xs
xsm
sm
md
lg

จีที 200...การทดสอบที่ถูกเซ็นเซอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     นับแต่ช่วงเช้าของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จวบจนดึกดื่น อาคาร NECTEC อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย คลาคล่ำไปด้วยสื่อมวลชนไทยแทบทุกสำนักที่ปักหลักรอฟังการแถลงข่าว และเฝ้าสังเกตการณ์การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ที่มีขึ้น ณ บริเวณบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งอยู่เยื้องจากอาคารเนคเทคไปไม่กี่ร้อยเมตร ส่งผลให้ตลอดช่วงเย็นไปจนถึงตอนค่ำของคืนวาเลนไทน์จวบจนตลอดทั้งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ตามหน้าจอโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์เต็มไปด้วยการรายงานข่าวการทดสอบสมรรถนะของเจ้าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเจ้าปัญหา

     ไม่ว่าจะเป็น หลักเกณฑ์ปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆ ของการซ่อนและหาวัตถุระเบิด ภาพห้องโถง ภาพห้องเก็บตัวฝ่ายค้นหาและฝ่ายซ่อนวัตถุระเบิด รวมถึงความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการทดสอบ ทั้งหลายทั้งปวงถูกนำเสนอผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

     แต่นอกเหนือจากภาพที่นำเสนอต่อผู้ชมทั่วประเทศ รวมถึงการแถลงข่าวจากคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องที่ออกมายืนยันว่าจีที 200 แม่นยำถึง 90 เปอร์เซ็นต์นั้น แท้ที่จริง ยังมีภาพบางภาพ ประเด็นสำคัญบางประการ และบรรยากาศที่น่าสนใจ ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังการทดสอบในครั้งนี้ด้วย

     ภาพเหล่านั้นคืออะไร? เราอาสาพาคุณไปร่วมสังเกตการณ์การทดสอบแบบห่างๆ เพราะผู้ทำการทดสอบไม่ยอมให้สื่อใดๆ สังเกตการณ์แบบใกล้ชิด ด้วยข้ออ้างสารพัด

ลำดับภาพ การทดสอบ จีที 200 ณ บ้านวิทยาศาสตร์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553

 
     10.10 น.รถที่บรรทุกคณะกรรมการทดสอบ เริ่มเคลื่อนเข้ามาในบริเวณบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จากนั้นประมาณ 10 นาที ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำคณะผู้สื่อข่าวมาถึงบริเวณด้านหน้าอาคาร โดยห้ามมิให้ผู้สื่อข่าวและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปภายในบริเวณอาคารเด็ดขาด

10.25 น. ดร.คุณหญิง กัลยา ตอบคำถามและอธิบายผู้สื่อข่าวถึงความเคร่งครัดของการทดสอบ 'ประสิทธิภาพ จีที 200'

10.30 น. ดร.คุณหญิง กัลยา ตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงสาเหตุที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพและสังเกตการณ์การทดสอบประสิทธิภาพ จีที 200

     “ที่ไม่ให้เข้าก็เพราะมันจะสร้างสิ่งปนเปื้อน ทำให้ไม่เสถียร ทั้งอุณหภูมิ ทั้งความชื้น ถ้าคนเข้าไปรุมเราก็รู้สึกร้อน ถ้าคนหายใจรดกัน มันก็ทำให้ห้องทดสอบ มีสิ่งปนเปื้อน คุณมาจากบ้าน มีฝุ่นติดรองเท้า มีสิ่งปนเปื้อนเยอะ ดังนั้น เราก็ขอความเห็นใจ

     “สังคมต้องเชื่อมั่นในกระบวนการที่ทุกฝ่ายเห็นชอบด้วยกัน ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ไม่ว่ามาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ทางสถิติ ทางมาตรวิทยา มีผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงมีผู้ตรวจการแผ่นดินมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐมาเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย สังคมก็ต้องเชื่อมั่นในพวกเราว่าโปร่งใส”

13.15น. ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค ในฐานะโฆษกคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 แถลงความคืบหน้าการทดสอบ ณ บริเวณห้องโถงกลางของอาคารเนคเทค

     “ตอนนี้ ทางคณะผู้ทดสอบ ได้ทำการทดสอบไปแล้ว 5 รอบ โดยเฉลี่ยแล้วรอบหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 15 นาที คือฝ่ายซ่อนใช้เวลา 5 นาที และฝ่ายหาใช้เวลาประมาณ 10 นาที ถ้าเราทำการทดสอบได้ภายในอัตราเวลาเท่านี้ ก็น่าจะแล้วเสร็จภายในทุ่มหนึ่งของวันนี้”

17.41น. ดร.พันธ์ศักดิ์ แถลงความคืบหน้าของการทดสอบประสิทธิภาพ จีที 200 อีกครั้ง

     “มารายงานให้ทุกคนทราบว่า ตอนนี้ เราทำการทดสอบเสร็จแล้วทั้งสิ้น 15 ครั้ง ก็คงเหลืออีกประมาณ 5 ครั้ง แต่ละครั้งไม่มีปัญหาอะไร คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในไม่เกิน 2 ทุ่ม แล้วเมื่อถึงตอนนั้น ใครจะเข้าไปถ่ายรูปในอาคารก็ไม่มีปัญหาอะไร จะอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปได้ กระบวนการในการวัดต่างๆ ของเราโปร่งใส ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้”

22.11น. สื่อมวลชนยังคงปักหลักรอ เพื่อเข้าไปชมภายในอาคารบ้านวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพ จีที 200


22.28น. ดร.พันธ์ศักดิ์ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่ในบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพ จีที 200

     “สำหรับข้อมูลการประเมินผลในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ คือการรายงานผลเบื้องต้นให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งสื่อมวลชนจะได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ท่านนายกฯ กับคณะรัฐมนตรี”

 
     เหล่านี้คือภาพที่เราเก็บมาฝาก นอกเหนือไปจากคำพูดของคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 ที่เน้นย้ำนับครั้งไม่ถ้วนว่า การทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดสอบตามหลักสากล มั่นใจได้ ทั้งให้เหตุผลว่า หากมีสื่อมวลชนหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่สำหรับทดสอบ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพเครื่องเกิดความไม่เสถียร
 
     ซึ่งก็ก่อให้เกิดคำถามค้างคาใจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้เครื่อง จีที 200 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุผลที่ว่านั้นก็ย่อมไม่หนักแน่นพอ เพราะในพื้นที่จริง ก็ไม่สามารถกำหนดปัจจัยภายนอกให้มีความ 'เสถียร' ได้ ไม่ว่าอุณหภูมิ ความชื้น ฝุ่นละอองหรือผู้คนที่อยู่รายรอบ หรือแม้แต่สภาพจิตใจของผู้ถือเครื่องเอง

     และแน่นอนว่า ในฐานะสื่อมวลชนที่ร่วมสังเกตการณ์ เราไม่เห็นอะไรในการทดสอบที่โปร่งใส และได้มาตรฐานตามหลักสากลนี้ นอกจากคำพูดของโฆษกคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่อง จีที 200 ที่เน้นย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า “โปร่งใส เชื่อถือได้”

     ชวนให้นึกถึงการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดในเมืองนอกว่าเขาทำกันอย่างไร ซึ่งเมื่อเราลองคลิกไปดูสารคดีของ BBC (http://news.bbc.co.uk/2/hi/programmes/newsnight/8478857.stm) ก็พบว่า เขาตรวจสอบกันอย่างให้เห็นได้แบบจะจะ โดยทีมข่าว BBC นำเอาตัวเครื่องไปถามผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยวิเคราะห์เครื่องทีละส่วน
    
     เช่น ส่วนของตัวเข็มชี้นำทิศทาง ศ.บรูซ ฮูด บอกว่ามันก็คล้ายกับการใช้เหล็กตรวจหาวิญญาณซึ่งเป็นพลังงานเกี่ยวกับร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถรับรองผลได้ นอกจากนั้น ก็ได้มีการนำเอาการ์ดมาให้ ดร.มาคัส คูน ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตรวจสอบ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า "มันเป็นการ์ดที่ดูเหมือนว่าจะมีการใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ข้างใน"

     แต่เมื่อเปิดดูแล้ว ปรากฏว่ามันไม่ได้รับการตั้งโปรแกรมใดๆไว้ ไม่มีเมมโมรี ไม่มีไมโครคอนโทรล ไม่มีอะไรถูกเก็บไว้เลย ไม่มีการตั้งโปรแกรมใดๆ มีเพียงแผ่นอะลูมิเนียม ที่คล้ายๆ กับพวกแผ่นที่ถูกใช้แปะกับสินค้ากันของถูกขโมยเท่านั้น เมื่อได้หลักฐานมัดตัวครบแล้วทีมข่าวจึงเดินทางบุกไปถึงบ้านของ ทิม แม็คครอว์ ผู้ผลิตเจ้าเครื่องดังว่านี้ แต่ปรากฏว่าบ้านหลังนั้นถูกปิดเงียบไร้ร่องรอยของผู้คน

                   …...........
รู้จักกับ จีที 200

     เครื่องตรวจระเบิดจากประเทศอังกฤษนี้ มีนามว่า 'Global Technical' หรือที่เรียกกันอย่างเคยชินว่า 'จีที 200' ,yo เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยครั้งแรก เมื่อต้นปี 2549 โดยกองทัพบก ในสมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มีนโยบายจะสั่งซื้อเครื่องมือชนิดนี้เพื่อนำไปปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าวัตถุระเบิดชุมมากที่สุดในประเทศ

     โดยกรรมวิธีทำงานของเครื่องนี้ใช้หลักการของสนามแม่เหล็กเชื่อมโยงกับสารไดอาร์พาราและสสารที่ต้องการจะตรวจจับ เช่น วัตถุระเบิด ยาเสพติด โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจจับวัตถุได้ทุกที่ ทั้งบนดิน ในอากาศ และใต้ดิน เนื่องจากวัตถุทุกอย่างบนโลกนั้นต่างก็เชื่อมโยงกับสนามแม่เหล็กทั้งสิ้น

     ส่วนการสั่งซื้อเครื่อง จีที 200 เกิดขึ้นในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. 2550 นับแต่การซื้อครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 กระทั่งครั้งล่าสุด ในเดือนเมษายน 2552 มีการสั่งซื้อไปแล้ว 8 ครั้ง รวม 466 เครื่อง คิดเป็นเงินทั้งหมด 419.5 ล้านบาท

                  .................

จีที 200 กับข้อสังเกตจากคนใน (พื้นที่)

     “วันนั้นเป็นวันที่พี่สาวของเราเปิดร้านใหม่ จู่ๆ เครื่องจีที 200 ก็ชี้มาที่รถมอเตอร์ไซค์ของพี่สาวที่จอดอยู่หน้าร้าน เจ้าหน้าที่บอกว่ามีวัตถุต้องสงสัยซ่อนอยู่ในรถ เราค้านใหญ่เลยนะ เพิ่งเปิดร้านแล้วเอารถมาจอดเมื่อกี้เองไม่นาน เมื่อคืนก็จอดไว้ในบ้าน ใครจะเอาระเบิดมาซุกไว้ตอนไหนกัน รวดเร็วมากอย่างนี้นี่นะ เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันจะขอตรวจ เราก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่”

      เป็นคำบอกเล่าจาก เกาซัร อาลีมามะ อาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ ศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา ซึ่งคุ้นชินกับภาพของเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 เป็นอย่างดี
     และการใช้งานเครื่องจีที 200 ของเจ้าหน้าที่ที่ผิดพลาดซึ่งเกาซัรประสบมาโดยตรง ก็ทำให้เธออดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความแม่นยำของเครื่อง ดังที่เกาซัรย้อนความทรงจำที่เธอประสบมาให้เราฟัง ซึ่งผลลัพธ์ในวันนั้นก็คือ รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไม่ได้มีระเบิดซุกซ่อนอยู่แต่อย่างใด
     เกาซัรบอกว่าความผิดพลาดของจีที200 ที่ได้ประสบมาด้วยตนเอง รวมทั้งข่าวคราวความไร้ประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดดังกล่าวที่นำเสนอผ่านสื่ออย่างครึกโครม มีผลลดทอนความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการตรวจหาวัตถุระเบิดของมันได้มากโข จนต่อๆ มา เธอเริ่มไม่เชื่อมั่นในเครื่องจีที 200 หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพความแม่นยำของจีที 200 น่าจะอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์

                 .................

จีที 200 และวาระซ่อนเร้น

     “ผมมองว่า ประเด็นเรื่อง จีที 200 กลายเป็นเรื่องของ 'สงครามความรู้สึก' ไปแล้ว คิดดูนะ การที่มีข่าวออกมาว่า จีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพ มันก็ย่อมต้องเกิดความคลางแคลงใจและเกิดคำถามขึ้นในใจของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกครั้งที่เขาเห็นเจ้าหน้าที่รัฐถือเครื่องมือนี้ แล้วเขาจะเชื่อใจได้ยังไง ถ้าหากเครื่องนี้ถูกเรียกว่าเป็น 'เศษเหล็ก' ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐที่เดินถือเครื่องนี้เดินไปเดินมา เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาก็ย่อมต้องรู้สึกขาดความมั่นใจ กังวลใจ ว่าชาวบ้านจะมองเขาด้วยสายตาอย่างไร ชาวบ้านจะไม่คิดหรือว่าเขาถือเศษเหล็กที่มันช่วยอะไรไม่ได้เลย”

     ลมราน เริงรำเพย นักเขียนสารคดีและคอลัมนิสต์ที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาพใต้ แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณี จีที 200 ในประเด็นละเอียดอ่อน นั่นก็คือ เรื่องของความรู้สึกคนในพื้นที่ และวาระซ่อนเร้นบางประการ

     “ใครจะคิดยังไงไม่รู้นะ แต่ผมก็ตั้งข้อสังเกตในมุมของผมว่า ทำไม เพราะอะไร จึงต้องมีการออกมาบอกว่า จีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพในช่วงเวลานี้ ผมรู้สึกว่าคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เขาไม่มีความเข้าใจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ถ้าหากเขาเข้าใจและใส่ใจ เขาจะไม่ออกมาพูดทั้งที่ยังไม่มีการทดสอบว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมันจริงหรือไม่จริง
     "ถ้าคุณจริงใจ ทำไมคุณไม่ดำเนินการตรวจสอบลับๆ การออกมาให้ข่าวแบบนี้ มันมีผลอย่างมากในการทำลายขวัญและกำลังใจของผู้คนในพื้นที่ ทำลายขวัญทั้งชาวบ้านและทหาร เพราะจากประสบการณ์ของผมเอง ผมยืนยันว่า เครื่องนี้ มันคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทหารในพื้นที่เลยก็ว่าได้ และผมก็เคยเห็นด้วยตาตัวเองมาแล้ว ว่ามันทำงานได้จริง”

                 ..................
             เรื่องโดย : ทีมข่าว CLICK
             ภาพโดย : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น