อาภัสรา หงสกุล, ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก, อารียา สิริโสภา, สุจิรา อรุณพิพัฒน์, ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, สิรินยา วินศิริ, สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ, มรกต เอมมี่ กิตติสาระ, ชนันภรณ์ รสจันทน์, เมทินี กิ่งโพยม, ลลนา ก้องธรนินทร์, อรอนงค์ ปัญญาวงศ์, ไอยวริญท์ โอสถานนท์ และอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
เหล่านี้เป็นรายชื่อนางงามจากแต่ละเวทีทั้ง ‘นางสาวไทย’, ‘มิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์ส’ และ ‘มิสไทยแลนด์ เวิลด์’ หากลองสังเกตและจำแนกแบ่งพวกเธอออกเป็นกลุ่มก็คงนึกไม่ออกว่าพวกเธอแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งสิ่งที่พวกเธอมีเหมือนกันก็คือความสวย ส่วนสิ่งที่แตกต่างอาจจะเป็นเวทีการประกวด หรือปีที่ได้รับรางวัล
แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะพบว่า นางงามแต่ละปีหรือแต่ละเวทีก็มีเทรนด์เหมือนกัน
โดยช่วงแรกๆ หรือเริ่มต้นการประกวดนางงามในประเทศไทยเวทีนางสาวไทยได้เริ่มก่อนใครเพื่อน สมัยนั้นภาพลักษณ์นางงามก็คือ ‘รักเด็ก’ และต่อมา เวทีนางงามเพิ่มขึ้นหลายเวที และดีกรีนางงามแต่ละปีก็หมุนเปลี่ยนไปตามกระแสโลกที่หมุน
นางงามรักเด็ก
ปุ๊ก-อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2507 ตำแหน่งนางงามจักรวาลปี 2508(1965), ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ตำแหน่งนางสาวไทยปี 2531 และอดีตนางงามจักรวาลของไทยคนที่ 2 ในปี 2531, กบ-ปภัสรา เตชะไพบูลย์ มิสไทยแลนด์ เวิลด์ปี 2531, อร-อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ นางสาวไทยปี 2535
นางงามลูกครึ่ง
เฮเลน-ปทุมรัตน์ วรมาลี (ลูกครึ่งไทย-อเมริกา) มิสไทยแลนด์ เวิลด์ ปี 2532 (1989), ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม (ลูกครึ่งไทย-อเมริกา) มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2535(1992), ซินดี้-สิรินยา วินศิริ (ลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก) มิสไทยแลนด์ เวิลด์ ปี 2539 (1996) มิกซ์-เจนจิรา เกิดประสพ (ลูกครึ่งไทย-สวีเดน) มิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 2546 อีกทั้งยังเป็นนักกีฬายิงธนูอีกด้วย
นางงามนักศึกษา
นุ้ย-สุจิรา อรุณพิพัฒน์ นางสาวไทยปี 2544 ขณะรับตำแหน่งกำลังศึกษาอยู่คณะศิลปกรรมศาสตร์สาขาออกแบบพัสตรากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หมิง-ชาลิสา บุญครองทรัพย์ นางสาวไทยปี 2546 ขณะรับตำแหน่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น้ำฝน-สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ นางสาวไทยปี 2540, เจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ นางสาวไทยปี 2549ขณะได้รับตำแหน่งกำลังศึกษาอยู่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กวาง-ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 2550, ลูกจัน-จันจิรา จันทร์โฉม ขณะได้รับตำแหน่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ชาม-ไอยวริญท์ โอสถานนท์ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2549 ขณะรับตำแหน่งกำลังศึกษาปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ส้ม-กนกกร ใจชื่น มิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 2550 ขณะรับตำแหน่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นางงามนักเรียนนอก
ป็อบ-อารียา สิริโสภา นางสาวไทยปี 2537 สาวอิมพอร์ตจากมิชิแกน สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน วิชาเอกด้านการหนังสือพิมพ์จาก MICHIGAN STATE UNIVERSIT, นก-ชลิดา เถาว์ชาลี นางสาวไทยปี 2541 สาวอิมพอร์ตจากเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เรียนจบด้านพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยออโรร่า รัฐอิลลินอยส์สหรัฐอเมริกา, เอมมี่-มรกต กิตติสาระ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 2547 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ BRUNEL & MIDDLESEX UNIVERSITY, ไข่มุก-ชุติมา ดุรงค์เดช มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี 2552 จบการศึกษาในระ ดับปริญญาโท ด้านบริหารการจัดการที่ UNIVERSITY OF LONDON
นางงามคุณหมอ-อาจารย์
เบิร์ท-อภิสมัย ศรีรังสรรค์ นางสาวไทยปี 2542 จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นคุณหมอนางสาวไทยคนแรกของประเทศ, บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นางสาวไทยปี 2543 อาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตศรีราชาจังหวัดชลบุรี
.........
และล่าสุดเธอคนนี้ วิว-พงศ์ชนก กันกลับ ผู้นำเทรนด์นางงามนักกีฬา กับการคว้ามงกุฎ มิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 2552 ซึ่งเป็นเทรนด์สืบทอดมาจาก มิกซ์-เจนจิรา เกิดประสพ (ลูกครึ่งไทย-สวีเดน) มิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 2546 ที่เคยเป็นนักยิงธนูทีมชาติไทยด้วย
สีสันเวที ‘ขาอ่อน’ จากปากกูรูนางงาม
ประเสริฐ เจิมจุติธรรม ผู้ที่สนอกสนใจแวดวง ‘ขาอ่อน’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเด็กอายุ 10-11 ขวบ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการได้เห็นภาพถ่ายแสนสวยงามของ‘อาภัสรา หงสกุล' นางสาวไทย ปี 2507 และนางงามจักรวาลปี 2508 ที่อยู่บนปกหลังหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในห้องเก็บของ จากนั้นเขาจึงตามติดการถ่ายทอดการประกวดนางงามทั้งหลายแหล่อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ปัจจุบัน ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในแวดวง ‘ขาอ่อน’ ในฐานะกูรูนางงามคนหนึ่งของเมืองไทย
เขาอธิบายให้ฟังว่า เวทีมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สและมิสไทยแลนด์เวิลด์ เกิดขึ้นมาเพื่อเฟ้นหาตัวแทนสาวไทยไปประกวดในเวทีประกวดสาวงามของเมืองนอก จึงต้องการสาวที่มีทักษะภาษาอังกฤษอยู่ในขั้นดี ไม่แปลกที่ลูกครึ่งและเด็กนักเรียนนอกมักครองมงกุฎนี้ ขณะที่ผู้ชนะเวทีนางสาวไทยไม่ต้องไปประกวดต่อที่ต่างแดน จึงได้เห็นผู้ชนะเป็นสาวไทยเสียส่วนใหญ่
“เป้าหมายของเวทีมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส คือคัดเลือกคนไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส จึงต้องการสาวที่มีความเป็นสากล ยิ่งยุคหลังๆ ผู้ชนะแต่ละคนสูงไม่ต่ำกว่า 175 เซ็นติเมตร กันทั้งนั้น คนที่ได้มิสไทยแลนด์เวิลด์ปีนี้ รูปร่างหน้าตาไทยแท้ ส่วนสูงผ่าน อาจติดตรงทักษะทางภาษาฯ บ้างเล็กน้อยเมื่อเดินทางไปประชันในเวทีของเมืองนอก ส่วนเวทีนางสาวไทย เน้นคนไทยแท้ สวยหวานอย่างไทย เพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ รูปร่าง หน้าตา การศึกษา และชาติตระกูล รวมทั้งรู้จักประเทศไทยอย่างถ่องแท้ เพราะต้องไปทำหน้าที่ทูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว”
กูรูนางงามบอกอีกว่าไม่ต้องตกใจ หากร้อยละ 90 ของผู้ประกวดเวที ‘ขาอ่อน’ ทั้งหลาย เป็นสาววัยเรียน ความที่กติกาของการประกวดส่วนใหญ่ระบุไว้ว่า รับสมัครผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี ซึ่งคนในวัยนี้ส่วนใหญ่จะเรียนหนังสือกันอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีสาววัยทำงานสมัครเข้ามาประกวดเหมือนกัน
ในอดีต เส้นทางหลังได้ตำแหน่งของสาวงามเหล่านี้มักมุ่งสู่วงการมายา แต่ปัจจุบันกลับไม่ใช่
“สมัยก่อน ลูกชาวบ้านธรรมดาๆ อยากเป็นดารานักร้องก็ให้ไปประกวดนางงาม เดี๋ยวก็ได้เป็น ปัจจุบันเหมือนเวทีนางงามมันถึงทางตันแล้วก็ได้ ชนะแล้วก็ไม่รู้จะไปทำอะไร บางคนได้ตำแหน่งแล้วจู่ๆ ก็เงียบหายไปเสียอย่างนั้น เดินอยู่ตามท้องถนนไม่มีคนรู้ว่าเป็นนางงามก็มี เพราะตอนนี้ช่องทางทำให้คนโด่งดังมีหลายทาง ไม่ได้มีแค่เวทีนางงามอย่างเดียวแล้ว” คำพูดทิ้งท้ายของประเสริฐชวนให้ขบคิดไม่น้อย
'นางงาม' มอง 'นางงาม'
“ส้มมองว่าเป็นความบังเอิญมากกว่าค่ะ จริงๆ แล้ว การประกวดนางงาม ไม่ได้มีเทรนด์กำหนดไว้ตายตัว ว่าปีนี้ต้องเป็นลูกครึ่ง ปีนี้เป็นนักศึกษา หรือปีหน้าต้องเป็นนักเรียนนอก ไม่ได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนขนาดนั้น แต่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ยิ่งถ้าในปีนั้น มีนางงามสไตล์คล้ายกันในหลายๆ เวที คนก็เลยมองว่าเป็นกระแส”
'น้องส้ม' กนกกร ใจชื่น มิสไทยแลนด์เวิลด์คนสวย เจ้าของมงกุฎปี 2007 แสดงความเห็นกับเรา ที่เอ่ยถามในฐานะคนนอกแวดวง 'ขาอ่อน' ว่า เธอคิดเห็นเช่นไร ต่อข้อสังเกตของเรา ที่มองว่า 'เทรนด์' นางงามในแต่ละปี หรือแต่ละเวที มักจะเกาะกระแสกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นวาระ เช่น บางปีเน้นนางงามลูกครึ่ง ปีก่อนนู้นเน้นนางงามนักเรียนนอก ปีโน้นก็เน้นนางงามนักศึกษา บางปีก็เน้นนางงามที่หน้าตาไท้...ไทย
แม้คำตอบของสาวสวยคนนี้ จะมองว่าข้อสังเกตของเราที่มีต่อ 'เทรนด์' นางงามนั้น น่าจะเป็นแค่เหตุบังเอิญมากกว่า แต่เธอก็ยังลองวิเคราะห์ 'สไตล์' นางงามแต่ละเวทีหลักๆ อย่าง เวทีนางสาวไทย เวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ และเวทีน้องเล็กอย่างมิสทีนไทยแลนด์ ว่า
“แต่ละเวทีก็อาจจะมีคอนเซ็ปต์เฉพาะตัว เช่น เวทีมิสทีนไทยแลนด์ ก็จะเน้นที่ความใส เวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ ก็จะเน้นบุคลิกของสาวๆ ที่มีความมั่นใจ เป็นสาวสมัยใหม่ ส่วนเวทีนางสาวไทย ก็จะอาจจะเน้นสาวๆ ที่มีบุคลิกเรียบร้อย อ่อนหวาน เป็นนางสาวไทยเต็มรูปแบบ นี่เป็นคอนเซ็ปต์คร่าวๆ ในความคิดส้มนะคะ”
นับเป็นทัศนะเล็กๆ จากนางงามคนหนึ่ง ที่มองไสตล์ของนางงามแต่ละเวทีได้น่าสนใจไม่น้อย
'สาวประเภทสอง' มอง 'สาวประเภทหนึ่ง'
“โต้งมองว่าเป็นไปได้นะคะ ที่นางงามแต่ละปีจะมีคุณสมบัติคล้ายกัน จนกลายเป็นเทรนด์ของปีนั้นๆ เพราะค่านิยมของคนไทยเรามักจะสนใจอะไรตามๆ กัน เมื่อใครเป็นที่นิยม ก็จะถูกให้ความนิยมตามๆ กัน”
ไก่โต้ง-รัฐระวี จีระประภากุล เจ้าของตำแหน่ง Miss Tiffany's Universe 2006 แสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมา ต่อเวทีนางงาม 'สาวประเภทหนึ่ง' ก่อนเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติหรือองค์ประกอบสำคัญ ในการคว้ามงกุฎมาครอง
“กระแสนิยมของสังคมก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ถึงยังไง สิ่งสำคัญที่สุดก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดแต่ละคนด้วย ว่าตรงกับหลักเกณฑ์ของแต่ละเวทีหรือเปล่า สำหรับในความเห็นของโต้ง มองว่า อันดับแรก รูปร่างต้องสมส่วน หน้าตาดี บุคลิกดี
“ประการต่อมาก็คือ 'ภาพลักษณ์' ซึ่งโต้งมองว่า สังคมไทย ณ ตอนนี้ ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์พอสมควร ไม่ว่าเรื่องการศึกษา หรือความประพฤติ รวมถึงประวัติที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดกรณีข่าวฉาวขึ้น และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ ความรู้ความสามารถ”
นั่นคือ คุณสมบัติโดยรวมในสายตามิสทิฟฟานีสาวสวยคนนี้
แม้เป็นสาวประเภทสอง แต่ก็นับว่าไก่โต้งคนสวย สะท้อนมุมมองของเวทีสาวแท้ได้อย่างละเอียดละออไม่น้อย
……….
ความจริงแล้วอาจจะเป็นการต้องข้อสังเกตว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเทรนด์นางงามก็เปลี่ยนตามด้วยหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่คนดูจะตัดสินใจกันเอง แต่ก็อย่าลืมว่า การประกวดนางงามก็คือ ธุรกิจแขนงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิความรู้สึกของคนในสังคมของประเทศนั้นๆ และทิศทางของสังคมโลก เพราะโลกที่หมุนไป นางงามก็ย่อมหมุนตามความต้องการของโลกและธุรกิจนางงามโลกด้วยเช่นกัน
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK