มนุษย์มีความใฝ่ฝันที่จะบินได้มานานแล้ว ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันฝันนั้นก็คงไม่ไกลเกินเอื้อมกับ “พารามอเตอร์หรือร่มบิน” ที่คุณสามารถบินลัดฟ้าข้ามจังหวัดได้ดั่งใจ
คุณกฤษดา รอดสุวรรณหรือคุณอาร์ต จากชมรมร่มบินกรุงเทพมหานคร(Bangkok Paramotor Club) ผู้เล่นร่มบินมาแล้ว 6 ปี สอนผู้เล่นหน้าใหม่มาแล้วเกือบ 20 คน โดยรู้จักร่มบินครั้งแรกเมื่อไปประเทศญี่ปุ่น ก็เกิดสนใจ จึงศึกษา ซึ่งทุกวันหยุดคุณอาร์ตก็จะนำทีมผู้รักการเล่นร่มบินมาฝึกเล่นร่มบินที่สนาม Assumption Campus ย่านพระราม 2 เป็นประจำ
“สนามนี้ทุกวันหยุดก็จะมีคนมาเล่นมีทั้งคนมาฝึกใหม่ บินได้แล้วแต่ยังไม่แข็งก็จะให้ฝึกบินอยู่รอบๆ บริเวณสนาม ส่วนคนที่ชั่วโมงบินเยอะแล้ว แข็งแล้วก็สามารถบินออกสำรวจพื้นที่ได้เลย บินข้ามจังหวัดได้เลยสบายๆ ศาลายา-สะพานข้ามแม่น้ำแคว นครปฐม-ชะอำ”
พารามอเตอร์ไม่ใช่กีฬาของคนรวย เพราะถ้าเป็นคนรวยคงหาซื้อเครื่องบินเล็กขับกันไปแล้ว แต่เป็นกีฬาของคนรักการบิน เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ คลายเครียดได้ในยามที่เราทำการบิน อยู่บนฟ้าหลังจากที่เคร่งเครียดกับงานมาทั้งอาทิตย์
ถึงแม้คุณอาร์ตจะบอกเช่นนั้น แต่ราคาอุปกรณ์การเล่นซึ่งประกอบด้วยตัวเครื่องพัดลมที่เป็นการดัดแปลงเครื่องรถจักรยานยนต์ ใช้น้ำมันเบนซิน มาพร้อมกับที่นั่ง ปัจจุบันหากเป็นของที่ผลิตในไทยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 60,000-80,000 บาทแล้วแต่รุ่น และร่มชูชีพอีกราคา 80,000 บาท จากเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่กีฬานี้เข้ามาใหม่ๆ ค่าตัวอุปกรณ์มีราคารวมทั้งชุดราว 4 แสนบาท ราคาที่ถูกลงทำให้คนสนใจหันมาเล่นมากขึ้น
เสน่ห์ของกีฬาร่มบินคือ ผู้เล่นจะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ สามารถบังคับทิศทางการบินได้อย่างที่ต้องการ ต่างจากการนั่งเครื่องบิน เป็นผู้บังคับอากาศยานเอง สร้างความภูมิใจที่ได้เล่น รวมทั้งได้เห็นมุมมองที่คนอีกนับล้านไม่ได้เห็น
นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า การกลัวความสูงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่กล้าเล่น กีฬาพารามอเตอร์นี้ แต่กลับจะเป็นผลดีมากกว่าเพราะพวกที่บอกว่ากลัวความสูงหากได้บินแล้ว ก็จะบินด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง รู้จัก กฎ กติกา มารยาท ไม่เหมือนกับพวกที่ไม่กลัวความสูง จะมีความมั่นใจในตัวเองมาก มักจะบินแบบไม่กลัวอะไรทั้งนั้น นั่นคืออาจจะส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้
ส่วนผู้ที่จะเล่นกีฬาชนิดนี้จะไม่จำกัดอายุหรือเพศ ใครๆ ก็สามารถเล่นได้แต่หากเป็นเด็กสรีระอาจจะยังไม่เหมาะนัก น้ำหนักก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะสามารถเลือกซื้อขนาดของร่มให้เหมาะกับขนาดน้ำหนักตัวผู้เล่นได้ แต่ไม่แนะนำผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หืดหอบ ลมชักจะไม่แนะนำ เพราะหากเกิดอาการด้านบนจะไม่สามารถช่วยเหลือได้
“คนที่จะเล่นต้องเรียนรู้และมีใจรักที่จะเล่น มีความมั่นใจ มีทุนทรัพย์ในการซื้ออุปกรณ์ มีเวลาในการฝึกซ้อมขึ้นบินหากมีเวลาว่างติดกัน 2 อาทิตย์หรือ 15 วันก็เป็นแล้ว แต่ถ้าหากไม่ต่อเนื่องก็ค่อยๆ ฝึกไป ก็สามารถขึ้นบินได้”
หลักการฝึกเล่นร่มบินคือขั้นแรกจะต้องฝึกตั้งร่มกับพื้น รู้จักการดึงเชือกควบคุมร่ม แก้อาการร่มให้ร่มสามารถตั้งอยู่บนหัวได้ จากนั้นก็จะให้หัดทรงตัวด้วยการนำเครื่องสะพายไว้ไม่ต้องติดเครื่องแล้วฝึกตั้งร่มไปด้วย แล้วจึงหัดตั้งร่มแล้วลากลอย หมายถึง การตั้งร่มแล้วให้คนดึงลอยขึ้นตามจังหวะลม เพื่อดูอาการว่าตกใจเวลาขึ้นฟ้าหรือไม่ หากไม่ก็สามารถติดเครื่องและขึ้นบินครั้งแรกได้เลย โดยจะใช้วิทยุสื่อสารในการบอกการบิน การควบคุม อยากเลี้ยวซ้ายดึงเชือกทางซ้าย อยากเลี้ยวขวาดึงเชือกทางขวา ถ้าเบรกก็ดึงพร้อมกันสองข้าง หลังจากบินได้แล้วก็ต้องหมั่นฝึกเพิ่มชั่วโมงบิน
“สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นร่มบินหรือการ Take off และ Landing หลักคือการขึ้นจะต้องตั้งร่มให้ตรงแกน ร่มห้ามย่น ห่อๆ ต้องวางเป็นรูปโค้งตามทรงร่ม เมื่อร่มกินลมตั้งตรงก็ต้องออกวิ่งระยะสั้นๆ เพื่อส่งตัวขึ้นไป ส่วนตอนลงนั้น ต้องค่อยๆ ตีวงลดระดับความสูงลงมาใกล้พื้นแล้วจะต้องเบรก ซึ่งระยะแต่ละคนต่างกัน แต่ไม่ว่าจะขึ้นหรือลงต้องทวนลมเสมอ”
เวลาที่เหมาะสำหรับการเล่นที่สุดคือ 6.00-9.00 น. และ 15.00-18.00 น. จำเป็นต้องศึกษาสภาพอากาศให้ดี หากลมแรงก็ไม่ควรขึ้นบิน สภาพอากาศที่ดีควรเป็นช่วงลมเอื่อยๆ หรือลมนิ่งอย่างช่วงหลังฝนตกนั้นลมจะนิ่ง เสียที่ว่าพื้นสนามจะเปียก และควรพักเครื่องทุก 2 ชั่วโมง
สำหรับคนกรุงเทพฯ จะค่อนข้างหาที่เล่นในเมืองยาก สนามส่วนใหญ่ที่เอื้ออำนวยก็จะอยู่ตามชานเมืองอย่างปทุมธานี หนองจอก คือมีบริเวณกว้างพอ บริเวณโดยรอบไม่มีสิ่งกีดขวางอย่างต้นไม้ใหญ่หรืออาคารสูง คุณอาร์ตเล่าว่าตอนเคยไปบินซิกแซกแถวคอนโดฯร้างย่านเมืองทองมาแล้ว แต่ไม่แนะนำให้ให้คนที่ยังไม่แข็งทำเช่นนั้น เพราะลมที่ผ่านสิ่งกีดขวางจะมีความแรงและอันตรายมาก
“ความเร็วของร่มบินจะเร็วได้ถึง 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วแต่ชนิดและขนาดของร่ม แต่หากบินตามลมก็ได้ความเร็วถึง 80กิโลเมตรต่อชั่วโมง”
ส่วนเรื่องของความปลอดภัยนั้น คุณอาร์ตการันตีว่าเล่นกีฬาร่มบินปลอดภัย 100% หากผู้เล่นสามารถทำตามกฎการเล่น หรือกติกามารยาทการเล่นที่ถูกต้องได้ทั้งหมดก็ไร้ปัญหาหายห่วง
ภาพโดย... ธัชกร กิจไชยภณ
บินอย่างไรให้ปลอดภัย 100%
ตรวจเช็คสภาพของเครื่องยนต์เช่น ก๊อกน้ำมัน,ปริมาณน้ำมัน,สายน้ำมัน,สายไฟ, สายเบรก, น๊อตยึดเครื่อง,ลูกยางแท่นเครื่อง และสภาพของใบพัดในขณะนั้น ฯลฯ ต้องทำการวอร์มเครื่องยนต์ทุกครั้งก่อนบิน ไม่ต่ำกว่า1-2 นาที
ทดสอบจุดยึด ฮาเนส สายเซฟตี้ทุกครั้ง ให้ครบทุกจุด และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นผู้เกี่ยวคล้องสายด้วยตัวเอง หรือต้องเช็คเองก่อนขึ้นทุกครั้ง วางแผนการบินว่าจะขึ้นบินใช้เวลาเท่าไหร่และต้องคำนวณน้ำมันทุกครั้ง
ไม่ควรทำการขึ้นบิน ในขณะที่พักผ่อนไม่เพียงพอ สภาพร่างกายไม่พร้อม มีความกดดันหรือตื่นเต้นอย่างสูง บินตามแรงเชียร์หรือเอาใจคนดูโดยเด็ดขาด ไม่ควรบินเมื่อความเร็วลมเกิน 15 น๊อต และมีสิ่งกีดขวางข้างหน้า เช่นต้นไม้ อาคารสูงหรือเสาไฟหรือสายไฟฟ้า
ไม่ควรทำการบินสูงเกินกว่า 500 ฟุต ในเขต FINALร่อนลงของเครื่องบิน หรือทำการบินในรันเวย์ของสนามบินนั้นๆ เพราะอาจมีเครื่องบินขึ้นลงฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
ขณะบินในอากาศต้องสันนิษฐานว่าเครื่องดับเสมอและมองหาสนามสำรองในการ ร่อนลงฉุกเฉิน หรือบินผ่านในที่ๆ ปลอดภัย เช่นทุ่งนากว้างๆ ที่โล่งๆ ให้ลงทวนลมทุกครั้ง
การบินตามลม หรือเลี้ยวตามลม ให้บินในระยะสูง เมื่อเครื่องขัดข้องจะได้สามารถเลี้ยวสวนลม เพื่อลงฉุกเฉินได้ทัน ควรมีวิทยุสื่อสาร เครื่องวัดความสูง หมวกกันกระแทก นาฬิกาจับเวลา หรือเข็มทิศ
การแลนดิ้งควรดับเครื่องยนต์ ก่อนถึงพื้นประมาณไม่ต่ำกว่า 10 เมตร (เพื่อกันร่มและสายร่มเข้าใบพัด) เมื่อเท้าแตะพื้นแล้วต้องวิ่งประคองตัว และกลับตัวทุกครั้ง ห้ามลงหลังสิ่งปลูกสร้างหรือต้นไม้ใหญ่ซึ่งบังลมไว้
ในขณะบินเราจะมองสายไฟข้างล่างไม่เห็น ให้สังเกตุจากความสูงของเสาไฟฟ้า ห้ามบินในเวลากลางคืน
อย่าบินด้วยความห้าว บ้าบิ่น หรือต้องการโชว์ท่าผาดแผลงเอาใจคนดู ตามแรงเชียร์ หรือลูกยุ โดยเด็ดขาด..!! อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง
ไม่ควรยืมเครื่องคนอื่นบิน เพราะไม่รู้ถึงการบำรุงรักษา ไม่รู้กำลังของเครื่องยนต์นั้นๆ ถ้าจะให้ดีก่อนบินควรเช็คอีกที
อย่าบินข้ามสถานที่ ที่ศักดิ๋สิทธิ์ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลเจ้า เพราะมีคนนับถือบูชา รวมถึงสถานที่ส่วนบุคคล เช่น เล้าเป็ด เล้าไก่ คอกวัว เพราะอาจทำให้สัตว์ ตื่นกลัวได้
ชมรมร่มบินกรุงเทพมหานคร (Bangkok Paramotor Club)
คุณกฤษดา รอดสุวรรณ (อาร์ต)
โทร.081-649-1348
เว็บไซต์ข้อมูล : www.paramotorbkk.com