xs
xsm
sm
md
lg

ทายาทการเมือง อุตสาหกรรมในครัวเรือนของนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสข่าวการวางมือทางการเมืองของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หรือ เสธ.หนั่น สร้างแรงกระเพื่อมอีกครั้งต่อการจัดสรรอำนาจภายในพรรคร่วม รวมถึงอาจเป็นการงไม่ถึงยืมมือพญาชาละวันผู้นี้เพื่อฟัดกันเองของคนในประชาธิปัตย์

แย่งผลประโยชน์ เกมการเมือง ขัดแข้งขา ฯลฯ เรื่องทำนองนี้กระทบต่อมเซ็งของคนมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่ที่หนักกว่าปกติคือการที่มีข่าวว่า เสธ.หนั่น จะยกตำแหน่งในโควตาของตนให้ลูกชายสุดเลิฟ ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ หรือ ลูกยอด ชาวบ้านร้านตลาดเหมือนถูกตีแสกหน้าด้วยคำถามตัวโตว่า ตำแหน่งผู้บริหารประเทศ เดี๋ยวนี้ เขาสามารถยกให้ลูกหลาน ญาติมิตร กันได้หน้าตาเฉย ไม่ต้องเกรงใจ หรือไม่ต้องมุบมิบทำแบบเมื่อก่อนแล้วหรือ

การสืบทอดอำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งปกติ (ที่ไม่ปกติ) ของสังคมไทย และไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มันเป็นสิ่งสะท้อนโครงสร้างของสังคมที่ตกทอดมาสู่ยุคนี้ โดยไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

การสืบทอดอำนาจยุคอิงอำมาตย์

ในอดีต การเมืองไทยมีการสืบทอดอำนาจให้แก่ญาติพี่น้องอยู่แล้ว แต่มาเห็นชัดเจนในยุคที่ ‘กลุ่มราชครู’ เรืองอำนาจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2490 สมัยจอมพลผิน ชุณหะวัณ บิดา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนที่ราชครูรุ่นที่ 2 จะแตกหน่อเป็นพรรคชาติไทย โดยมี พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร กับพล.อ.ชาติชาย เป็นแกนหลัก

สำรวจเครือข่ายทางการเมืองของกลุ่มราชครู จะเห็นว่าเป็นเครือญาติของพล.อ.ชาติชายทั้งนั้น ยกตัวอย่างพี่สาวคนโตของพล.อ.ชาติชายคือ คุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ ก็เป็นภริยา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย ในช่วงก่อนการรัฐประหารปี 2500 พี่สาวคนที่ 2 คือ พร้อม ทัพพะรังสี ภริยาของ อรุณ ทัพพะรังสี อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และบุตรของทั้งสองก็คือ กร ทัพพะรังสี โดยฐานเสียงสำคัญของพรรคชาติไทยในสมัยที่ พล.อ.ชาติชาย เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา

ในยุคหนึ่ง กลุ่มราชครูจึงเป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงพลังอย่างแรง แต่เมื่อมีขึ้นย่อมต้องมีลง เพราะหลังเกิดการรัฐประหารในปี 2534 โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ. สุจินดา คราประยูร กลุ่มราชครูก็อ่อนแรงจนแทบไม่เหลือบทบาทของกลุ่มที่ทรงอิทธิพลอีกเลยต่อการเมืองยุคนี้ ซึ่งต่อมาเครือข่ายรุ่นที่ 3 ของกลุ่มราชครูก็กระจัดกระจายไปอยู่หลายพรรค สายอดิเรกสารอยู่กับภูมิใจไทย ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัลูกของพล.อ.ชาติชาย ไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ตัว ดร.ไกรศักดิ์ไม่ปฏิเสธว่าการเป็นบุตรของพลเอกชาติชาย มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนเลือกเขามานั่งเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งตำแหน่งทางการเมืองอื่น อย่างไรก็ตาม...

“ประวัติการทำงานการเมืองของผมตลอด 20 ปี ก็มีส่วนในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของประชาชน หากเลือกเพราะคิดว่าเป็นลูกน้าชาติเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วยก็น่าเสียใจนะ”

การสืบทอดอำนาจยุคเลือกตั้ง

กลุ่มราชครูเป็นการสืบทอดอำนาจการเมืองที่อิงแอบกับระบบราชการ โดยเฉพาะทหาร ขณะเดียวกัน ในยุคนี้เอง บรรดานักธุรกิจภูธรต่างก็พาตัวเองเข้าสู่ระบบอุปถัมป์ชนิดนี้ เพื่อความอยู่รอดและความมั่งคั่งของธุรกิจ แต่ภายหลังปี 2521 เมื่อมีกลไกการเลือกตั้งขึ้น นักธุรกิจภูธรจึงเริ่มใช้ฐานทุนและอิทธิพลที่มีในท้องถิ่นผลักดันตนเองเข้าสู่รัฐสภา เกิดเป็นการสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่นอีกแบบหนึ่ง แบบที่ไม่ต้องพึ่งระบบราชการ แต่ฟอกตัวด้วยเสียงของประชาชน

นักการเมืองและผู้มีอิทธิพลจะแปรเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้านใหญ่’ ในจังหวัดนั้น ซึ่งบางจังหวัดอาจผูกขาดเพียงขั้วเดียว บางจังหวัดอาจมีหลายขั้ว เช่น จังหวัดระยองมีกลุ่มน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย เป็นต้น

นักธุรกิจการเมืองจะส่งทอดอำนาจให้แก่ลูกและญาติพี่น้องของตน ก่อนที่จะถึงคิวลูกน้องคนสนิท

“การสืบทอดจะเป็นการสืบทอดในกลุ่มครอบครัวและญาติเป็นหลักก่อน ไม่ลงไปสู่ลูกน้อง คนที่เป็นลูกน้องแล้วขึ้นมาเป็น ส.ส. ได้ หมายถึงว่าญาติมาสืบทอดอำนาจแทบจะหมดแล้ว ที่เราเรียกว่า ‘สภาผัวเมีย’ มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนโครงสร้างของชนชั้นนำทางการเมืองในต่างจังหวัด” ผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบาย และเสริมว่า

“ชนชั้นนำเหล่านี้มีอำนาจ 2 รูปแบบพร้อมกัน คือ หนึ่ง อำนาจที่เป็นทางการ เช่น เป็น ส.ส. สอง คืออำนาจที่ไม่เป็นทางการ อาจหมายถึงอิทธิพล บารมี เช่น มีซุ้มมือปืน คนที่เป็นบ้านใหญ่จะมีอำนาจทั้งสองนี้ และเลือกใช้ตามแต่ละกรณี ถ้าต้องการกดดันหน่วยราชการก็ใช้อำนาจที่เป็นทางการ ถ้าสมมติเป็นเรื่องการรับเหมาก่อสร้าง ใครไม่ยอม ก็อาจจะมีการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ใช้อิทธิพล หรืออำนาจไม่เป็นทางการ”

เอาเข้าจริงๆ ความเป็นนักการเมืองกับผู้มีอิทธิพลก็ดูจะไม่ค่อยแตกต่างกัน

การสืบทอดอำนาจยุคดาวเทียม

แต่แล้วการสืบทอดอำนาจของนักการเมืองก็มาถึงจุดสูงสุดอีกครั้งในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เรียกว่าทรงพลังอย่างแรง (กว่า) แตกต่างกับวิธีของนักธุรกิจการเมืองภูธร

ด้วยอำนาจทุนและสื่อที่สามารถรวบอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จ และนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ลงไปเขย่าฐานของนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลภูธร แต่ก็ไม่ใช่การทำลายให้ราบคาบ เพียงแต่ดึงให้เข้ามาอยู่ในเครือข่าย และทำลายฐานของพรรคการเมืองอื่นๆ

ส่วนใครที่ไม่ยอมลงให้ ชะตากรรมก็จะเหมือนกับ กำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลื้ม (อดีต) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคตะวันออก และเจ้าพ่อปากน้ำ วัฒนา อัศวเหม
ขณะที่เครือญาติ พวกพ้อง บริวาร ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถูกจัดสรรผลประโยชน์และตำแหน่งไปตามหน่วยงานรัฐต่างๆ พร้อมๆ กับสยายปีกอำนาจทางธุรกิจ

แต่หลังจากเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน ปี 2549 นักการเมืองจำนวนมากถูกแช่แข็งจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเกิดภาพทับซ้อนขึ้นระหว่างการเป็นทายาทสืบทอดอำนาจกับการเป็นร่างทรงที่ถูกส่งเข้ามาใช้อำนาจแทน

ผศ.ดร.ชัยยนต์ สรุปว่า“เราจะพบว่าในช่วงที่เป็นเผด็จการ คนเหล่านี้ก็จะสมคบกับเผด็จการ ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะเรียกว่าเป็นผู้มีอิทธิพลรุ่นก่อน เป็นพ่อของนักการเมืองในปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันการมีอำนาจ มันเปลี่ยนจากผู้นำทหารเป็นการเลือกตั้ง คนเหล่านี้เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนเลย เพียงแต่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ”

ด้าน ดร.ไกรศักดิ์ มองว่าการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่ผูกขาดอำนาจการปกครองต่อเนื่องกันอย่างยาวนานหลายๆ รุ่นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

“ข้อเสียคือ หากทายาทไม่มีศักยภาพและความสามารถในการบริหารบ้านเมือง หรือสืบทอดแบบระบบอุปถัมภ์หรือสายสัมพันธ์ทางครอบครัว ก็จะส่งผลเสียต่อบ้านเมือง ส่วนข้อดีคือถือเป็นการถ่ายทอดความคิด วิธีบริหารบ้านเมือง จากรุ่นสู่รุ่น”

ดร.ไกรศักดิ์ ยังทิ้งท้ายว่า การเมืองในโลกนี้ไม่ว่าก้าวหน้าแค่ไหน ก็มีเรื่องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งคนภายนอกย่อมมองเห็นถึงบารมีที่สั่งสมมาก่อนของบรรพบุรุษเป็นอันดับแรก แล้วจึงจะดูถึงความสามารถของคนผู้นั้น แต่ท้ายที่สุด หากความสามารถไม่เป็นที่ประจักษ์ คนผู้นั้นก็ไม่สามารถเป็นใหญ่ในวงการการเมืองได้

……….

บ้านเมืองไม่ใช่เกมเก้าอี้ดนตรีที่จะให้ใครมาส่งต่อเก้าอี้ให้ลูกหลานญาติมิตร ถามว่าแก้ได้หรือไม่ ได้ แต่ยาก ถึงกระนั้น ผศ.ดร.ชัยยนต์ ก็มองในแง่ดี และแสดงความเห็นว่า หนทางที่จะเยียวยาได้ คือ 1. สื่อถือเป็นส่วนสำคัญในการเปิดโปงโยงใยของนักธุรกิจการเมือง 2.ปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพและมีการลงโทษอย่างจริงจัง 3. การสร้างพลังของชาวบ้าน ที่สำคัญคือการสร้างสภาองค์กรชุมชน และ 4. การเลือกตั้งต้องปล่อยให้เป็นเสรี เพื่อจะได้มีการแข่งขันกันมากๆ

“ในต่างจังหวัดที่ผมไปศึกษา ซื้อเสียงกันจนหมดแรง หมดทุนกันทุกฝ่าย”

ประเทศชาติบ้านเมืองไม่ใช่มรดกตกทอดประจำตระกูลของใคร

***********

.....ล้อมกรอบ.....
ตระกูลเป้งๆ ทางการเมือง (บางตระกูลเท่านั้น)

1.ตระกูลศิลปอาชา

จากตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค บรรหาร ศิลปอาชา ก็ก้าวเข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของ พล.ต.บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ 2517 กระทั่งได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย ในปี 2537 และถือเป็นจุดเริ่มต้นอำนาจของตระกูลศิลปอาชา โดยที่ฐานเสียงหลักอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี หรือบางคนเรียกว่าบรรหารบุรี

ขณะที่รุ่นที่ 2 คือ กัญจนา ศิลปอาชา ลูกสาว และ วราวุธ ศิลปอาชา ก็ยังสามารถครองสุพรรณต่อมา เพียงแต่บารมีอาจจะสู้บิ๊กเติ้งไม่ได้ ส่วน ชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นน้องชายบรรหาร ก็เป็นที่รับรู้ว่าถูกพี่ชายส่งมาสืบทอดอำนาจหลงจู๊

2.ตระกูลชิดชอบ

ตระกูลชิดชอบครองฐานเสียงจังหวัดบุรีรัมย์อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่สมัยชิดชอบผู้พ่อ-ชัย ชิดชอบ ต่อมาในยุคของ เนวิน ชิดชอบ ฐานคะแนนเสียงก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง และดูจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม เนื่องจากความเขี้ยวและอ่านคลื่นลมการเมืองขาด ทำให้เป็นตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผู้จัดการรัฐบาลอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ยอมประเคนให้หมดใจ

3.ตระกูลคุณปลื้ม

คุมพื้นที่ฐานเสียงจังหวัดในภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา โดยที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ เจ้าพ่อภาคตะวันออก ต่อมาในรุ่น 2 เมื่อบทบาทของผู้มีอิทธิพลถูกลดลงในยุค รสช. ตระกูลคุณปลื้มจึงหันเหมาเล่นการเมืองระดับชาติ แม้ตัวกำนันเป๊าะจะไม่ได้เล่นการเมืองในระดับประเทศเอง แต่ก็ส่งลูกชายทั้ง 3 คน คือ สนธยา คุณปลื้ม, วิทยา คุณปลื้ม และ อิทธิพล คุณปลื้ม เข้าสู่เส้นทางการเมืองได้สำเร็จ แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด ตระกูลคุณปลื้มต้องเสียที่นั่งให้กับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ พี่น้องตระกูลคุณปลื้มจึงหันกลับมาตั้งหลักใหม่ในการเมืองระดับท้องถิ่น โดยวิทยาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี และอิทธิพลได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา
4.ตระกูลเทียนทอง

เสนาะ เทียนทอง บ้างก็เรียกผู้เฒ่าการเมืองคนนี้ว่า ‘เจ้าพ่อวังน้ำเย็น’ เขาเริ่มงานการเมืองครั้งแรกกับพรรคชาติไทย เมื่อปี 2518 และลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก ปี 2519 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี และสระแก้ว (เมื่อสระแก้วแยกออกมาเป็นจังหวัดใหม่) จังหวัดสระแก้วจึงเป็นฐานเสียงสำคัญของตระกูลเทียนทอง โดยมีนักการเมืองจากตระกูลเทียนทองครองพื้นที่แบบไม่แบ่งใคร ได้แก่ ฐานิสร์ เทียนทอง, ตรีนุช เทียนทอง หลานของนายเสนาะ และ สรวงศ์ เทียนทอง ผู้เป็นลูกชาย

5.ตระกูลขจรประศาสน์

ฐานเสียงของตระกูลนี้คือจังหวัดพิจิตร เป็นบ้านเกิดของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ พญาชาละวันผู้จิบเบี้ยขวดละแสนและเลี้ยงนกกระจอกเทศไว้ดูเล่น ทายาททางการเมืองที่ พล.ต.สนั่น หมายมั่นปั้นมือจะดันขึ้นมาคือ ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ หรือ ลูกยอด อดีต ส.ส. จังหวัดพิจิตร 3 สมัย ที่ในปัจจุบันย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ตาม พล.ต.สนั่น ที่กำลังประกาศจะวางมือทางการเมืองโดยลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แล้วให้นายศิริวัตน์เข้ามาเสียบแทน แต่คงไม่ใช่ตำแหน่งรองนายกฯ เป็นแน่ เพราะบารมียังไม่ถึงขั้น

6.และตระกูลอื่นๆ อีกมากมาย

……….
เรื่อง-ทีมข่าว CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น