xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อกนกกรงหัวจุก อยู่กรงเพื่อสร้างเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ทราบกันดีว่า นกปรอดหัวโขน, นกกรงหัวจุก หรือที่เรียกกันว่า นกปิ๊ดจะลิว ในทางภาคเหนือนั้น เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนก ที่ห้ามจับ ห้ามซื้อ ห้ามขาย แต่ในขณะเดียวกัน เจ้านกชนิดนี้กลับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่คนกลุ่มหนึ่งอย่างมหาศาล เพราะในภาคใต้นิยมการแข่งขันนกกรงหัวจุกเป็นอย่างมาก และความนิยมนี้ก็กำลังแพร่กระจายไปยังทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

ส่งผลให้บรรดากลุ่มคนผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปลดชื่อนกชนิดนี้ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง

แน่นอนว่าข้อเรียกร้องในครั้งนี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝั่งที่สนับสนุนนั้นก็ยกเหตุผลด้านเศรษฐกิจมาเป็นประเด็นหลัก ส่วนฝั่งที่คัดค้านก็มีเหตุผลที่เรียบง่าย แต่เป็นเรื่องจริงว่า ไม่มีสัตว์ตัวใดเกิดมาเพื่ออยู่ในกรง!!!

นกปรอดหัวโขน, นกกรงหัวจุก, นกปิ๊ดจะลิว

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus Jocosus มีลักษณะเด่นคือที่แก้ม คอ และหน้าอกจะมีสีขาวและสีแดงเป็นเส้นอยู่ข้างหูลงมาถึงหน้าอก ส่วนอื่นทั่วทั้งตัวจะมีสีดำน้ำตาล ขนส่วนหัวจะรวมกันเป็นเหมือนพู่ตั้งอยู่บนหัวสูงขึ้นไปเหมือนหัวโขน ใต้ท้องมีขนสีขาว เป็นนกในวงศ์นกปรอด (Pycnonotidac) มีอยู่ด้วยกัน 109 ชนิดทั่วโลก แต่ในไทยพบได้ 36 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนกที่ผู้ครอบครองต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง แต่ในปัจจุบันอาจจะมีการถอดถอนชื่อของนกชนิดนี้ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง

ฝ่ายสนับสนุน

กิตติพงศ์ ไทยสม กรรมการสมาคมนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย

เพราะปัจจุบันนกกรงหัวจุกไม่ได้บูมในจังหวัดภาคใต้เท่านั้น แต่แพร่หลายไปในแทบทุกพื้นที่ของไทย คนในภาคเหนือ กลาง รวมทั้งในกรุงเทพฯ ต่างนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุก และจากที่ในอดีตเคยเปิดสนามแข่งขันนกกรงหัวจุกเฉพาะวันอาทิตย์ ตอนนี้กิจการรุ่งเรือง มีผู้สนใจนำนกเข้าแข่งและมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก จึงมีการเปิดเพิ่มในวันเสาร์ แถมเงินค่าสมัครแข่งขันนกกรงหัวจุกในรายการใหญ่ๆ ก็ไม่ใช่น้อยๆ รวมทั้งหมดแล้วตกครั้งละเป็นล้านๆ บาทเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ กิตติพงศ์ ไทยสม กรรมการสมาคมนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย และเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก จึงสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูให้ปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

เนื่องจากเจ้านกน้อยสีสวยเสียงเพราะชนิดนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล

“ลองไปดูการแข่งขันนกกรงหัวจุกสิ จะเห็นว่าคึกคักมากขนาดไหน เม็ดเงินหมุนเวียนก็ไม่ใช่น้อยๆ พ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่มาขายของกันเต็มไปหมด การทำกรงนกกลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนไปเลยนะ จากเมื่อก่อนที่ทำกรงขนาดเล็กราคาไม่แพง เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาทำกรงใหญ่ราคาแพงๆ รวมไปถึงกล้วย บวบ หรือผลไม้ที่ใช้เลี้ยงนกก็มีคนปลูกเพื่อนำมาขายให้คนเลี้ยงนกมากขึ้น คนเพาะหนอนสำหรับเลี้ยงนกก็มีรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย”

กิตติพงศ์ร่ายเพิ่มเติมถึงข้อดีของการปลดนกกรงหัวจุกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองว่า จะทำให้จำนวนคนเลี้ยงนกกรงหัวจุกมีมากขึ้น ไม่เฉพาะเซียนนกวัยผู้ใหญ่ เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็หันมาเล่นนกกรงหัวจุกกันมากขึ้นผิดหูผิดตา โดยมีพ่อแม่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน

กระทั่งมันอาจกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะตอนนี้คนสิงคโปร์ก็หันมาเล่นนกกรงหัวจุกจากประเทศไทย

“หากกรมป่าไม้สนับสนุนให้คนเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันเยอะๆ เราสามารถเพาะพันธุ์ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ไม่ต่างจากนกประเภทอื่น”

จากประสบการณ์ตรงของเซียนนกอย่างกิตติพงศ์ เขาให้ความเชื่อมั่นว่าการเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกนั้นไม่ยาก นอกจากนั้น หากจะขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกก็สามารถสร้างรายได้ให้รัฐได้ด้วย

ส่วนการคัดค้านว่าหากนำนกกรงหัวจุกมาเพาะเลี้ยงแล้วอาจทำให้สูญพันธุ์นั้น กิตติพงศ์ไขข้อข้องใจว่า กรณีเลี้ยงเพื่อการแข่งขัน ถ้านกตัวไหนไม่เข้าท่า ร้องไม่เก่ง เสียงไม่ไพเราะ รูปร่างไม่สวย มีจุกหรือหมึกรอบคอไม่สวย ก็จะปล่อยสู่ธรรมชาติ และถ้านกตัวไหนที่แข่งแพ้สามารถนำไปพัฒนาเพื่อเตรียมแข่งใหม่ในครั้งต่อไป ไม่ใช่ทำแบบปลากัดที่แข่งแพ้แล้วนำไปทิ้งขว้าง ดังนั้น โอกาสที่นกจะสูญพันธุ์จึงมีค่าเท่ากับศูนย์

ภายหลังสมาคมนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทยและกลุ่มคนเลี้ยงนกกรงหัวจุกหลายองค์กรได้รวมตัวกันไปที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ปลดนกกรงหัวจุกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

29 มีนาคม 2553 ที่จะถึงนี้ กิตติพงศ์และผู้ร่วมอุดมการณ์จะสานต่อภารกิจด้วยการเข้าเจรจากับคณะกรรมการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนวันถัดไปเขาเตรียมไปถกเรื่องนี้กับกรมป่าไม้

ฝ่ายคัดค้าน

เวทิดา พงษ์พานิช หนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการล่ารายชื่อคัดค้านการปลดปรอดหัวโขนออกจากรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง

“จริงๆ แล้วชื่อทั่วไปของนกชนิดนี้ก็คือนกปรอดหัวโขน ไม่อยากให้เรียกว่านกกรงหัวจุก เพราะว่าไม่มีนกชนิดไหนหรอกที่มันเกิดมาเพื่ออยู่ในกรง ซึ่งอันนี้เป็นชื่อที่คนนิยมเลี้ยงเขาเรียกกัน แต่ทางภาคเหนือเขาจะเรียกว่า นกปิ๊ดจะลิว ตามเสียงร้องของมัน”

“โดยทั่วไปการเลี้ยงสัตว์ที่มีรายชื่อเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมันผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการนิรโทษกรรมอยู่ 2 ครั้ง (ปี 2535 และปี 2546) คือคนที่จับนกป่ามาเลี้ยงสามารถนำเอานกที่มีอยู่ไปขึ้นทะเบียนเป็นนกที่ถูกต้องได้ มีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการซื้อขายนกชนิดนี้กันอยู่ ซึ่งเป็นนกที่ผิดกฎหมายทั้งนั้น จับมาจากธรรมชาติทั้งหมด ตำรวจของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ก็พยายามไล่จับผู้ค้า

“นกที่ถูกกฎหมายจะมีแค่นกที่มีใบรับรองที่ได้จากการนำนกมาขึ้นทะเบียนในอดีตเท่านั้น แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่ามันชี้ลงไปชัดๆ ไม่ได้ว่าตัวไหนผิดกฎหมาย ตัวไหนถูกกฎหมาย ถึงแม้ว่านกที่มีทะเบียนจะตายไปแล้ว แต่ใบอนุญาตยังอยู่ ทีนี้ก็จะมีการ 'สวมตอ' กันเกิดขึ้น คือเอาทะเบียนที่มีอยู่มาสวมกับนกป่าที่จับมาและก็จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”

แต่กระนั้น กฎหมายก็ยังเปิดช่องว่างให้คนเลี้ยงนกอยู่บ้าง ทว่า มันยังไม่กว้างพอที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจการซื้อขายชีวิตของเหล่าผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขน

“การที่นกถูกกฎหมายออกลูกออกหลานมาก็จะต้องมีการนำไปขึ้นทะเบียน ซึ่งมันเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นช่องทางที่กฎหมายเปิดให้ แต่ส่วนใหญ่เขาจะไม่ทำกัน เพราะนกป่ายังจับมาได้อยู่ พวกเขาจึงอยากให้ถอนชื่อนกปรอดหัวโขนออกจากรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองมากกว่า เขาอยากให้มันซื้อง่ายขายคล่องเหมือนซื้อหมูซื้อไก่

“สถานการณ์ของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ ทางวิชาการถือว่าวิกฤต เพราะทางภาคใต้นั้นไม่พบเห็นในธรรมชาติทั่วไปแล้ว ถ้ามีก็น้อยมาก ทางภาคกลางก็น้อยมาก ส่วนในภาคเหนือก็มีการลักลอบจับกันเพื่อนำไปขายทางภาคใต้ มีรถขนผักจากภาคเหนือที่ซ่อนนกเอาไว้ ลงไปส่งที่ชุมพรทุกวัน แต่ทางภาคใต้เขาไม่นิยมนกจากภาคเหนือสักเท่าไหร่ เขาว่าเสียงมันไม่ดี แต่อาจจะมีการย้อมแมวขายกันเกิดขึ้น ขายกันตั้งแต่หลักหลายร้อยไปจนถึงหลักล้านสำหรับนกที่เสียงดีมากๆ”

ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิชาการมากมายบอกว่านกปรอดหัวโขนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการที่จะปลดนกปรอดหัวโขนออกจากรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองยังมีอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการที่มีมากของตลาดนั่นเอง ในข้อนี้ เวทิดาให้ความเห็นว่า อันที่จริงแล้วมนุษย์ไม่น่าไปหากินกับการเบียดเบียนนก อาชีพสุจริตนั้นมีอีกมากมาย

“ทางฝั่งคนที่เขาเลี้ยง เขาก็มีความคิดแบ่งออกเป็นสองแนวทาง กลุ่มแรกเขาก็พยายามที่จะเพาะนกเอง เพราะว่าเขาอยากให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดียิ่งๆ ขึ้น เหมือนกับวงการนกเขาชวา ส่วนอีกพวกก็คือกลุ่มที่นิยมนกป่า ที่ชอบไปดักนก ไปหาซื้อนกตามต่างจังหวัดก็มีซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า

“และถ้าหากปลดชื่อของนกปรอดหัวโขนออกจากรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองจริง การจับนกก็จะไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และในไม่นานนกในธรรมชาติจะต้องถูกจับไปจนหมดแน่นอน ซึ่งลำพังมันก็อยู่ในธรรมชาติได้ยากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะไปปลดมันออกจากรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะตราบใดที่มันยังถูกคุกคามอยู่ ก็น่าจะต้องมีมาตรการที่ปกป้องมันไว้”
..........

สุนทรียศาสตร์ของเสียงนก

อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก ได้รับความนิยมมากในภาคใต้ นั่นก็เพราะว่าคนที่นั่นนิยมเลี้ยงนกชนิดนี้ไว้ใช้ในการประชันขันแข่งเสียงร้องของมัน ซึ่งคนทั่วไปคงจะสงสัยว่าไอ้การแข่งขันที่ว่านี้มันมีหลักเกณฑ์อย่างไร

บังเลาะ-ประยูร หีมงอย ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกที่ใช้ในการแข่งขันอธิบายถึงการแข่งว่า หลักๆ แล้วจะมีการแข่งอยู่ 2 ประเภท คือแบบประชันความสมบูรณ์ของเสียงหรือ 'ความอึด' ส่วนอีกประเภทก็คือ 'เสียงทอง' ที่ประชันความก้องกังวานและความไพเราะเสนาะโสต สำหรับประเภทแข่งความอึดนั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือแบบ '4 ยก 12 ดอก' และแบบ 'นับรวม'

“แบบแรกจะแข่งกัน 4 ยก โดยแต่ละยก นกที่เข้าแข่งขันต้องขันให้ได้ 3 พยางค์ ถ้าขันครบทั้ง 3 พยางค์จึงจะนับเป็น 1 ดอก ถ้าไม่ครบ 3 พยางค์ก็จะไม่นับว่าเป็น 1 ดอก สำหรับ 'พยางค์' ในที่นี้ บังเลาะบอกว่ามันคือเสียงของนกกรงหัวจุกที่คนเลี้ยงนกจะรู้กันว่ามันเป็นจังหวะและโทนเสียงที่แตกต่าง ซึ่งถ้าแข่งครบทั้ง 4 ยก นกตัวไหนขันไม่ครบ 12 ดอก ก็จะถูกคัดออกไปเรื่อยๆ”

ส่วนแบบนับรวม บังเลาะขยายความว่า หากยกแรกนกขันได้ถึง 5 ดอก แล้วยกต่อไปขันได้ 2 ดอกก็ไม่เป็นไร ถ้าอีก 2 ยกที่เหลือเมื่อนำมารวมกันทั้ง 4 ยกแล้วนับรวมได้ 12 ดอกขึ้นไป ก็ถือว่าผ่านเข้ารอบ

“ส่วนประเภทเสียงทอง กรรมการจะฟังน้ำเสียงของนก ว่าเสียงร้องก้อง กังวาน และเสียงใหญ่ไหม นอกจากนั้นก็จะดูลีลาและสีสันของนกด้วย คือถ้าร้องดี ทั้งเสียงก้อง ใหญ่ ร้องได้ยาว แล้วก็มีลีลา ร้องไปด้วยกระโดดไปด้วย โผนจับกิ่งไม้ในกรงด้วยก็จะยิ่งได้คะแนนสูงกว่านกที่ร้องดี แต่เกาะขอนไม้อยู่นิ่งๆ”

แต่ไม่ว่าจะแข่งความอึดหรือประชันเสียงทอง อุปสรรคที่นกแต่ละตัวต้องผ่านให้ได้ก็คือ 'ความนิ่ง' ต่อสภาพแวดล้อมที่อึกทึกครึกโครม เพราะในสนามจะดังก้องไปด้วยเสียงจากบรรดาเจ้าของนกและผู้ชมที่ทั้งโห่ เชียร์ ตะโกนปลุกขวัญและข่มขวัญนกของคู่แข่ง ถ้านกตัวไหนตื่นสนาม ร้องไม่ออกก็ย่อมพ่ายแพ้

..........

เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : ทีมภาพ Click





กำลังโหลดความคิดเห็น