‘ใจหาย’ นักเขียนและคอลัมนิสต์-ที่คุ้นเคย มักใช้คำนี้แสดงความรู้สึกต่อการจากไปของใครบางคน
25 มิถุนายน ที่ผ่านมา (เวลาสหรัฐอเมริกา) คนทั่วโลก ‘ใจหาย’ เมื่อได้รู้ข่าวการ ‘หายไป’ จากโลกใบนี้ชั่วนิรันดรของราชาเพลงป็อป ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ (MJ) ด้วยอาการหัวใจวาย
จะหายน้อยหรือหายมาก คงผันแปรกับ ‘ประสบการณ์ร่วม’ ที่แต่ละคนมีต่อชายผู้นี้
‘หน้าประวัติศาสตร์ได้บันทึก ไมเคิล แจ็กสัน ไว้ในฐานะเอนเตอร์เทนเนอร์ผู้เยี่ยมยอดที่สุดคนหนึ่งของเรา’ บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ถ่ายทอดถ้อยคำไว้อาลัย
ความตายของเขา ไม่เพียงทำให้ใจหาย อีกสิ่งหนึ่งที่ ‘หาย’ คือ เงินในกระเป๋าของสาวก MJ ทั้งหลาย! ทั้ง เงินค่าบัตรชมภาพยนตร์ ‘Michael Jackson’s This Is It’ และเงินค่าซื้อยาแก้ปวดเมื่อย หลังเต้นสุดเหวี่ยง (จนขาเคล็ด) ในงานสดุดี MJ ด้วยการเต้น ที่เกิดขึ้นในหัวเมืองใหญ่ทั่วทุกมุมโลก โดยเมืองไทยมีงานเยี่ยงนี้จัดไล่เลี่ยกันถึง 2 งาน!!!
หลังการตายของราชาเพลงป็อปผู้ยิ่งใหญ่ ชีพจรของเขายัง ‘เต้น’ อยู่
ภาพ (เคลื่อนไหว) ของราชาเพลงป็อป
เดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา ไมเคิลวอร์มเสียงและซุ่มซ้อมสเต็ปการเต้นอย่างหนัก เตรียมขึ้นโชว์บนเวทีคอนเสิร์ต 50 รอบ ที่ โอทู อารีนา ในช่วงหน้าร้อน เอาใจแฟนเพลงเมืองผู้ดีในกรุงลอนดอน ซึ่งแห่จับจองบัตรกันจนหมดเกลี้ยง
อย่างไม่มีใครคาดคิด ความตายก็มาพรากซูเปอร์สตาร์ขาแดนซ์ไปเสียก่อน
อย่างที่หลายคนอาจคิดไว้ ฟุตเตจเบื้องหลังการซ้อมคอนเสิร์ตครั้งดังกล่าว ซึ่งยาวกว่าร้อยชั่วโมง ได้กลายมาเป็นภาพยนตร์ ‘Michael Jackson’s This Is It’ โดยมี เคนนี ออร์เทกา ผู้กำกับฯ คอนเสิร์ตคู่หูของ MJ โดดมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับ
ภาพยนตร์ข้างต้นจะจัดฉายรอบกาลาดินเนอร์ที่ โนเกีย เธียเตอร์ ลอสแองเจลิส วันที่ 27 ตุลาคม 2552 นี้ พร้อมกับจัดฉายรอบพรีเมียร์ใน 25 ประเทศทั่วโลก (หนึ่งในนั้นคือบ้านเรา) และมีการจัดงานพร้อมกันใน 15 เมืองใหญ่ ทั้ง นิวยอร์ก สหรัฐฯ, ริวเดจาเนโร บราซิล, ลอนดอน อังกฤษ, เบอร์ลิน เยอรมนี, โยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ และ โซล เกาหลีใต้
จากนั้นวันถัดมา จึงจะฉายให้ผู้ชมทั่วโลกได้ยล ในเงื่อนไข จำกัดระยะเวลาฉาย 14 วัน เท่านั้น
และอย่างที่หลายคนอาจคิดไว้ (อีกเช่นกัน) ทันทีที่ ‘คิกออฟ’ เปิดขายบัตรฯ 27 ก.ย. แฟนพันธุ์แท้แจ็กโก้ แย่งกันซื้อ บรรยากาศคลับคล้ายคลับคลาตอนบ้านเราเปิดขายพันธบัตรไทยเข้มแข็งเลยล่ะ!
เช่นตอนเที่ยงคืนที่ห้างสรรพสินค้า แอลเอ ไลฟ์ ในลอสแองเจลิส บัตรรอบพิเศษ 3,000 ใบอันตรธานหายไปภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ด้วยน้ำมือ อเมริกันชนคนคลั่ง MJ บางคนถึงกับหอบผ้าหอบผ่อนมานอนรอซื้อบัตรฯ 2 วันก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ
ในลอนดอน ปรากฏว่าบัตรฯ จำนวน 30,000 ใบ ขายหมดใน 24 ชั่วโมง มากกว่าตอนที่ภาพยนตร์ฮิตระเบิดระเบ้อ ‘Harry Potter’ และ ‘The Lord of the Rings’ เข้าฉายเสียอีก
ไวรัสแจ็กสัน ระบาดสู่ประเทศไทยด้วย บัตรฯ ล่วงหน้าของโรงภาพยนตร์ใหญ่ยักษ์บ้านเรา หมดในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงของวันเปิดขายวันแรก
ไม่รู้เพราะ อยากดูภาพยนตร์ หรือ อยากได้ของแถม ซีดี การ์ด 3 มิติ การ์ดแข็ง และแมกเนต คนจึงพร้อมใจกัน ‘แย่ง’ บัตรฯ กันเพียงนี้???
แด่ MJ ด้วย สเต็ปเท้าไฟ
ภาพคุ้นตาที่มีต่อราชาเพลงป็อป อย่างหนึ่งคือ ลีลาการเต้นบนเวทีที่เอาคนดูเสียอยู่หมัด อย่าเอ่ยอ้างเด็ดขาดว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ไมเคิล หากภายใน 3 วินาที ตอบไม่ได้ว่า ท่าเต้นหากินประจำตัวของ MJ มีชื่อเรียกว่าอะไร?
จำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่เต้นท่าเหล่านี้ได้เป็นพอ
MJ คงทำให้สาวๆ เขินหน้าแดง เมื่อเต้นท่าลูบเป้า พี่ป้าน้าอาอาจสนุกสุดเหวี่ยงครั้งได้ยินเพลง ‘Billie Jean’ พร้อมเห็นท่ามูนวอล์ก และเจ้าหนูคงตะลึงพรึงเพริดเมื่อราชาเพลงป็อปเอนตัวทำมุม 45 องศากับพื้นแล้วค่อยๆ ดึงตัวกลับขึ้นยืนอย่างสง่า
ด้วยเหตุฉะนี้ จึงไม่แปลกที่นอกจาก คนรักไมเคิลทั่วโลกจะพร้อมใจกันจัดงานรำลึกถึง 'นักร้องผู้เป็นที่รัก' กันอย่างอึกทึกครึกโครม ด้วยการขนขบวนคนดังมาร้องเพลง เต้นรำ ตบท้ายด้วยการจุดเทียน และนำสิ่งของมาไว้อาลัย นักเต้นเท้าไฟ เลือกสดุดีราชา ด้วยการเต้น เต้น และเต้น
กลุ่มนักเต้น Bounce ชวนพรรคพวก ดิ้นหลุดโลกประกอบเพลง ‘Beat It’ ยั้วเยี้ยเต็มพื้นที่ลาน Segels Torg และที่เซ็นทรัล สเตชัน จนชาวเมืองสต๊อกโฮล์มแปลกใจ เพราะเต้นเลื้อยไปบนถนนด้วย เต้นเสร็จก็ทางใครทางมัน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นซะงั้น
แฟน MJ ในเม็กซิโกซิตี เปลี่ยน Monumento a la Revolucion อนุสาวรีย์แห่งชาติของเม็กซิโก เป็นลานแอโรบิก...เฮ้ย ลานเต้น ‘Thriller Dance’ ในวาระครบรอบปีที่ 51 ของซูเปอร์สตาร์ผู้เป็นที่รัก มีผู้เข้าร่วมกว่า 50,000 คน
ยังมีปรากฏการณ์เต้นสดุดี เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้ง ฮ่องกง, ปารีส, โทรอนโต มอนทรีออล, ไต้หวัน, นิวยอร์ก, บูดาเปสต์, มาเก๊า, เนเธอร์แลนด์, บราซิล และ ฯลฯ นับกันไม่หวาดไม่ไหว
กระแสแรงขนาดนี้ มีหรือพี่ไทยจะหลุดขบวน เร็วๆ นี้ จะมีการเต้นสดุดีราชาเพลงป็อป 2 งานด้วยกัน งานแรก 27 ตุลาคม 2552 ที่พาร์ค พารากอน สยามพารากอน เป็นการจับมือกันของค่ายภาพยนตร์และห้างฯ ดัง จัดงานรำลึกถึง MJ รับขวัญภาพยนตร์ ‘Michael Jackson’s This Is It’ ที่จะเข้าฉายวันรุ่งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเตรียมของกำนัล (ล่อใจ) ไว้ให้ผู้ร่วมงาน คือ บัตรดูภาพยนตร์ฟรี และถุงมือ
ไฮไลต์อย่างหนึ่งของงานดังกล่าวคือ เหล่าคนดังจะมาเต้นเพลง ‘Beat It’ หนึ่งในนั้นคือ เจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักด์ อดีตป็อปไอดอลค่ายเพลงย่านลาดพร้าว ที่ผันตัวเองไปเป็นผู้บริหารสถาบันดนตรี ซึ่งเจมส์มีไมเคิลเป็นเหมือนแรงบันดาลใจ
‘คิง ออฟ ป็อป’ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ
"ไมเคิล แจ็กสัน เปรียบเหมือนปูชนียบุคคลคนสำคัญคนหนึ่งของโลก ไม่ต่างจากบุคคลสำคัญของศาสตร์แต่ละสาขา เพราะเมื่อครั้งยังมีชีวิต เขาสร้างทุกอย่างไว้อย่างดีที่สุด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่แม้จะตายไปแล้ว คนทั่วโลกก็ยังคิดถึงเขาอยู่”
เชื่อว่าความรู้สึกที่เจมส์บอกกล่าวกับเรา คงจะตรงใจแฟนๆ ของราชาเพลงป็อปผู้ล่วงลับ เพราะจวบจนป่านนี้ แม้ MJ จะลาโลกไปแล้วเกือบค่อนปี กระนั้น กระแสความคลั่งไคล้อาลัยรักก็ยังคงอวลอยู่ทั่วโลก ผ่านการจัดงานทริบิวต์ และกิจกรรมระลึกถึงมากมาย
แล้วอะไร คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราชาเพลงป็อบผู้นี้ ยังคงเป็นอมตะอยู่ในหัวใจของแฟนเพลงทั่วโลก ในความเห็นของเจมส์เขาเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่ว่านั้น ก็คือ ‘ความทุ่มเท’ และการมอบ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ให้แก่งการเพลง
“สำหรับผม สิ่งที่ไมเคิลทิ้งไว้ คือความทุ่มเทในผลงานครับ ความทุ่มเทในการทำงานที่เขามอบให้กับผลงานทุกชิ้น กลายเป็นมาตรฐานของวงการเพลงทั่วโลกเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะวงการเพลงป็อป ซึ่งถือเป็นตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุด”
ความทุ่มเทนั้น นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือเครื่องมือสำคัญให้แก่วงการเพลง นั่นก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ อันมีที่มาจากความพยายามเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด เพื่อมอบความสุขและครองใจผู้ฟังได้มากมาย
“ไมเคิลได้มอบนวัตรกรรมที่สำคัญไว้หลายอย่างให้แก่วงการเพลง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของเพลง การเรียบเรียงดนตรี หรือแม้แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ของซาวนด์ดนตรี เหล่านี้ทำให้มาตรฐานของวงการเพลงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และผมเชื่อว่า คอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายที่ในความเป็นจริง เขาไม่มีโอกาสได้เล่นแล้ว แต่ถ้าหากเขายังไม่เสียชีวิต และเล่นให้เราได้ชม คอนเสิร์ตครั้งนี้จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่วงการเพลงอีกมาก”
และใช่เพียงการมอบความสุขให้แก่แฟนเพลง หรือสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่วงการเพลง แต่สำหรับเจมส์แล้ว ไมเคิลยังเป็น ‘พลังใจ’ สำคัญ ที่เขาระลึกถึงทุกครั้ง ในการขึ้นแสดงคอนเสิร์ต
“ผมพูดได้อย่างไม่อายเลยครับว่า ผมมีไมเคิลเป็นต้นแบบในการทำงาน ไม่ว่าเรื่องของวินัยในการทำงาน ความกระตือรือร้น ความใฝ่รู้ ทุกๆ อย่างเลยครับ ทุกครั้งที่ผมจะขึ้นคอนเสิร์ต ผมจะนึกถึงเขาตลอด และเมื่อผมนึกถึงเขา ผมก็ไม่รู้ว่าเรี่ยวแรงและพลังในการแสดงคอนเสิร์ตมาจากไหน ถึงแม้ทุกวันนี้ไมเคิลจะไม่มีชีวิตอยู่อีกแล้ว แต่พลังของเขา ก็ยังอยู่กับผม” เจมส์กล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำ
‘เต้น’ ด้วยรักจากแฟนตัวจริง
หากขาที่ปวดบวมจากการเต้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2552 ที่จะมาถึง ยังไม่หายเจ็บ พอมาถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2552 ก็ต้องไปเต้นเพื่อไมเคิลอีกครั้งที่บริเวณลานห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ฝั่งโตคิว งานนี้เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของ คนรักไมเคิล ในคลับย่อยไมเคิล แจ็กสัน ห้องเฉลิมกรุง เว็บไซต์พันทิปดอทคอม ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่คนรักและชื่นชอบไมเคิล มาสนทนาแลกเปลี่ยนกันในเรื่องราวของศิลปินในดวงใจ
คลับนี้เกิดขึ้นมาได้ไม่นาน แต่ก็นับว่าเป็นกลุ่มแฟนที่เหนียวแน่นของราชาเพลงป็อป และพร้อมเสมอที่จะทำกิจกรรมเพื่ออุทิศให้ศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ ‘ด้วยใจ’ ล้วนๆ โดยที่ไม่ได้หวังสิ่งใดๆ ตอบแทน
“การเต้นทริบิวต์โดยแฟนๆ ให้กับไมเคิลนั้น รู้สึกว่าจะเริ่มที่สต๊อกโฮล์มเป็นที่แรก แต่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกน่าจะเป็นที่บราซิล ซึ่งมีคนมาร่วมเป็นแสนคน พวกเราในฐานะที่เป็นแฟนเพลงของไมเคิล เห็นเช่นนั้นแล้วก็อยากที่จะทำขึ้นมาบ้าง”
นุช-เสาวลักษณ์ ใจดี สมาชิกคนหนึ่งของคลับไมเคิล เล่าให้ฟังถึงที่มาของการจัดการเต้นสดุดีครั้งนี้ของแฟนๆ ในคลับ ซึ่งอันที่จริงแล้วการทริบิวต์นั้น มันคือการทำอะไรบางอย่างอุทิศให้กับคนที่เรารักและนับถือ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้มีเพียงแต่การเต้นเท่านั้น
“ในวงการอื่นๆ ก็มีการทริบิวต์ อย่างในวงการจักรยาน ไม่นานมานี้ก็มีการทำทริบิวท์ให้กับนักจักรยานคนหนึ่งซึ่งประสบอุบัติเหตุ ในวงการเพลงร็อคก็มีการนำเอาเพลงของวงที่เป็นตำนานมาเล่นทริบิวต์ แต่กรณีของไมเคิลนั้น สิ่งที่พวกเรารู้สึกว่าเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดก็คือการเต้น”
ขุน-กมล เดชขุนทด ผู้ร่วมจัดงานอีกคนหนึ่งกล่าวถึงปรากฏการณ์การทริบิวต์ที่ไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในวงการเพลง ต่อจากนั้นก็ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดโดยที่ชาวคลับทุกคนมีส่วนร่วม นับตั้งแต่การโหวตเพลงที่จะใช้ โหวตวันที่จะเต้น ซึ่งวันที่ได้มานั้น ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องออกมาในช่วงที่มีภาพยนตร์ของไมเคิลเข้าโรงพอดี
“ในช่วงนี้มีการทริบิวต์กันเยอะ เพราะว่าช่วงนี้มีกระแสของหนังพอดี ถ้ามองอย่างไม่ซีเรียส การมาทำทริบิวท์นั้น ไม่ว่าใครจะทำก็ทำเพื่อไมเคิลทั้งนั้น”
และถ้าใครได้ดูคลิปของการเต้นทริบิวต์ในที่ต่างๆ ทั่วโลก ก็คงจะอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเพลงยอดฮิตที่นำมาเต้นกันนั้น จึงต้องเป็นเพลง ‘Beat it’ เหมือนกันเกือบจะทุกที่
“ส่วนมากใช้เพลง ‘Beat it’ เพราะเสต็ปเต้นของเพลงนี้ไม่ยาก และมันลูปท่าได้ คนที่ไม่ได้มีพื้นฐานการเต้นมากก็สามารถฝึกหัดได้ การซ้อมกับคนเยอะๆ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะคนที่มาเต้นส่วนมากเป็นแฟนของไมเคิล และฟังเพลงไมเคิลกันอยู่แล้ว ที่สำคัญทุกคนที่มามีความตั้งใจเต็มที่” นุช ในฐานะของผู้รับผิดชอบควบคุมการซ้อมเต้นครั้งนี้ เล่าถึงเหตุผลในการเลือกเพลง และขั้นตอนการซ้อมของแฟนๆ ที่จะมาร่วมเต้น
“ในวันงานจริง ต่อให้มีคนมาแค่ 3 คน เราก็ยังจะเต้นอยู่ ไม่สนใจว่ามันจะดังไหม หรือยิ่งใหญ่ไหม เพราะอย่างน้อย คนที่มาก็เป็นคนที่รักไมเคิลจริงๆ และมาด้วยใจ” ทั้งขุนและนุชกล่าวปิดท้าย
ห้วงยามที่คนบนโลกพร้อมใจกันเต้นสดุดี ราชาเพลงป็อปผู้ล่วงลับอาจร้องและเต้นสร้างความสุขให้คนบนสวรรค์อยู่ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้...
****************
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK