น้องกระต่ายตัวนิ่มขนฟูกะปุ๊กลุก... คงเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน ด้วยกระแสสุดฮิตทำให้ราคากระต่ายที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์แล้วสูงจนน่าตกใจ วันนี้ M-Lite จะพามารู้จักกระต่ายหลักหมื่นเหล่านี้กัน
คุณนลินรัตน์ ธัญญกิตติกุล ผู้ดูแลฟาร์ม Royal Bunny บอกว่ากระต่ายพันธุ์ Holland Lopเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือพันธุ์หูตกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก โตเต็มที่จะมีน้ำหนักไม่เกิน 1.8 กิโลกรัม ประกอบกับแก้ม กลมๆ น่ารักไม่เหมือนกระต่ายทั่วไปที่ทรงหน้าจะแหลมๆ สำหรับคนรักการเลี้ยงกระต่ายแล้ว สายพันธุ์นี้คือสุดยอดพันธุ์ที่ใครๆ ก็อยากเลี้ยง
สายพันธุ์ Holland Lopเป็นสายพันธุ์ที่เพาะขึ้นมาระหว่างพันธุ์หูตั้งตัวเล็กกับพันธุ์หูตกตัวใหญ่ โดยเริ่มต้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จนบัดนี้พัฒนาถึงขั้นสูงสุดได้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวพ่อและแม่พันธุ์ที่ฟาร์มก็นำเข้ามา ราคาตามเกรด อย่าง เกรดโชว์หรือเกรดประกวดที่นำเข้ามาจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท
วิธีการเลือกคือดูโครงสร้างตามมาตรฐานสายพันธุ์ โดยสมาคมเกี่ยวกับกระต่าย American Rabbit Breeder Association (ARBA) ซึ่งกระต่ายทุกตัวจะขึ้นทะเบียนกับสมาคมทั้งหมด ราคาขายจะเริ่มต้นที่ 3,500 บาท ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-6,000 บาท หรือหากมีโครงสร้างพิเศษตามสายพันธุ์ทุกอย่างและสีแปลกสวยงามก็จะมีราคาสูงถึง 12,000-15,000 บาทโดยส่วนใหญ่จะเก็บไว้เป็นพ่อและแม่พันธุ์มากกว่า
สำหรับสีของสายพันธุ์นี้จะมีหลากหลายมากกว่า 20 สี แต่จะแบ่งเป็นหลักๆ คือ เป็นสีล้วน เป็นสีขาวและมีลายแต้ม หรือหากแบ่งตามกลุ่มของฟาร์มจะแบ่งได้เป็น กลุ่ม Agouti กลุ่ม Tan-Otter-Marten กลุ่ม Shadeกลุ่ม Selfและกลุ่มสีพิเศษหรือกลุ่มสี Steel ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีสี ลาย ในลักษณะพิเศษต่างกันไป
ฟาร์ม Royal Bunny ยังมีสีที่เชื่อว่ายังมีไม่ถึง 10 ตัวในประเทศไทย นั่นคือโทนสีที่เรียกว่า Steel คือขนของกระต่ายจะมีสีพื้นเป็นสีดำล้วน ไม่มีแต้มสีใดๆ แต่ปลายขนจะเป็นสีขาวหรือ Silver steel หรือหากเป็นสีทองก็จะเรียกว่า Gold steel สีทองจะตัดกับขนพื้นสีดำอย่างเห็นได้ชัด จนบางคนอาจตั้งฉายาให้ว่า 'กระต่ายเลี่ยมทอง' เลยทีเดียว
ส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้จะเป็นตัวที่นำเข้ามาจากอเมริกา แต่การเพาะพันธุ์รูปแบบสีนี้ในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดก็คือ ฟาร์ม Royal Bunny แห่งนี้ที่เดียวเท่านั้น
กระต่ายสายพันธุ์นี้จะมีอายุขัยประมาณ 5-8 ปี แต่เจ้าของฟาร์มบอกว่า มีคนเลี้ยงถึงอายุมากกว่าเกณฑ์ก็เคยเห็นเหมือนกัน ออกลูกครอกหนึ่งจะอยู่ที่ 4-5 ตัว ท้องประมาณ 30 วันหรือหนึ่งเดือน ช่วงที่สามารถขายได้หรือเหมาะสมที่จะขายคือประมาณเดือนครึ่งถึงสองเดือน ต้องรอให้หย่านม และสภาพร่างกายพร้อมก่อน
โดยสามารถดูสีและแนวโน้มโครงสร้างซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาได้แล้ว และจะโตเต็มที่เมื่ออายุ 6 เดือน ส่วนโครงสร้างจะสวยสมบูรณ์ที่ประมาณปีกว่า
คุณนลินรัตน์เล่าว่ากระต่ายพันธุ์เล็กนี้จะได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ตลาดโตขึ้นเรื่อยๆ มีกลุ่มคนเลี้ยงมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้กระต่ายเหล่านี้ติดกระแสนั้น นอกจากความน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว คือเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายมาก ใช้พื้นที่น้อย สามารถเลี้ยงในหอพักได้ ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เพียงให้กินน้ำจากกระบอกซึ่งสะอาดกว่าใส่ถ้วยวางไว้ สำหรับอาหารหลักคือหญ้าแห้งให้ไฟเบอร์และอาหารเม็ดให้สารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็น ซึ่งกระต่ายต้องการไฟเบอร์ทำให้ขับถ่ายปกติ คนส่วนใหญ่อาจให้หญ้าขนหรือผักสด ซึ่งแนะนำว่าต้องล้างให้สะอาด แต่หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
“คนเลี้ยงผักสดบางทีล้างแล้วแต่พวกสารเคมีหรือสิ่งสกปรกมันยังอยู่ ก็จะทำให้กระต่ายท้องเสียเป็นโรคที่ต้องระวังมากที่สุดคือโรคท้องอืดท้องเสีย ถ้าดูไม่ทันวันเดียวก็อาจตายเลยก็ได้ อาหารเม็ดก็ควรให้กันท้องอืด คือพวกนี้เขาจะเลียขนทำความสะอาดตัวเองเหมือนแมว ไม่ต้องอาบน้ำ ทำให้อาจมีขนเข้าไปในร่ายกายจึงต้องการไฟเบอร์จากหญ้าให้ถ่ายออกมา”
พร้อมกับบอกด้วยว่า คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่ากระต่ายบอบบางตายง่าย แต่จริงๆ ไม่ได้บอบบางขนาดนั้น สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อเช่นนั้นเพราะกระต่ายที่ซื้อมาเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นกระต่ายที่ยังไม่ถึงวัยที่ควรเลี้ยง อย่างกระต่ายที่ขายตามตลาดนัด ที่มีขนาดตัวเล็กน่ารักใส่เสื้อ ใส่กรงเล็กๆ ขาย คนขายจะบอกว่าเป็นกระต่ายแคระไม่โตไปกว่านี้แล้ว
“จริงๆ คือมันไม่ใช่อย่างนั้น กระต่ายที่ขายบางตัวอายุแค่ 3 อาทิตย์เอง เพิ่งลืมตา ยังไม่หย่านม ทำให้เวลาไปเลี้ยงโอกาสรอดจะน้อยมาก แต่หากเลี้ยงรอดขึ้นมาจริงๆ ก็ตัวใหญ่มาก ก็ทำให้เกิดปัญหาคนทอดทิ้ง ปัจจุบันก็มีการรณรงค์ไม่ให้ซื้อกระต่ายเด็กกัน เพื่อจะตัดวงจรตรงนี้ออกไป ถ้าไม่มีคนซื้อก็ไม่มีคนขาย”
ตนเองก็เริ่มต้นมาจากกระต่ายแบบนั้น ซื้อมาตัวละ 80 บาท แต่เผอิญเลี้ยงรอดก็ตัวใหญ่มาก ซึ่งเป็นพันธุ์ผสม เป็นกระต่ายที่อายุน้อยแล้วคนขายเลี้ยงด้วยผักหรือผลไม้สด เมื่อผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ซื้อมาเพียงหนึ่งหรือสองวันก็อาจต้องเสียแล้วก็ตายได้ ผู้ขายก็ไม่ได้ให้ความรู้เพราะเน้นขายอย่างเดียว ผู้เลี้ยงไม่มีความรู้ก็แย่ไปอีก
“จะเพาะพันธุ์ขายใครก็ทำได้ เพราะกระต่ายพันธุ์นี้จะเพาะง่ายมาก ถึงขั้นต้องเลี้ยงตัวผู้แยกกรงกับตัวเมียเนื่องจากสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลา จึงต้องกันไม่ให้เครียดจนกัดกัน แต่การเพาะพันธุ์อย่างไรให้สวยนั้นยากกว่า คนมาที่ฟาร์มจึงมองว่าราคาสูงแต่เราทำอย่างมีมาตรฐาน”
เริ่มแรกอาจเลี้ยงกระต่ายในห้องแอร์ตลอด 24 ชม.เนื่องจากเป็นกระต่ายเมืองหนาว จำเป็นต้องปรับตัวหากนำเข้ามาจากเมืองนอก หรือเป็นการทำให้ขนลูกกระต่ายแน่นขึ้นด้วย แต่ผู้เลี้ยงเอาไปเลี้ยงก็ไม่จำเป็นต้องห้องแอร์ก็ได้ โดยบอกว่าลูกค้าที่ซื้อไปเลี้ยงไม่เคยมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศ สามารถให้อยู่ในห้องโปร่งไม่อึดอัด แบบคนไม่อึดอัดกระต่ายก็อยู่ได้ รวมทั้งไม่ควรให้โดนแดดโดยตรง ส่วนวัคซีนก็ไม่ต้องฉีดเช่นกัน
ปัญหาขับถ่ายอาจเป็นปัญหาอมตะของผู้เลี้ยงกระต่าย แม้ก้อนอุจจาระจะแห้งเป็นเม็ดหากให้อาหารที่เหมาะสมจะไม่มีปัญหา แต่ปัสสาวะจะมีกลิ่นเหม็นมาก ซึ่งกระต่ายพันธุ์นี้ฉลาดสามารถฝึกได้ โดยการใช้กระดาษชำระเช็ดปัสสาวะของตัวกระต่ายนั้นไปไว้ในมุมที่ต้องการให้ขับถ่าย เพื่อทิ้งกลิ่นไว้ จากนั้นก็เช็ดทำความสะอาดจุดอื่นๆ อย่าให้เหลือกลิ่น อาจใช้เวลาสักหน่อยแต่ได้ผลเนื่องจากระต่ายจะใช้การจดจำกลิ่นตัวเองไว้
เห็นว่าเลี้ยงง่ายอย่างนี้แล้วอย่าเพียงคิดจะเลี้ยงก็เลี้ยง...คงต้องถามตัวเองก่อนว่าจะสามารถรับผิดชอบชีวิตน้อยๆ นี้ได้หรือไม่ ต้องศึกษา เตรียมตัวให้พร้อม และดูแลให้ดีที่สุด
อัตราราคาตลาดกระต่ายสายพันธุ์ Holland Lop ในเมืองไทย
กลุ่มราคา Holland Lop จะเป็นราคาที่บรีดเดอร์แต่ละคนกำหนดขึ้นมาเองซึ่งแต่ละบรีดเดอร์ก็จะกำหนดจาก สี(ความหายาก-ง่าย), เพศ(ผู้-เมีย) และฟอร์มหรือโครงสร้างของแต่ละตัว
กลุ่มกระต่ายสีหาง่าย เช่น ดำ, ทอร์ท
ตัวผู้ ราคา 2,000 - 4,000 บาท
ตัวเมีย ราคา 2,500 - 5,000 บาท
กลุ่มสีที่พอหาได้แต่ไม่ง่ายมากนัก เช่น บลู, โอปอล, เซเบิ้ลพ้อยซ์, ออเร้นท์, โบรคเค่นต่างๆ ฯลฯ
ตัวผู้ ราคา 3,000 - 6,000 บาท
ตัวเมีย ราคา 3,500 - 7,000 บาท
กลุ่มสีหายาก เช่น ชินชิลล่า, ขาวตาฟ้า, ไซมิสเซเบิ้ล, สโมคเพิร์ล ฯลฯ
ตัวผู้ ราคา 6,000 - 9,000 บาท
ตัวเมีย ราคา 7,000 - 10,000 บาท
ที่มา : http://www.thairabbitloverclub.com/
กระต่ายหูตกไม่ได้มีพันธุ์เดียว
จริงๆ แล้วกระต่ายหูตกไม่ได้มีแค่พันธุ์ Holland Lop เพียงอย่างเดียว โดยทุกสายพันธุ์ที่กระต่ายหูตกนั้นจะเรียกว่า ลอป (LOP) ในบรรดา ลอป ด้วยกัน ก็ยังมีแยกเป็นพันธุ์ต่างๆ ได้อีก โดยแยกตามลักษณะเด่น เช่น ขน น้ำหนักตัว หรือลักษณะเด่นเฉพาะตัวอย่างใบหู
โดยที่พันธุ์ Halland Lop, Mini Lop และ French Lop จะมีหน้าตาคล้ายกันมาก แตกต่างกันชัดๆ ตรงขนาดตัวเมื่อโตเต็มที่โดยที่ Holland Lop จะเป็นลอปที่มีขนาดเล็กที่สุดประมาณ 1.8 กิโลกรัม ตัวจะเล็กสุดและหน้าจะกลมกว่า หูสั้นกว่า ใหญ่ขึ้นมาก็คือ Mini Lop เมื่อโตเต็มที่ จะมีขนาด 2-3 กิโลกรัม และพันธุ์ที่ขนาดตัวใหญ่ที่สุดคือ French Lop เมื่อโตเต็มที่ จะมีขนาด 4.5 กิโลกรัม ขึ้นไป ซึ่งที่พบเห็นในเมืองไทยส่วนใหญ่คือ Mini Lop และHolland Lop
นอกจากพันธุ์ข้างต้นแล้วก็ยังมี Fuzzy Lop หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แองโกล่าลอป เป็นกระต่ายหูตกที่ขนปุยฟูเป็นพิเศษ ว่ากันว่าเกิดจากการผสม ระหว่าง Holland Lops กับ Angora แต่บางตำราบอกว่า จริงๆแล้วเกิดจาก Holland Lop เพียงอย่างเดียวจนกระทั่งสายเลือดนิ่ง และได้รับการประกาศเป็นมาตรฐานโดย ARBA ในปี ค.ศ. 1988 การเลือก ควรเลือกที่ โครงหัวใหญ่ๆ หูจะต้องมีขนปกคลุม ขนควรจะยาวมากกว่า 2 นิ้ว
อีกสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยมีขายในเมืองไทยอย่าง English Lop กระต่ายหูตกสุดเท่ ที่มีใบหูยาวและใหญ่ จัดเป็นกระต่ายขนาดใหญ่เมื่อโตเต็มที่จะหนักถึง 5-5.5 กิโลกรัมทีเดียว
สถานที่ตั้ง Royal Bunny
96/41 ซอยพีโอนี 13 หมู่บ้านฟลอร่าวิลล์
ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กทม. 10530
เว็บไซต์ : www.royal-bunny.com