่ถูกกล่าวหาเขาจึงต้องฟ้องร้อง เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง เพราะคำที่กระทรวงกลาโหมระบุไว้มันทำให้เขาถูกมองในแง่ลบ ถูกเข้าใจผิด ส่งผลเสียเวลาที่เขาไปสมัครงาน”

นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล หัวหน้าหน่วยจิตเวช โรงพยาบาลพญาไท 2 ร่วมแสดงความเห็นต่อกรณีการฟ้องร้องของชายหนุ่มผู้มีหัวใจเป็นหญิงสาว ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาร่างแก้ไขกฎกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการบันทึกผลใบ สด.43 โดยให้บัญญัติคำใหม่แก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่ระบุว่า โรคจิต เหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นพ.สุกมล อธิบายถึงความหมายของ โรคจิต ที่ถูกนำมาใช้อย่างผิดๆ ในครั้งนี้ว่า

“คำว่า โรคจิต หรือ Psychosis ก็คือโรคทางจิตเวทชนิดหนึ่ง เช่น อาการวิกลจริตอย่างเห็นภาพหลอน หูแว่ว ได้ยินหรือเห็นว่ากำลังจะมีคนมาฆ่าตัวเอง มีอาการประสาทหลอน แต่เหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะโรคทางจิตเวทยังแบ่งได้อีกหลายประเภท ซึ่งผู้ที่เป็นกะเทย เขาไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Psychosis แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่รู้จะระบุให้เขาเป็นอะไร ก็เลยเขียนลงไปว่าเขาเป็นโรคจิต ซึ่งมันส่งผลเสียกับชีวิตด้านอื่นๆ ของเขา ซึ่งในความเป็นจริง กะเทยก็คือผู้ชายที่มีหัวใจเป็นผู้หญิง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยด้านบุคลิกทางกายภาพ หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Psychiatric disorders ”

นพ.สุกมล ทิ้งท้ายถึงมุมมองเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศไว้ว่า

“มนุษย์มีความหลากหลาย แม้กระทั่งในเรื่องทางเพศ อย่างผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิงเหล่านี้ เขาจะเป็นทหารไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขามีความบกพร่องในเรื่องอื่นๆ เขายังสามารถไปประกอบอาชีพ ไปทำงานที่เหมาะกับตัวเองได้ อย่างปอย-ตรีชฎา ที่สวยขนาดนั้น ก็ทำงานในวงการบันเทิงได้ เพราะฉะนั้น กระทรวงกลาโหมจึงควรแก้ไขคำที่ใช้ระบุคนเหล่านี้เสียใหม่ ไม่ใช้คำว่าโรคจิต แต่ควรใช้คำที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า นั่นคือคำว่า 'ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง' ซึ่งเป็นความจริงที่สาวประเภทสองเขายอมรับได้ และเป็นความจริงที่ไม่ถูกบิดเบือนหรือมีความหมายในแง่ลบ อย่างคำว่าโรคจิต”

ดิฉัน (กระผม) มีหน้าอกผิดรูป

ไม่ต้องถึงขั้นจับปืนออกรบ แค่เดินทางไปเกณฑ์ทหาร สาวประเภทสอง ก็โดนกระหน่ำด้วยการกระทำล่วงละเมิดสิทธิจนพรุนไปทั้งร่าง!

ย้อนกลับไปครั้งอดีต เมื่อ เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการกะเทยไทย : สื่อ สุขภาพ สิทธิ์ และวิถีชีวิต มีอายุครบเกณฑ์ ต้องไปเข้ารับการคัดเลือก ในใจของเธอเกิดความเครียดและกังวลใจอย่างมาก เพราะปีหน้าต้องเผชิญหน้ากับการเกณฑ์ทหาร

“แค่กะเทยเดินเข้าไปในพิธีกรรมเกณฑ์ทหาร ทุกคนต่างมองเหมือนเป็นตัวตลกหรือตัวประหลาด พอออกไปยืนรวมกับคนอื่นที่ลานกลางแจ้ง ทีนี้แหละ คนมายุ่งวุ่นวายกับเรา ชี้ชวนกันดูแล้วหัวเราะกันใหญ่ เหมือนกับเราไม่ใช่คน...มันเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อความรู้สึก กะเทยทุกคนรู้สึกเช่นนั้นนะ จริงๆ คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่ต้องมาก็ได้”

เมื่อถูกปฏิบัติเช่นนั้น เปรมปรีดาก็นึกแย้งอยู่ในใจว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้สาวประเภทสองแยกจากชายหนุ่มที่มาเกณฑ์ทหาร

“มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงมาเขียนเลขที่แขน แค่มาเขียนเลขที่แขนก็แย่อยู่แล้วนะ เพราะความรู้สึกของเราเป็นผู้หญิง แถมตอนเขียนเขายังปฏิบัติไม่ดี กระแทกกระทั้น ไม่รู้ว่าหมั่นไส้เราหรือเปล่า จนเจ้าหน้าที่ชายคนหนึ่งสังเกตเห็นได้เดินแทรกเข้ามาบอกและเตือนว่า เอ้า ทำกับเขาดีๆ หน่อยสิ...”

ช่วงที่แพทย์เรียกตัวเปรมปรีดาเข้าไปตรวจในซอกมุมหนึ่งที่มีเพียงผ้าม่านบังเล็กน้อย มีคนแอบปีนหน้าต่างดูเพราะสงสัยว่าแพทย์จะตรวจยังไง? เปรมปรีดาจะต้องถอดเสื้อไหม? โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ใส่ใจแม้เพียงนิดที่จะตักเตือนผู้ที่ทำเช่นนั้น

“ตอนตรวจหมอยังแซวอีกนะว่า ทำไมคุณใส่ชุดชั้นในแบบนี้... ใกล้ๆ กัน เราเห็นหมอสั่งให้สาวประเภทสอง คนหนึ่งที่ศัลยกรรมหน้าอกมาแล้วถอดเสื้อ มองดูก็รู้ว่าหมอใช้ทัศนคติส่วนตัวพิจารณาให้เธอถอดเสื้อ ทั้งๆ ที่มองภายนอกก็รู้ว่าทำหน้าอกมาแล้ว”

..........

ในทางปฏิบัติกระทรวงกลาโหมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เปลี่ยนการระบุในใบ สด.43 กับกลุ่มหลากหลายทางเพศแล้ว โดยยกเลิกการใช้คำว่า ‘โรคจิต’ เปลี่ยนเป็น การใช้คำว่า ‘หน้าอกผิดรูป’ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศใช้เป็นกฎหมาย และยังมองหาคำที่จะมาใช้ระบุในใบ สด.43 ใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำที่สรุปมานั้นต้องเป็นคำที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาด้วย

….......

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK








กำลังโหลดความคิดเห็น