xs
xsm
sm
md
lg

ปิดไฟ 1 ชั่วโมง อีเวนต์ประจำปี หรือ ความหวังดีลดโลกร้อน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนกลับไปวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม ปี 2551 ที่ลานด้านหน้าศูนย์การค้าใหญ่ใจกลางเมือง ช่วงหัวค่ำวันนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ที่มีเยอะเป็นพิเศษกว่าช่วงเวลาเดียวกันของวันอื่นๆ

บูทกิจกรรมผุดขึ้นทั่วงาน แสงไฟดูขมุกขมัวกว่าทุกวัน แต่แม้แสงสว่างจะน้อยไปนิดก็ยังพอมองเห็นสาวๆ กลุ่มใหญ่ที่รุมล้อมขอลายเซ็นและถ่ายรูปกับนักร้องหนุ่มรูปหล่อที่มาร่วมงานได้ชัดถนัดตา

ก่อนเข็มนาฬิกาจะวิ่งเข้าสู่เวลา 20.00 น. พิธีกรชายหญิงบนเวทีชวนผู้ร่วมงานและผู้ชมทั่วประเทศ ร่วมนับถอยหลัง 9-8-7…

บรรดาผู้บริหารจากหลากองค์กรที่จับจองพื้นที่เต็มเวที ต่างผสมโรงนับเลขแข่งกับเสียงดนตรีประกอบชวนหนวกหูและแสงไฟหลากสีระยิบระยับราวงานมหรสพรื่นเริง
 
... 3-2-1 “ปิดครับ”

“ยอดเยี่ยมเลยค่ะ”

สิ้นเสียงนับเลขของพิธีกร พื้นที่รอบๆ บริเวณห้างปกคลุมด้วยความมืดมิด จอวีทีอาร์ฉายภาพให้เห็นความมืดมิดในท้องถนนและพื้นที่สำคัญๆ ของเมืองหลวง ซึ่งบริเวณเหล่านี้และพื้นที่หลักๆ ทั่วเมืองไทยถูกความมืดกินไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

รณรงค์ปิดไฟ...ใครปิด ใครเปิด?

จะผิดไหม ถ้าหลงคิดไปว่านี่คืองานอีเวนต์หรืองานเปิดตัวสินค้า? เพราะแสงสีเสียงสุดอลังการ และเซเลบริตีตบเท้าร่วมงานมากเสียขนาดนี้ ต้องเป็นอีเวนต์ใหญ่ยักษ์ระดับ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ของบริษัทอะไรสักอย่างแน่ๆ !!!

ก่อนจะเลยเถิดไปกว่านี้ แถลงไขให้รู้กันไปเลยละกันว่า ความตระการตาที่พร่ำพรรนามาข้างต้น คือสิ่งที่เกิดขึ้นในงาน ‘Earth Hour 2008’ หรือที่มีชื่อขลังๆ แสนสวยหรูว่า โครงการ ‘ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน’

กิจกรรมรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมงกำเนิดขึ้นในปี 2550 ที่ประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะลามสู่ประเทศไทยและทั่วโลกในปี 2551 ปีนี้กิจกรรมจะเกิดขึ้นวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม เวลา 20.30-21.30 น. โดยกรุงเทพมหานครตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะสามารถประหยัดไฟได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์

ผลสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวในปีที่ผ่านมาสร้างความชื่นบานได้ไม่น้อย เพราะนอกจากเมืองไทยแล้ว การให้ความร่วมมือปิดไฟ 1 ชั่วโมงของหลายเมืองใหญ่ใน 84 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมกิจกรรม ปรากฏว่าประหยัดไฟได้ 1,423 เมกะวัตต์ แถมลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 897 ตัน

ปีก่อนหน้านั้น กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงของ กทม. ที่ทำร่วมกับอีก 23 เมืองใหญ่ทั่วโลก อาทิ โคเปนเฮเกน เมลเบิร์น ซานฟรานซิสโก มอนทรีอัล ดับลิน สามารถประหยัดไฟได้ 1,384 เมกะวัตต์

กิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ขับเคลื่อนโดย กทม. เพียงผู้เดียว แต่มีโต้โผใหญ่คือ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WORLD WIDE FUND FOR NATURE -WWF (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า ระบบนิเวศวิทยา และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญในกิจกรรมการปิดไฟแต่ละครั้งที่ผ่านมา รวมถึงครั้งล่าสุด ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวและเห็นถึงความสำคัญของการประหยัดไฟ เนื่องจากในแต่ละปี ประชาชนคนไทยรวมถึงประชากรทั่วโลกต่างก็ใช้ไฟฟ้าอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางความเจริญทุกรูปแบบ

กิจกรรมคนดังยามดับไฟ

ในชีวิตปกติของเรา อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีตอนไหนเลยที่ไม่ได้พึ่งพิงไฟฟ้า แต่ถ้าหาก 1 ชั่วโมงที่เราจะไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วควรไปทำอะไรกันหนอ...อย่าบอกว่านอนเป็นอันขาด มันเพิ่งจะ 2 ทุ่มเองนะ! ลองไปดูตัวอย่างกิจกรรมยามดับไฟ 1 ชั่วโมงของคนดังกันดีกว่า

เริ่มที่ บอย โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลง

“ผมก็จะนั่งเล่านิทานให้ลูกฟัง อาจจะเป็นนิทานเรื่องที่น่าตื่นเต้นสักหน่อย เป็นเรื่องที่พูดถึงโลกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ลูกจะได้เห็นถึงประโยชน์ของการประหยัดไฟ ก่อนที่ไฟฟ้าจะไม่มีให้ใช้อีกต่อไป”

โอ้ว...แฟมิลี่แมนเต็มขั้นเลย ต่อกันที่นักแสดงหนุ่ม อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ถ้าอยู่ในพื้นที่เอาต์ดอร์อย่างทะเล เขาก็จะนั่งฟังเสียงคลื่นอยู่ใต้แสงจันทร์ แต่ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ไปไหน ก็อาจจะนั่งสมาธิ เพราะว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบ แต่ขอเป็นนอกบ้านอย่างในสนามหญ้า เพราะในบ้านคงจะร้อน

ผิดกับ โกโก้-นิรุณ ลิ้มสมวงศ์ ผู้จัดการนักแสดง โมเดลลิ่งชื่อดัง ที่จะเปลี่ยนช่วงมืดมิดเป็นช่วงเวลาแห่งความโรแมนติก

“ถ้าเกิดไฟดับ 1 ชั่วโมง ก็คงโทร.คุยกับแฟนแหละ หรือไม่ก็ไปอยู่กับเขา จะเป็นที่ไหนก็ได้ อาจจะเป็นที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ตากลมคุยกะหนุงกะหนิงกันไป หรือถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกันก็จะโทร.ไป แต่ถ้าอยู่ ก็อาจจะชวนกันออกกำลังก็ได้นะ (หัวเราะ)”
ไม่กล้าจี้ต่อว่า ออกกำลังน่ะหมายถึงทำอะไร!

พอได้ยินคำถาม มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับฯภาพยนตร์ ถึงกับเหวอ

“แหม มันเป็นคำถามที่... อืม ควรจะนั่งสมาธิเจริญภาวนากันไป หรือไม่ก็นอนกับแฟนไปเลย นอนหลับนะ ถ้าหลับไม่ลงก็คุยกัน เพราะส่วนมากถ้าทำงานหนักๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะอยู่ด้วยกัน ไม่มีเวลาให้กัน แต่ถ้าไฟดับนี่มันก็ทำงานไม่ได้อยู่แล้ว”

ปิดท้ายที่ โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ศิลปินหนุ่ม

“ง่ายสุดเลยนะ คือผมโชคดีที่มีกีตาร์อยู่ที่บ้าน ถ้าเกิดไฟดับ ผมก็จะคว้ากีตาร์มานั่งเล่นเบาๆ ที่ระเบียงหลังบ้าน เล่นไปร้องเพลงไปเบาๆ อาจจะจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง แต่ถ้าวันไหนมีแสงจันทร์ ก็อาจจะไม่จุดเทียนเลยก็ได้ ใช้แสงจากพระจันทร์แทน”

สร้างจิตสำนึกด้วยการปิดไฟ

แน่นอนว่า กิจกรรมของเหล่าคนดังในยามปิดไฟ1 ชั่วโมงชวนให้จักจี้ และได้เห็นรูปแบบการจัดงานที่ยิ่งใหญ่อลังการสวนทางกับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวและเห็นถึงความสำคัญของการประหยัดไฟ ก็ชวนตะขิดตะขวงใจไม่น้อยว่า หากตัดพิธีกรรมอันมากมายออกไป โดยเนื้อแท้แล้วรูปแบบการรณรงค์ให้ปิดไฟ 1 ชั่วโมง จะช่วยสร้างจิตสำนึกของคนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน?

การโหมประโคมรณรงค์เพียงชั่วข้ามคืนผ่านกิจกรรมในรูปแบบหวือหวาเรียกความสนใจนี้ ท้ายที่สุดแล้ว สามารถสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของคนทั่วไปได้จริงหรือ?

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว มองว่ากิจกรรมนี้เป็นความพยายามที่จะสาธิตให้เห็นรูปธรรมของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างง่ายๆ จากความร่วมมือของคนหมู่มาก แต่ถ้าหวังว่าตัวกิจกรรมเองเพียงลำพังจะสามารถสร้างความตระหนักให้คนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง ก็คงหวังไม่ได้เท่าไหร่

“ถ้ากิจกรรมนี้ทำควบคู่ไปกับมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ เช่น มาตรการจูงใจ มาตรการบังคับและนโยบายสนับสนุนต่างๆ ที่ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะนำพาสังคมสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่รัฐมีคอมมิตเมนต์ (Commitment - ความมุ่งมั่นผูกมัดให้สำเร็จแบบมีสติ) อย่างจริงจัง มันก็จะมีความหมายมากขึ้น แต่ถ้าทำเป็นแค่เทศกาลประจำปี มันก็จะเป็นเพียงงานพีอาร์ (ประชาสัมพันธ์) ที่ใช้เงินมากมายเท่านั้นเอง”

การพร้อมใจกันปิดไฟ 1 ชั่วโมงของคนทั้งประเทศคงไร้ความหมาย หากในปีหนึ่งๆ 365 วัน ทุกคนยังมีพฤติกรรมการใช้พลังงานที่ฟุ่มเฟือยอยู่อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

จะดีใจหรือเสียใจดี เมื่อได้รู้ข้อมูลว่า การร่วมใจกันปิดไฟ 1 ชั่วโมงของคนไทยทั่วประเทศในปี 2552 สามารถประหยัดไฟ 1,423 เมกะวัตต์ แต่ตัวเลขการใช้ไฟของห้างใหญ่ 3 แห่ง ที่นักชอปคุ้นเคย ทั้งสยามพารากอน มาบุญครอง และเซ็นทรัลชิดลม รวมกันอยู่ที่ 300,000 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าของแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดถึงกว่า 4 เท่า!

แถมข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวงทำให้หน้าชาไปเลยทีเดียว เพราะห้างฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแคมเปญดังกล่าว มีปริมาณการใช้ไฟมากกว่ากำลังการผลิตของเขื่อนอุบลรัตน์เกือบเท่าตัว!!!

ได้เห็นลักษณะการจัดงานที่เน้นความอลังการ แสงสีเสียงแบบเต็มพิกัด เพื่อดึงดูดคน ดร.สรณรัชฎ์ ส่ายหัว เพราะดูแล้วขัดกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ อย่างยิ่งยวด สะท้อนถึงความคิดความอ่านในการจัดงานที่ผิวเผิน ขณะเดียวกันได้แนะว่า หากต้องการพุ่งเป้าการรณรงค์ไปที่ชนชั้นกลางในเมือง ก็ต้องหาวิธีที่สื่อสารที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้

ไม่ผิดที่ องค์กรเอกชนระดับบิ๊กเนมจะกระโจนเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากองค์กรเงินหนาเหล่านี้อยากมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและจริงใจใสซื่อ ต้องดูแลนโยบายและยุทธศาสตร์ภาพรวมภายในองค์กรควบคู่กันไปด้วย เพื่อจะไม่เป็นที่ครหาว่า เข้าร่วมโครงการเพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ หรือสร้าง CSR (Corporate Social Responsibility) ในการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ฮิตขององค์กรธุรกิจยุคนี้

การจะสร้างจิตสำนึกของคนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดร.สรณรัชฎ์ มองว่าไม่ใช่กิจกรรมพีอาร์โดดๆ เพียงกิจกรรมเดียว ต้องเป็นแผนต่อเนื่องที่มีความสอดคล้องกับนโยบายหลัก เพราะไม่อย่างนั้นแล้วกิจกรรมอะไรก็เป็นได้แค่ของเล่นประดับรายงานประจำปีเท่านั้น

“เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมวางแผนและทำงานได้จริงๆ สิ ฟันธงเลยว่าเมืองไทยไม่สิ้นความคิดสร้างสรรค์”

.........

จริงอยู่ การปลุกจิตสำนึกรณรงค์ให้ผู้คนประหยัดพลังงานนั้น เป็นเรื่องดีที่น่าชื่นชม แต่การจุดกระแสอย่างสิ้นเปลืองเพียงปีละครั้ง อาจไม่ช่วยให้จิตสำนึกดังกล่าวหยั่งรากลงได้อย่างยาวนานและยั่งยืน ตราบที่คำว่าจิตสำนึก ยังเป็นเพียงวาทกรรมฉาบฉวย ที่ใครๆ ต่างก็หยิบมาสร้างประโยชน์ให้ตนเอง

……….

ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน ทำได้จริง?

สงสัยกันไหมว่า วิธีลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนและได้ผล (ที่เวิร์กกว่าการปิดไฟ 1 ชั่วโมง) ต้องทำอย่างไร...ฟังคำตอบจาก ดร.สรณรัชฎ์

“แน่นอนว่าปิดไฟแค่ 1 ชั่วโมง แล้วกลับบ้านไปขับรถมามิดไนต์ เซลส์ ตามเดิมมันไม่มีความหมายอะไรเลย วิธีการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะได้ผลยั่งยืนที่สุดต้องบูรณาการรอบด้านไปกับแผนพัฒนาที่ตั้งใจเดินทางอย่างรวดเร็วสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวจริงๆ

“ในเมืองหลวงต้องลดให้ความสำคัญกับรถยนต์ที่เป็นต้นเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ราวร้อยละ 40) ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก

“การใช้เครื่องปรับอากาศและใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ในอาคารก็ปรับได้มากด้วยการออกแบบและปรับปรุงอาคาร การพัฒนาพลังงานเองก็ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ได้มาก ด้วยการส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ลงไปถึงในระดับครัวเรือน ช่วยเหลือให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เป็นต้น

“ที่ลืมไม่ได้เลยคือการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรธรรมชาติอย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาวะสังคมและระบบนิเวศแล้ว ชีวิตในดินในเกษตรธรรมชาติยังสามารถดูดซับก๊าซมีเทนได้ด้วย

“ทั้งหมดนี้ เรามีความรู้ มีเทคโนโลยี ทำได้หมด แต่ภาครัฐขาดเจตจำนงทางการเมืองในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งๆ ที่มันเป็นกุญแจทางออกสำคัญที่จะช่วยให้สังคมเราคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

.........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
 
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น