xs
xsm
sm
md
lg

จาก ‘ลับ ลวง แหล’ ถึงวิธีปั้นเด็กให้ ‘ดัง’ และ ‘ดี’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรณี ‘ลับ ลวง แหล’ ตัวพ่อ นาธาน โอมาน ที่เล่นละครตบตาคนไทยมานานปี แต่ถูกแฉเมื่อปีที่แล้ว กำลังลุกลามสร้างความเสียหายแก่หลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลงอาร์เอส รวมไปถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เพราะดันไปเคยให้รางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาสื่อสารมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม ประจำปี 2549 แก่หมอนี่ จนต้องมาถอดถอนทีหลัง

งานนี้เลยหมองกันทั่วหน้า ทั้ง พม. และอาร์เอส ที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ก่อนจะให้รางวัลไม่ได้ตรวจสอบประวัติหรืออย่างไร

เมื่อคิดไปไกลกว่าเรื่องเฉพาะหน้า จะเห็นคำถามตัวเท่าบ้านที่ใหญ่กว่า อันอาจหมายถึงการขาดวุฒิภาวะของสังคมไทย ซึ่งกรณีของนาธานกับรางวัลที่ไม่ควรจะได้ บอกเราว่างานนี้นาธานผิดแน่ๆ แต่สังคมไทยก็เลี่ยงความรับผิดชอบบางประการไม่ได้
แต่ก่อนอื่น เราลองมาดูกันซิว่า ค่ายบันเทิงยักษ์ๆ เขามีวิธีการคร่าวๆ อย่างไร ในการปั้นเด็กของตนให้ได้รับรางวัล

กรรมวิธีปั้นเด็ก (อย่างคร่าวๆ)

ดังที่รู้ว่าปีหนึ่งๆ หน่วยงานภาครัฐมีการมอบรางวัลประเภท ‘ดีเด่น’ ‘ยอดเยี่ยม’ อยู่หลายรางวัล จำกันไม่หวาดไม่ไหว และก็มักจะเป็นดารา-นักร้องเสมอที่ซิวรางวัลพวกนี้ไป เสียงค่อนขอดจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

‘ก็เพราะเป็นคนดังนะสิ ถึงได้รางวัล’

ควรได้หรือไม่ควรได้นั่นเป็นอีกเรื่อง แต่กว่าที่เด็กในสังกัดสักคนจะได้รับรางวัล มันก็จำเป็นต้องมีกรรมวิธีพอสมควร

แหล่งข่าวในวงการเล่าให้ฟังว่า เมื่อถึงฤดูกาลคัดเลือกแต่ละครั้ง ทางค่ายเพลงก็จะนั่งสุมกันเพื่อเฟ้นหาเด็กในสังกัดที่มีคุณสมบัติตรงกับที่คณะกรรมการตั้งไว้ เช่น อายุ การทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคม จากนั้นทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของค่ายเพลงที่รับผิดชอบการปั้นเด็กก็จะพิจารณาอีกทีว่า ควรส่งเด็กของตนเข้าประกวดเวทีไหน

“สมมติว่าเด็กคนนี้กำลังศึกษาอยู่ แต่อยู่ในระหว่างการดร็อปเรียน หรือเด็กคนนั้นถ่ายภาพวาบหวิว ก็จะไม่ได้รับ เสนอไปก็ตก เพราะเขาต้องมีการทำโปรไฟล์เป็นเรื่องเป็นราวเลย เพื่อให้คณะกรรมการอนุมัติ”

แหล่งข่าวคนนี้ยืนยันกับเราว่า ทางคณะกรรมการของหน่วยงานต่างๆ มีการคัดเลือกค่อนข้างเคร่งครัด ไม่ใช่เห็นว่ามีชื่อเสียงแล้วจะได้ทุกคน นักร้องบางคนส่งไป แต่ไม่ได้รับก็มี

“คณะกรรมการสกรีนแล้วสกรีนอีก หรือถ้าส่งเข้าไปแล้ว แต่เด็กคนนี้ไม่เหมาะสม เขาก็จะบอกกลับมา ทางค่ายก็อาจเสนอคนใหม่เข้าไป ถ้ามีเวลาที่เหมาะสม หรืออาจมีวงในโทร.มาบอกว่าคนที่ส่งไปไม่ได้นะ เพราะติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเกิดทางค่ายไม่ยอม ก็จะแบบว่า พี่ หนูขอนะ ขอส่งคนใหม่ไปให้พิจารณานะ”

ขณะเดียวกัน ทางค่ายก็ต้องมีการสกรีนตัวเด็กในระดับหนึ่ง จะมั่วๆ ส่งไปไม่ได้ เนื่องจากการที่เด็กในค่ายได้รับรางวัลถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าเด็กในค่ายจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับรางวัลนั้น และยังไม่เป็นที่เปิดเผยแก่สาธารณะ ในช่วงการคัดเลือกและหลังรับรางวัลแล้ว ตัวเด็กก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบ้าง เช่น ดาราที่ได้รับรางวัลต่อต้านยาเสพติด แต่หลังเวทีพ่นควันบุหรี่ปุ๋ยๆ ถ้ายังไม่มีใครรู้ ก็ต้องปิดเป็นความลับต่อไป
ในยุคอินเทอร์เน็ตและออนไลน์ การปกปิดความลับถือเป็นเรื่องยาก ทำให้ทางค่ายยิ่งต้องคัดตัวเด็กละเอียดถี่ถ้วนขึ้น

“คิดว่าไม่ถึงขนาดต้องสร้างข่าวเพื่อให้ได้รางวัล เพราะทางค่ายไม่มีเวลาขนาดนั้น แต่เหมือนกับเตรียมหรือบ่มเด็ก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และน่าจะดีกับรางวัล ดีกับสังคมมากกว่า คุณได้รางวัล คุณต้องทำตัวเป็นแบบอย่างนะ

“แต่อาจเป็นแบบปฏิทินกิจกรรมว่าใน 1 ปี จะต้องมีกิจกรรมอันนี้ๆ ดังนั้น เขาก็ต้องดีลกับองค์กร ต้องเป็นคนที่เสนอไปแล้วผ่านด้วย คณะกรรมการไม่โง่หรอก ยิ่งตอนนี้ ยิ่งหน้าแหก”

มีเสียงเล่าลือว่า ค่ายเพลงแต่ละค่ายมักอิงอยู่กับหน่วยงานหนึ่งๆ เช่น ถ้าเป็นหน่วยงานนี้จัดก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าเด็กของค่ายนี้ต้องได้ เรื่องนี้แหล่งข่าวบอกเราว่า ไม่มี แต่นักข่าวสายบันเทิงยืนยันว่าจริง

เชน-ธนา ลิมปยารยะ ศิลปินวง ไนซ์ ทู มีท ยู เป็นศิลปินอีกคนที่เพิ่งได้รับรางวัล ‘เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ’ ประจำปี 2552 สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคมไปหมาดๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยได้รับรางวัลลูกกตัญญู ประจำปี 2552, รางวัลทูตการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นพรีเซนเตอร์ของ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เขาเล่าถึงกระบวนการในส่วนที่เขาต้องทำก่อนจะได้รับรางวัลว่า

“วันหนึ่งทางบริษัทมาบอกกับผมว่า เขาจะมีการคัดเลือกบุคคลเข้าไปรับรางวัล ซึ่งตอนนั้นเริ่มต้นจากรางวัลลูกกตัญญูก่อน ผมก็เขียนบทความเกี่ยวกับคุณแม่ส่งไป คือเขาจะมีแบบฟอร์มคำถามมาให้เราก่อน แล้วเราก็เขียนส่งไปซึ่งผมก็ได้รับคัดเลือก

“ส่วนรางวัลเยาวชนดีเด่นก็เหมือนกัน เขาจะให้เราตอบคำถามประมาณว่า คุณคิดว่าเคยทำอะไรให้เยาวชนบ้างและคิดว่าคุณสามารถเป็นแบบอย่างให้เยาวชนได้ไหม สุดท้ายก็ได้รับคัดเลือก พอว่าผมได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นก็ดีใจมาก เพราะก่อนหน้านี้ก็เพิ่งได้รางวัลลูกกตัญญู รู้ปุ๊บก็โทร.บอกคุณพ่อคุณแม่ก่อนเลย”

การได้รับรางวัลต่างๆ จากสังคมนั้นย่อมพ่วงมากับภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรางวัลนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“รางวัลทูตการศึกษาที่ผมเคยได้รับ มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน เป็นการเดินสายประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนต่างๆ ส่วนรางวัลเยาวชนดีเด่น เราก็ทำกิจกรรมอื่นๆ ประกอบไปด้วย เช่น การไปแจกสิ่งของให้เด็ก แต่ตรงนี้เป็นกิจกรรมที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่เราเพิ่งมาทำหลังจากได้รับรางวัล”

กรณีนาธาน เมื่อ พม. เสียหน้า

ด้าน พม. หลังจากเสียหน้าสาหัส นายอิสสระ สมชัย เจ้ากระทรวง ได้อธิบายว่า ปัญหาหลักๆ ของเรื่องนี้คือความไม่บริสุทธิ์ใจของตัวผู้ขอรับรางวัลเอง และต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากการได้รับรางวัลเพื่อโปรโมตตัวเอง

ขณะที่การทำงานของหน่วยงานของราชการก็ค่อนข้างหละหลวม โดยเฉพาะระเบียบและวิธีขอรับรางวัลที่มีการตรวจสอบไม่เพียงพอ อย่างกรณีของนาธาน จากการตรวจสอบพบว่าชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นชื่อในการแสดง ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจสอบต่อได้ และทำให้คนที่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจใช้ช่องทางตรงนี้ขอเข้ารับรางวัล

“กรณีของนายนาธานที่ได้รับรางวัล เพราะช่วงนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ประกอบกับตามประวัติมีข่าวว่าเขาอยู่ในช่วงเกิดเหตุสึนามิ แล้วรอดตายและกลับไปช่วยที่นั่น ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาเป็นดาราผู้เสียสละ ซึ่งต่อมามีการเสนอให้นายนาธานได้รับรางวัลนี้ แต่เขาไม่ได้เป็นคนเสนอขอรับเอง คนที่เสนอก็คือต้นสังกัด คือบริษัทอาร์เอส ซึ่งตอนนั้นในระเบียบไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นชื่อจริง เลยกลายเป็นช่องทางในการขอรับรางวัล”

แหล่งข่าวคนเดิมบอกว่า กรณีนาธานเป็นความผิดพลาดทั้งระบบ เพราะมีโปรไฟล์เป็นปึกๆ แต่กลับไม่มีหลักฐานที่ยืนยันตัวตน ขณะที่ทางหน่วยงานรัฐก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจทางค่ายเพลงด้วย

“ด้วยความที่ว่าทางหน่วยงานที่ตัดสินก็ให้เกียรติอาร์เอสในระดับหนึ่ง คือเชื่อว่าต้องรักษากฎระเบียบ เชื่อใจ แต่อาร์เอสอาจจะหลุด ส่งเอกสารหลักฐานไม่ครบ แต่ข้อมูลคุณงามความดีมีครบถ้วน”

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาและวิธีพิจารณามอบรางวัลในปีต่อๆ ไปจะเปลี่ยนไปหรือไม่ นายอิสสระกล่าวว่าตอนนี้ได้สั่งให้มีการตรวจสอบย้อนหลังผู้เคยได้รับรางวัลทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่าพบใครมีปัญหาอีก ขณะเดียวกันต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขข้อระเบียบที่เป็นความบกพร่องทั้งหมด เช่น ชื่อ-นามสกุลต้องเป็นชื่อจริงตามบัตรประชาชน ส่วนผลงานก็ต้องตรวจสอบได้ว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

‘ดัง’ และ ‘ดี’ ทำไมจึงเป็นเรื่องเดียวกัน

ดังที่เกริ่นไว้ตอนต้น ประเด็นนี้มีโยงใยซับซ้อนมากกว่าเด็กสตรอฯ คนเดียว แหล่งข่าวในวงการบอกว่า มันเป็นทั้งระบบ ทางหน่วยงานก็ต้องการให้รางวัลของตนเป็นที่รับรู้ หมายความว่าต้องเป็นข่าว แต่จะไม่มีทางเป็นข่าวเลย ถ้าผู้ได้รับรางวัลคือเด็กหญิงสมทรงจากบ้านห้วยลิงขบ เพราะสื่อจะไม่สนใจทำข่าว

ความอยู่รอดในระบบธุรกิจก็บีบสื่ออีกต่อหนึ่งให้ต้องนำเสนอแต่คนดังๆ ที่สังคมจับจ้อง ผู้เสพเองก็สนใจใคร่รู้เรื่องของคนดัง สุดท้ายก็วนเป็นงูกินหาง

เมื่อถามเชน-ธนาว่า การมอบรางวัลแก่บุคคลที่มีชื่อเสียง เพราะผู้จัดต้องการให้รางวัลเป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือเปล่า เขาให้ความเห็นว่า

“ก็มีส่วนนะ แต่คนที่ได้รางวัล ก็น่าจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรางวัลที่เขาได้รับด้วยจริงๆ เพราะกระบวนการคัดเลือกนั้น เท่าที่ผมเจอมาก็มีการตอบข้อมูลเบื้องต้น และมีการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ด้วย

“การได้รับรางวัลมีผลให้เราต้องระวังตัวมากขึ้นนะ พอเรามีรางวัลมาเป็นเครื่องรับประกันแล้ว ก็มีคนจับตามองเรามากขึ้น ถ้าเราไปทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร ก็อาจส่งผลกระทบถึงรางวัลและตัวเราเอง”
บางคนอาจตั้งคำถามว่า ดารา-นักร้องทำดีอะไรจึงได้รางวัล การออกงาน ร้องเพลง เดินแจกสติกเกอร์ ถือเป็นความดีระดับที่ต้องยกย่องหรือเปล่า แหล่งข่าวในวงการบอกว่า

“เพราะคนพวกนี้เป็นคนที่เวลามีค่า สมมติว่าเขาไปปรากฏตัวในงานหนึ่ง เขาต้องได้ 3-5 หมื่นบาท สำหรับคนที่พีกต้องได้แสนหนึ่ง แต่เขาไปงานพวกนี้คือฟรีนะ ไม่ได้รับเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว อย่างเราๆ ได้ไปก็รู้สึกภูมิใจ แต่การที่เขาไป เขาต้องได้เงิน แต่พอเขาไม่ได้เงิน นั่นถือว่าเขาได้ช่วยแล้ว และมันช่วยจริงๆ”

ประเด็นนี้ นายอิสสระบอกแก่เราว่า

“ที่ผ่านมา เราอาจเจอปัญหาว่าให้รางวัลแต่พวกศิลปินดารานักร้อง บรรดาต้นสังกัดเองก็พยายามโปรโมตจนเป็นที่รู้จัก ทำให้คณะกรรมการอาจจะคล้อยตามไปได้ กลายเป็นความหละหลวมและเกิดข้อผิดพลาด ส่วนในปีต่อๆ ไปจะเกิดปัญหาแบบนี้อีกหรือไม่ คงตอบไม่ได้ แต่เราจะทำให้ดีที่สุด เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดหรอก แต่บางทีก็มีพวกที่ตั้งใจอยากทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งเราต้องหาทางป้องกันต่อไป”
..........

ทั้งหมดทั้งมวลนี้สร้างความเชื่อกึ่งดิบกึ่งสุกว่า คน ‘ดัง’ คือคน ‘ดี’ แต่ความจริง คน ‘ดี’ ไม่จำเป็นต้อง ‘ดัง’

การมอบรางวัลให้แก่คนเด่นคนดีไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในตัวมันเอง ทั้งยังมีแง่มุมสวยๆ ให้จับต้องได้จริง แต่วิธีเฟ้นหาคนดังและดีเป็นเรื่องที่ต้องหากฎเกณฑ์ให้รัดกุม เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหา

ถึงที่สุดแล้ว เราไม่สามารถแสวงหาวีรสตรี-วีรบุรุษมาเป็นแบบอย่างกันได้อย่างสิ้นเปลืองทุกๆ ปี การช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของคน ‘ดี’ ที่ไม่ ‘ดัง’ อาจช่วยสร้างสมดุลให้แก่ความเอียงกระเท่เร่นี้ได้บ้าง

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น