"การทำงานที่มีแต่ความเครียด และจริงจัง งานที่ออกมาอาจจะดีแต่เครียดและกดดันตัวเอง ถ้าปล่อยๆไปบ้าง ทุกอย่างอาจจะไม่เนี๊ยบ แต่ก็สนุกแล้วเราจะมีความสุขกับงาน มันจะไม่เบื่อ เหมือนการทำงานอดิเรกมากกว่า"
*********************
ภาพของผู้ชาย ถักเปีย ใส่กระโปรง แต่งหน้า ทาปาก ราวกับผู้หญิง ... คงเป็นที่คุ้นตาสำหรับแฟนเพลงวงพาราด็อกซ์กันไปแล้ว จักรพงศ์ สิริริน หรือ สอง พาราด็อกซ์ มือเบสแห่งวงดนตรีที่เป็นเสมือนไอดอลของวัยรุ่นหลายๆ ยุค
บนเวทีคอนเสิร์ต ใครๆ ต่างก็มองว่าเขาคือผู้ชายที่สามารถเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ ทำให้ทุกคนต่างมีความสุขได้ แต่ในความเป็นจริง อีกมุมหนึ่งของเขา ผู้ชายคนนี้ได้ให้คำนิยามแก่บุคลิกตัวตนอันแท้จริงของตนคือ เด็กเรียบร้อยคนหนึ่ง
“ถ้าจะให้นึกภาพตัวเอง คงให้เป็นเด็กนักเรียนใส่แว่น เรียบร้อย ทำทุกอย่างอยู่ในกฎระเบียบ ขับรถไม่เคยปาดหน้ารถใคร ไม่เคยลอกข้อสอบเพื่อน หลายคนอาจจะติดภาพว่านักร้องนักดนตรีจะต้อง เป็นแบบกินเหล้าอย่างหนักหน่วง เราเองเป็นเด็กอนามัยมากๆ ไม่กินเนื้อสัตว์ อยู่บ้านว่างๆ ชอบเล่นกับแมว ไม่ใช้ชีวิตกลางคืน”
ภาพลักษณ์ที่เขาพูดข้างต้น หลายคนอาจจะตกใจ แต่เมื่อ M-Light ได้สัมผัสพูดคุยกับเขาแล้ว รู้ได้ทันทีว่า เขามีหลากหลายบุคลิกในคนคนเดียว
สองบอกกับเราว่า อาจจะเพราะการแต่งกายที่เขาเรียกว่าโชว์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการเล่นคอนเสิร์ตของวงต่างประเทศที่มักจะมีโชว์เข้ามาด้วย และพร้อมกับเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย มีวงรุ่นพี่ที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงทั้งวง จากนั้นเขาจึงมาเล่นต่อ พอได้ออกเทปก็ได้นำเอามาใส่ไว้ด้วย
เมื่อการออกอัลบั้มกับพาราด็อกซ์จนเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น การแต่งกายเป็นหญิงอย่างที่หลายคนติดตากันอยู่ทุกวันนี้ ทำให้พ่อและแม่ทราบเรื่องดังกล่าวขึ้นมา
“ส่วนตัวแล้วผมจะไม่กลัวว่าใครจะเข้าใจผิด เพื่อนๆ ผมรู้ก็โอเคนะ แต่แรกๆที่บ้านผมจะรับไม่ค่อยได้ พอออกอัลบั้ม ได้ออกสื่อมากๆ ได้ออกไปเล่นคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ จนวันนึงคนที่ทำงานพ่อมาเห็น ก็เอามาแซวพ่อ ว่าลูกเป็นตุ๊ดบ้าง กลับไปถึงบ้าน ไม่มีใครคุยด้วย ผมก็งงๆ ว่าเป็นอะไรกัน คนที่บ้านไม่คุยกับผมเดือนนึง ก็ต้องค่อยๆ อธิบายกันไปว่าเป็นการโชว์ แต่งตลก แต่งหญิงบ้างตามประสา หลังๆ ที่บ้านเริ่มอิน แม่ถึงกับตัดชุดให้ พ่อเอาวีดีโอมาอัดเลยตอนนั้น ”
“เห็นผมขึ้นคอนเสิร์ต ดูมันส์ทุกครั้ง เพราะผมเต็มทีกับการเล่นคอนเสิร์ตทุกครั้ง ไม่ค่อยจะรู้สึกว่ามันเป็นงานสักเท่าไหร่ จนป่านนี้ก็เหมือนได้ไปสนุกกับเพื่อนๆ ถ้าผมคิดว่ามันเป็นงานผมจะเครียดและจริงจังกับมันมากกว่าปกติ เมื่อเล่นเสร็จต้องกลับมาคิดว่าวันนี้เป็นยังไง ดนตรีเป๊ะมั้ย ดีหรือไม่ดี ทำไมมาสายกันขนาดนี้ ทุกครั้งก็จะเครียดตามไปด้วย อย่างอยู่ๆ อันนี้ดับไปเราก็จะพยายามทำไงก็ได้ให้มันสนุก ให้คนดูมาดูรู้สึกสนุก พอคนเล่นสนุกแล้วยังไงคนดูก็ต้องสนุกกับเราไปด้วย คนจะมามากน้อยไม่สำคัญขอแค่ให้ทุกคนได้รับความสนุกกลับไปก็พอ”
เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเกิดรู้สึกเครียดให้ฟังว่า วันหนึ่งเมื่อคอนเสิร์ตจบลง เขาเองที่เป็นคนพบเจอปัญหาด้วยตนเอง จากคนที่ต้องคอยสร้างเสียงหัวเราะเฮฮาให้กับเพื่อนๆ ในวง ทำให้วันนั้นต้องเงียบไปช่วงหนึ่ง ทิ้งเวลาให้ตัวเองค่อยๆ คิด ค่อยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ลองรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนๆ อาจจะดูเหมือนละความเครียดไปได้หมด แต่มันก็ต้องเก็บมาคิดบ้าง
"เราอาจจะละความเครียดไปไม่หมด แต่มาอ่านหนังสือธรรมมะ หลักที่พระพุทธเจ้าสอนง่ายๆ ที่สุดในการดำเนินชีวิตก็คือ ละ โลภ โลภ โกรธ หลง มันคือหลักง่ายๆ มองทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ด้วยอายุวัยเท่านี้แล้วรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก ตอนวัยรุ่นใช้ชีวิตไม่คิดเลย ตอนนี้ร่างกายก็ไม่เล่นด้วยแล้ว อยากเล่นเกม ดูหนังถึงเช้า ร่างกายมันไม่ไหวแล้ว (แก่) นั่นเอง ”
ในอีกมุมมองของการใช้ชีวิต เขาบอกว่า จริงๆ แล้วเป็นคนซีเรียส คิดมาก โกรธใครมากๆ เข้า พอถึงจุดหนึ่งที่รับไม่ได้ ก็จะไม่คุยด้วยเลย
“เมื่อก่อนผมเป็นแบบนี้นะ จริงจัง ซีเรียส นานๆ ไปรู้สึกว่ามันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลยไม่โกรธใครมากเท่าไหร่ตอนนี้ แต่หลังๆ เราเริ่มมีการลดอัตตา ของเราลงบ้าง ลดทิฐิตัวเองลงบ้าง มีอะไรที่ไม่พอใจก็ไม่ค่อยกลับเอามาคิดเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะให้อภัยเขาจะดีกว่ามาโกรธแล้วทำให้ตัวเองรู้สึกไม่ดี ทำตัวให้สบายๆ ”
“หลังๆ ดีหน่อยแฟนผมไปศึกษาธรรมเลยเอามาสอนบ้าง เอาหนังสือ ของท่านพุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อปราโมทย์ มาสอนบ้าง ผมก็ได้ศึกษาไป ท่านสอนให้ละตัวตน เพราะการใช้ชีวิตบนโลกก็เหมือนกับการเล่นละครกันไปวันๆ สมัยก่อนผมทะเยอทะยาน ชีวิตช่วงนี้ต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอได้ศึกษาถึงมันจะเป็นเพียงแค่เริ่มต้น ก็ทำให้คิดได้ว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คิดว่า วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง ก็จะทำให้มีความสุข อย่าไปจริงจัง (หัวเราะ) อย่าไปเครียด ทำแล้วสบายใจที่สุดก็พอ”
ในฐานะที่เปรียบเสมือนศิลปินในดวงใจของวัยรุ่น สอง พาราด็อกซ์ได้ฝากข้อคิดในการใช้ชีวิตให้กับวัยรุ่นเอาไว้ว่า “แต่ละคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด จะได้ไม่ต้องกลับมาเสียใจว่าไม่ได้ทำเต็มที่ นอกจากห่วงตัวเองแล้ว ลองหันกลับไปดูครอบครัวบ้างว่าคนข้างหลังเป็นไง ได้ช่วยเหลือใครหรือยัง ถ้าได้รู้จักช่วยเหลือคนอื่นบ้างก็จะเป็นเรื่องดี และสุดท้าย ถ้าเราละอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่มีความสุข เราก็ต้องมีความสุข เลิกอะไรที่มันไม่ดีและใช้ชีวิตให้มีสนุกสนานไป”
*********************
ภาพโดย : วรวิทย์ พานิชนันท์