แม้ว่าโลกจะยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ยังไม่ถึง 1 รอบดี แต่สังคมไทยกลับต้องกลับมาตกอยู่ในสภาวะหวาดผวาอีกครั้ง เพราะเหล่าคนเสื้อแดงได้ประกาศการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 14 มีนาคม 2553 โดยไม่มีกำหนดเลิก และจะเริ่มเคลื่อนพลจากต่างจังหวัดเข้ากรุงในวันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นไป
ซึ่งในวันที่ 12 มีนาคม ที่กรุงเทพมหานครจะมีการชุมนุมกันใน 10 จุดใหญ่ๆ ดังนี้คือ บริเวณพระบรมรูปพระเจ้าตากสินมหาราช, สี่แยกหลักสี่, บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี, สน.ทุ่งสองห้อง, สี่แยกบางนา, สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง, หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี, บริเวณคลอง 4 อ.ธัญบุรี, บริเวณคลอง 4 อ.ลำลูกกา และที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการก่อนจะเดินมารวมกันบริเวณสนามหลวง, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 14 มีนาคม
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการเมืองแล้ว แน่นอนว่า ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับบริเวณของการชุมนุมหรือชุมชนที่เป็นเส้นทางผ่าน ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ถ้าหากเราไม่ขี้ลืมจนเกินไปนักก็คงจะจำกันได้ว่า ในการชุมนุมของเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนปี 2552 นั้น เกิดอะไรขึ้นกับชุมชนต่างๆ บ้างที่ม็อบเสื้อแดงผ่านทาง มาปีนี้เหตุการณ์เดิมๆ เหมือนจะวนมาอีกครั้ง
แต่สิ่งที่แตกต่างไปก็คือ หลายๆ แห่งล้วนมีประสบการณ์จากครั้งก่อน ดังนั้นในแต่ละชุมชนย่อมต้องมีวิธีการรับมือเตรียมไว้อย่างแน่นอน ลงมือไปสำรวจกันดีกว่าว่าแต่ละแห่งมีการเตรียมความพร้อมอย่างไรไว้บ้าง
เจอฤทธิ์เดชมาแล้ว
- เพชรบุรีซอย 7 (ซอยสุเหร่า)
ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ชุมชนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นสมรภูมิก็คือ เพชรบุรีซอย 7 ซึ่งส่วนใหญ่คนในชุมชนเป็นพี่น้องชาวมุสลิม และเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้น ก็กลายเป็นภาพประทับที่ทำให้ทุกคนหวาดกลัวมาจนวันนี้
“มีทั้งของทั้งสถานที่โดนทำลาย มียิงกัน มันเป็นความพินาศ มาคราวนี้เราก็ได้แต่คอยเฝ้าระวัง เพราะคนในชุมชนอย่างเราๆ จะไปสู้ใครเขาได้ ไม่มีใครอยากจะให้เกิดการปะทะหรือความรุนแรงหรอก แต่หลักๆ เลยก็กลัวเรื่องของไฟไหม้เป็นที่สุด ทุกวันนี้ก็มีการซ้อมดับเพลิงกันอยู่”
ผู้ใหญ่คนหนึ่งในชุมชนซอยสุเหร่า ที่ขอสงวนนามจริงเพราะเกรงกลัวอิทธิพลมืด เล่าให้เราฟังถึงการเตรียมพร้อมของชุมชน
“นอกจากนั้นยังมีการจัดเวรยามกันเอง และล่าสุดก็มีกล้องวงจรปิดมาติดอยู่ที่หน้าปากซอยเพื่อเป็นการเฝ้าระวังอีกทาง แต่สิ่งที่เราอยากจะให้มีก็คือการเข้ามาดูแลของภาครัฐในวันนั้น”
- นางเลิ้ง
จากการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้ว ชุมชนหนึ่งที่ดูจะสูญเสียมากสุด เห็นจะไม่พ้นชุมชนในย่านนางเลิ้งที่ต้องสูญเสียสมาชิกในชุมชนซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ถึง 2 คน
จากการพูดคุยกับ สุวัน แววพลายงาม ประธานชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) ทำให้ทราบว่าชุมชนทั้ง 3 ชุมชนในถนนนางเลิ้งเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้เตรียมกลยุทธ์ในการรับมือเอาไว้บ้างแล้ว
“การที่เสื้อแดงบุกคราวที่แล้ว จริงๆ ก็มีผลดีเหมือนกันนะ มันทำให้ชาวชุมชนเราเข้มแข็งมากขึ้น เพราะทุกคนจะรู้สึกว่ามีอะไรก็ต้องช่วยกัน ผลกระทบก็มีอยู่แล้ว แต่หากถามถึงวิธีเตรียมตัวบางเรื่องก็เป็นเรื่องลับ บอกไม่ได้ (หัวเราะ) ซึ่งราก็พยายามทำให้รัดกุมมากที่สุด คือมีมาตรการต่างๆ มากขึ้น โดยคนในชุมชนเราอาจจะเงียบกว่าเดิม
“ครั้งนี้เราต้องรัดกุมมากขึ้น เวลาใครเข้ามาเราต้องรู้หมดว่า เป็นสีเหลือง สีแดง หรือสีน้ำเงิน เพราะครั้งที่แล้วเราไม่รู้ไง ไม่คิดว่าจะเกิด เลยไม่ค่อยได้เตรียมตัว ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญ เพราะเราตายฟรี ดังนั้นเราถึงต้องเตรียมตัวให้มากขึ้น หากมีใครเจ็บ ก็ต้องรู้ว่ามาจากฝ่ายไหน และเรื่องที่เราห่วงที่สุด คือเรื่องไฟ เพราะในชุมชนเราเป็นบ้านไม้เก่า และซอยยังเล็ก ถ้าไฟไหม้จะแก้ไขลำบาก ฉะนั้นเราจึงต้องดูทุกอย่างเพื่อไม่ให้มันเกิดปัญหาขึ้น”
- ดินแดง
เช้าตรู่วันที่ 13 เมษายนปีที่แล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงนำรสแก๊สคันมหึมามาจอดตระหง่านอยู่หน้าแฟลต 3 โดยพยายามเปิดปิดวาล์วแก๊ส พร้อมกับนำรถประจำทางมาจอดใต้สะพานลอยใกล้กับรถแก๊ส โดยมีเศษผ้าซุกไว้ในถังน้ำมันของรถคันนั้นเพื่อเตรียมจุดไฟ แล้วก็ลงท้ายด้วยการกระทบกระทั่งกันระหว่าง 2 ฝ่าย จนท้ายที่สุดทหารเข้ามาสลายการชุมนุม ไม่มีใครรู้ว่าเช้าวันที่ 12-14 มีนาคมนี้ จะมีรถแก๊สมาจอดที่หน้าแฟลตอีกหรือไม่
หลังเหตุการณ์วันนั้น ร่องรอยความบอบช้ำหนึ่งที่ยากจะเยียวยาให้กลับมาเหมือนเดิมคือ คนในชุมชนที่เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน พูนผล สังข์สูงเนิน ประธานคณะกรรมการชุมชนเคหะแฟลตดินแดง 1 (แฟลต 1-20) กล่าวถึงความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นภายในชุมชนหลังจากเหตุการณ์เมื่อ 13 เมษายน 2552
และหวังว่าวันที่ 12-14 มีนาคมนี้ เหตุการณ์คงไม่เลวร้ายเหมือนคราวก่อน ซึ่งคนในชุมชนดินแดงก็ฝากความหวังไว้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่จะควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะชาวชุมชนดินแดงไม่ได้เตรียมแผนการรับมือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไว้แม้แต่น้อย
“วันนั้นคงทำมาหากินและใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเช่นทุกวัน หากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น ด้วยความรักและความสามัคคีของคนในชุมชน เชื่อว่าจะทำให้เกิดการแสดงพลังเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ความไม่สงบเหล่านั้นแน่” พูนผลกล่าวทิ้งท้าย
- โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลราชวิถี ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของเสื้อแดงเมื่อสงกรานต์ปี 2552 มาในปีนี้เราจึงสอบถามไปยังนายแพทย์ อุดม เชาวรินทร์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ถึงแนวทางในการป้องกันความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุม
“คนไข้และประชาชนมันเยอะ การเข้าออกของรถพยาบาลในคราวนั้นก็ขลุกขลักนิดหน่อย แล้วก็ผู้บาดเจ็บเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่มาก แต่ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม เมื่อมีอาการบาดเจ็บเข้ามา เราก็ต้องทำการรักษา
“มีการเตรียมการตั้งแต่ระดับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข มีการตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์สาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น ตั้งอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนทางโรงพยาบาลของเราก็มีการเตรียมการในบางเรื่อง อย่างเช่น การเตรียมความพร้อมตั้งรับสถานการณ์รุนแรง ทั้งด้านสถานที่และบุคลากร และอาจจะมีการปิดประตูในจุดที่ไม่จำเป็น”
- ย่านสยามสแควร์
ไม่ใช่แต่ชุมชนคนเดินดินเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการป่วนของเสื้อแดง บรรดาห้างร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน วิชา หาญอมรรุ่งเรือง ผู้บริหารอาวุโสสายปฏิบัติการ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ให้ข้อมูลว่า ทางศูนย์การค้ามีการเตรียมพร้อมอย่างสูงสุดในเรื่องกำลังคน 100 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มอีก 100 เปอร์เซ็นต์ในจุดพื้นที่เสี่ยง มีการเปิดไฟรอบอาคาร มีการตรวจสอบที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นจากเดิม เพิ่มจุดตรวจรอบอาคาร เตรียมพร้อมเรื่องน้ำ เรื่องไฟ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
“ทางเรามีการสั่งการไปยังผู้บริหารระดับผู้จัดการขึ้นไป ห้ามหยุดงาน ต้องสแตนด์บายในพื้นที่ห้าง มีการประสานงานกับหน่วยข่าวกรองตลอดเวลา เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ให้ทันท่วงที มีแผนการอพยพคนหากเกิดการจลาจลขึ้นจริงๆ”
ซึ่งมาตรการนี้ รวมไปถึงอาคารสยามเซ็นเตอร์ และอาคารสยามดิสคัฟเวอรี่ มีนโยบายเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยของคนในพื้นที่มากที่สุด ถ้าเกิดสัญญาณว่าไม่ปลอดภัยขึ้นมาทางศูนย์การค้าก็จะมีขั้นตอนในการรับมือที่ทันท่วงทีและพร้อมเพรียง
“เราหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีจุดสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่แน่นหนา แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นที่มีอันตรายต่อคนในพื้นที่ เราก็ต้องสั่งปิดห้างเหมือนกัน ซึ่งต้องอิงสถานการณ์วันนั้นด้วย”
ไม่เคยเจอก็ต้องเจอ
- วงเวียนใหญ่
ในการเริ่มชุมนุมวันที่ 12 มีนาคม วงเวียนใหญ่ได้ถูกคนเสื้อแดงวางเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรวมคนแห่งหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะกล่าวได้ว่า ก่อนหน้านี้บรรดาประชาชนในฝั่งธนฯ นั้น มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องม๊อบน้อยมาก แต่วันที่ 12 นี้คนในพื้นที่จะได้พบกับประสบการณ์นี้แบบเต็มๆ
“ในครั้งก่อน (เดือนเมษาฯ 2552) ก็ติดตามข่าวคราวอยู่ตลอด เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะมาถึงบ้านเราเมื่อไหร่ แต่ในวันที่ 12 มีนาฯ นี้เขามาแน่ ทำให้เราต้องเตรียมตัว เพราะเราก็ห่วงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเหมือนกัน”
เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากวงเวียนใหญ่ไม่กี่ร้อยเมตรเล่าให้เราฟังถึงการ เตรียมตัว
“ในเรื่องการค้าขายก็ต้องประเมินสถานการณ์วันต่อวัน ตอนนี้เราก็คุยกันว่าเราคงไม่ปิดร้าน แต่ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นก็คงจะต้องปิดแน่นอน เพราะมันไม่คุ้มกัน คนแถวนี้ก็มีการคุยกันเรื่องนี้บ้าง แต่เนื่องจากแถวนี้มันเป็นอาคารร้านค้า เลยไม่มีรูปแบบของชุมชนที่ชัดเจน การกำหนดนโยบายรับมือก็เลยเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ”
- บางลำพู
แม้ว่าบางลำพูจะเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของหนังสือพิมพ์และทีวีคู่อาฆาต (ในความรู้สึก) ของเหล่าคนรัก (เงิน?) ทักษิณ ก็ตาม และที่ผ่านมา ก็เจอประสบการณ์ป่วนกวนเมืองมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่กับคราวนี้ อาจจะไม่เหมือนกับที่ผ่านๆ มา
“ผมคิดว่าวันนั้นคงไม่มีเสื้อแดงมาหรอก เพราะที่ผ่านมาก็มีแต่ข่าวมาตลอด แต่ก็ไม่เห็นจะมาจริงจังสักที คือเราก็หวั่นเกรงอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้กลัวอะไรมาก เพราะหากมาจริง คนแถวนี้มาช่วยกันหมดแหละ ทั้งชุมชนวัดบวรฯ ชุมชนจักรพงษ์ เนื่องจากชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ คนรู้จักกันหมด ดังนั้นทุกชุมชนจึงจับมือกันหมด”
ยงยุทธ สืบนุการณ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนนี้มาเนิ่นนานแสดงความเห็น
“เรื่องที่เราห่วงมากที่สุดก็คือ เรื่องไฟ ซึ่งอาจเกิดการวางเพลิง เพราะบ้านส่วนใหญ่เป็นไม้ ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ก็คงจะเป็นการหาอาวุธที่หาได้เพื่อป้องกันตัวเอง แต่ทั้งนี้เราก็ถือหลักว่า คุณจะเชื่อยังไงก็ช่าง แต่อย่าทำให้ชุมชนเดือดร้อน คือหากมาจริง เราก็พร้อมเอากลับได้ทันที เพราะเราตั้งหลักเอาไว้เสมอ อย่างช่วงที่พวกเสื้อแดงมาชุมนุมที่สนามหลวง เราก็มีมอเตอร์ไซค์ขี่ไปดู หรือไม่ก็อาศัยพวกแพทย์อาสาช่วยวิ่งแล้ววอบอกกัน”
- บางนา
บางนาก็ถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์หนึ่งที่กลุ่มเสื้อแดงเลือกใช้ในครั้งนี้ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ2 ปีที่แล้ว ทุกคนคงจำกันได้กรณีที่ม็อบรถอีแต๋นนำกำลังมาบุกล้อมตึกเนชั่นไว้จนพนักงานในตึกไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหนได้ ซึ่งในครั้งนี้ก็มีข่าวแว่วๆ มาอีกครั้งว่า พลพรรคเสื้อแดงก็เตรียมจะไปเยี่ยมเยียนจุดเก่าที่เคยยืนอีกรอบ แต่กระนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า คนในชุมชนแถวบางนา ยังไม่มีโอกาสรับมือกับม็อบเต็มๆ เสียที
ผกาวดี บุญทวี ประชาชนที่อยู่คอนโดฯ ในซอยบางนา-ตราด 54 ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับอาคารเนชั่นทาวเวอร์พอดิบพอดี เล่าว่า ในช่วงที่มีเหตุการณ์ปิดล้อมตึกก็อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นเช่นกัน แต่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบสักเท่าใด ยังสัญจรไปมาได้บ้าง แม้จะไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าใดนัก เพราะคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่หน้าตึกเสียมากกว่า ขณะที่บนผิวถนนบางนา-ตราด และพื้นที่โดยรอบนั้นแทบไม่มีคนเลย
“ครั้งนั้นเราไม่ค่อยกลัวเท่าใด แต่ก็ไม่อยากยุ่ง ก็เลยอยู่แต่ในบ้าน (หัวเราะ) เพราะจริงๆ โอกาสเสี่ยงมันก็มีเหมือนกันใช่ไหม ส่วนครั้งนี้ก็น่าจะเหมือนเดิม ก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก แล้วโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าคนเสื้อแดงคงไม่เข้ามาตรงนี้แล้วมั้ง”
ถ้าสิ่งที่ผกาวดีคิดไว้มันถูกต้องก็ดีไป แต่ถ้าไม่ใช่ก็ยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
..........
สุดท้ายแล้ว คงไม่มีใครหน้าไหนอยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น แต่ถ้าหากต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาสิ่งใดได้แม้แต่อย่างเดียว การเตรียมพร้อมรับมือจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด แม้ว่าการเตรียมพร้อมเหล่านั้นมันจะช่วยเราเอาไว้ได้หรือไม่ก็ตาม
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK